เมื่อไหร่ COVID-19 จะหมดซักที?
คำถามที่เราถามกันมานานนนนนน ด้วยความหวังว่าหนทางในการรับมือกับโรคนี้จะมาถึงเสียที ซึ่งทางออกที่เราต่างคาดหวังก็คือ ‘วัคซีน’ นั่นเอง
ดังนั้น เรื่องราวของวัคซีน จึงเรียกความสนใจของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี ทั้งคำถามที่ว่า วัคซีนมีแบบไหนบ้าง แล้วแต่ละแบบต่างกันอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ วัคซีนของเจ้าไหนเป็นชนิดแบบไหนกันบ้าง
ต้องบอกก่อนว่า จริงๆ แล้ววัคซีนมีอยู่หลากหลายชนิด แต่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ขณะนี้ วัคซีนที่อนุญาตให้ใช้ในมนุษย์ในภาวะปกติและฉุกเฉินที่ผ่านการทดลองมี 3 กลุ่มด้วยกัน โดยมีความแตกต่างกัน ดังนี้
วัคซีน mRNA
ถือเป็นวัคซีนรูปแบบใหม่ที่ใช้ป้องกันโรคติดเชื้อในมนุษย์ โดยวัคซีนทั่วๆ ไปนั้น จะฉีดเชื้อโรคที่อ่อนแอหรือเชื้อโรคที่ไม่สามารถก่ออันตรายกับร่างกายเราได้แล้ว เข้าไปในร่างกายเรา แต่วัคซีน mRNA นั้น เป็นการใช้ mRNA หรือ messenger RNA ซึ่งเป็นโมเลกุลอาร์เอ็นเอชนิดหนึ่ง โดยวัคซีน mRNA นี้จะถูกห่อหุ้มด้วย อนุภาคนาโนไขมัน (Lipid Nanoparticle) เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย ก็จะทำให้เซลล์ในร่างกายของเราสร้างโปรตีนหรือชิ้นส่วนของโปรตีน ที่จะสามารถกระตุ้นให้เกิดตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา เกิดเป็นแอนติบอดี้ ซึ่งจะช่วยคุ้มกันเราจากเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายได้
ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้คือ สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะเป็นการผลิตจากโรงงาน และยังเป็นวัคซีนชนิดที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงอีกด้วย แต่ข้อกังวลก็คือ RNA นั้นสลายตัวได้ง่าย ทั้งยังเป็นวัคซีนรูปแบบใหม่ที่ใช้ในมนุษย์ ซึ่งพบอาการข้างเคียงหลังฉีดบ่อยกว่าวัคซีนที่ทำด้วยเทคโนโลยีดั้งเดิม
บริษัทที่ใช้วัคซีนชนิดนี้ ได้แก่ Pfizer วัคซีนจากสหรัฐฯ และ Moderna วัคซีนจากเยอรมนี
วัคซีนที่มีไวรัสเป็นพาหะ
วัคซีนชนิดนี้เอาสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาใส่เข้าไปในไวรัสที่จะเป็นพาหะหรือตัวฝาก โดยไวรัสที่เป็นพาหะนั้นจะไม่ก่อให้เกิดโรคร่างกายของมนุษย์ เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกายแล้วไวรัสก็จะถอดรูปพันธุกรรมที่ส่งเข้าไป และสร้างปุ่มโปรตีนไวรัสโคโรนาขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดี และกระตุ้นให้ที-เซลล์ (T-cell) ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิต้านทานชนิดหนึ่ง ที่จะคอยหาเซลล์ติดเชื้อหรือเชื้อโรคต่างๆ ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อลง
ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือผลิตได้เยอะและเร็วเพราะสามารถผลิตได้จากโรงงานเหมือนกับแบบ mRNA ส่งผลให้ราคาถูกตามไปด้วย ประกอบกับ DNA มีความคงทนกว่า จึงสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศา แต่ก็ต้องจับตาดูผลจากการใช้วัคซีนในระยะยาวอีกเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นวัคซีนชนิดใหม่ที่ใช้ในมนุษย์
บริษัทที่ใช้วัคซีนชนิดนี้ ได้แก่ AstraZeneca จากสหราชอาณาจักรและสวีเดน ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University)และ Sputnik V จากรัสเซีย
วัคซีนเชื้อตาย
เป็นการนำเชื้อไวรัสโคโรนามาเพาะเลี้ยงบนเซลล์ที่ใช้ทำวัคซีน จากนั้นก็นำฆ่าเชื้อให้ตาย แล้วนำไป Formulation ใส่สารกระตุ้นภูมิต้านทาน วัคซีนชนิดนี้เราคุ้นเคยกันดี เพราะใช้มานานกว่าศตวรรษ และเป็นวิธีเดียวกันกับการทำวัคซีนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น วัคซีนโปลิโอ วัคซีนสำหรับพิษสุนัขบ้า และไวรัสตับอักเสบเอ
เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกายแล้ว จะเกิดการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดีต้านไวรัสโคโรนา โดยแอนติบอดีจะยึดติดกับโปรตีนบางส่วนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย
ข้อดีก็คือ วัคซีนชนิดนี้เป็นรูปแบบการผลิตที่เราคุ้นเคยกันดี จึงไม่น่ากังวลในเรื่องความปลอดภัย และสามารถใช้กับคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ภูมิคุ้มกันต่ำได้ เพราะเป็นเชื้อตาย เชื้อจะไม่เพิ่มจำนวน แต่วัคซีนชนิดนี้ต้องเพาะเลี้ยงในห้องชีวนิรภัยระดับสูง จึงมีต้นทุนสูง และผลิตได้ทีละจำนวนน้อยกว่าแบบอื่นๆ
บริษัทที่ใช้วัคซีนชนิดนี้ ได้แก่ Sinovac และ Sinopharm จากจีน
นอกจากวัคซีนทั้งสามชนิดนี้แล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่ใช้ในการทำวัคซีนเพื่อต้าน COVID-19 ซึ่งหลายสถาบันทดลองทั่วโลกกำลังเร่งหาแนวทาง เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพที่สุดสำหรับมนุษย์
อ้างอิงจาก