จะฉีดวัคซีนให้ได้ 150 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 คือเป้าหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แต่ที่ผ่านมาแผนกระจายวัคซีนกลับสร้างความงุนงงให้กับสังคมว่า อายุเท่าไหร่ฉีดได้ตอนไหน ต้องลงทะเบียนทางไหน และล่าสุดกับประเด็น Walk-in วัคซีน ที่ทั้งนายกฯ รมว.สาธารณสุข และผู้ว่า กทม.ก็ยังให้ข้อมูลที่แตกต่างกัน
The MATTER ขออาสาอธิบายให้ฟังทั้งในภาพใหญ่และภาพย่อย สำหรับวิธีกระจายวัคซีนในพื้นที่ กทม. ซึ่งยังเป็นประเด็นที่สังคมสับสนกันอยู่
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ น่าจะคุ้นเคยกันอยู่บ้างถึงแผนกระจายวัคซีนที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งกลุ่มแรกที่จะได้รับการกระจายวัคซีนคือกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้า กลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และเมื่อใกล้ถึงเดือนมิถุนายน กระทรวงสาธารณสุขก็ได้แถลงนโยบายสำหรับการกระจายวัคซีนออกเป็นสัดส่วน ‘50-30-20’ กล่าวคือ
1) ตัวเลข 50 หมายถึงกลุ่มที่นัดหมายในแอพพลิเคชั่น ‘หมอพร้อม’ ให้เข้ารับวัคซีนในโรงพยาบาล
2) ตัวเลข 30 หมายถึงกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ให้โรงพยาบาลหรืออาสาสมัคสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จังหวัดโทรไปนัดหมายให้กลุ่มดังกล่าวมารับวัคซีนตามวันและเวลา
3) ตัวเลข 20 หมายถึงประชาชนที่ Walk-in เข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้แล้วแต่สาธารณสุขจังหวัดจะเป็นผู้ตัดสินใจและประเมินความพร้อมของวิธีนี้ (อย่างไรก็ดี วิธีนี้ นายกฯ ออกมาแถลงให้หยุดก่อน เพราะเกรงจะเกิดการรวมตัวกันจำนวนมาก)
ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ย้ำว่า กรอบที่กำหนดมานี้เป็นเพียงกรอบคร่าวๆ เท่านั้น สาธารณสุขจังหวัดสามารถปรับแผนให้เข้ากับพื้นที่ของตนเองได้ตามความเหมาะสม อาทิ สสจ. บุรีรัมย์ (ซึ่งมีหลายเพจมาก แต่เพจ ‘ถามตอบคำถามโควิด-19 จ.บุรีรัมย์’ แอดมินให้ข้อมูลดีที่สุด) มีคำสั่งให้ประชาชนที่อายุมากกว่า 18 ปี ทุกคนต้องลงทะเบียนผ่านแอพลิเคชั่น IC BURIRAM เพื่อเช็คความต้องการวัคซีนของจังหวัด
ทีนี้ กลับมาดูพื้นที่ในเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพมหานคร ว่ามาถึงขณะนี้มีแผนการฉีดและกระจายวัคซีนอย่างไรบ้าง The MATTER ได้สรุปข้อมูลและติดต่อพูดคุยกับกรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานครออกมาเป็นข้อมูลดั่งข้างล่างนี้
โดยแผนการกระจายวัคซีนของ กทม. ฉบับปัจจุบัน ขณะนี้แบ่งเป็น 4 วิธีคือ
1) นัดหมายผ่านแอพลิเคชั่น ‘หมอพร้อม’
สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค ที่จองคิวฉีดวัคซีนผ่านแอพพลิคชั่น ‘หมอพร้อม’ จะได้รับการแจ้งวันและเวลาสำหรับรับวัคซีนที่โรงพยาบาล และสามารถไปรับวัคซีนตามคิวได้เลย
ส่วนทางด้านผู้ที่มาอายุ 18-59 ปี ทางกรมควบคุมโรคระบุว่าจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านแอพดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. เป็นต้นไป และถ้าเป็นไปตามแผนที่เคยมีการประกาศไว้ จะเริ่มฉีดให้คนกลุ่มนี้ในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
2) โรงพยาบาลหรือ อสม. โทรนัดผู้ป่วย
วิธีการนี้ ทางสาธารสุขออกแบบมาเพื่อกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรคที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ โดยให้ อสม. และโรงพยาบาลที่ลงพื้นที่ทั้งในสถานการณ์ปกติและในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้มีข้อมูลของผู้ป่วยและผู้สูงอายุอยู่แล้ว เป็นผู้นัดหมายให้มารับวัคซีนตามวันเวลา
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่อยู่ในเกณฑ์แต่ตกหล่น สามารถเข้าไปสอบถามโรงพยาบาลที่รับฉีดวัคซีนใกล้บ้านได้เลย
3) ฉีดวัคซีนนอกสถานที่ (ไม่ใช่ Walk-in)
วิธีนี้น่าจะเป็นต้นเหตุของความสับสนของประชาชน เพราะถ้าฟังจากแถลงหรืออ่านจากข่าวหลายแหล่ง กทม. ไม่อธิบายให้ชัดเจนว่าขณะนี้เปิดให้ประชาชน Walk-in รับวัคซีนหรือยัง แต่ไปพูดในประเด็นอื่น หรือที่เรียกว่า ‘เลี่ยงบาลี’ ว่าเปิดให้ “กึ่ง Walk-in” บ้าง พูดถึงจำนวนสถานที่กระจายวัคซีน 25 จุดบ้าง หรือไปพูดถึงแผนในมิถุนายน เรื่องการเปิดพื้นที่รถไฟฟ้าสถานีบางซื่อให้เป็นจุดกระจายวัคซีนบ้าง
