สถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัส COVID-19 ดูจะยังไม่คลี่คลายมากนัก
หลังจากที่เชื้อไวรัส COVID-19 ได้เริ่มระบาดมานานร่วม 1 ปีเต็ม โลกของเราดูจะเข้าใกล้ความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังจากที่บริษัททางชีวเวชภัณฑ์ต่างๆ เริ่มประกาศความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน COVID-19 ซึ่งทำให้โลกเริ่มจะเห็นทางออกต่อวิกฤติการแพร่ระบาดใหญ่ในครั้งนี้
จากแถลงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ล่าสุด (2 ธ.ค.) โลกของเรามีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมไปแล้วกว่า 62,844,837 คน โดยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นจำนวนกว่า 1,465,144 คน ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศและดินแดนต่างๆ 220 เขตแดน The MATTER จึงขอพาทุกคนไปดูกันว่า ปัจจุบัน มีบริษัทใดพัฒนาวัคซีนสำเร็จไปแล้วได้บ้าง ยิ่งไปกว่านั้น แต่ละบริษัทมีประเทศใดสั่งจองวัคซีนของพวกเขาไปแล้ว
วัคซีนของ ไฟเซอร์ (Pfizer) และไบออนเทค (BioNTech)
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ไฟเซอร์ บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันอย่าง ไบออนเทค ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนของตน ด้วยปริมาณวัคซีน 2 โด๊ส ในระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ เข้าไปในอาสาสมัครกว่า 43,500 คน ครอบคลุม 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี วัคซีนของพวกเขาถูกทดลองด้วยการฉีดรหัสพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 ที่เรียกว่า RNA เข้าไปในร่างกายของมนุษย์ เพื่อให้ร่างกายพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า ‘ทีเซลล์’ (T-cells) ซึ่งปัจจุบันวัคซีนของพวกเขามีประสิทธิผลกว่า 95 เปอร์เซ็นต์
ไฟเซอร์และไบออนเทคได้คาดการณ์ว่า พวกเขาจะสามารถผลิตวัคซีนได้จำนวน 50 ล้านโด๊ส ภายในเวลาสิ้นปีนี้ และจะผลิตอีก 1.3 พันล้านโด๊ส ภายในสิ้น ค.ศ.2021 การฉีดวัคซีนของพวกเขาเข้าร่างกายของผู้ป่วย จำเป็นจะต้องใช้ตัววัคซีนจำนวน 2 โด๊สต่อผู้ป่วย 1 คน โดยเงื่อนไขสำคัญของวัคซีนจากไฟเซอร์และไบออนเทค คือ ตัววัคซีนต้องเก็บรักษาในตู้เย็นที่มีอุณภูมิ -70 องศาเซลเซียส และเก็บในตู้เย็นธรรมดาได้เพียง 5 วัน
วัคซีนของพวกเขาเพิ่งได้รับการรับรองจากรัฐบาลของสหราชอาณาจักรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันนี้ (2 ธ.ค.) โดยมันมีราคาอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อโด๊ส (ประมาณ 606 บาท) ทั้งนี้ มีประเทศที่ได้สั่งจองวัคซีนกับทางไฟเซอร์และไบออนเทคไปแล้ว ได้แก่ ประเทศในเครือสหภาพยุโรป 300 ล้านโด๊ส ญี่ปุ่น 120 ล้านโด๊ส สหรัฐฯ 100 ล้านโด๊ส สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และชิลี ได้สั่งจองวัคซีนจากพวกเขารวมกันอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านโด๊ส
วัคซีนของ โมเดอร์นา (Moderna)
หลังจากที่ ไฟเซอร์ และไบออนเทค ได้ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนได้เพียง 1 สัปดาห์ ในวันที่ 16 พ.ย. บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ อย่างโมเดอร์นา ได้ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนของตน พวกเขาใช้อาสาสมัครในการทดลองวัคซีนประมาณ 30,000 คนในสหรัฐฯ ซึ่งครึ่งหนึ่งถูกฉีดวัคซีนจำนวน 2 โด๊ส ในเวลาห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่มีประสิทธิผลหลังจากฉีดวัคซีนออกมาได้ดี ส่วนอาสาสมัครอีกครึ่งได้รับวัคซีนหลอก ในบรรดาผู้ที่ได้รับวัคซีนหลอกมีการติดเชื้อไป 90 คน จึงทำให้พวกเขาได้สรุปผลการทดลองว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิผลกว่า 94.5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ พวกเขากำลังจะเตรียมยื่นขอการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ในวันจันทร์หน้า (7 ธ.ค.)
