“เธอๆ อันนี้น่ารักจัง ซื้อมาจากไหนน่ะ”
เชื่อว่าช่วงหลังๆ คำตอบที่เราได้ยิน คงจะเป็นชื่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่หลายคนกดสั่งซื้อกันจนชิน เพราะการช้อปปิ้งออนไลน์เริ่มขยับมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันทีละน้อย โดยเฉพาะช่วงกักตัวหรือ work from home แถมตอนนี้บางคนก็ผันตัวจากนักช้อปมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์กันเยอะขึ้นอีกต่างหาก
แต่เคยสงสัยไหมว่า สินค้ายอดฮิตในแพลตฟอร์มเหล่านี้คือสินค้าประเภทไหน เทรนด์ช่วงนี้เป็นอย่างไร และกลยุทธ์แบบไหนจะจูงใจให้คนกดสั่งซื้อได้บ้าง ?
The MATTER มีโอกาสได้ไปร่วมงาน LazMall Brands Future Forum (BFF) 2022 เราเลยรวบรวมเทรนด์ที่น่าสนใจจากงานนี้และรายงาน “พลิกโฉมการช้อปปิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการค้นหาสู่การจัดส่ง” (Transforming Southeast Asia – From Discovery to Delivery) มาฝากทุกคนกัน
ไม่ว่าคุณจะเป็นสายช้อปปิ้งออนไลน์ หรือเป็นคนที่กำลังเปิดร้านบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เราก็อยากชวนมาอัปเดตเทรนด์ไปพร้อมกันในบทความนี้เลย
เทรนด์ผู้ใช้งานภาพรวม
- คนเริ่มเสิร์ชหาสินค้าจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มากกว่ากูเกิลและโซเชียลมีเดีย
ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าครึ่ง (57%) ค้นหาสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซโดยตรง ซึ่งมากกว่าการค้นหาสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย (50%) และกูเกิล (40%) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนซื้อสามารถดูรายละเอียด การให้คะแนน และรีวิวจากผู้ใช้จริงได้ก่อนตัดสินใจซื้อ แถมการให้คะแนนและการรีวิวยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนกล้าตัดสินใจซื้อแบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยซื้อมาก่อนอีกด้วย
- จำนวนคนขายเพิ่มขึ้น และใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นพื้นที่ทดลองตลาดออนไลน์
ส่วนในมุมของคนขายพบว่า จำนวนผู้ขาย (active-selling sellers) ในลาซาด้าเติบโตขึ้น 68% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 ซึ่งข้อดีของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ คือการเป็นทางเลือกหนึ่งที่สะดวกสบายสำหรับคนที่อยากเริ่มเปิดร้านออนไลน์ แต่ไม่รู้ว่าจะทำการตลาดหรือโปรโมตแบรนด์ตัวเองบนโซเชียลมีเดียยังไงให้คนรู้จักเยอะๆ ดังนั้นการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเลยเป็นเหมือนการทดลองเข้าตลาดออนไลน์และตลาดต่างประเทศ เพราะอย่างที่เล่าไปว่าคนซื้อเริ่มค้นหาสินค้าในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซโดยตรงกันมากขึ้น ทำให้คนขายสามารถเพิ่มทราฟฟิกให้กับแบรนด์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น
พฤติกรรมการใช้งาน
- คนส่วนใหญ่จะกดซื้อสินค้าแนะนำ และสินค้าที่โผล่มาเป็นอย่างแรกๆ เมื่อกดค้นหา
ลูกค้าส่วนใหญ่ (71%) จะเลือกสินค้าที่แสดงในฟีเจอร์ ‘สินค้าแนะนำ’ และ 49% จะเลือกซื้อสินค้าที่โผล่มาเป็นอย่างแรกหลังจากเสิร์ชหาในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพราะคิดว่าเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองค้นหามากที่สุด
- คนคิดเยอะขึ้นก่อนจะตัดสินใจซื้อ แต่จะกล้าซื้อของพรีเมียมหรือราคาสูง
ถ้าเป็นช่วงแรกๆ ที่ผู้คนเพิ่งเริ่มใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแน่นอนว่าคงเริ่มจากการซื้อสินค้าที่ราคาไม่สูงและไม่เสี่ยงมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป จนคุ้นชินกับการใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มวางใจที่จะซื้อสินค้าราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันในแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็เริ่มมีแบรนด์พรีเมียมเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น เช่น แบรนด์เครื่องสำอางอย่าง Estee Lauder และแม้ว่าหลายคนจะกล้าซื้อสินค้าราคาสูงขึ้น แต่สภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ทำให้ผู้บริโภคแนวโน้มจะหาข้อมูลและใช้เวลาตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นว่าจะได้สินค้าตรงกับความต้องการของตัวเองจริงๆ หรือเปล่า
- ผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่อยากรอสินค้านานเกิน 3 วัน และสนใจตัวเลือก ‘ส่งฟรี’ มากขึ้น
