ท่ามกลางวิกฤตสื่อทีวีดิจิทัล รายการสำหรับเด็กมักเป็นรายชื่อแรกๆ ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกตัดทิ้งออกจากสถานี ว่ากันว่า ถ้ามีการปรับผังรายการกันทีไร ก็เป็นรายการเด็กนี่แหละที่จะไปก่อนใคร เพราะทำเรตติ้งสู้รายการประเภทอื่นๆ ไม่ได้
เมื่อเรตติ้งไม่ดี โฆษณาก็ไม่เข้า สถานีจึงขาดทุน วงจรที่ว่าก็ส่งผลให้ผู้ผลิตรายการทีวีสำหรับเด็กจำนวนไม่น้อยต้องล้มหายตายจาก เพราะเหนื่อยล้าเกินไปสำหรับการเดินสวนกระแส อย่างไรก็ดี หนึ่งในคนที่ยังหลงเหลือ (ทั้งกำลังและแพชชั่น) คือ ‘พี่ซุป’ —วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ ผู้ใหญ่ใจดีที่หลายคนคุ้นหน้าตากันมาตั้งแต่เด็กๆ
The MATTER คุยกับพี่ซุป—ผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นในความสำคัญของรายการทีวีเพื่อเด็กและพลังคนรุ่นใหม่ เดินหน้าผลิตรายการเด็กมาแล้วมากกว่า 20 ปีจาก ‘ซูเปอร์จิ๋ว’ มาสู่ ‘ซูเปอร์เท็น’ รายการเด็กที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในตอนนี้ เราชวนพี่ซุปคุยกันเรื่องความสำคัญของรายการเด็ก ท่ามกลางวิกฤตของศึกแย่งชิงเรตติ้งของสงครามทีวีดิจิทัล
อยากเริ่มด้วยการชวนพี่ซุปย้อนกลับไปสมัยทำงานใหม่ๆ อะไรคือความตั้งใจที่เข้ามาทำรายการเพื่อเด็ก
จำได้ว่าตอนพฤษภาคม ปี 2534 พี่เป็นพิธีกร ตอนนั้นมีความฝันแค่ว่าอยากทำงานชิ้นนี้ให้ดี ไม่ได้อินว่าทำด้วยความรู้สึกอะไรเป็นพิเศษ พอทำไปเรื่อยๆ ซึมซับอะไรบางอย่าง เรียนรู้ได้ว่ามีความสุขที่ได้ทำงานกับเด็ก ได้เห็นเขายิ้ม หัวเราะ มีพัฒนาการ พอทำไปมากๆ เข้าเราก็รู้สึกค้นพบตัวเองมากขึ้น พี่ว่าพี่นี่แหละ เรียนรู้จากเด็ก
สำหรับพี่ซุปแล้ว อะไรความสำคัญของรายการเด็ก
ทุกสิ่งบนโลกนี้เกิดมาเพื่อมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ถ้าไปสวนสนุกก็จะพบว่าเครื่องเล่นบางอย่างมันเล่นได้เฉพาะกลุ่ม เช่นเดียวกับสื่อที่ปรากฏบนหน้าจอ ถ้าไม่กำหนดเรื่องกรอบอายุก็น่าเป็นห่วงนะ ลองนึกภาพเด็กสี่ห้าขวบที่เล่นรถไฟเหาะตีลังกาสิ ถึงแม้เค้าจะบอกว่าเล่นได้ แต่เราก็อดเป็นห่วงไม่ได้
เรากังวลว่าเด็กๆ จะไปรับสื่ออะไร สื่อเหล่านั้นมันจะเข้ากับวัยเขาไหม เขาสามารถรับมือกับสิ่งเหล่านั้นได้ไหม กับต่อให้มีรายการเด็ก ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะรับสื่อที่เป็นรายการเด็กนะ พี่คิดว่า การมีสื่อที่ตรงกับวัยเด็กน่าจะเป็นประโยชน์ และเป็นทางเลือกใหม่ให้เขา