วัคซีนของพวกเขาใช้วิธีคล้ายกันกับวิธีการทดลองผ่านการใช้ RNA ที่ฉีดเข้าไปในร่างกายของมนุษย์แบบเดียวกันกับไฟเซอร์และไบออนเทค เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของพวกเรา ในทางกลับกัน ประสิทธิผลของวัคซีนจากโมเดอร์นา ให้ผลลัพธ์ได้ดีกว่าวัคซีนจากไฟเซอร์และไบออนเทค วัคซีนของโมเดอร์นายังสามารถเก็บอยู่ในตู้เย็นที่มีอุณภูมิติดลบต่ำกว่ากว่าไฟเซอร์และไบออนเทค ในอุณภูมิที่ -20 องศาเซลเซียส โดยวัคซีนจะมีอายุได้นาน 6 เดือน แต่ถ้าหากเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดา วัคซีนจะมีอายุได้ประมาณ 1 เดือน พวกเขาวางแผนจะผลิตวัคซีนในระดับโลกจำนวน 500-1,000 ล้านโด๊ส ภายใน ค.ศ.2021
วัคซีนของพวกเขายังคงอยู่ในขั้นที่ 3 และยังคงไม่ได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ วัคซีนของพวกเขามีราคาแพงกว่าของไฟเซอร์และไบออนเทค โดยมีราคาอยู่ที่ระหว่าง 32 – 37 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 969-1,120 บาท) ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้สั่งจองของพวกเขาไปแล้ว 100 ล้านโด๊ส ตามมาด้วย แคนาดา 56 ล้านโด๊ส สหราชอาณาจักร 50 ล้านโด๊ส และสวิสเซอร์แลนด์ 4.5 ล้านโด๊ส
วัคซีนของ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) และแอสทราเซเนกา (AstraZeneca)
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อ็อกซ์ฟอร์ด และแอสทราเซเนกา ได้ประกาศความสำเร็จในการทดลองวัคซีนของตนเอง ที่ได้ผล 70-90 เปอร์เซ็นต์ จากอาสาสมัคร 11,636 คน แต่วัคซีนของพวกเขากลับได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากการทดลองที่พวกเขากล่าวอ้างว่ามีประสิทธิผลกว่า 90 เปอร์เซ็นต์นั้น ดันเป็นการทดลองจากอาสาสมัคร 2,741 คน ซึ่งอาสาสมัครในจำนวนนี้ ได้รับวัคซีนเพียงแค่ครึ่งโด๊สเท่านั้น ในขณะที่อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนครบโด๊ส กลับเกิดประสิทธิผลเพียงแค่ 62 เปอร์เซ็นต์
วัคซีนของพวกเขาผลิตขึ้นจากการดัดแปลงไวรัสไข้หวัดทั่วไปที่อ่อนแอลงแล้ว หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ‘อะดีโนไวรัส’ (adenovirus) โดยมีวิธีการทดลองผ่านการนำเชื้อข้างต้น ที่ได้มาจากลิงชิมแปนซีนไปดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อที่เชื้อไวรัสนี้จะไม่สามารถขยายตัวในมนุษย์ได้ จากนั้นพวกเขาได้นำยีนที่ได้มาจากปุ่มโปรตีนของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปใส่ในไวรัสไข้หวัดที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้มันไม่เป็นอันตรายต่อคน ข้อดีของวัคซีนตัวนี้ คือ มันสามารถถูกเก็บอยู่ในตู้เย็นปรกติได้
วัคซีนของพวกเขามีราคา 2.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อโด๊ส (ประมาณ 76 บาท) ปัจจุบัน มีผู้สั่งจองวัคซีนของพวกเขาหลายราย ได้แก่ สหรัฐฯและอินเดีย ประเทศละ 500 ล้านโด๊ส สหภาพยุโรป 400 ล้านโด๊ส โครงการ COVAX 300 ล้านโด๊ส รวมไปถึงสหราชอาราจักร ญี่ปุ่น อินโดนิเซีย บราซิล และลาตินอเมริกา รวมกันประมาณ 100 ล้านโด๊ส ซึ่งไทยเองก็ได้สั่งจองวัคซีนจากทางอ็อกซ์ฟอร์ด และแอสทราเซเนกา ในจำนวน 26 ล้านโด๊สด้วย โดยทางการจะได้รับวัคซีนในกลางปีหน้า เช่นเดียวกันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ ที่สั่งจองวัคซีนเจ้านี้ไปทั้งหมด 2.6 ล้านโด๊ส
