ใกล้ครบ 1 ปีการหายตัวไปของ ‘ต้าร์-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ที่ประเทศกัมพูชา (4 มิ.ย.2563) ที่จนบัดนี้ การติดตามหาตัวยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และทางการไทยดูจะไม่กระตือรือร้นนัก ทั้งที่เขาก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง
ทำให้ปัญหาการ ‘อุ้มหาย’ ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง
ตลอดหลายปีหลัง มีความพยายามผลักกัน ‘ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….’ (หรือร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย) มาแล้วหลายครั้ง ครั้งที่ใกล้เคียงที่สุด คือเมื่อปี 2559 ซึ่ง ครม.เห็นชอบและส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา รับหลักการในวาระแรกแล้ว แต่ก็พิจารณาไม่ทันยุบสภา จนต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่
แม้รัฐบาลชุดใหม่จะยืนยันร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายเดิมที่ค้างระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ทว่าในปี 2562 กระทรวงยุติธรรมก็ถอนร่างดังกล่าวกลับมาพิจารณาอีกครั้ง และเพิ่งเสนอให้ ครม.เห็นชอบใหม่ กลางปี 2563 ตอนนี้อยู่ระหว่างรอบรรจุระเบียบวาระในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมๆ กับร่างที่ ส.ส.หลายพรรคเสนออีก 3 ร่างด้วยกัน
ถึงตอนนี้มีร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย รอการบรรจุระเบียบวาระเพื่อพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ ถึง 4 ร่าง (ทั้งหมดผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว)
- ร่างของกระทรวงยุติธรรม
- ร่างของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (สิระ เจนจาคะ และคณะ)
- ร่างของพรรคประชาชาติ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา และคณะ)
- ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ (สุทัศน์ เงินหมื่น และคณะ)
[ ดูเนื้อหาร่างทั้งหมดได้ที่: https://drive.google.com/drive/folders/13gbSd79m8fO27lniISmCwgtBhHPgd9_2?usp=sharing ]
หาก พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย ออกมาใช้บังคับ อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง?
- จะมีการกำหนดให้กรณีเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้สมรู้ร่วมคิดไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายการ ‘ทรมาน’ ‘บังคับให้บุคคลสูญหาย’ และ ‘กระทำโหดร้าย..ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ มีความผิด
- กำหนด ‘บทลงโทษ’ ทางอาญาของผู้ที่กระทำผิดตาม 1. ไว้ โดยจะเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้น หากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต หรือผู้ถูกกระทำเป็นเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการทางจิตใจ หรือผู้ดูแลตัวเองไม่ได้
- กำหนดบทลงโทษของ ‘ผู้บังคับบัญชา’ เจ้าหน้าที่ของรัฐตาม 1. ให้ต้องรับโทษด้วยกึ่งหนึ่ง หากไม่สอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้ทำผิดกฎหมาย
- กำหนด ‘อายุความ’ ของคดีที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ไว้ ตั้งแต่ 50 ปีจนถึงไม่มีอายุความ (แตกต่างไปแต่ละร่าง)
- กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย’ โดยมี รมว.ยุติธรรมเป็นประธาน
- กำหนดมาตรการ ‘ป้องกัน’ เจ้าหน้าที่รัฐทรมานหรืออุ้มหายบุคคลอื่น
เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามกับวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ก็พบว่า ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย ยังไม่มีกำหนดให้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ ในเร็วๆ นี้
หากใครที่สนใจและเห็นว่าควรผลักดันให้สภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ไวๆ ตอนนี้มีผู้ไปตั้งแคมเปญไว้ใน change.org ไปร่วมกันลงชื่อ เพื่อกดดันผู้เกี่ยวข้องกันได้ที่: http://chng.it/npKhY45pss