จริงอยู่ที่ภาพด้านหน้าที่เราเห็นคือรายการที่สนุกสนาน แต่ในเบื้องหลัง การทำรายการเด็กมันมีความยากตรงไหนบ้าง
หนึ่งคืองบประมาณในการทำรายการ มันเป็นวงจรที่วนกลับมาจุดเดิมเสมอ คือการทำรายการเด็กมักจะมีงบประมาณที่จำกัด เวลาไปหาทรัพยากรในการผลิตมันก็จะมีจำกัด ช่วงเวลาที่จะได้ออกอากาศก็จำกัด เมื่อออกอากาศไปแล้วกลุ่มผู้ชมก็จะจำกัด มันก็จะน้อยไปหมดทุกอย่าง มันอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างแร้นแค้น
วงจรชีวิตของคนทำรายการเด็กก็จะต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปในแต่ละปี ก็สู้กันไปปีต่อไป เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด คือมีงบจำกัด โฆษณาจำกัด คนดูจำกัด เรตติ้งจำกัด มันก็จะวนกันอยู่ในนี้ โอกาสที่จะก้าวกระโดดจะเป็นไปได้ยาก จริงๆ ประชากรเด็กก็น้อยอยู่แล้ว แถมยังไม่มีปากมีเสียงอะไรด้วย เราเลยก็จะไม่ค่อยเห็นเด็กออกมาเรียกร้องว่าทำไมไม่มีสิ่งนั้นสิ่งนี้สำหรับเขา เพราะมันไม่ใช่พฤติกรรมองเด็กวัยนี้สักเท่าไหร่
พอเป็นแบบนี้ เวลาเสนอไอเดียขายงานกับลูกค้ามันยากแค่ไหน
ยุคที่เป็นอนาล็อก ความยากลำบากก็อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ในยุคดิจิทัลมันลำบากกว่าเดิมมาก สมัยก่อนมีแค่ 4 ช่องที่โฆษณาได้ เวลาเราไปเสนอขอเวลาทำรายการในช่วงผังตอนเช้า งบประมาณที่มาลงรายการเด็กส่วนใหญ่ก็จะเป็นงบที่เหลือจากรายการอื่น ลงรายการเกมโชว์ ละคร การ์ตูน พอเหลืองบประมาณที่ไม่เยอะมาก แล้วลูกค้าคิดว่ามันพอจะลงได้ เขาก็จะเอามาลงกับรายการเด็ก
รายการเด็กมันจะได้เรตติ้งประมาณนึงเท่านั้น ในวงการโฆษณาคนจะพิจารณากับเรตติ้งด้วย เพราะมันมีคำตอบกับคนซื้อโฆษณาได้ เพราะเรตติ้งมันเป็นดัชนีชี้วัดคนทำทีวีเหมือนกัน ความยากในยุคอนาล็อคมันก็จะประมาณนี้
แต่พอมายุคทีวีดิจิทัล อย่าว่ารายการเด็กเลย รายการทั่วไปก็ยังอยู่ลำบาก ทีวีดิจิทัลมันยากสำหรับทุกคน แต่ว่ารายการเด็กที่อยู่ยากเป็นทุนเดิมก็ยิ่งอยู่ยากเข้าไปอีก สถานีแต่ละช่องมีการขาดทุนและลงทุน ถ้าย้อนกลับไปเมื่อก่อนสถานียังไม่ลำบากนะ แต่ตอนนี้สถานีก็ค่อนข้างลำบาก เขาถูกกลไกเรตติ้งกำกับอยู่เหมือนกัน เมื่อจะต้องคัดเลือกรายการไปลงผัง มันก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่เขาจะเลือกรายการเด็กเพราะรู้ว่ามันไม่มีทางเรตติ้งจะดีได้
นอกจากนี้มันยังต้องชนกับเรื่องโฆษณาที่มีช่องทีวีมากขึ้น แต่งบประมาณใกล้เคียงของเดิม นี่คือยุคที่ยากที่สุดของการทำรายการเด็ก
หลายคนก็พูดกันว่า การทำรายการเด็กมักเป็น CSR หรือทำงานการกุศลแบบนึง พี่ซุปมองเรื่องนี้อย่างไร
ถ้ามองอย่างเป็นธรรม ทุกแบรนด์เขามีงบแบบนี้อยู่นะ พี่ทำงานมา 20 กว่าปี ลูกค้าหลายรายซื้อรายการเราเพราะคิดว่าเราทำงานกันโอเค กับอีกส่วนก็รู้สึกว่าเขาอยากช่วยเหลือเรานะ เพราะเขารู้ว่า สังคมเรายังคงต้องมีรายการประเภทนี้อยู่ ประเด็นมันเลยอยู่ที่ว่า เรามีความเหมาะสมมากพอที่เขาจะช่วยไหม
ในองค์กรที่เขาต้องประกอบธุรกิจอยู่ พี่ว่าเราจะคาดหวังให้เขาทำบุญ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมรายการเด็กต้องมีโฆษณา แต่ในมุมของพี่คิดว่า เราจำเป็นต้องบอกด้วยซ้ำว่าใครลงโฆษณารายการเด็ก เพราะมันเปรียบเทียบกับในต่างประเทศไม่ได้ เนื่องจากคนทำรายการเด็กในประเทศเหล่านั้นไม่ต้องหาโฆษณา ภาครัฐเขามีงบก้อนใหญ่มาให้ใช้ มันเป็นงบที่ใหญ่มากในระดับที่ต่อให้รายการเด็กในเมืองไทยรวมกันก็ขายโฆษณาไม่ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ในต่างประเทศจึงไม่จำเป็นต้องมีโฆษณา หน่วยงานและภาครัฐในต่างประเทศเขาเชื่อว่า รายการประเภทนี้มันดีและมีประโยชน์ต่อเด็ก
สำหรับบ้านเรา จุดเริ่มต้นมันต่างกัน มันมาจากคนในธุรกิจสื่ออยากทำรายการเด็ก มีความเชื่อมั่นว่างานที่ทำอยู่มันมีประโยชน์ ดังนั้น ก็ยังจำเป็นต้องมีโฆษณา อย่างไรก็ตาม มันก็ยังมีโมเดลอีกแบบที่เกิดขึ้นกับไทยพีบีเอสที่คล้ายเมืองนอก คือทางสถานีมีงบประมาณให้ในการผลิตสื่อ ซึ่งไม่ต้องต่อสู้กับการบริหารต้นทุนเหมือนที่อื่น พี่เชื่อว่าสิบปีหลังมานี้ที่รายการเด็กมันยังพออยู่ได้ก็เพราะไทยพีบีเอส
ถ้าเอาไทยพีบีเอสเป็นโมเดล มันก็แปลว่าเราไม่จำเป็นที่ต้องเอาเรตติ้งไปจับรายการเด็กเลยรึเปล่า
ถ้าพูดแบบสุดขั้วก็คือ อย่าเอาเรตติ้งมาครอบงำการทำงาน ซึ่งพี่เชื่อว่ามันก็จริงแต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะหนึ่งในความสำเร็จของเราคือทำงานแล้วมีคนดูด้วย มันเหมือนกับว่า เราอาจมั่นใจในงานที่เราทำมันมีประโยชน์ แต่ก็จะดีใจมากขึ้นเมื่อรู้ว่ามันมีคนที่ได้รับสื่อของเราไปด้วย
