กลายเป็นความหวังใหม่ในการยุติโรคระบาด เมื่อบริษัทยาในสหรัฐฯ เผยผลการทดลองยาเม็ดต้าน COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพสูง และอาจเป็นยาเม็ดชนิดแรกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษา COVID-19
ข่าวนี้เรียกกระแสสนใจจากผู้คนทั่วโลกได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าใครต่างก็เหนื่อยหน่ายกับโรคระบาดนี้กันเต็มทนแล้ว และเฝ้ารอวันที่การระบาดของ COVID-19 จะจบลงเสียที
เท้าความกันก่อนว่า บริษัท Merck ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1891 และเป็นบริษัทยาที่ผลิตวัคซีนต่อสู้กับโรคระบาดมาตลอดหลายปี ตั้งแต่โรคอีโบล่า H.I.V. ไปจนถึงโรคพยาธิตาบอด แต่ในการทำวัคซีนรับมือโรค COVID-19 กลับไม่มีชื่อของบริษัท Merck ออกมาเลย
จนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานเปิดเผยว่าบริษัท Merck กำลังผลิตยาเม็ดต้าน COVID-19 ที่ชื่อโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) อยู่ ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่มียารักษาโรค COVID-19 โดยตรงมาก่อน ทำให้ข่าวนี้กลายเป็นกระแสสนใจของผู้คนทั่วโลก
และช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการรายงานผลวิจัยเบื้องต้นของยาเม็ดต้าน COVID-19 จากบริษัท Merck ออกมา ซึ่งให้ผลลัพธ์ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งยังเป็นความหวังให้กับมวลมนุษยชาติอีกด้วย
แล้วยาที่จะมาช่วยให้เราหลุดพ้นจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้เป็นยังไง ออกฤทธิ์แบบไหน มีผลวิจัยอย่างไรบ้าง The MATTER ขอสรุปข้อมูลมาให้ดูกัน
ยาโมลนูพิราเวียร์ คือ?
เป็นยาเม็ด (หน้าตาเป็นแคปซูล) ชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์ต้านไวรัส พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ แต่จากการศึกษาพบว่า เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านไวรัสตระกูลโคโรนาหลายชนิด เช่น โรคซาร์ส (SARS) โรคเมอร์ส (MERS) และโรค COVID-19
หากได้รับอนุมัติให้ใช้รักษา COVID-19 แล้ว ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาเม็ดชนิดแรกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษา COVID-19 โดยกินยาได้เองที่บ้าน ไม่ต้องรับยาฉีด หรือยารักษาที่ให้ผ่านทางเส้นเลือดที่โรงพยาบาล
กินเข้าไปแล้ว ยาจะทำปฏิกิริยายังไง?
ปกติแล้ว เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ไวรัสจะทำสำเนาตัวเองเพื่อเพิ่มจำนวนในร่างกายของมนุษย์ แต่ยาตัวนี้ จะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ของไวรัส ทำให้ทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัส จนไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายได้ ซึ่งเป็นวิธีที่อาจทำให้ยาโมนูพิราเวียร์สามารถยับยั้ง COVID-19 ได้ทุกสายพันธุ์
ข้อมูลจากบริษัท Merck แถลงไว้ว่า ผลของยาโมนูพิราเวียร์ยังมีประสิทธิภาพแม้จะทดลองในไวรัสสายพันธุ์ที่ต่างกันไป ซึ่งรวมถึง เดลตา สายพันธุ์หลักในระดับโลกด้วย
นอกจากนี้ บริษัท Merck ยังระบุด้วยว่า ยาโมนูพิราเวียร์ไม่ส่งผลกระทบต่อพันธุกรรมในเซลล์มนุษย์แต่อย่างใด
ผลวิจัยของยาโมลนูพิราเวียร์
ข้อมูลจากการทดลองระยะที่ 3 ซึ่งทดลองในอาสาสมัครกลุ่มผู้ใหญ่จำนวน 775 คน ที่ป่วยด้วยโรค COVID-19 ซึ่งแสดงอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการปานกลาง ทั้งยังเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือเป็นผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
ในการทดลองนี้ จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาภายใน 5 วัน หลังจากเริ่มแสดงอาการ เปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ และผู้ที่ได้รับยาหลอก ซึ่งพบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ 7.3% เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใน 29 วัน และไม่มีผู้ใดเสียชีวิตส่วนผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก มี 14.1% ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิต 8 ราย
นอกจากนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ยังลดอัตราการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ถึง 50% อีกด้วย
Merck ยังระบุด้วยว่า บริษัทได้ทำการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 ใน 170 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล กัวเตมาลา อิตาลี แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน เป็นต้น
ดาเรีย ฮาซูดา (Daria Hazuda) รองประธานทีมวิจัยเรื่องโรคระบาดของบริษัท Merck กล่าวว่า ยาต้านไวรัสนี้เหมาะกับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันขึ้นน้อยมากแม้จะรับวัคซีนไปแล้ว
“นี่จะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยยุติโรคระบาดครั้งใหญ่นี้”
ขณะที่ ปีเตอร์ ฮอร์บี (Peter Horby) ศาตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อจาก University of Oxford ระบุถึงยาโมลนูพิราเวียร์ว่าเป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ดที่ปลอดภัย ราคาจับต้องได้ และมีประสิทธิภาพ ทั้งยังจะมีส่วนช่วยสร้างข้อได้เปรียบครั้งใหญ่ในการรับมือกับ COVID-19 อีกด้วย
“(ผลของ) โมลนูพิราเวียร์ดูมีความหวังจากการทดลองในห้องแล็บ แต่การทดสอบที่แท้จริงก็คือว่ามันแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในผู้ป่วยหรือไม่ ยาจำนวนมากล้มเหลวในตอนนี้ ดังนั้นผลลัพธ์ที่ออกมานี้จึงน่ายินดีมาก”
ความคืบหน้าในการอนุมัติ
ตอนนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินของ FDA ของสหรัฐฯ ถ้าผ่านการอนุมัติก็จะทำให้ผู้คนสามารถรับประทานยา molnupiravir เองที่บ้านได้ ไม่ต้องเข้ารับยาที่โรงพยาบาล
สำหรับไทยนั้น รายงานจาก Reuters ระบุว่า รัฐบาลไทยกำลังเจรจากับบริษัทผู้ผลิตยาในสหรัฐฯ เพื่อซื้อยาโมนูพิราเวียร์จำนวน 200,000 ชุด
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ได้มีการเจรจาเรื่องยาอยู่ตลอด และขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการร่างสัญญาซื้อขาย ซึ่งน่าจะร่างเสร็จในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะเข้าไทยมาในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
ส่วนเรื่องราคานั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากมีการเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลกันเอาไว้ เพราะเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการขายในแต่ละประเทศ ซึ่งไม่เท่ากัน
“สัญญานี้จะมีผลต่อเมื่อ FDA ขึ้นทะเบียน หากไม่ขึ้นทะเบียนให้ใช้ฉุกเฉินก็ถือว่าสัญญานี้เป็นโมฆะ แต่เราพูดคุยและติดตามกันมาตลอด สัญญาน่าจะเสร็จสัปดาห์นี้ พอ FDA ขึ้นทะเบียนแล้วเราก็สามารถทำสัญญากันได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศกำลังจับตามองยารักษาตัวนี้อยู่ โดยสหรัฐฯ เตรียมสั่งซื้อไว้ที่ 1.7 ล้านชุด ซึ่งบริษัท Merck ระบุว่า สามารถผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้ 10 ล้านชุดภายในสิ้นปีนี้ และตอนนี้ก็มีสัญญารับซื้อจากหลายประเทศทั่วโลกแล้ว
อ้างอิงจาก