ลองนึกย้อนไปถึงตอนเราเป็นเด็กๆ ยอมตื่นเช้าหรือเลิกเรียนแล้วรีบกลับบ้าน เพื่อมาเฝ้าหน้าจอทีวีรอดูรายการสุดโปรด มันก็เป็นความทรงจำที่สนุกดีเหมือนกันเนอะ
ตัดภาพกลับมาวันนี้ กำลังมีความกังวลกันว่า รายการทีวีเพื่อเด็กในบ้านเรา กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลายรายการเริ่มล้มหายตายจาก ส่วนที่เหลืออยู่ก็มีพื้นที่น้อยลงเรื่อยๆ บ้างก็วิเคราะห์ว่า สาเหตุเพราะรายการเด็กมันไม่หวือหวาเพียงพอที่จะดึงดูดโฆษณาในสงครามทีวีดิจิทัลได้ รวมถึงภูมิทัศน์สื่อทีวีที่เปลี่ยนไป ตลอนจนสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย
กลายเป็นคำถามว่า ทีวีและรายการสำหรับเด็กในไทยกำลังไปไม่รอดแล้วจริงไหม ตกลงแล้วทีวีช่องเด็กของบ้านเรายังจำเป็นอยู่แค่ไหน?
เกิดอะไรขึ้นกับทีวีช่องเด็กในประเทศไทย?
ย้อนความกันซักนิด การประมูลทีวีดิจิทัลที่ กสทช. จัดขึ้นเมื่อปี 2556 นั้นได้ก่อให้ทีวีสำหรับ ‘เด็ก ครอบครัว และเยาวชน’ จำนวน 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 13 Family – MCOT Family – LOCA ในตอนนั้นหลายฝ่ายก็วาดฝันกันว่าจะช่วยยกระดับเนื้อหาวงการทีวีเพื่อเด็กในบ้านเราได้
เมื่อเริ่มแรกท้องฟ้ายังดูสดใส แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์ก็เริ่มส่อเค้ามืดมน
ช่อง LOCA ของ พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ ‘เจ๊ติ๋มทีวีพูล’ เป็นทีวีเด็กช่องแรกที่ขอคืนใบอนุญาตให้กับ กสทช. หลังจากเกิดปัญหาเรื่องขาดทุนเป็นเงินจำนวนมหาศาล
ช่อง 13 Family แม้จะยืนหยัดสู้ต่อในสงครามแย่งชิงเรตติ้ง แต่ก็ต้องปรับผังรายการพอสมควร โดยหันไปพึ่งการรีรันรายการจากช่องหลัก รวมถึงปรับเนื้อหาที่เพิ่มสัดส่วนให้กับ ‘ครอบครัว’ ให้มากขึ้นกว่าเดิม
ช่อง MCOT Family เรตติ้งอยู่ท้ายตารางทีวีดิจิทัลมาโดยตลอด จนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน เมื่อผู้บริหารตัดสินใจ ‘ยกเครื่อง’ ผังรายการ โดยเพิ่มสัดส่วนรายการประเภทขายสินค้า ช้อปปิ้ง และซื้อขายสินค้า SME
ผู้จัดการออนไลน์ และ Positioning Magazine ระบุถึงคำพูดของ เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. เอาไว้ว่า “ถ้า กสทช. จะออกมาห้ามด้วยกฎกติกาต่างๆ เราก็ไม่สนใจแล้ว เพราะไม่ได้ผิดกฎอะไร ทุกวันนี้ทุกช่องต้องปรับกลยุทธ์หนีตาย สร้างรายได้กันทั้งนั้น”
“สัดส่วนรายการยังคงเดิม รายการเด็กเยาวชนและครอบครัวเกือบ 50% ที่เหลือเป็นรายการบ่มเพาะเรื่องเอสเอ็มอีซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ที่ทำให้จีดีพีของประเทศแข็งแรงมากขึ้น ส่วนที่เหลือเป็นโฆษณา ซึ่งจริงๆ โฆษณาที่เป็นเรตติ้งแบบนี้แล้วโฆษณาสินค้าเด็กน้อยมาก ฉะนั้นต้องหาทางแก้ด้วยการให้ เช่าเวลา แต่ยังอยู่ในกรอบของกสทช.”
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ผลิตรายการสำหรับเด็ก รวมถึง หน่วยงานและนักวิชาการแวดวงสื่อสารมวลชนกันขนานใหญ่ เกิดความกลัวกันว่า ทีวีดิจิทัลกำลังลดความสำคัญกับเนื้อหาสาระเพื่อเด็กลงไปรึเปล่า?