แต่ถ้ามองในมุมที่กว้างขึ้น พี่ก็รู้สึกว่า อย่าเอาเรตติ้งสูงๆ ไปครอบงำรายการเด็ก มันอาจจะไม่สามารถไปเทียบกับละครหรือการ์ตูนได้ ถ้าหากว่าทำรายการผู้ใหญ่แล้วได้เรตติ้ง 1 แต่สำหรับรายการเด็กนั้นการได้เรตติ้ง 0.2 หรือ 0.3 ก็ถือว่าเก่งแล้วนะ ดังนั้นมันต้องลงรายละเอียดกัน ไม่อยากให้รู้สึกว่า ต้องไม่สนใจเรตติ้ง เพราะในฐานะคนทำสื่อเราทำอะไรไปแล้วก็อยากให้มีคนดู
แล้วคอนเทนต์รายการเด็กที่ดีในยุคนี้ควรเป็นยังไง
ตอนพี่ทำรายการซูเปอร์จิ๋ว เราเคยคุยกันว่ารายการเด็กมันเริ่มยากแล้วแหละ ช่วงเวลาออกอากาศมันกำลังเช้าขึ้นเรื่อยๆ เพราะในสมรภูมิทีวีดิจิทัลมันแข่งขันกันสูงมาก สถานีเองก็ถูกกดดัน เราก็เลยมาคิดว่าจะต้องปรับตัวกันอย่างไร เพราะทำไปมันก็ไม่ค่อยมีเรตติ้งหรอก
เรากลับมาคิดใหม่ว่า เราอยากทำรายการเด็กเพื่อทุกคน คือเมื่อก่อนเราทำให้เด็กดู 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนใหม่คือ ทำให้มันเป็นรายการเด็กที่ พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ทุกคนสามารถดูแล้วสนุกไปด้วยกันได้ เลยกลายเป็นซูเปอร์เท็นอย่างในทุกวันนี้ ซึ่งผลปรากฏว่ามีกลุ่มผู้ชมเด็กและผู้ใหญ่โตขึ้นเป็นอย่างมาก เรตติ้งรวมมันโตแบบน่าตกใจ
เราต้องมองให้กว้างขึ้นกว่าเดิม โลกดิจิทัลมันคือโอกาสไม่ใช่อุปสรรค เราทำคลิปอัพโหลดลงยูทูปให้มันต่างจากที่ออกอากาศบนทีวีทั่วไป เราตัดคลิปสั้นๆ เป็นความสามารถของเด็กแต่ละคนลงยูทูปหลังจากรายการออกอากาศไปแล้ว ปรากฏว่า โอกาสในการเข้าถึงคนมันยิ่งกว้างเข้าไปอีก จำนวนมันมากขึ้นเรื่อยๆ สมมติว่า ถ้ายอดวิวในทีวีมีประมาณล้านห้า ยอดวิวในออนไลน์อาจพุ่งไปถึงยี่สิบถึงสามสิบล้าน
มันก็เป็นกำลังใจที่ทำให้รู้สึกว่า ถ้าเรานำวัตถุดิบเดิมที่เคยมีมาปรุงใหม่ มันก็น่าจะยังมีทางรอดได้
พี่ซุปกำลังจะบอกว่าการทำรายการเด็กมันยังไปต่อได้อีกเรื่อยๆ
ถ้าคอนเทนต์มันโดนคน มันก็ยังมีโอกาสไปต่อได้นะ นี่ไม่ได้หมายถึงแค่รายการเด็กด้วยซ้ำ แต่เราต้องแยกให้ออกด้วย บางคอนเทนต์อาจมียอดวิวเยอะ แต่เราก็อาจจะไม่อุ่นใจในการให้เด็กๆ ไปนั่งดูก็ได้ เพราะออนไลน์มันไม่มีการเซนเซอร์ พ่อแม่ไม่มีทางรู้หรอกว่า ลูกเอามือถือไปดูอะไร เราเลยอยากทำรายการให้เป็นทางเลือกหนึ่งของพวกเขา
แต่เดี๋ยวนี้เด็กเริ่มไม่ดูทีวีกันแล้วรึเปล่า พ่อแม่หลายคนอาจจะบอกว่ารายการเด็กไม่จำเป็นแล้วนะ
เท่าที่เราได้ข้อมูลจากที่ศึกษามา พี่ว่ายังมีเด็กที่ดูทีวีอยู่นะ คนที่ดูเราก็ยังมีจำนวนที่น่าพอใจมาก ยุคนี้มันเป็นโอกาสที่จะสร้างทางเลือกใหม่มากกว่า เราทำคอนเทนต์เพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่ไม่ได้ดูทีวีแล้ว หรือไม่พร้อมดูทีวีในเวลาที่รายการกำลังออกอากาศ เมื่อเราสามารถนำตัวเองไปอยู่ในแพลตฟอร์ทใหม่ได้ คนก็จะสามารถดูเราได้ตลอดเวลา พี่ไม่ได้มองว่าสองสิ่งนี้คือคู่แข่งกัน มันเป็นการใช้เครื่องมือสองอย่างนี้ให้ประกอบกัน
ด้วยภาวะที่สถานการณ์มันกดดันแบบนี้ ผู้ผลิตหลายคนก็เลิกที่จะทำรายการเด็กไปเลยเพราะเหนื่อยล้าเกินไป เพราะอะไรพี่ซุปถึงยังสู้ต่อ
เรามีความสุขที่จะทำสิ่งนี้ ทั้งซูเปอร์จิ๋วและซูเปอร์เท็น งานทุกอย่างที่พี่ทำอยู่มันเป็นมากกว่างาน
27 ปีที่ผ่านมามันเกินครึ่งชีวิตของพี่ มันกลายเป็นส่วนนึงในชีวิตแล้ว ถ้ามันเป็นชีวิตของเรา เราก็ต้องทำให้ถึงที่สุดจนสุดชีวิต เพื่อประคับประคองให้มันอยู่ได้ยาวนานที่สุด อย่างแรกคือสิ่งที่เราทำมันตั้งใจทำ สองยังได้การตอบรับที่ดีอยู่ สามเมื่อมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันก็ไม่มีเหตุผลที่จะยอมแพ้ พี่ยังอยากทำอยู่
ทุกวันนี้ที่เราทำงาน เราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันมีประโยชน์และคุ้มค่า ทุกครั้งที่รายการได้ออกอากาศ เราจะรู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่ดีจังเลย เราได้เยียวยาความรู้สึกเราในทุกๆ งานอยู่แล้ว เหมือนได้ทำมากกว่าการประกอบอาชีพ มากกว่าการที่จะมีรายได้ เนื้องานที่เราทำมันมีประโยชน์และมีคุณค่านะ มันช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้กับสังคมได้ มันเลยเป็นมากกว่างาน
เราได้ทำบางอย่างที่รู้สึกว่ามีคุณค่า พอเราทำงานที่มีคุณค่า เราก็รู้สึกว่าตัวเราเองมีคุณค่าไปด้วย
สมมติว่าประเทศไทยไม่มีรายการเด็กแล้ว คิดว่าภาพสังคมเราจะเป็นอย่างไร
ในประเทศที่เขามีความพร้อมและมั่นคงกว่าเรา รายการเด็กคือ a must ที่ต้องมีเลยนะ เขารู้ว่าเด็กต้องได้รับสื่อบางอย่างนอกเหนือไปจากที่ห้องเรียนจะให้ได้ ในห้องเรียนครูสอนหลักวิชาการ แต่ในทีวีมันก็สามารถทำเรื่องศิลปะและวิทยาศาสตร์ได้
สิ่งซูเปอร์เท็นกำลังทำอยู่คือ ทำพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถ เพราะเรารู้สึกว่า ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ไปกรอบเด็กให้ไม่มีความสามารถ เป็นเพราะว่าเวทีที่เปิดขึ้นมันจำกัดไง เราเปิดแต่เวทีร้องเพลง พอเด็กร้องเพลงไม่ได้ก็บอกว่าเขาไม่มีความสามารถ แต่ในความเป็นจริง เขาเตะบอลดีมาก ยิงหนังสติ๊กดีมากนะ เรารีบสรุปเกินไปว่าเขาไม่มีความสามารถ
นี่เลยเป็นอุดมการณ์ของซูเปอร์เท็น ที่อยากจะเปิดเวทีให้เด็กได้ค้นพบตัวเอง เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองและเพื่อน กับคำถามนี้ที่ว่าจะรู้สึกอย่างไรถ้าประเทศนี้ไม่มีรายการเด็ก พี่เลยรู้สึกว่า มันไม่มีทางไม่มี เพราะพี่จะทำและยังเชื่อว่าพี่ทำได้ ตราบใดที่ยังมีแรงอยู่ก็จะทำมันต่อไป
เอาจริงๆ 27 ปีที่ผ่านมามันก็ไม่ง่ายเลยนะ มันมีอยู่หลายครั้งที่ขาดทุนติดต่อกัน 3-4 ปี แต่พี่ก็ยังทำมาตลอด ถ้าเป็นองค์กรที่ใหญ่กว่านี้ก็คงเลิกทำไปแล้ว แต่ว่าพี่ยังสู้มาตลอด เพราะเชื่อว่าประเทศเราต้องมีรายการสำหรับเด็ก
พื้นที่ในการแสดงออกคือจุดยืนของซูเปอร์เท็น เราอาสาเป็นเวทีให้เด็กได้แสดงความสามารถ บางคนอาจมองว่าเด็กไม่มีความสามารถ นั่นก็เพราะเขาไม่เข้าใจ เราอยู่กันคนละประสบการณ์ แต่ถ้าได้ใกล้ชิดกับเด็กก็จะรู้ว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าเด็กไม่มีความสามารถ ปัญหาคือเด็กไม่มีเวทีต่างหาก
เวลาเราพูดถึงคนที่จะทำรายการเด็ก คนแรกๆ ที่นึกภาพถึงก็มักจะเป็นพี่ซุป แต่เรากลับไม่ค่อยเห็นคนรุ่นใหม่มาทำงานด้านนี้เท่าไหร่
ใช่ มีน้อยมาก แต่เข้าใจได้นะ โทษเขาไม่ได้หรอก เพราะทุกคนเรียนจบมาก็อยากมีรายได้และมีภาระครอบครัวที่ต้องดูแล อยากมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มคนทำรายการเด็กก็จะไม่ค่อยชัดเจน
มันเป็นปมนิดๆ ในใจพี่นะ คือถ้าวันนึงกลุ่มคนที่ทำรายการประเภทนี้มีรายได้มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ก็น่าจะทำให้คนที่มีความสามารถสนใจด้านนี้กันมากขึ้น เราก็รอคนรุ่นใหม่ที่จะมีมุมมองใหม่ๆ ในการนำเสนอสิ่งต่างๆ เพื่อเด็ก พี่คิดว่าสื่อเพื่อเด็กมันควรจะมีต่อไป
มองคนรุ่นใหม่ในวันนี้อย่างไรบ้าง อะไรคือจุดแข็งจุดอ่อนของคนยุคนี้
สิ่งที่พี่เห็นคือเด็กรุ่นหลังไปได้เร็วมาก เข้าถึงเทคโนโลยีได้เร็วมาก สิ่งที่กังวลใจนิดหน่อยก็คือเรื่องของความอดทนต่ออุปสรรค บางครั้งเรายอมแพ้อะไรง่ายๆ เลยทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย
ในยุคนี้เมื่อทุกคนรู้เท่ากันหมด เพราะสามารถหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกัน พี่คิดว่าสิ่งที่จะทำให้เราแตกต่างออกไปคือความคิดสร้างสรรค์และความอดทนรอคอยเพื่อให้ความสำเร็จมาถึง