ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินต้องกินตอนไหน กินได้ครั้งเดียวตลอดชีวิตจริงไหม?
เป็นชื่อที่เราคุ้นหูกันมานานตั้งแต่ตำราเรียนวิชาสุขศึกษาสมัยประถม แต่ถ้าถามว่า ต้องกินแบบไหน กินยังไง บางคนก็อาจจะยังอึกอักตอบไม่ถูก แถม ‘ยาคุมฉุกเฉิน’ ก็มันถูกพรีเซนต์แบบถูกบ้างผิดบ้างผ่านจอละครไทย จนทำให้ข้อมูลในหัวเราอาจจะเผลอตีกันเอง จนไม่รู้ว่าอันไหนคือเรื่องจริง อันไหนคือเรื่องเข้าใจผิดกันแน่
ถึงอย่างนั้น ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก็เป็นยาที่สำคัญที่ทุกคนควรทราบข้อมูลเอาไว้ เพราะสำหรับประเทศไทยแล้ว ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจัดเป็นยาอันตรายด้วย
ด้วยเหตุนี้ เราจึงไปซื้อยาคุมฉุกเฉินเพื่อศึกษาข้อมูลดังกล่าว ศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลทั้งหลาย พร้อมกับปรึกษาเภสัชกรอย่าง ภก.พงษ์ศิวะ กู่นอก เลขานุการคณะทำงานเภสัชกรอินฟลูเอนเซอร์ สภาเภสัชกรรม ซึ่งเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก หมอยาแมวดำ ที่ให้ความรู้เรื่องยารักษาโรคอยู่เสมอด้วย เพื่อให้เข้าใจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับยาตัวนี้
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินคืออะไร
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive pills) หรือ ECPs เป็นยาเม็ดฮอร์โมนที่มีขนาดสูง ในประเทศไทยจัดเป็นยาอันตราย ใช้เพื่อลดโอกาสตั้งครรภ์ในกรณีที่ฉุกเฉินเท่านั้น โดยตัวยาจะทำให้เยื่อบุมดลูกเปลี่ยนแปลงจนไม่เหมาะกับการฝังตัวของอสุจิ
ข้อบ่งใช้
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนี้ ควรใช้ในกรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น ไม่ควรใช้ในการคุมกำเนิดแบบประจำ
- มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการคุมกำเนิด หรือคุมกำเนิดผิดพลาด เช่น ถุงยางอนามัยรั่วแตก ห่วงอนามัยหลุด นับระยะปลอดภัยผิด ลืมฉีดยาคุมกำเนิดหรือลืมกินยาคุมกำเนิดเกิน 3 วัน
- กรณีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม ถูกข่มขืนกระทำชำเรา
วิธีการกิน
แบบเม็ดเดียว: มีตัวยา Levonorgestrel 1.5 มิลลิกรัม กินทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ ภายใน 12 ชั่วโมง และต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมง
แบบสองเม็ด: มีตัวยา Levonorgestrel 0.75 มิลลิกรัมต่อ 1 เม็ด เม็ดที่ 1 กินภายใน 12 ชั่วโมง และไม่เกิน 72 ชั่วโมง เม็ดที่ 2 กินห่างจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง หรือกินพร้อมกันทั้งสองเม็ดภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
ประสิทธิภาพในป้องกันการตั้งครรภ์
เภสัชกรพงษ์ศิวะ กล่าวถึงการศึกษาของ นพ.เดวิด เวสมิลเลอร์ (David Weismiller) จาก North Carolina Academy of Family Physician ซึ่งศึกษาจากผู้หญิง 386 คนที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินภายใน 0-12 ชั่วโมง พบว่า โอกาสที่จะตั้งครรภ์อยู่ที่ 0-1% ทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินอยู่ที่ประมาณ 98-100% และพบว่าโอกาสในการตั้งครรภ์จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อระยะที่กินยาหลังมีเพศสัมพันธ์ห่างออกไป