จึงกลายเป็นที่มาของงานเสวนา ‘ทีวีสำหรับเด็กในเมืองไทย ทำอย่างไรให้รอดและรุ่ง’ จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
กับดักเรตติ้งกำลังทำร้ายทีวีเพื่อเด็ก : เสียงสะท้อนจากผู้ผลิตรายการ
นรภัทท์ อร่ามเรือง บรรณาธิการข่าวช่อง 13 Family เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ผู้บริหารของช่องได้ตัดสินใจ เปลี่ยนเนื้อหาที่โฟกัสสำหรับเด็กโดยเฉพาะไปเป็นเนื้อหาเพื่อ ‘ครอบครัว’ ซึ่งกว้างกว่าแทน ทั้งนี้ก็เพื่อการอยู่รอดทางธุรกิจ
“ตั้งแต่เริ่มสถานีมา เรตติ้งคนอายุ 6-14 ปี คือ 0.00 คือไม่มีเด็กดูเลย แต่เรากลับได้กลุ่มผู้สูงอายุแทน ผู้บริหารเลยคิดว่า เราเปลี่ยนเป็นทีวีสำหรับผู้สูงอายุดีไหม เพราะมันตอบโจทย์ทั้งเรตติ้งและการค้าขาย เพราะในแง่ธุรกิจแล้ว ทีวีเพื่อเด็กอย่างเดียวมันยังขายไม่ได้ สุดท้ายแล้วคำว่า Family เลยไม่ได้เป็นช่องเด็ก แต่เป็นช่อง Family ที่ดูได้ทุกคน ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นใคร เด็ก เยาวชน หรือครอบครัว เพราะเราเห็นบทเรียนมาจากช่องอื่น” นรภัทท์ สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับช่อง 13 Family
แม้แต่รายการเด็กในช่องไทยพีบีเอส ทีวีสาธารณะที่มักเชื่อกันว่าอยู่รอดได้ไม่ยากนัก (เนื่องจากได้งบประมาณจากภาษีของประชาชนเป็นหลัก) ก็ยังได้รับผลกระทบที่รุนแรงไม่แพ้ทีวีช่องอื่นๆ
วิไลภรณ์ จงกลวัฒนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักรายการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมีประสบการณ์ผลิตรายการเด็กมาอย่างยาวนาน ระบุว่า ตอนนี้คนทำงานด้านเนื้อหาสำหรับเด็กรู้สึกเหนื่อยกันทุกคน เพราะต้องต่อสู้กับโลกของผู้ใหญ่ที่ลืมความสำคัญของเด็ก และมองแต่เรื่องเรตติ้งมากกว่าความจำเป็นของเนื้อหา
“พื้นที่ของรายการเด็กมันลดลงเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยเป็นช่วงที่แข็งแรงมากตอนเวลาสี่โมงเย็นถึงเกือบหกโมง แต่ช่วงเวลานั้นก็ถูกข่าวยึดไป ถูกผลักไปห้าโมง แต่เด็กเขามีนาฬิกาชีวิตที่คุ้นชินกับช่วงเวลาของรายการเหล่านั้นไปแล้ว เขาก็ไม่ตามไปดูรายการในเวลาใหม่” วิไลภรณ์ ตั้งความหวังเอาไว้ด้วยว่า พื้นที่ที่น้อยอยู่แล้วในตอนนี้จะไม่ถูกลดลงไปมากกว่าเดิม
สอดคล้องกับภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ หรือน้านิต อดีตพิธีกรและผู้ผลิตรายการสโมสรผึ้งน้อย ที่สะท้อนออกมาแรงๆ ว่า
“พูดเรื่องนี้มา 39 ปี คนดูแลประเทศเราเห็นเด็กเป็นแค่การสร้างภาพ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศเราต้องหันมาใส่ใจเรื่องสื่อเด็ก ไม่ใช่แค่ทีวี แต่ยังรวมถึงหนังสือและวิทยุ สื่ออื่นๆ ประเทศเราต้องมีช่องเด็ก เพราะเป็นพื้นที่ช่วยปลูกฝังเรื่องราวต่างๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ อย่าให้รายการและสื่อเด็กอยู่ในมือธุรกิจ เพราะผู้ประกอบการไม่สนเด็ก สนใจแค่เรตติ้งและโฆษณา มองแต่กำไรของตัวเอง ไม่ได้มองกำไรของเด็ก”
“ปีนี้เป็นปีที่ 39 ที่พูดเรื่องนี้ การกลับมาพูดเรื่องนี้อีกครั้งมันเป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก อยากให้ยกตัวอย่าง NHK ที่ผลิตรายการเด็กมาเกิน 20 ปี 30 ปี แต่กับสื่อเด็กบ้านเราอยู่กันได้เพียงแค่ 3 ปีก็ถูกมองว่าอยู่นานเกินไปแล้ว”
เรตติ้งไม่ดี แปลว่าไม่ควรมีทีวีเพื่อเด็ก?
‘ยิ่งแข่งยิ่งได้ของดี’ ประโยคนี้อาจไม่ได้เป็นจริงเสมอไป
โดยเฉพาะกับสงครามทีวีดิจิทัลในไทยที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อสถานีโทรทัศน์กำลังต่อสู้กันอย่างรุนแรงเพื่อแย่งชิงฐานผู้ชม กลุ่มรายการที่มักจะถูกดีดออกจากผังเป็นรายแรกๆ ก็หนีไม่พ้นรายการสำหรับเด็ก
วรินทร์เนตร เติมศิริกมล ผู้ผลิตรายการจากบริษัท บี อเมซซิ่ง เอ็ดดูเทนเม้นท์ บอกว่า ตั้งแต่ทำรายการสำหรับเด็กมา 12 ปี ไม่เคยมีช่วงไหนที่พ้นคำว่าวิกฤตเลย ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม ก็ยังมั่นใจว่าช่องทีวีสำหรับเด็กไม่ควรหายไป
“ถ้าเป็นรายการสำหรับเด็กจริงๆ เด็กก็จะรู้ เค้าก็จะดู จริงๆ แล้วเด็กดูอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีก เค้าดูได้ถ้ามันเป็นของดี เด็กไม่เบื่อหรอก แต่ผู้ใหญ่ต่างหากที่จะเบื่อ เรื่องของธุรกิจก็เข้าใจว่าต้ออยู่รอด หลายๆ ฝ่ายจึงน่าจะมาร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ”
“พวกเราเคยระดมทุนส่วนตัวเพื่อให้ผู้ผลิตรายการเด็กของไทยไปศึกษาประเทศอื่นๆ ตอนแรกเราอายมาก ถูกต่างชาติถามว่าสิ่งที่ทำมันคือรายการเด็กไหม จนเราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายรายการของไทยพีบีเอสก็ได้ถูกเลือกไปให้ต่างประเทศดูมากที่สุดพอๆ กับ NHK ของญี่ปุ่น มันแปลว่าจริงๆ แล้วคนไทยมีฝีมือความสามารถในการทำรายการเด็กเยอะมาก ดังนั้น ถ้าได้รับการสนับสนุนจริงๆ มันก็จะกลายเป็นพลังได้”
ด้าน อิษฎา อัยศิริ ผู้ผลิตรายการเด็กจากบริษัท มิราเคิล มัชรูม สะท้อนความเห็นว่า ไม่อยากให้ผู้ประกอบการเอาธุรกิจมารวมกับรายการเด็กจนเกินไป เพราะคอนเทนต์มันจะกลายเป็นเพื่อขายของ ไม่ได้ทำเพื่อให้เด็กเรียนรู้จริงๆ
“ไม่ใช่ว่ามันเจ๊งเลยมีไม่ได้ ถ้ามันเจ๊งกันหมด เด็กก็ไม่มีอะไรดูเลย” อิษฎา กล่าว
มองไปก็เจอแต่ปัญหา แล้วทางออกอยู่ตรงไหน?
ในงานเสวนามีการพูดถึงการใช้งบประมาณจาก ‘กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’ อยู่หลายครั้งด้วยความหวังว่า จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยอุดปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ของคนทำสื่อเพื่อเด็กได้
แต่ในระยะยาวล่ะ? ในเชิงนโยบายมันควรมีอะไรเพิ่มเติมมากไปกว่านี้รึเปล่า
ถ้าย้อนกลับไปดูงานศึกษาว่าด้วยเนื้อหาและผังรายการทีวีเพื่อเด็กของ Media Monitor ที่เคยระดมความเห็นคนในวงการสื่อเพื่อเด็กรวมถึงหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็จะพบว่ามีข้อเสนอเชิงนโยบายที่น่าสนใจอยู่หลายข้อเหมือนกัน
ยกตัวอย่าง การแก้ไขนิยามของทีวีเพื่อเด็กให้มันชัดเจนมากขึ้น เพราะดูเหมือนคำว่า ‘ครอบครัว’ นั้นจะเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ที่ผู้ประกอบการนำไปตีความ เพื่อผลิตคอนเทนต์กว้างๆ ไม่เจาะจงกลุ่มเด็กเป็นพิเศษ (เพราะเชื่อว่ามันสามารถดึงดูดโฆษณาได้มากกว่า)
ในรายงานของ Media Monitor ยังมีข้อเสนอว่า ในระยะยาว กสทช. อาจจะต้องสนับสนุนงบประมาณกับช่องทีวีต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งตัวและหล่อเลี้ยงตัวเองได้ ควบคู่ไปกับการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องว่า ผู้ประกอบการแต่ละช่องได้ผลิตเนื้อหาเพื่อเด็กที่ ‘เพียงพอ’ และ ‘เหมาะสม’ แล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่มากๆ คือจุดยืนในการทำทีวีเพื่อเด็กในบ้านเรา แม้ผู้ผลิตจะกัดฟันสู้แค่ไหน แต่ถ้าหากผู้ประกอบการยังยึดติดอยู่กับเรื่องผลกำไรทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว สุดท้ายแล้ว อนาคตของทีวีเพื่อเด็กก็อาจจะริบหรี่ลงไปมากกว่าเดิม
แน่นอน เราคงปฏิเสธได้ยากว่า เรื่องเงินนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ หากแต่สิ่งที่น่าชวนกันขบคิดต่อไปคือ สุดท้ายแล้วจุดสมดุลมันควรอยู่ตรงไหน เพื่อให้การทำสื่อเพื่อเด็กในไทยสามารถอยู่รอดในเชิงธุรกิจ
ควบคู่กับการทำหน้าที่เพื่อคนรุ่นต่อไป
อ้างอิงจาก