ทั้งนี้ หลังจากที่ The MATTER โทรขอข้อมูลกับทางกรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร สรุปความได้ว่า ขณะนี้ กทม. เริ่มมีแผนตั้งจุดฉีดวัคซีนนอกสถานที่ 25 จุดจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนทั่วไปสามารถ Walk-in เข้ามารับวัคซีนได้ (ข้อมูลถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2564) เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองระบบ และผู้ที่เข้ามารับวัคซีนล้วนเป็นกลุ่มที่ กทม. นัดหมายมาเอง อาทิ กลุ่มผู้ให้บริการรถสาธารณะ, คนทำความสะอาดถนน, ครู, พนักงานเก็บค่าโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานยังได้จับมือกับโรงพยาบาลร่วมกันลงฉีดวัคซีนนอกสถานที่ ตามสถานที่ทำงานที่แออัดต่างๆ อาทิ โรงงาน
4) รถฉีดวัคซีนเชิงรุก
วิธีสุดท้ายที่ กทม. นำมาใช้คือ การใช้รถอนามัยกรุงเทพมหานครและรถพระราชทานลงไปแจกจ่ายวัคซีนในพื้นที่แพร่ระบาดสูง อาทิ ชุมชนคลองเตย เป็นต้น
ดังนั้น มาถึงขณะนี้ (วันที่ 19 พ.ค. 2564) สรุปได้ว่า
1) พื้นที่ กทม. ยังไม่เปิดให้ประชาชน Walk In เข้ารับวัคซีน โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้เหตุผลว่าตอนนี้ระบบยังไม่เสถียร และเกรงว่าจะทำให้เกิดการรวมกลุ่มในจุดเดียว จนให้บริการฉีดวัคซีนไม่ไหว
2) ที่มีข่าวเรื่องจุดฉีดวัคซีนนอกสถานที่ 25 จุด ในประเด็นนี้ ไม่ได้หมายความว่าทาง กทม. เปิดให้ประชาชน Walk In เข้ารับวัคซีนแล้ว เพราะจากที่โทรสอบถามกรมประชาสัมพันธ์ ในเบื้องต้น กทม. เป็นผู้ประสานกลุ่มที่เข้ารับวัคซีนตามจุดเหล่านี้เอง โดยเน้นผู้ที่ทำงานสาธารณะ อาทิ พนักงานขับรถสาธารณะ, พนักงานเก็บค่าโดยสารรถสาธารณะ, ครู
3) ในประเด็นที่มีข่าวเรื่อง การเปิดสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อเป็นจุด Walk In ให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน มาถึงล่าสุดข้อมูลแตกออกเป็นสองฝั่ง โดย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่าจะเปิดพื้นที่สถานีรถไฟบางซื่อให้ประชาชนสามารถ Walk In มารับวัคซีนได้ แต่ทางด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าประชาชนจุดนี้ไม่ใช่สำหรับประชาชน Walk In มารับวัคซีน แต่จะฉีดให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ ต่างหาก
ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 24-31 พฤษภาคม เวลา 9.00-20.00 น. ในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าบางซื่อจะมีการทดลองระบบฉีดวัคซีน เริ่มฉีดให้แก่บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า และผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
4) กลุ่มที่สามารถนัดหมายฉีดวัคซีนระยะนี้คือ ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค
5) ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี สามารถเริ่มลงทะเบียนใน ‘หมอพร้อม’ ได้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. เป็นต้นไป
สรุปว่ามาถึงวันที่ 19 พฤษาคม เวลา 13.08 น. ประชาชนยังไม่สามารถ Walk In เข้าไปรับวัคซีนได้ ขณะที่เป้าหมายกระจายวัคซีน 100 ล้านโดส มาถึงขณะนี้มีสัดส่วนประชากรไทยที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่ 1,585,773 ราย หรือคิดเป็น 2.4% ส่วนสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม 859,872 ราย คิดเป็น 1.3%
จึงได้แต่เอาใจช่วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะทีมงานด้วยเพลง “จะทำได้ไหม ทำได้หรือเปล่าาาา”
***** แผนการกระจายวัคซีน COVID-19 และวิธี Walk In ทั้งใน กทม. รวมถึงพื้นที่อื่นๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนทุกวัน โปรดติดตามอย่างใกล้ชิด*****
โปรดอ่านข้อมูลจาก The MATTER เพื่อประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติม:
https://thematter.co/quick-bite/quickbite-whatif-i-get-covid19/141059 (ควรทำอย่างไร เมื่อติด Covid-19)
https://thematter.co/quick-bite/contact-covid19/141526 (สายด่วนสำคัญภาคเอกชนและรัฐ)
https://thematter.co/quick-bite/covid-vaccine-timeline/141510 (ไทม์ไลน์วัคซีนไทย)
https://thematter.co/quick-bite/sinovac-side-effect/141501 (ผลข้างเคียงวัคซีน Sinovac)
https://thematter.co/social/effective-and-side-effect-of-vaccine-covid19/142868 (ข้อมูลวัคซีน 5 ชนิดที่มีโอกาสเข้าไทย)
อ้างอิง:
https://www.itax.in.th/media/ฉีดวัคซีนโควิด-walk-in/
https://www.tnnthailand.com/news/covid19/79861/
https://www.prachachat.net/general/news-669823
https://www.hfocus.org/content/2021/05/21634