คำเตือน
- ไม่ควรกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเกิน 2 ครั้งต่อเดือน เพราะอาจส่งผลต่อแปรปรวนของสมดุลฮอร์โมนได้
- ยานี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และไม่สามารถใช้ทำแท้งได้
- หากตั้งครรภ์หรือต้องสงสัยว่าตั้งครรภ์ ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉิน เพราะถึงแม้ว่ายาจะไม่ขัดขวางการตั้งครรภ์ แต่ยังมีข้อมูลจำกัดว่ายานี้มีผลข้างเคียงต่อตัวอ่อนในครรภ์หรือไม่
อาการข้างเคียงที่อาจพบได้
- ปวดหัว
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- คัดตึงเต้านม
- ตกขาวอาจมีสีน้ำตาลปน
- รอบเดือนคลาดเคลื่อน
ข้อมูลจาก ภก.พงษ์ศิวะ ระบุว่า ยาคุมฉุกเฉินทั้ง 2 รูปแบบ มีอาการข้างเคียงที่แตกต่างกัน เพราะรูปแบบ 1 เม็ดความแรง Levonorgestrel 1.5 มิลลิกรัม เป็นปริมาณฮอร์โมนขนาดสูงอาจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ แต่ทั้ง 2 รูปแบบมีประสิทธิการคุมกำเนิดที่ใกล้เคียง นั่นคือ 95% ภายใน 5 วันหลังจากมีความเสี่ยงในการเกิดการปฏิสนธิ
อาการที่น่ากังวล
หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์
- มีเลือดออกกะปริบกะปรอย มาไม่หยุด มาๆ หายๆ โดยเป็นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
- ปวดหัว, คลื่นไส้, อาเจียน โดยมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ
- ปวดท้องช่วงล่าง ปวดหนักจนตัวงอ
- มีประจำเดือนออกมามากเกินไป หรือมาหลายวันติดต่อกัน จนร่างกายอ่อนเพลีย
ส่วนในเรื่องความเสี่ยงของการตั้งครรภ์นอกมดลูกนี้ ภก.พงษ์ศิวะ กล่าวว่า หากให้อธิบายแบบง่ายๆ จะได้ความว่า ยานี้ไปหลอกร่างกายว่า มีปริมาณฮอร์โมนโปรเจสตินสูงมากอยู่ในกระแสเลือด ทำให้สมองรับรู้ว่า ขณะนี้ร่างกายจะไม่พร้อมในการที่จะมีผนังมดลูกที่หนานุ่ม ไว้รองรับตัวอ่อน และยายังรบกวนการตกไข่โดยยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งก่อนไข่ตก จึงยับยั้งการเจริญของถุงไข่ หรือการแตกของถุงไข่
แต่ในบางกรณีของการกินยาคุมฉุกเฉินก็อาจจะล้มเหลวได้ ซึ่งเป็นได้จากหลายสาเหตุ เช่น กินยาไม่ถูกวิธี เป็นต้น มีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก (การที่ตัวอ่อนไปเจริญเติบโตนอกบริเวณที่ควรจะเติบโต) ซึ่ง ภก.พงษ์ศิวะ กล่าวว่า บริเวณที่พบได้มากที่สุด บริเวณท่อนำไข่ หากปล่อยให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตภายในท่อนำไข่และทำให้ท่อนำไข่แตก จะเกิดการเสียเลือดและตกเลือดในช่องท้อง จนเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้
ย้ำกันอีกครั้งว่า ยาคุมฉุกเฉิน เป็นยาที่ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น ยิ่งกินหลายครั้ง ยิ่งมีความเสี่ยงต่อร่างกายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแล้ว ควรใช้การคุมแบบประจำ เช่น การฝังยาคุม การกินยาคุมกำเนิดแบบประจำ เป็นต้น อีกทั้ง ควรใช้ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย
อ้างอิงจาก
เภสัชกรพงษ์ศิวะ กู่นอก (แอดมินเพจเฟซบุ๊ก หมอยาแมวดำ) เลขานุการคณะทำงานเภสัชกรอินฟลูเอนเซอร์ สภาเภสัชกรรม วาระที่ 10 ปี 2565-2567