ระยะเวลาการขนส่งจะกลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น เพราะช่วงที่คนเริ่มออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน เข้าออฟฟิศได้ตามปกติ ทำให้รู้สึกว่าการออกไปซื้อของข้างนอกแล้วได้สินค้าเลยจะสะดวกและรวดเร็วทันใจกว่า โดยผลการสำรวจพบว่าลูกค้ามีแนวโน้มจะไม่อยากรอสินค้านานเกิน 3 วัน และ 80% ของนักช้อปฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการสินค้า ณ วันที่กดสั่งซื้อ นอกจากนี้ในรายงานยังระบุว่าการกำหนดราคาสินค้าขั้นต่ำที่จะได้รับคูปอง ‘ส่งฟรี’ ยังเป็นตัวเลือกที่ผู้ซื้อจำนวนมากมองหาและผู้ซื้อกว่า 69% ยังบอกว่าพวกเขามีแนวโน้มจะคลิกเข้าไปดูสินค้าที่โปรโมตว่า ‘ส่งเร็วและส่งฟรี’ อีกด้วย
ประเภทสินค้ายอดนิยม
ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ประเภทสินค้ายอดนิยมบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 อันดับแรก ได้แก่
- สินค้าแฟชั่น 53%
คนที่ซื้อสินค้าแฟชั่นส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงอายุราวๆ 18-39 ปี โดยปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจซื้ออย่างแรก คือราคา (66%) รองลงมาคือ ข้อเสนอลดราคา (55%) และรีวิวที่น่าเชื่อถือ (52%) ตามลำดับ ส่วนคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าด้านแฟชั่นที่คนส่วนใหญ่มองหา คือคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องราวของแบรนด์ (Brand Story) 48% รองลงมาคือ คอนเทนต์เกี่ยวกับการสอน (Tutorial/Outfit of Today) 31% และหนังสือ/แคตาล็อกรวมรูปเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย (Lookbook) 24%
- สินค้าด้านความงามและของใช้ส่วนตัว 51%
ผู้ซื้อสินค้าด้านความงามและของใช้ส่วนตัวส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มอายุหลักจะอยู่ที่ 30-39 ปี และส่วนใหญ่ (57%) จะตัดสินใจซื้อจากชื่อเสียงของแบรนด์นั้นๆ เป็นหลัก รองลงมาคือ ข้อเสนอส่วนลด รีวิวที่น่าเชื่อถือ และราคาสินค้า ส่วนคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าด้านความงามที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่มองหาคือ ส่วนประกอบของสินค้า 56% รองลงมาคือ คอนเทนต์ด้านการสอน 44% และเรื่องราวของแบรนด์ 44%
- สินค้าประเภทของชำ (grocery) 46%
สินค้าประเภทของชำเป็นที่นิยมทั้งกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายในจำนวนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยส่วนใหญ่จะอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป รองลงมาคือกลุ่มอายุ 30-39 ปี
นอกจากนี้ จำนวนคนซื้อสินค้าสองประเภทแรก (แฟชั่น ความงามและของใช้ส่วนตัว) มีแนวโน้ม ‘เพิ่มขึ้น’ เมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มกลับมาทำงานในออฟฟิศ เริ่มออกนอกบ้านมาทำกิจกรรมต่างๆ และในประเทศไทย มีแนวโน้มว่าเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ KOL จะเข้ามามีอิทธิพลในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้น
ทิศทางการปรับตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ตอนนี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกำลังพยายามสร้างฟีเจอร์ที่ผสานโลกออนไลน์ เข้ากับโลกออฟไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ทำให้คนยังอยากซื้อของออนไลน์เหมือนเดิม เช่น
- การลองสินค้าโดยไม่ต้องไปที่ร้าน อย่างแบรนด์ด้านความงามที่เริ่มมีสินค้าแบบเสมือนจริง (Virtual Try On) เช่น NARS และ Bobbi Brown ที่เราสามารถลองเครื่องสำอางได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงที่ร้าน
- เพิ่มความสนุกให้การชอปออนไลน์ โดยการใช้เกม (Gamification) อย่างเลโก้ที่เคยมีแคมเปญร่วมกับลาซาด้า เปิดตัวเกมที่ให้นักช้อปได้ออกแบบเลโก้ซิตี้ของตัวเอง ในช่วง Super Brand Day เมื่อเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 2021
- การมีพรีวิเลจไม่ต่างจากร้านแบบออฟไลน์ อย่างแบรนด์ Estée Lauder ที่ยังคงมีระบบสมาชิก (Membership) ที่ใช้ร่วมกันได้ทั้งร้านแบบออนไลน์และออฟไลน์
ทริกเพิ่มเติมจากลาซาด้า
- ตัวเลือก ‘ส่งฟรี’ เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นร้านค้าควรแสดงผลให้ชัดเจนว่าลูกค้าต้องจ่ายขั้นต่ำเท่าไรถึงจะส่งฟรี
- ถ้าการลดราคาเป็นเรื่องยาก อาจจะลองใช้วิธีส่งของแถมเพิ่มเติมแทน
- ควรมีทางเลือกหลากหลายสำหรับโปรโมชั่นต่างๆ เช่น ลูกค้าจะได้รับส่วนลด 10% ถ้าซื้อสินค้าสองชิ้น ส่วนลด 15% ถ้าซื้อสินค้าสามชิ้น และส่วนลด 20% ถ้าซื้อสินค้า 4 ชิ้น เพราะวิธีนี้กระตุ้นให้ลูกค้าอยากจะซื้อของตุนไว้มากขึ้น
- การแจกโค้ดลดราคาสำหรับการซื้อ ‘ครั้งหน้า’ อาจช่วยจูงใจให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำได้
ที่มา : รายงาน “พลิกโฉมการช้อปปิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการค้นหาสู่การจัดส่ง” (Transforming Southeast Asia – From Discovery to Delivery) เก็บข้อมูลจากการสำรวจผู้ใช้อีคอมเมิร์ซจำนวน 38,138 คน ครอบคลุมทุกเพศ ช่วงวัย และระดับรายได้ครัวเรือนใน 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม