เกือบ 3 ปีแล้วที่วงการทีวีบ้านเราเข้าสู่ระบบดิจิทัล การประมูลทีวี 24 ช่องที่มีมูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านบาทมาพร้อมกับความหวังของคนทั้งสังคม ว่าต่อจากนี้เราจะมีรายการทีวีดีๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาที่หลากหลายและมีคุณภาพ
แต่เส้นทางของธุรกิจทีวีดิจิทัลไทยก็ไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ สถานีโทรทัศน์ทุกช่องต้องแบกรับภาระทางการเงินอันหนักอึ้ง บางรายที่สู้ไม่ไหวถึงกับโบกมือลากันไปตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งถ้ามาดูที่ตัวเลขรายได้ 3 ปีหลังมานี้ของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องก็จะเห็นภาพชัดขึ้น แทบทุกรายเจอกับปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างปีล่าสุดนี้ก็มีเพียงช่อง 7 และ Workpoint เท่านั้นที่ได้กำไรทางธุรกิจ
กลายเป็นคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับทีวีดิจิทัลไทย?
มีผู้วิเคราะห์ว่า ทีวีดิจิทัลกำลังเจอปัญหา ‘Over Supply’ หรืออุปทานส่วนเกิน เพราะช่องรายการทีวีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากเกินไป จากเดิมที่มีเพียง 4 ช่องได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20 ช่อง ทำให้เม็ดเงินโฆษณากระจัดกระจายมากขึ้น รายได้ที่แต่ละช่องเคยมีก็ลดลงกันอย่างเห็นได้ชัด ยังไม่นับรวมสภาพเศรษฐกิจของบ้านเราที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ทำให้เอเจนซี่หรือลูกค้าฝั่งธุรกิจรายหลายต้องลดทั้งปริมาณและค่าโฆษณาลงตามไปด้วย จึงทำให้เห็นปรากฏการณ์ ‘เรทติ้งดี แต่โฆษณาไม่เข้า’ กันถมไป
หลายช่องยังทุ่มทุนลงไปกับการสร้างคอนเทนต์เอาใจคนดูกันชนิดมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการผลิต หรือการสร้างเนื้อหารายการใหม่ๆ ทั้งซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างชาติและผลิตขึ้นมาด้วยตัวเอง แน่นอนว่า การลงทุนในด้านนี้ก็ช่วยเพิ่มรายจ่ายให้กับสถานีเป็นเงาตามตัว
แม้บางรายจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง สามารถปรับตัวเข้ากับภาวะเช่นนี้ได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่เพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะการปลดพนักงานเพื่อลดรายจ่าย (หรือในบางกรณีคือเปิดโอกาสให้ลาออกโดยสมัครใจ) ขณะเดียวกัน ผู้บริหารก็หันมาใช้นโยบายรัดเข็มขัดกันมากขึ้น ตัดรายจ่ายที่เห็นว่าไม่จำเป็นออก เช่น สวัสดิการต่างๆ ที่พนักงานเคยได้ทิ้งไป เพื่อต่อลมหายใจของบริษัท
หลังจากนี้คงต้องติดตามกันว่า ทีวีดิจิทัลแต่ละช่องจะหาทางเดินต่อกันไปอย่างไร ท่ามกลางความคาดหวังของผู้ชมว่า ‘คุณภาพของเนื้อหา’ จะไม่หายไปพร้อมกับรายได้ที่ลดลง
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.naewna.com/entertain/281387
https://www.isranews.org/isranews-article/50197-sine-2560.html