วัคซีนของ กามาเลยา (Gamaleya) หรือ สปุตนิก 5 (Sputnik V)
กามาลายา หรือสปุตนิก บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจากรัสเซียได้ประกาศว่า พวกเขาได้ทดลองวัคซีนของพวกเขาแล้ว ซึ่งมันมีประสิทธิผลกว่า 92 เปอร์เซ็นต์ จากการทดลองด้วยวัคซีน 2 โด๊ส ในอาสาสมัคร 16,000 คน ที่ทดสอบในรัสเซีย เบลารุส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวเนซูเอลา และอินเดีย ทั้งนี้ ยังคงไม่มีรายงานที่อ้างอิงจากการวิจัยจากการทดลองดังกล่าวเพื่อรับรองประสิทธิผลวัคซีนของพวกเขา
พวกเขาใช้วิธีดัดแปลงพันธุกรรมเชื้อ COVID-19 เพื่อให้มันเป็นพาหะ ทั้งนี้ วัคซีนของพวกเขาสามารถเก็บรักษาในตู้เย็นปรกติได้เช่นเดียวกันกับวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด และแอสทราเซเนกา พวกเขาคาดว่าราคาวัคซีนที่จะถูกผลิตออกมาน่าจะต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 605 บาท) โดยมีประเทศที่สั่งจองวัคซีนจากกามาลายารวมกันประมาณ 1 พันล้านโด๊ส ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวเนซูเอลา คาซัคสถาน บราซิล ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย และอินเดีย
โดยล่าสุด จากการแถลงผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ไทยได้ทำการลงนามสั่งจองวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และแอสทราเซเนกาแล้ว เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่า วัคซีนดังกล่าวถูกทดสอบจนได้ผลการทดลองอยู่ในระดับ ‘ดีมาก’ กว่า 70-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าทางการจะได้รับวัคซีนชุดแรก จำนวน 26 ล้านโด๊ส และฉีดให้กับประชากร 13 ล้านคนในช่วงกลางปีหน้า อย่างไรก็ดี The Guardian เปิดเผยว่า วัคซีนป้องกัน COVID-19 ดังกล่าว อาจจะยังไม่มีผลการทดสอบที่ครบถ้วนพอจะยืนยันได้ว่า วัคซีนชุดนี้จะได้ผลจริงกับทุกคนตามที่รายงานไปในข้างต้น
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขของไทยเปิดเผยว่า หลังจากที่แอสทราเซเนกาขึ้นจดทะเบียนในสหราชอาณาจักรเสร็จ แอสทราเซเนกาจะร่วมมือกับไทยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีมายัง บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งจะเป็นบริษัทของคนไทยที่จะผลิตวัคซีนดังกล่าว ขณะที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็น บริษัทสตาร์ทอัพ ของคณะเภสัชศาสตร์จุฬาฯ สามารถผลิตวัคซีนจากใบยาสูบชนิดพิเศษที่กำหนดให้สร้างโปรตีนสำหรับทำวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แล้ว แต่โครงการนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร โดยจากรายงานล่าสุด ไทยอาจผลิตและมีวัคซีนด้วยตนเองในช่วงปลายปี 2564
อ้างอิงจาก