ขณะที่รัฐไทยยังคงประกาศปาวๆ ว่าให้ประชาชนปรับตัวเข้าสู่ความปกติใหม่ แต่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มจะเบนเข็มไปในทิศทางผ่อนคลายมาตรการสู่ความปกติเดิม
ความปกติเดิมที่ว่าหากยึดตามดัชนีความปกติ (normalcy index) ที่สร้างขึ้นโดยนิตยสาร The Economist ก็จะวัดจากเวลาที่ไม่ได้อยู่ในบ้าน จำนวนลูกค้าในร้านค้าปลีก สัดส่วนการใช้สำนักงาน การขนส่งสาธารณะ ความหนาแน่นบนท้องถนน เที่ยวบิน ภาพยนตร์ และการเข้าชมเกมกีฬา
ล่าสุดดัชนีความปกติของประเทศไทยได้คะแนน 57.8 เต็ม 100 กล่าวคือกิจกรรมข้างต้นของไทยคิดเป็นราว 57.8 เปอร์เซ็นต์ของระดับปกติ แต่คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะร่วงลงไปอีกมากหลังจากเราต้องกลับสู่การล็อกดาวน์ครั้งใหม่ ขณะที่ประเทศอย่างฮ่องกง นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก และอิสราเอลได้คะแนนมากกว่า 80 เรียกว่าอีกไม่นานก็จะกลับสู่ความปกติเดิม
แต่หากมองในบริบทที่แคบลง ความปกติเดิมที่ใครหลายคนโหยหาคือการสังสรรค์เฮฮาได้อย่างเสรี ผับบาร์เปิดได้ตามปกติ ไม่ต้องเว้นระยะห่าง และไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ ‘ปลดล็อก’ มาตรการดังกล่าว
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมและครอบครัวต่างมีความหวังว่าความปกติเดิมจะกลับมาพร้อมกับวัคซีนตามที่รัฐบาลสัญญา แต่ความจริงตรงหน้าคือประเทศไทยกลับเผชิญการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเก่า มาตรการจำกัดการระบาดระดับเข้มข้นแต่การช่วยเหลือเยียวยากลับขาดความชัดเจน วัคซีนที่ไม่มาตามนัด ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล คนเสียชีวิตตามบ้าน และประชาชนจำนวนมากต้องปักหลักค้างคืนเพื่อสิทธิตรวจ COVID-19 ของรัฐ
เราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ในวันที่ประเทศโลกตะวันตกซึ่งเราเคยมองอย่างกระหยิ่มยิ้มย่องว่าจัดการการระบาดผิดพลาดจนผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาล วันนี้ประเทศเหล่านั้นกลับมุ่งหน้าเข้าสู่ความปกติเดิมพร้อมภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่ไทยนอกจากจะทนพิษเศรษฐกิจปีที่แล้วอย่างหนักแต่กลับเจ็บแล้วไม่จบ แถมปีนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาหรือว่าย่ำแย่ลง เพราะรัฐบาลคุมการระบาดไม่ได้
แต่ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเรามีวัคซีนที่ดีและมีเพียงพอให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
ถ้าวัคซีนดีและมีเพียงพอ …
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประชากรกว่า 66 ล้านคนในสหราชอาณาจักรต้องอกสั่นขวัญหายเพราะเกิดการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยประมาณ 27,000 คนต่อวัน แม้ว่าประชากรกว่าครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนครบสองโดส และประชากร 86 เปอร์เซ็นต์ได้วัคซีนหนึ่งโดสก็ตาม ส่วนประชาชนคนไทยกว่า 69 ล้านคนก็อกสั่นขวัญแขวนไม่ต่างกันเมื่อต้องเจอกับการระบาดต่อเนื่องยาวนานจนจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันใกล้แตะหลักหมื่น ขณะที่มีประชากรราว 5 เปอร์เซ็นต์ได้รับวัคซีนครบสองเข็มและประชากรราว 12 เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่งได้รับวัคซีนโดสแรก
ประเทศไทยเลือกใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดโดยการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ ย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่เหมือนเมษายนปีที่ผ่านมา ขณะที่สหราชอาณาจักรเตรียมเดินหน้าปลดล็อกขั้นสุดท้ายตามโรดแมปในวันที่ 19 กรกฎาคม ยุติการบังคับสวมหน้ากากอนามัย ยกเลิกการเว้นระยะห่าง เปิดให้บริการผับบาร์ สนามกีฬา โรงภาพยนตร์ และโรงละครได้ตามปกติ
อ่านไม่ผิดหรอกครับ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรย้ำนักย้ำหนาว่าจะทำตามสัญญาโดยไม่เลื่อนการปลดล็อกออกไปแม้ว่าในแต่ละวันจะมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 หลักหมื่น และประชาชนจำนวนไม่น้อยส่งเสียงคัดค้านก็ตาม
หลายคนอาจคิดว่าท่านนายกจอห์นสันเป็นพวกหัวรั้นดันทุรังจะบรรลุตามเป้าหมายโดยไม่สนใจชีวิตของคนในประเทศ แต่เปล่าเลยครับ การตัดสินใจของเขาเป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่งและอิงจากข้อมูลเชิงประจักษ์ ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักรจะสูงลิบลิ่วแซงหน้าไทยไปไกล แต่อัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือเจ็บป่วยอาการหนักนั้นต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
ข้อมูลจากวันที่ 12 กรกฎาคม เว็บไซต์ Worldometers ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วย COVID-19 ทั้งสิ้น 90,578 รายและเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2,783 ราย ขณะที่สหราชอาณาจักรมีผู้ป่วย COVID-19 อยู่ที่ 634,266 ราย แต่มีผู้ป่วยอาการหนักหรืออาการวิกฤติเพียง 417 ราย หรือคิดเป็น 0.07 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังไม่นับอัตราการเสียชีวิตที่ถูกกดให้ลดต่ำกว่า 0.1 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเทียบเคียงได้กับไข้ใหญ่
เบื้องหลังตัวเลขที่น่าพึงพอใจนี้คือการมีวัคซีนที่ดีและครอบคลุมประชากรจำนวนมาก โดยวัคซีนหลักของสหราชอาณาจักรคือแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์ ซึ่งมีการศึกษาในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา และอิสราเอล พบว่าวัคซีนทั้งสองชนิดสามารถใช้ต้านทาน COVID-19 สายพันธุ์เดลตาได้อย่างมีประสิทธิผล โดยประสิทธิผลของแอสตราเซเนกาหลังจากฉีดสองเข็มจะเท่ากับ 60–67 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไฟเซอร์จะอยู่ที่ 64–88 เปอร์เซ็นต์
หันกลับมาที่ประเทศไทย นอกจากเราจะมีปัญหา ‘โรคเลื่อน’ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับวัคซีนตามนัดและชะลอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ออกไปแบบไม่มีกำหนด ซิโนแวคหนึ่งในวัคซีนหลักของเราเองก็ยังมีประสิทธิผลน่ากังวล แม้เมื่อไม่นานมานี้จะมีการศึกษาที่ชิลีตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine ว่าประสิทธิผลของวัคซีนเท่ากับ 65.9 เปอร์เซ็นต์และป้องกันการเสียชีวิตได้ 86.3 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการศึกษาที่ตุรกีซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ว่าประสิทธิผลของวัคซีนเท่ากับ 83.5 เปอร์เซ็นต์โดยสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์
แต่ผมต้องกาดอกจันตัวใหญ่ว่างานวิจัยทั้งสองชิ้นศึกษาการระบาดในช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศยังไม่พบสายพันธุ์เดลตาซึ่งระบาดรุนแรงอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ทำให้ยังไม่หลักฐานทางวิชาการสนับสนุนว่าซิโนแวคที่ประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้มากน้อยเพียงใด
หากพิจารณาตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกในปัจจุบันจะพบว่า 36 ประเทศมีตัวเลขมากกว่า 1,000 คนต่อวัน ในกลุ่มนี้ดันมี 6 ประเทศที่สัดส่วนประชากรฉีดวัคซีนในอัตราสูงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และ 5 ใน 6 ประเทศนั้นใช้วัคซีนหลักคือวัคซีนเชื้อตายซิโนแวคและซิโนฟาร์มของประเทศจีน สร้างความกังวลว่าวัคซีนสองชนิดนี้อาจไม่มีประสิทธิผลเพียงพอในการยับยั้งการระบาดของสายพันธุ์ใหม่
ผมเข้าใจรัฐบาลไทยนะครับที่จำเป็นต้องสั่งซิโนแวคเพิ่มเพราะผู้จำหน่ายรายอื่นไม่สามารถส่งสินค้าได้ทันที และการได้ฉีดวัคซีนก็ยังดีกว่าไม่ได้ฉีด แต่โปรดตระหนักไว้เสมอนะครับว่าการพึ่งพาซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักจะไม่สามารถนำประเทศกลับสู่ ‘ความปกติเดิม’ ได้ ส่วนการเปิดประเทศที่ฝันไว้ก็คงจะเป็นฝันกลางวันต่อไปจนกว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนที่ดีและมีเพียงพอ
สงครามที่ไม่มีวันชนะ (และไม่จำเป็นต้องชนะ)
ประเทศไทยเปรียบเทียบการระบาดของ COVID-19 เสมือนการทำสงคราม เรียกเหล่าแพทย์พยาบาลว่าหน่วยรบแนวหน้า แต่การเปรียบเปรยดังกล่าวมีปัญหาอย่างมากเพราะนี่อาจเป็นสงครามที่เราไม่มีวันชนะ และไม่จำเป็นต้องชนะ
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาวารสาร Nature ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักภูมิคุ้มกันวิทยากว่า 100 คนทั่วโลกโดย 90 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าเราไม่มีทางขจัด COVID-19 ให้หมดไปแต่ในอนาคตข้างหน้า COVID-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยจะยังคงวนเวียนอยู่ในหมู่ประชากรในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทำความเคยชินกับการล็อกดาวน์ครั้งแล้วครั้งเล่าในอนาคต เพราะหลังจากประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนหรือสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติหลังหายจากโรค อัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตก็จะลดลงอย่างมาก เพียงแต่เราต้องคอยรับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ
การที่โรคระบาดกลายเป็นโรคประจำถิ่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในหมู่มวลมนุษยชาติก็มีโคโรนาไวรัส 4 สายพันธุ์ชื่อว่า OC43, 229E, NL63 และ HKU1 ซึ่งอยู่กับเรามากว่าศตวรรษโดย 2 ใน 4 ชนิดคือสาเหตุของอาการปอดติดเชื้อทั่วโลกราว 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกสองชนิดก็ก่อให้เกิดอาการหวัดธรรมดา
ผู้อ่านทราบไหมครับว่าก่อน COVID-19 ระบาด ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับไวรัสตัวร้ายที่แต่ละปีมีผู้ป่วยนับพันล้านคน และองค์การอนามัยโลกประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดนั้นประมาณ 290,000–650,000 ในแต่ละปี นอกจากนี้วัคซีนที่ดีที่สุดในการป้องกันไวรัสดังกล่าวยังมีประสิทผลเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แถมยังต้องมีการปรับปรุงสูตรอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจไปครับ เพราะไวรัสที่ว่าคือไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) สาเหตุของการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ที่จะมาเยี่ยมเยือนประชากรโลกตามฤดูกาล ไวรัสดังกล่าวเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างจาการระบาดครั้งใหญ่เมื่อราว 100 ปีก่อนในชื่อที่หลายคนคุ้นหูกันดีว่า ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ ซึ่งคร่าชีวิตประชากรโลกไปกว่า 50 ล้านคน
หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม COVID-19 ก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน แต่เราจะสามารถรับมือได้ดีขึ้นผ่านการพัฒนายารักษาที่ดีและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เริ่มเบนเข็มจากการใช้มาตรการจำกัดการระบาดอย่างเข้มข้นเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือศูนย์ สู่การมองข้ามตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ให้ความสำคัญกับอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขรับภาระที่หนักเกินไป และอัตราการเสียชีวิตของประชาชนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ส่วนวิสัยทัศน์ของผู้นำไทยนั้นเป็นอย่างไรผมเองก็จนปัญญาที่จะตอบ เพราะวิกฤติที่อยู่ตรงหน้านั้นหนักหนาจนน่าจะไม่ค่อยมีเวลาไปคิดถึงอนาคต
อ่านเพิ่มเติม
The coronavirus is here to stay — here’s what that means
Illustration by Krittaporn Tochan