ประวัติศาสตร์การ ‘อุ้มหาย’ ในเมืองไทย มีมาอย่างยาวนาน และหลายกรณีผู้เกี่ยวข้องก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
…หลายคนพูดถึงประวัติศาสตร์ถังแดงในช่วงปราบปรามคอมมิวนิสต์
…หลายคนพูดถึงปฏิบัติการอุ้มหายในยุคหลัง ที่เข้าไปทำการถึงประเทศเพื่อนบ้าน
…หลายกรณีการอุ้มหายจนถึงวันนี้ก็ไม่พบศพ และยังไม่ทราบชะตากรรม
…หลายกรณี แม้ไม่พบศพ แต่มีผู้สารภาพแล้วว่า คนๆ นั้นไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว
The MATTER รวบรวมกรณีที่ถูกบังคับให้สูญหายหรืออุ้มหาย (และเชื่อว่าถูกอุ้มหาย) ในประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน ที่เป็นข่าวดัง มีอาทิ
[ หมายเหตุ: อย่างไรก็ตาม นิยามของการอุ้มหายหรือ ‘การบังคับให้บุคคลสูญหาย’ ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จะต้องหมายถึง 1.การกระทำที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง 2.ในการจับกุมคุมขัง ลักพา หรือลิดรอนเสรีภาพของบุคคล และ 3.มีการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้นๆ ]
เตียง ศิริขันธ์ / สูญหายวันที่ 12 ธ.ค.2495 *เสียชีวิตแล้ว
อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.หลายสมัย และเสรีไทยสายอีสาน เจ้าของฉายา ‘ขุนพลภูพาน’ หายตัวไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2495 โดยผลการสอบสวนภายหลัง พบว่าถูกตำรวจจับไปทรมานและฆ่ารัดคอ พร้อมกับบุคคลอื่นๆ อีก 4 คน ก่อนนำไปเผาศพที่ จ.กาญจนบุรี ตำรวจที่เกี่ยวข้อง 3 นายถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต
หะยีสุหลง โต๊ะมีนา / สูญหายวันที่ 13 ส.ค.2497 *เสียชีวิตแล้ว
โต๊ะอิหม่ามชื่อดังในภาคใต้ ผู้เคยยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล 7 ข้อ ให้ปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตกับคนในพื้นที่ สูญหายพร้อมผู้ติดตาม ระหว่างเดินทางไปกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่ จ.สงขลา ตามคำเชิญ ภายหลังมีการทำคดีและพบว่า ตำรวจเป็นคนฆ่าหะยีสุหลงและผู้ติดตามบริเวณทะเลสาบสงขลา ก่อนจะคว้านท้องนำไปผูกกับแท่งปูน และทิ้งในทะเลสาบบริเวณเกาะหนูเกาะแมว
ทนงค์ โพธิ์อ่าน / สูญหายวันที่ 19 มิ.ย.2534
ผู้นำแรงงานที่คัดค้านนโยบายด้านแรงงานของ รสช. โดยเฉพาะการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ก่อนหายตัวไปในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2534 เขาถูกโทรศัพท์เข้ามาข่มขู่ และเคยสั่งเสียกับครอบครัวไว้ว่า “ถ้าพ่อหายไป 3 วันให้แจ้งความแสดงว่าถูกลักพาตัว และหากไม่ติดต่อมาใน 7 วัน ให้ทำใจพ่อเสียชีวิตแน่”
สมชาย นีละไพจิตร (ทนายสมชาย) / สูญหายวันที่ 12 มี.ค.2547
อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ทำคดีให้กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จนยกฟ้องในหลายคดี หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2547 หลังยื่นหนังสือให้ รมว.มหาดไทย ตรวจสอบกรณีซ้อมทรมานผู้ต้องหา ในเวลาต่อมา มีตำรวจถูกดำเนินคดี 5 คน แต่ศาลยกฟ้องทั้งหมด
พอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) / สูญหายวันที่ 17 เม.ย.2557 *พบแล้ว เสียชีวิต
แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน พยานปากสำคัญในคดีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เข้ารื้อทำลายและเผาหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2557 โดยพยานบอกว่าพบเห็นครั้งสุดท้ายอยู่กับอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรายหนึ่ง DSI เพิ่งเปิดเผยว่า พบกระดูกของเขาในถังน้ำมันจมน้ำอยู่ใต้สะพานแขวนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเขาถูกฆ่าและเผาอำพราง
เด่น คำแหล้ / สูญหายวันที่ 16 เม.ย.2559 *พบแล้ว เสียชีวิต
แกนนำเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน ชุมชมโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในยุคที่รัฐบาล คสช. เดินหน้านโยบายทวงคืนผืนป่า จนกระทบกับที่ดินทำกินของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก สูญหายระหว่างไปหาของป่า ในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2559 ต่อมาพบกระดูกมนุษย์อยู่ในป่า เมื่อตรวจสอบ DNA ยืนยันได้ว่าเป็นของเด่น แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถระบุได้ถึงสาเหตุและผู้ที่เกี่ยวข้อง
วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) / สูญหายวันที่ 29 ก.ค.2560
นักจัดรายการวิทยุชุมชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ลี้ภัยอยู่ในลาวหลังตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นสถาบัน เขาหายตัวไปในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2560 โดยจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ระบุว่า เขาถูกใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าอุ้มจากบ้านพักในลาว พร้อมยังอ้างด้วยว่าผู้ลงมือเป็นเจ้าหน้าที่จากไทย แต่รัฐบาลไทยต่างออกมาปฏิเสธ ปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ชะตากรรมของเขา
สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ / สูญหายกลางเดือน ธ.ค.2561
หรือสุรชัย แซ่ด่าน นักเคลื่อนไหวการเมือง และนักโทษการเมืองคดีคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายของประเทศไทย ลี้ภัยอยู่ในลาวหลัง คสช.รัฐประหาร ราวกลางเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 เขาหายตัวไปพร้อมผู้ติดตามอีก 2 คน ที่ต่อมาช่วงต้นปี 2562 พบศพลอยมาในแม่น้ำโขง บริเวณ จ.นครพนม ซึ่งผลพิสูจน์ DNA ยืนยันว่า เป็นคนติดตามของสุรชัย ที่ถูกฆ่าผ่าท้องยัดเสาปูน ส่วนตัวสุรชัยยังไม่ทราบชะตากรรม
สยาม ธีรวุฒิ / สูญหายเดือน พ.ค.2562
นักเคลื่อนไหวและนักจัดรายการวิทยุใต้ดิน ลี้ภัยออกจากประเทศหลังรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 ตอนแรกอยู่ลาว ก่อนจะย้ายไปเวียดนาม ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 มีข่าวว่าสยามและนักเคลื่อนไหวอีก 2 คน ได้แก่ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง) และกฤษณะ ทัพไทย (สหายยังบลัด) ถูกจับกุมและส่งตัวกลับไทย ครอบครัวของเขาพยายามทวงถามถึงชะตากรรม แต่ยังไร้คำตอบ
ยังมีอีกกรณีที่ถูกอุ้มหายไป แม้ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็น ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (ร่าง พ.ร.บ.อุ้มฆ่าอุ้มหาย) ร่างกฎหมายที่จะออกมาอุดช่องว่างของการอุ้มฆ่า-อุ้มหายที่ตามกฎหมายเดิมกำหนดให้ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่หลายๆ กรณีการอุ้มหายมักเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ผู้เสียหายยากจะเข้าถึงพยานหลักฐานที่ว่าได้
เดิมร่างกฎหมายนี้ถูกรัฐบาล คสช.ผลักดัน ก่อนจะถอนออกจาก สนช.ในเวลาต่อมา ด้วยข้ออ้างว่ายังไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างเพียงพอ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องบางคนก็วิพากษ์ว่าเนื้อหาในร่างกฎหมายนี้ยังมีจุดอ่อน เน้นป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าผู้เสียหายหรือเหยื่อ
กล่าวโดยสรุปก็คือ ร่างกฎหมายนี้ก็ถูกอุ้มหายเช่นกัน และยังไม่ชัดเจนว่าจะถูกนำกลับมาผลักดันในรัฐบาลชุดปัจจุบันหรือไม่
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก