วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2547 เป็นวันที่ ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ทนายความสิทธิมนุษยชน ถูกลักพาตัว ขึ้นรถคันหนึ่ง บริเวณย่านถนนรามคำแหง
เป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว ที่ทนายสมชายหายตัวไป ซึ่งทุกวันนี้ ‘อังคณา นีละไพจิตร’ ผู้เป็นภรรยา และทางครอบครัว ก็ยังคงหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม และความจริงจะถูกเปิดเผย รวมไปถึงต่อสู้เพื่อผลักดันให้สังคมตระหนักถึงอาชกรรมของการอุ้มหาย และความสำคัญของการมีกฎหมายคุ้มครองทุกคน
แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะผ่านมาเป็นเวลานาน แต่ในสังคมไทย เราก็ยังเห็นเหตุการณ์การอุ้มหายที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซึ่งนอกจากนักสิทธิมนุษยชน ตอนนี้คนที่เห็นต่างทางการเมือง มีแนวคิดไม่ตรงกับรัฐ ก็เป็นเป้าหมายที่ถูกอุ้มหายเช่นกัน ทำให้เราเห็นว่า การอุ้มหาย หรือบังคับสูญหายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และวันนึงเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดกับใครก็ได้
ซึ่งอังคณา ก็ย้ำจุดยืนในการต่อสู้ของเธอกับเราว่า ไม่ควรมีใครถูกทำให้สูญหาย ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมี หรือไม่มีความผิดอะไรก็ตาม
คดีการถูกอุ้มหายของทนายสมชาย ตอนนี้ความคืบหน้าคดี เป็นอย่างไรบ้าง หรือไม่คืบหน้าอย่างไรบ้าง
คดีทางศาลสิ้นสุดที่ศาลฎีกา เป็นคดีกักขังหน่วงเหนี่ยวที่ว่ามีคนเห็นคนผลักสมชายขึ้นรถ เราสู้ถึงศาลฏีกา และศาลชั้นต้นก็ลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนึงว่าเป็นคนที่ผลัก แต่ศาลอุทธรณ์ กับศาลฎีกายกฟ้อง
นอกจากนี้สิ่งที่น่าผิดหวัง และเสียใจมากที่สุดคือ ศาลตัดสิทธิครอบครัวที่จะเป็นโจทย์ร่วมในคดี ซึ่งตรงนี้มันจะเป็นบรรทัดฐานเลย เพราะคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นเหมือนกฎหมายว่า กรณีอุ้มหาย ญาติไม่สามารถที่จะเป็นโจทย์ร่วมได้ เพราะศาลมองว่าเราไม่มีหลักฐานว่าสมชายบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เพราะฉะนั้นคนที่มาฟ้องร้องต่อศาลต้องเป็นตัวสมชายเอง คนอื่นไม่สามารถมาฟ้องได้
ในคดีบังคับสูญหายก็คือ ไม่มีผู้เสียหาย เนื่องจากผู้เสียหายไม่รู้หายไปไหนแล้ว
คิดว่าอะไรคือเหตุจูงใจ ทำให้ทนายสมชายถูกอุ้มในตอนนั้น
คงเป็นเพราะงานที่เขาทำ เขาช่วยเหลือคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่เป็นจำเลย และส่วนมากเป็นคนที่มีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกจับกุมโดยมิชอบ ก่อนที่เขาจะถูกอุ้มไป เขาก็ทำคดีนิสิตจุฬาถูกยัดยาบ้า ซึ่งสุดท้ายศาลพิจารณายกฟ้อง และเด็กสามารถกลับไปเรียนต่อได้
ส่วนมากเขาก็ทำคดีจังหวัดชายแดนภาคใต้ การก่อการร้าย ความเป็นทนายมันทำให้เขารู้สึกว่า เขาต้องทำหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และสิ่งนึงที่เขาจะทำตลอดเลย คือเขาจะถามว่า คุณได้ทำความผิดตรงนี้จริงไหม ถ้าทำควรจะรับสารภาพ จะได้ลดหย่อนโทษ แต่ถ้าไม่จริง ก็ต้องสู้คดี
ตรงนี้เป็นความเชื่อของเขา ทนายสมชายเขาเป็นคนที่เชื่อว่า สุดท้ายแล้วต้องได้รับความยุติธรรม เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเชื่อว่าถึงแม้ศาลชั้นต้น ศาลอุธรณ์จะแพ้ แต่ก็จะยังมีอีกศาล และส่วนมากลูกความของเขา ศาลก็จะยกฟ้อง ทั้งเขายังเชื่อว่า ถ้าทำผิดแค่ไหน ก็ต้องได้รับโทษแค่นั้น ยกตัวอย่างในคดีก่อการร้าย คนที่ตัดต้นไม้ ถูกฟ้องในคดีอั้งยี่ซ่องโจร กบฏ ซึ่งโทษหนัก และเขาก็มีความเห็นว่า คนพวกนี้ถูกจ้างมาให้ทำตรงนี้ ไม่ได้รู้เห็นไปมากกว่านี้ ความผิดของเขาก็ควรจะเป็นเท่านี้ และเขาก็มักจะมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจมาตลอด
บางทีทำคดีโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เขาก็ทำ ช่วงนั้นมีทนายสิทธิมนุษยชนไม่เยอะ และไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากไหน คือเราก็มีรายได้ส่วนหนึ่ง และก็เอาส่วนนึงไปช่วยเหลือ กรณีที่เขาไม่มีค่าใช้จ่าย ตำรวจก็อาจจะมองเห็นว่าเขาอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานก็ได้ เพราะช่วง 15-16 ปีที่แล้ว เราไม่ค่อยมีทนายสิทธิมนุษยชน จะมีทองใบ ทองเปาด์ ที่ทำงานใกล้ชิดกับสมชาย แบ่งกันว่าพี่ใบจะทำคดีภาคอีสาน เพราะเป็นคนอีสาน ทนายสมชายเป็นคนมุสลิม แม้จะเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ก็รับทำคดีภาคใต้ หรือคดี 6 ตุลา ที่มีการฟ้องนิสิตนักศึกษา เขาก็เข้าไปช่วย
ก่อนที่เขาจะหายไป เขาก็ไปร้องเรียนเรื่องลูกความกลุ่มสุดท้าย ที่ถูกจับคดีปล้นปืน เผาโรงเรียน ซึ่งถูกจับและมาร้องว่าถูกซ้อม ทรมาน ปรากฏบาดแผล และก่อนเขาจะหายไปวันเดียว ในวันที่ 11 มีนาคม เขาก็ส่งหนังสือไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจ รัฐสภา ปปช. และวันที่ 12 เขาก็ถูกอุ้มไป
จากนี้คิดว่า จะต่อสู้หรือหาหลักฐานอะไรมาสู้ไหม แม้ว่าศาลจะตัดสินแบบนั้น
ในฐานะครอบครัว เราไม่รู้อะไรเลย ในทางสืบสวน เวลาเราไปฟังการพิจารณาคดีในศาล เราจะได้ยินว่ามันมีคนกลุ่มนึงที่ตามสมชายตั้งแต่เช้าจนค่ำ โทรศัพท์ของคนกลุ่มนี้ไปสิ้นสุดที่ราชบุรี ติดต่อกับใคร ใครไปซื้อน้ำมัน ซื้อที่ปั้มไหน แล้วจนกระทั่งถึงเกือบรุ่งขึ้นของวันใหม่ ทุกคนกลับมาที่พักเดิมในกรุงเทพฯ เราจะสามารถปะติดปะต่อได้ เราสามารถรู้ชื่อคน
แต่เราไม่มีหลักฐานที่จะไปเอาผิดได้เลย ถึงอย่างนั้น อย่างน้อยที่สุดการเอาคดีขึ้นสู่ศาล มันเป็นเหมือนการเปิดเผยความจริง ทำให้เรารู้ว่า มันเกิดอะไรขึ้น และถามว่าเราได้ความยุติธรรมไหม เราก็ไม่ได้ และหลังจากที่ศาลฎีกายกฟ้อง อีกซักเกือบปี กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ทำหนังสือมาว่า เนื่องจากไม่ปรากฎพยานหลักฐานผู้กระทำผิด จึงงดการสอบสวน แต่ถ้าผู้เสียหายมีหลักฐานเพิ่มเติม ขอให้นำมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถามว่าชาวบ้านอย่างเราจะไปหาหลักฐานที่ไหน
และระหว่งการสู้คดี เดี๋ยวก็แฟ้มเอกสารหาย มีข่าวคนไปประท้วงปี 54 และก็บุกเข้าไป DSI เอาแฟ้มคดีสมชายไป และพอเราไปร้องเรียน ก็กลายเป็นว่าเจอแฟ้มแล้ว ตกอยู่ข้างตู้ ทุกวันนี้เราก็ยังไม่รู้เลยว่าแฟ้มคดีสมชาย มีเนื้อหาสาระ หรือทำคดีไปแค่ไหน ที่บอกว่าไม่มีพยานหลักฐานเพิ่มเติม จริงๆ ได้ทำอะไรหรือเปล่า
พอถามว่า ทำไมถึงงดการสอบสวน ก็ทราบว่าเหตุที่ต้องงดก็เนื่องจากเพื่อจะได้ไม่มีผลต่อตัวชี้วัด และกลายเป็นว่าในหลายๆ คดีก็เป็นแบบนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือ DSI มีคดีแบบนี้ที่คลี่คลายไม่ได้เยอะขึ้น มันจะเป็นตัวชี้วัดที่บอกถึงความล้มเหลว ดังนั้นจึงงดการสอบสวนไปก่อน ก็จะทำให้ไม่กระทบต่อตัวชี้วัด แต่โห นี่มันเป็นชีวิตมนุษย์นะ ความเป็นความตาย เป็นศักดิ์ศรี แต่เราก็ได้แต่นั่งดู
ภาระในการพิสูจน์ มันถูกโยนมาให้เรา ทั้งๆ ที่เราไม่มีอะไรเลย ตรงนี้ก็ถือว่ามันไม่ยุติธรรม ในการที่จะพูดว่าให้เราเป็นผู้หาหลักฐาน
ทำไมครอบครัวถึงยังมองว่าทนายสมชายเป็น ‘บุคคลสูญหาย’ อยู่ แทนการใช้คำว่าเสียชีวิต
คำว่าเสียชีวิตมันเป็นการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ เช่นบอกเล่าว่า เอาไปเผา แต่มีอะไรหลักฐานให้เราดูไหม ก็ไม่มี ไม่มีอะไรที่ยืนยันว่าเสียชีวิต ดังนั้นตราบใดที่เรายังไม่รู้ที่อยู่และชะตากรรม เราก็ยังถือว่าเขายังคงสูญหายอยู่
เราไม่อยากให้คำว่าเสียชีวิต ที่เป็นคำบอกเล่ามามีผลต่ออายุความ เพราะคดีบังคับสูญหายไม่มีอายุความ แต่ถ้าบอกว่าเสียชีวิตแล้ว อายุความ 20 ปี ก็จบแล้ว ยกตัวอย่างกรณี ‘บิลลี่ พอละจี’ ไปเจอเศษกระดูกที่เผาแล้วในแก่งกระจาน พอเอาไปตรวจพบว่ามี DNA ที่ตรงกับแม่และยาย เพราะฉะนั้นเจ้าของกระดูกต้องเป็นลูกแม่ ที่เกี่ยวพันกับยาย ซึ่งลูกแม่มีหลายคน และพี่น้องบิลลี่ยังไม่มีใครตาย แต่พอสรุปแบบนี้ DSI ก็เชื่อเลยว่าเป็นของบิลลี่
แต่กระทรวงมหาดไทยก็ไม่ออกใบมรณะบัตรให้ อัยการก็ไม่ส่งผล เพราะตามกฎหมายไทย มันต้องมี crime scene เช่น ตายที่ไหน ตายอย่างไร ถามว่าตรงนี้ใครตอบได้ไหม ก็ไม่มีหลักฐาน แต่กรณีบิลลี่มีการพบกระดูก ครอบครัวก็ทำพิธีศาสนา ก็ถือว่าตรงนี้ยังเป็นข้อกฎหมาย ว่าอายุความจะนับอย่างไร ถ้านับว่าตายก็นับไป 20 ปี คดีก็หมดอายุ และหากว่าไม่ตาย จะทำยังไง จะทำคดีแบบไหน มันเป็นความท้าทายมาก เพราะตอนนี้ อัยการก็ไม่ฟ้อง DSI ก็ไม่รู้จะอุทธรณ์หรือเปล่า จะยอมไหม และสุดท้าย ถ้าฟ้องไม่ได้จะทำอย่างไร
เรื่องนี้มันคือหลักคิด หลักคิดที่จะส่งผลต่อการดำเนินการต่อไป และถ้าเราดูในต่างประเทศ หลายประเทศอย่างอาร์เจนตินา ก็จะถือว่าสูญหายอยู่ ตราบใดที่ยังไม่รู้ที่อยู่และชะตากรรม
ตอนที่ทนายสมชายต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เคยคิดไหมว่าจะเจออันตรายกับครอบครัว หรือเรื่องที่ร้ายแรงขนาดนี้
สังเกตว่าเขาก็จะระวังตัว คิดว่าเขาคงถูกคุกคามมาอยู่เรื่อยๆ และช่วงนั้นก็มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกฆ่า ถูกอุ้มหายต่อเนื่อง คิดว่าเขาก็คงรู้ตัวอะไรบางอย่าง แต่ในฐานะครอบครัว เราไม่เคยคิดเลยว่าจะหายไป จะถูกอุ้มไปกลางเมืองหลวง และหายไปแบบนี้ เราไม่เคยคิดเลยในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกันว่าจะโหดเหี้ยม อำมหิต ทำได้ขนาดนี้
และกรณีสมชาย ก็เป็นบุคลากรเอกชน ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีทั้งทนาย อัยการ ตำรวจ ฯลฯ และถือว่าเป็นกรณีแรกของบุคลกรในกระบวนการยุติธรรมที่มีการอุ้มกันเอง
ทางครอบครัวเอง ยังเอาดอกไม้ไปวางที่ที่ทนายสมชายหายไปทุกปี ยังมีความหวังไหมว่าจะได้รับความยุติธรรม
สิ่งหนึ่งเรารู้สึกว่า ทนายสมชายเขาสู้มาตลอด เพื่อให้คนอื่นได้รับความเป็นธรรม ในฐานะครอบครัว เราก็คิดว่าเราทำอะไรได้น้อยมาก เราพยายามทำให้มากที่สุดแล้ว แต่ถามว่ามันสามารถขยับเขยื้อนขบวนการยุติธรรมเพื่อจะไปถึงจุดที่เราต้องการไหม ก็ยังไม่
แต่เราก็ได้รับการสนับสนุน เราได้รับกำลังใจ การยืนเคียงข้าง ถามว่าตอนที่สมชายหายไปใหม่ๆ ตอนนั้นสังคมไม่รู้เรื่องเลยเนอะ และก็มีพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่าทนายโจร ถามว่าคนในครอบครัว เด็กๆ ไปโรงเรียน เห็นข่าวทุกวันว่าอุ้มทนายโจร เรารู้สึกอย่างไร มันไม่ใช่ว่าคนที่ไปช่วยคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิด จะต้องกลายเป็นคนไม่ดี และเราก็รู้สึกว่ามันตีตราจังเนอะ คำพูดนี้ที่เรียกทนายโจรก็มาจากตำรวจนี่แหละ
เราก็คุยกับลูก บอกเขาว่า เราก็คงต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสมชายเป็นคนยังไง โดยผ่านตัวเรานั่นแหละ ผ่านลูกๆ ทุกคน เพราะฉะนั้นเราพยายามที่จะมีชีวิตที่ดี และยืนยันที่จะต่อต้านระบบที่ไม่เป็นธรรม
ก็หวังว่าซักวันความจริงจะเปิดเผย โดยส่วนตัวในชีวิตเราอาจจะไม่เห็นแล้ว แต่ก็หวังว่าในคนรุ่นต่อๆ ไป จะมีการเปิดเผยความจริง ในวันนึงที่คนที่มีอำนาจทุกวันนี้หมดอำนาจลง แต่วันนี้เรายังไม่รู้ ที่จริงเราก็จะเห็นใจเด็กๆ ในครอบครัวคนหาย มันทำใจยาก เพราะบางทีก็จะมีคนมาบอกว่าเห็นตรงนั้น ตรงนี้ อีกวันมาบอกว่า ตายแล้วแหละ ไม่มีใครเก็บไว้หรอก อารมณ์มันก็จะขึ้นๆ ลงๆ
อย่างตอนที่สมชายหายไปใหม่ๆ มีโอกาสได้พบคุณทักษิณ เป็นการพบกันส่วนตัว คำแรกที่เราถามคือ สมชายยังมีชีวิตอยู่ไหม เขาก็บอกว่าน่าจะเสียชีวิตไหม แต่ถามว่ามีหลักฐานไหม ก็ไม่มี แต่ในความเชื่อ ถ้ายังไม่มีหลักฐาน เราก็จะยังไม่ยอมรับว่า มันเป็นการตาย
ระหว่างต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม คุณอังคณาต้องผ่านอะไรมาบ้าง
เยอะมาก เอาตั้งแต่ตอนแรกที่เขาหายไป คนรู้จัก ญาติพี่น้อง หลายคนก็กลัว ก็ออกไปจากชีวิตเรา เพื่อนทนายบางคนก็หายไปเลย กลัวกันหมด เหมือนที่ชาวบ้านบอกว่า อุ้มคนเดียวก็กลัวกันไปทั้งชุมชน วันนั้นเราได้ประจักษ์กับตัวเอง
เคยมีคนมาบอกว่า จะพูดไปทำไม อยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าหรอ ไม่กลัวหรอที่มีเรื่องกับตำรวจ เราก็รู้สึกว่าเราถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว และเราก็มีทางเลือกก็คืออยู่เงียบๆ ใช้ชีวิตไปวันๆ กับอีกทางก็คือ อยู่แบบต่อต้าน อยู่แบบไม่ยอมแพ้ มันยากลำบากต่างกัน
แต่เรารู้สึกว่าการที่เราไม่ยอมรับความไม่ชอบธรรม มันเป็นทางนึงที่เราจะรักษาคุณค่า ศักดิ์ศรีของครอบครัวไว้ได้
อย่างเหตุการณ์ล่าสุดของวันเฉลิมที่ถูกอุ้มหาย ก็มีเหมือนกันที่คนมองว่าจะออกมาพูดทำไม เดี๋ยวก็โดนบ้างหรอก
การพูดลักษณะนี้มันบั่นทอน ว่าออกไปพูดเดี๋ยวก็โดนอุ้มอีก แต่ในทางกลับกัน ทำไมเราไม่คิดว่า วันนึงเหตุการณ์แบบนี้มันเกิดกับใครก็ได้ ทำไมเราไม่ออกมาป้องกันไม่ให้มันเกิด ไม่ว่าใครก็ไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้ ทุกคนก็คือคนในสังคม เราต้องช่วยกันออกมาปกป้องมากกว่าให้เงียบ และสิ่งแบบนี้ยังคงอยู่ต่อไป
ตอนนั้นที่เกิดเหตุการณ์ เราอธิบายให้ลูกๆ ฟังยังไง
ตอนที่เกิดเหตุใหม่ๆ ชีวิตเราเปลี่ยนไปเยอะมาก วันๆ มีแต่นักข่าว ตำรวจเข้ามาถามเยอะมาก ทุกคนมาถามเรา และเรามีความรู้สึกว่า แทนที่คุณจะมีบอกเรา แต่คุณกลับมาถาม แล้วเราจะรู้อะไรไหม ชีวิตประจำวันเราก็คือส่งลูกไปโรงเรียน ทำอะไรของเรา แล้วเราก็ต้องมาเล่าอะไรซ้ำๆ ซากๆ แทนที่เราจะมีเวลาอยู่กับลูกอธิบายให้ลูกฟัง เรากลับแทบไม่มีเวลาเลย ทั้งโทรศัทพ์ หรืออะไรก็มาเยอะแยะไปหมด เป็นช่วงที่เราทุกข์ทรมานมาก เราจะไม่ไหวแล้ว จนผ่านมาซักอาทิตย์เรามาถึงจุดนึงที่ไม่ไหว เราจะมาคุยกับลูก
เราสังเกตว่าเด็กๆ เขาไม่เคยมาร้องไห้ หรือแสดงความอ่อนแอให้เห็น เพราะว่าเขาสงสารแม่ แต่เราแอบเห็นลูกร้องไห้ เห็นลูกคุยกัน เราแอบได้ยินเขาคุยว่า “เกิดอะไรขึ้น พ่อคงจะทรมานเนอะ” เรารับอะไรแบบนี้ไม่ได้ เราสงสารลูก เราก็บอกลูกว่า สิ่งที่เรายังไม่เห็นเพราะพระเจ้าอาจจะไม่อยากให้เรารับรู้ก็ได้ แต่ถ้าวันนึงพระเจ้าเปิดเผยความจริง ก็ไม่มีใครที่จะปกปิดได้หรอก เพราะฉะนั้นเราถือว่าวันนี้ ถ้าพระเจ้าไม่ให้เรารู้ เราก็รู้เท่าที่รู้
เวลาเราคิดถึงพ่อ เราก็จะคิดถึงตอนที่พ่ออยู่กับเรา และเรามอบหมายความไว้วางใจกับพระเจ้าว่า พ่ออยู่กับพระเจ้าแล้ว พอคุยกับเด็กๆ เขาก็ดูเข้าใจมากขึ้น เราก็นึกถึงพ่อในสิ่งที่ดีๆ เราจะไม่ไปนึกถึงว่า เขาจะเจ็บปวด ทรมาน แต่สิ่งที่ต้องมาทำต่อ คือต้องมาคุยกับลูก เพราะก็มีคนเสนอจะช่วยเหลือครอบครัว สนับสนุนให้ลูกไปเรียนต่างประเทศ เราก็คุยว่าเขาจะว่าไง เพราะลูกๆ เรา 5 คน
เราก็คุยกับพวกเขาว่า เขาคิดอย่างไร หากเราจะออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ชีวิตเราก็ต้องเป็นแบบนี้ เราก็ต้องเป็นที่รู้จัก เสียความเป็นส่วนตัว อยู่กับการถูกคุกคาม ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าจะเป็นแบบไหน เราจะอยู่กับมันได้ไหม
แต่ถ้าเราเลือกที่จะเงียบๆ เราอาจจะรับความช่วยเหลือ ได้ไปเรียนเมืองนอก มีชีวิตแบบเด็กๆ ทั่วไป ซึ่งลูกๆ ก็เห็นพ้องกันว่า พ่อทำเพื่อคนอื่นมาเยอะมากๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรเพื่อพ่อเลย วันนึงถ้าเราต้องไปเจอหน้าพ่อ เราจะมองหน้าพ่อยังไง ตรงนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้น และจุดเปลี่ยน โดยส่วนตัวไม่ว่าเราจะทำอะไรตลอด คนที่เราห่วงและแคร์มากที่สุดคือลูก ครอบครัวเราต้องเข้มแข็งและไปด้วยกันได้
เราก็เคยบอกกับลูกว่า ถ้าวันไหนที่ไม่ไหวก็ต้องบอก และเคยคิดเองว่า สิ่งที่เราทำ ถ้ามันทำให้ลูกรู้สึกถูกกดดันมาก เราก็ต้องหยุด เพราะไม่ว่ายังไงเราเลือกครอบครัวก่อน มันก็ผ่านมาได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านมันไม่ง่ายเหมือนที่เราพูด มันใช้เวลานาน เราเจอการคุกคามมาทุกรูปแบบ เราถึงเข้าใจว่ามีหลายครอบครัวที่เจอแบบนี้ และทำให้เขาต้องถอยไปจากการตามหาความยุติธรรม ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ลืมเรื่องเก่า แต่ถามว่ามันทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่สร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมไหม มันไม่มี คนทำผิดก็จะได้ใจ ถือว่าไม่ต้องรับผิด ไม่รับโทษ ไม่มีคนกล้าพูด ส่งคนไปขู่ก็เงียบ เกิดซ้ำอีก
วันนี้ก็ดีใจ ที่คนรุ่นใหม่ออกมา และมีความรู้สึกยอมไม่ได้กับเรื่องแบบนี้ และนับวันก็มีคนมาร่วมกับเรามากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าที่เราทำมาไม่สูญเปล่า
แสดงว่าที่ตัดสินใจสู้ เพราะอิทธิพลของทนายสมชาย
เค้าคือครอบครัว และเป็นคนที่เรารัก สุดท้ายมันพิสูจน์ให้เราเห็นอะไรหลายๆ อย่าง ว่าคนที่ร่วมชะตากรรมกับเรา ก็คือคนในครอบครัว มีแค่นี้ ตอนนี้ก็เหลือเรา แม่กับลูก แต่นับวันเราก็มีมิตรภาพเพิ่มมากขึ้น มีคนที่เราไม่รู้จักเลยก็มี ที่เข้ามาให้กำลังใจ
มีการมองว่า การอุ้มหายหรือบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมที่โหดเหี้ยมที่สุด
ในทางสากล ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เพราะนอกจากจะฆ่าแล้ว ยังทำลายศพ และปกปิดความจริง มันส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้างอย่างมาก คนใกล้ชิด เครือญาติ เป็นการสร้างความคลุมเครือแก่พวกเขา มันไม่ใช่ว่าไปถูกใครสักคนฆ่าตาย มีศพ ครอบครัวยังได้บำเพ็ญกุศล ยังสามารถหาความเป็นธรรม
แต่การบังคับสูญหายมันเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง ทำลายศพเพื่อจะทำลายหลักฐาน เพื่อที่คนผิดจะได้ไม่ต้องรับโทษ โดยที่ไม่ได้คำนึงเลยว่า ครอบครัวเหยื่อจะอยู่ยังไง หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา
ไทยเองเราก็มีเรื่องนี้เยอะมาก ในพัทลุงช่วงปราบปรามคอมมิวนิวส์ มีอนุสาวรีย์ถังแดงตั้ง ตอนนั้นประมาณการณ์ว่าน่าจะถูกอุ้ม ถูกฆ่าประมาณ 2-3 พันคน ด้วยความที่ชาวบ้านก็กลัว ไม่มีบันทึก หรือการเรียกร้องความเป็นธรรม ชาวบ้านก็สร้างการจดจำใหม่ เพื่อที่จะเป็นประจักษ์พยานบอกว่า มันมีการอุ้มฆ่า ถึงไม่ได้กล่าวหาว่าใครเป็นคนทำ แต่ก็เป็นการรักษาความทรงจำ ไม่ให้คนที่นั่นลืมว่า ครั้งนึงมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ มันก็น่าจะเป็นอนุสาวรีย์คนหายแห่งแรก และแห่งเดียวในไทย
ในคดีของทนายสมชาย คิดว่าการที่จับคนร้ายไม่ได้ สะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้าง
มันทำให้เราเห็นช่องโหว่ของกฎหมาย และมันทำให้รัฐปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาจริงๆ คือเราไม่มีกฎหมายในการคุ้มครอง อย่างที่บอกว่า คำพิพากษามีความหมายมากเลย คนหายในประเทศไทยมีกรณีสมชายคดีเดียวที่สู้ถึงศาลฎีกา และคำพิพากษาอันแรกคือ ศาลยกฟ้อง พยานเองก็กลัว ให้การไป ร้องไห้ไป
ประการแรกมันทำให้เราเห็นว่า คดีสมชายมันเอาผิดได้แค่กักขังหน่วงเหนี่ยว คนที่ผลักสมชายขึ้นรถ ศาลชั้นต้น ศาลอุทรณ์ ศาลฎีกา พิพากษาตรงกันว่า ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่ามีคนกลุ่มนึงประมาณ 4-5 คน ผลักสมชาย นีละไพจิตรขึ้นรถ และเขาหายตัวไป อันนี้คือข้อเท็จจริงที่กระบวนการยุติธรรมยอมรับร่วมกัน แต่ไม่สามารถชี้ได้ว่า แล้วคน 4-5 คนเป็นใคร ทั้งๆ ที่รู้ว่ารถคันไหน แต่ก็หารถไม่ได้ ทำให้เห็นเลยว่า ถ้าหากว่าตำรวจทำสำนวนสืบสวนสอบสวนเอง เราจะเชื่อมั่นในความโปร่งใสได้ไหม เราควรที่จะมีหน่วยงานอิสระเข้ามาตรวจสอบไหม
และฐานความผิดที่เราฟ้องร้องมีคนเห็นว่า 4-5 คน ผลักสมชายขึ้นรถ และเขาหายไปจริง แต่หลังจากนั้นเราไม่เจอศพ และเขาก็ไม่กลับมา เราเอาผิดใครไม่ได้เลย ในฐานฆาตรกรรม เพราะเราไม่เจอศพ เราเอาผิดฐานลักพาตัว ทำให้ศูนย์หายไม่ได้ ในขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลสูญหาย ถ้ามีการเอาตัวไป คนที่เอาตัวไปต้องเอามาคืน ภาระในการพิสูจน์จะตกอยู่กับคนที่เอาตัวไป ว่าเขาปล่อยไปแล้ว เอาไปแล้ว อะไรต่อมิอะไร
แต่ว่าตรงนี้มันทำให้เห็นว่า เราสู้ไป เราแพ้ตลอด จริงๆ คดีนี้ เราสู้ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าแพ้ สู้ทั้งที่รู้ว่าไม่มีทางชนะเลย แต่เราอยากจะรู้ว่าศาลคิดยังไง ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน และสุดท้ายสังคมก็ได้รู้
ทำไมตอนนั้นถึงคิดว่าต้องแพ้แน่ๆ
เรามองแล้ว เราไม่คิดว่าเราจะชนะได้ เพราะเราไม่มีอะไรเลย และเราสู้กับอะไร มันเหมือนที่หลายคนที่พูดว่า แน่ใจหรอ จะสู้กับตำรวจ และที่ผ่านๆ มา ไม่เคยมีใครที่ประสบความสำเร็จ แม้แต่เอาคดีขึ้นสู่ศาล
เราก็รู้อยู่แล้ว เราไม่มีหลักฐานอะไร เรามีประจักษ์พยานซึ่งก็คือคนที่เราไม่รู้จัก เขามาให้การเป็นพยานด้วยความหวาดกลัว ไม่มีการคุ้มครองพยาน เราก็รู้สึกว่า นี่หรอ กระบวนการยุติธรรม เรารู้ว่าเราไม่มีทางชนะ โดยฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เราก็อยากที่จะทำให้มันเปิดออกมาว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ทำยังไงที่เราจะสร้างความตระหนักให้แก่สังคม และมีคนรุ่นใหม่ที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเขาเจอความอธรรมจะมีคนที่ออกมาปกป้องเขา อันนี้คือสิ่งที่เราอยากเห็น
และถึงแม้ว่าเราจะแพ้ในคดี แต่เราชนะอย่างอื่น ในเรื่องการสร้างความตระหนักรู้แก่สังคม
การต่อสู้ในกระบวนการตามหาความยุติธรรม ในประเทศไทย มันยากลำบากอย่างไร
มันยากมาก ถ้าหากว่าดูตั้งแต่ต้น เราร้องเรียนไปเป็นหนังสือเป็นร้อยๆ ฉบับ จนกระทั่งมาถึงศาลฏีกา 10 กว่าปีที่หายตัวไป เราก็รู้สึกว่าเราอยากจะหยุดแล้ว เราอยากจะดูว่าแล้วรัฐทำอะไรบ้าง แทนที่จะให้เราวิ่งไปทั่ว เราไม่ใช่ตัวตลก เราไม่ใช่คนที่ต้องไปขอร้อง วิงวอนขอความเป็นธรรม ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องอำนวยความยุติธรรม เคยมีด้วยซ้ำที่เจ้าหน้าที่หลบหน้า
เรารู้สึกว่าคนหลายๆ คงก็จะเบื่อหน่าย อย่างเราอยู่ในเมืองหลวง เราไม่ต้องเสียค่าเดินทางเยอะ เรามีที่พัก แต่คนที่อยู่ไกลๆ เขาจะทำยังไง กลับไปเขาจะถูกคุกคามไหม
จากที่เคยเล่าว่ามีพาดหัวหนังสือพิมพ์เรียกเขาว่าทนายโจร ตอนนี้ภาพที่สังคมรู้จักทนายสมชายเปลี่ยนไปจากตอนนั้นไหม
ตอนนี้ไม่มีคำว่าทนายโจรแล้ว มีแต่คำว่าทนายสิทธิมนุษยชน ไม่เหมือนวันแรกๆ ที่หายไป ก็เหมือนที่เราบอกลูกๆ ว่าไม่มีใครรู้จักทนายสมชายดีเท่ากับเรา แล้ววันนี้มันไม่มีประโยชน์ที่จะมาสรรเสริญความดีของสมชาย ไม่มีใครเขาเชื่อ แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือการที่เราจะทำให้เห็นว่าสมชายเป็นอย่างไร ผ่านตัวเรา ความเป็นลูกๆ จะบอกสังคมเองว่า พ่อเป็นอย่างไร
เหตุการณ์ทนายสมชายโดนอุ้มก็ผ่านมาเป็นเวลานานแล้ว คิดไหมว่าผ่านมานานขนาดนี้ ก็ยังมีเหตุการณ์แบบนี้ในไทยอยู่
ถ้าพูดตรงไปตรงมา มันก็น้อยลง แต่มันไม่หมดไป และมันก็ยังมีคนที่คิดว่าปัญหาจะหมดไปถ้าคนบางคนหายไป ต่อไปจะได้ไม่ต้องมีคนมาคัดค้าน มาประท้วง มีเจ้าหน้าที่บางคนที่ลุแก่อำนาจและเชื่อแบบนี้ จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่ไทย ทั่วโลกก็ยังมี
แต่ว่าทำยังไงเราจะป้องกัน เราจะยุติการกระทำแบบนี้ และโดยส่วนตัวเราคิดว่าสิ่งที่เราทำ มันก้าวข้ามความเป็นสมชายไปแล้ว
แต่มันเป็นการทำ เคลื่อนไหว เรียกร้อง เพื่อพยายามจะปรับเปลี่ยนสังคมให้มันมีกฎหมาย เพื่อจะคุ้มครองคนอื่น ใครก็ได้ที่อาจจะมีปัญหากับรัฐ เห็นต่างทางการเมือง หรือถูกมองไม่ดีในสายตาคนอื่น แต่ก็ต้องไม่ถูกทำให้สูญหายแบบนี้
แม้ว่าคุณอังคณาจะบอกว่าคดีแบบนี้เกิดขึ้นน้อยลง แต่ควรทำอะไร ถ้าไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
มันบอกไม่ได้หรอก ต่อให้เรามีกฎหมาย มีอะไรมาก็อาจจะมีการอุ้มหายอีก แต่อย่างน้อยต้องมีหลักประกัน ทุกวันนี้ไม่มีหลักประกันเลย กฎหมายก็ไม่มี กฎหมายทุกวันนี้ระบุว่า คนที่ไม่มีหลักฐานว่าบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จะร้องหาความเป็นธรรมต้องมาแจ้งเอง ฉะนั้นกรณีคนหาย ถ้าตำรวจไม่ทำคดี อัยการไม่ฟ้องคดี ตำรวจก็แค่ไปสอบว่า ยังไม่เจอตัว หนีไปประเทศเพื่อนบ้านมั้ง
สุดท้ายแล้วคนเหล่านี้กลายเป็นคนที่ไม่มีชื่อ ไม่มีหน้า หายไปเลยจากสังคม แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องมีระบบที่ดี ทุกวันนี้เรารู้แล้วว่า กฎหมายเรามีช่องโหว่ มันต้องมีการแก้กฎหมาย ต้องมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ทุกคน
มันมีอนุสัญญาระหว่างประเทศ ประเทศไทยก็ควรที่จะเข้าไปเป็นภาคี แม้ว่ากฎหมายไทยยังไม่ออก แต่ความเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ มันจะเป็นหลักประกันหนึ่งว่าเราจะได้รับความคุ้มครองที่จะไม่สูญหาย สหประชาชาติสามารถที่จะตั้งคำถามมาถึงไทยได้ ในกรณีที่มีคนถูกอุ้มหาย เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรจะแสดงความบริสุทธิ์ใจ
จริงๆ มีมติ ครม.มาตั้งแต่เดือนพฤษภา ปี 59 ให้สัตยาบันอนุสัญญาคนหาย แล้วก็มีมติเห็นชอบ ร่าง พรบ.ป้องกันซ้อมทรมาน-สูญหาย ซึ่งโดยส่วนตัวเราเรียกร้องว่าให้สัตยาบันไปก่อนก็ได้ แต่ สนช.ก็บอกว่า ต้องให้มีกฎหมายก่อน แต่ปรากฏกฎหมายก็ล่าช้า แก้แล้วแก้อีก แล้วทำไมเราถึงไม่ให้สัตยาบันก่อน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยให้สัตยาบันหลายฉบับ ทั้งๆ ที่เรายังไม่มีกฎหมาย เพราะฉะนั้นเราให้สัตยาบันไปก่อนได้เลย อย่างน้อยมันมีอะไรที่ให้คนไทยได้อุ่นใจว่ามีหลักประกัน
คิดว่าทำไมตัวกฎหมายถึงยังไม่ออกมา ชะงักอยู่
เพราะว่ามันเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ เกี่ยวกับการทำความผิดของเขา แต่จริงๆ มองกลับกัน กฎหมายนี้ก็จะช่วยเจ้าหน้าที่ ช่วยในการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่บางคนที่ลุแก่อำนาจ จะไม่ทำผิดลักษณะนี้อีก ช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่กระทำตามอำเภอใจ การจะเอาตัวใครไปขังทำไม่ได้แล้ว ต้องแจ้งญาติ เพราะฉะนั้นมันจะเข้ามาสู่กระบวนการ ระบบยุติธรรมหมดเลย
คุณมีสิทธิจะจับคนได้ ถ้ามีหมาย และต้องเอาตัวไปในที่ที่กฎหมายระบุไว้ เอาไปไว้ในสถานที่ลับไม่ได้ การบังคับสูญหาย ไม่ได้หมายถึงการฆ่า และทำลายศพอย่างเดียว แต่หมายถึงการเอาคนไปควบคุมไปสถานที่ลับก็เป็นการบังคับสูญหายด้วย
ถ้ามันมีกฎหมายนี้ออกมา การดำเนินงานคดีอุ้มหาย อย่างคดีของทนายสมชาย ก็จะสะดวกมากขึ้นด้วยหรือเปล่า
ตามหลักการ คดีบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ เพราะฉะนั้นคนที่ถูกอุ้มหายก็จะอยู่ในสถานะผู้สูญหายไปเรื่อยๆ และกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าหากว่าเรามีกฎหมายในประเทศ ทุกคดีที่สูญหายจะต้องถูกนำขึ้นมา และสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบความจริง
แต่ในร่างที่รัฐบาลร่างและเข้าไป สนช. เขาตัดหลักการนี้ไป เหมือนกับว่าที่โดนอุ้มไปแล้ว ที่ผ่านมาก็แล้วไป แต่ต่อไปจะระมัดระวังมากขึ้น และหลักการอีกประการคือ จริงๆ แล้วกฎหมายที่จะเป็นคุณกับประชาชน กฎหมายต้องย้อนหลังได้ ไม่ใช่ว่าจะบอกว่าที่หายไปแล้วช่างมัน กฎหมายจะคุ้มครองแค่ในอนาคต มันขัดหลักการสำคัญไป
มันเหมือนว่ารัฐก็กลัวที่จะต้องมาสืบสวนสอบสวน เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุกวันนี้เป็นใหญ่เป็นโต จะต้องเข้ามารับผิดด้วยหรือเปล่า ก็พยายามจะปิดคดีที่ผ่านมา
ทุกวันนี้ เรารู้ว่าการอุ้ม บังคับสูญหาย เป็นอาชญากรรมที่น่ากลัวที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่าคนในสังคมมาเถียงกันอยู่ว่า อุ้มหายเป็นเรื่องของการเมืองหรือเปล่า
ในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษญชนของสหประชาชาติสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทย ที่บอกว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน และต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ สีผิว ศาสนา ชาติพันธุ์ ความเห็นต่างทางการเมือง และสถานะทางเศรษฐกิจ ดังนั้นแม้ว่าคุณจะมีความเห็นต่างทางการเมืองฐานะเศรษฐกิจคุณต่างกัน หรือเพศอะไรก็แล้วแต่ คุณไม่มีสิทธิที่จะมาเป็นข้ออ้างในการที่จะถูกเลือกปฎิบัติได้ หรือเรื่องของความเข้าถึงความยุติธรรม
เพราะฉะนั้นอันนี้คือหลักความเท่าเทียมเลย คนเราสามารถที่จะเห็นต่างกั้นได้ วันนี้ เรารู้ว่ารัฐบาลเห็นแบบนี้ และมีคนที่เห็นต่างจากรัฐบาล หากวันนึงรัฐบาลเปลี่ยนขั้ว ก็มีคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลอีก แล้วจะกลายเป็นว่ากลุ่มไหนก็ตามที่เห็นต่างจากรัฐบาล เวลารัฐบาลเปลี่ยน คุณจะอยู่อย่างไม่ปลอดภัยแล้วใช่ไหม จะไม่มีพื้นที่ให้คุณยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรีใช่ไหม จะไม่มื้นที่ให้คุณแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นเราต้องมีหลักการในการที่จะเคารพความแตกต่าง ตราบใดที่การแสดงความคิดเห็นต่างนั้น ไม่ได้เป็นการใช้วาทะกรรมที่สร้างความเกลียดชัง หรือไม่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง หรือความรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชัง ไม่ใช่ว่าคุณต่อต้านรัฐแล้วคุณเอาปืนไปยิงเขา อันนี้ไม่ได้ แต่ว่าการที่คุณแสดงความคิดเห็นที่ต่าง ถือว่ามันเป็นประชาธิปไตย
พอเหตุการณ์อุ้มหาย จะทำให้คนไม่กล้าตั้งคำถามกับรัฐหรือเกิดความกลัวมากขึ้นหรือเปล่า
แน่นอน ทำให้หลายครอบครัวหลบหน้า ไม่เปิดเผยตัวตน ไม่กล้าไปแจ้งความ อันนี้เกิดขึ้นประจำ ซึ่งตรงนี้มันเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวขึ้น พร้อมๆ กันมันจะมีการคุกคาม พอเวลาที่มีคนหาย จะมีการทำให้เห็นว่าคนนั้นเป็นคนไม่ดี คนนั้นเป็นคนที่มีหมายจับ เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือสิ่งผิดกฎหมาย จะมีการทำให้เชื่อว่าคนนั้นเป็นคนไม่ดี ซึ่งส่งผลต่อทางจิตใจมาก เพราะครอบครัวหลายครอบครัวก็ต้องอยู่แบบเงียบๆ ไม่กล้าที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมเพราะว่า เหมือนกับว่าสังคมตีตราเขาไปแล้วว่าเขาเป็นคนไม่ดี
เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม คนที่เป็นนักโทษในเรือนจำก็มีสิทธิที่จะมีชีวิต มีร่างกาย ไม่ใช่ว่าจะปล่อยให้เขาถูกกระทืบตายได้
ตอนนั้นที่เกิดเหตุการณ์ทนายสมชาย กับตอนนี้ที่เกิดเหตุการณ์ล่าสุดของวันเฉลิม บรรยากาศสังคมเปลี่ยนไปมากขึ้นไหม
มากขึ้น และเราก็รู้สึกว่ามันทนไม่ไหวแล้ว จากที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนถูกฆ่า ถูกอุ้มหาย จนมาถึงคนที่เห็นต่างทางการเมืองที่มันถี่ขึ้น คนก็คงต้องตั้งคำถามแล้วว่าใครจะเป็นรายต่อไป แล้วที่สำคัญที่สุด การที่ไม่มีความก้าวหน้าหรือคำชี้แจงจากรัฐบาล มันเป็นสิ่งนึงที่ประชาชนตั้งคำถามมาก ในฐานะที่วันเฉลิมเป็นพลเมืองไทย รัฐปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ยังไงก็จะต้องประสานความร่วมมือ ต้องชี้แจงว่ามันเกิดอะไรนขึ้น ไม่ใช่ว่าคนที่เห็นต่างจากรัฐ แล้วรัฐจะไม่ดำเนินการเหรอ
เพราะฉะนั้นในฐานะที่เขาเป็นคนไทย รัฐต้องเข้าไปสอบถาม อะไรที่ช่วยได้ก็ควรช่วยในการที่จะติดตามหาตัวด้วย เพราะช่วงนี้ครอบครัวเองก็คงไปที่กัมพูชาไม่ได้ จากสถานการณ์โรคระบาด ที่ต้องปิดประเทศอยู่ รัฐก็ต้องอำนวยความสะดวกให้
ก่อนหน้านี้คุณพูดว่าการอุ้มหายคงไม่ได้หมดไปในยุคตัวเอง แสดงว่ามองว่าต้องเป็นการต่อสู้อีกยาวนาน
นานค่ะ เมื่อเราดูในประวัติศาสตรน์ในหลายๆ ประเทศ มันจะไม่มีทางหมดไป ถ้าเรายังยอมจำนน ยอมปิดปากเงียบ อย่างเวลาที่มีกรณีหายตัวไปวันแรกๆ จะไม่มีอะไร พอซักพักจะเริ่มมีข่าวแล้ว เขาเป็นคนไม่ดี เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และจะมีคนบางกลุ่มที่ชั่งใจแล้วว่า อย่าไปยุ่งเลย คนนี้เป็นคนไม่ดี
เพราะฉะนั้นตรงที่เป็นอะไรที่เราต้องเข้มแข็ง และเราต้องยืนยันในหลักการ ใครก็ได้ต้องไม่หายไป คุณประยุทธ์เองก็ต้องไม่ถูกอุ้ม ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนขั้วอะไรก็แล้วแต่ รัฐมนตรีทั้งหลายก็จะไม่ต้องไม่ถูกกระทำการแบบนี้
เพราะเราถือว่า คนทำผิดต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ว่าจะต้องไม่มีการใช้วิธีการนอกกฎหมาย
การใช้วิธีนี้โดยคิดว่ามันจะจบ จริงๆ ปัญหามันไม่จบ มันจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น มันอาจจะทำให้คนกลัวได้ ปิดปากคนได้ในระยะเวลานึง แต่ไม่สามารถที่จะปิดปากคนทั้งหมดได้ตลอดไป มันมีความโกรธแค้น มีความไม่พอใจในสังคมออกมามากขึ้น รัฐบาลจะอยู่นิ่งเฉยแบบนี้ไปเรื่อยๆ เหรอ รัฐบาลอาจจะบอกติดต่อแล้ว แต่ถามว่ามีคนเชื่อไหม ถ้าไม่ออกมาบอกว่าคุณทำอะไรไปแล้ว แล้วผลเป็นยังไง แล้วคุณจะทำอะไรต่อ
ในฐานะที่ตัวเองประสบเรื่องนี้เอง และต่อสู้เรื่องนี้ ยังเชื่อมั่นไหมว่าเราจะได้ความยุติธรรม
บอกเลยว่าจนชั่วชีวิตเรา เราอาจจะไม่ได้ก็ได้ แต่ถามว่าเรายังยืนอยู่ตรงนี้ไหม เราก็ยังยืนอยู่ตรงนี้ เรารู้เลยคนที่กระทำผิด คนที่เกี่ยวข้อง ตำแหน่งสูงมาก เขามีกระบวนการที่จะปกป้องกัน ปกป้องพรรคพวก ขณะที่ชาวบ้านอย่างเราที่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีอะไรที่ปกป้องเราเลย
ถามว่าเราได้ความยุติธรรมไหม บางทีความยุติธรรมสำหรับเรา ไม่ใช่เอาใครสักคนมาฆ่าให้ตาย แต่ความยุติธรรมสำหรับเรามันอาจจะหมายถึงมากกว่านั้น คือการให้สังคมได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมแบบนี้ การผลักดันให้รัฐบาลต้องสร้างกลไกในการที่จะคุ้มครอง
เราก็เชื่อว่าเหนือกฎหมายก็ยังมีกฎแห่งกรรม คนที่ทำอะไรไว้สักวันเขาก็ต้องได้รับผลตอบแทน และอย่างกรณีผู้ต้องสงสัยที่อุ้มทนายสมชาย คนนึงก็บอกว่าหายตัวไปไม่รู้ไปไหน ส่วนที่เหลือหลายคนก็เปลี่ยนนามสกุล
แต่เราก็ยังคงเป็นตัวเราอยู่ ลูกๆ ทุกคนก็ยังใช้นามสกุลพ่อ เราไม่เคยต้องหลบหน้า ยังมีที่ยืนในสังคม เรายังยืนยันว่าเราคือครอบครัวนีละไพจิตร ไม่ได้อับอายใครที่จะต้องเปลี่ยนนามสกุล ในขณะเดียวกันคนที่ถูกกล่าวหาหลายคนต้องเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล