ทำไมม็อบชาวนาถึงลากยาวมาเป็นเดือน แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่?
เป็นเวลานานเกือบ 2 เดือนแล้วที่เหล่าชาวนาจาก 36 จังหวัดของประเทศไทย รวมตัวกันในนามเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย มาปักหลักเรียกร้องอยู่ริมถนนในกรุงเทพฯ
ตลอดเดือนแห่งการเรียกร้อง กลุ่มชาวนาเคลื่อนขบวนไปหลายแห่ง ทั้งหน้ากระทรวงการคลังไปสะพานมัฆวานรังสรรค์ เดินทางไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ปัญหาของพวกเขาได้รับการแก้ไขจริงๆ จังๆ เสียที
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น กลุ่มชาวนาเดือดร้อนอย่างไร ทำไมต้องออกมาเรียกร้อง?
อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือ ราคาข้าวที่ชาวนาขายได้ตกต่ำมาก ไม่พอมากลบต้นทุนการผลิตข้าวที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่า ชาวนาต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อให้มีเงินมาลงทุนกับปัจจัยการผลิตต่อไปได้ แต่เมื่อผลิตข้าวออกมาอีกครั้ง ราคาก็ยังตกลงอีก ทำให้ชาวนาต้องกู้หนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ก็ทำให้หลายคนเสียหลักทรัพย์ ซึ่งโดยมากเป็นที่ดินทำกินไปนั่นเอง
เพื่อแก้ปัญหานี้ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จึงถือกำเนิดขึ้น โดยจะซื้อหนี้และหลักทรัพย์จำนองของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุน แล้วให้ผ่อนชำระหนี้กับกองทุน โดยไม่มีดอกเบี้ย และรับประกันว่าจะไม่ทำให้เกษตรกรเสียหลักทรัพย์
ปัญหานี้คลี่คลายไปได้เปราะหนึ่งเมื่อธนาคารเอกชนโอนหนี้สินไปให้กองทุนดังกล่าวจัดการแล้ว แต่ ชาวนาจำนวนมากเป็นหนี้กับธนาคารแห่งรัฐ ซึ่งมีอยู่ 4 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ธ.ก.ส., ออมสิน, ธนาคารสงเคราะห์ และ SME
ประเด็นก็คือ เมื่อเป็นธนาคารของรัฐ ก็จำเป็นจะต้องให้ ครม.มีมติโอนหนี้สินของเกษตรกรจากธนาคารแห่งรัฐให้กองทุนก่อน ซึ่งกองทุนก็อนุมัติให้โอนหนี้สินชาวนามาที่กองทุนไปตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2564 และตามหลักแล้ว เรื่องนี้ควรต้องเข้า ครม.ภายใน 60 วัน แต่กลับลากยาวมาถึง 10 เดือน ทำให้ชาวนาต้องแบกรับภาระทั้งเงินต้นเงินดอก ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
กลุ่มชาวนาจึงต้องรวมตัวกันมาประท้วงที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา แรกเริ่มปักหลักอยู่หน้ากระทรวงการคลังเพื่อทวงถามมติ ครม.เห็นชอบโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร และเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งคณะทำงานติดตามผลการดำเนินงานของกองทุน
ข้อเรียกร้องของม็อบชาวนา มีอยู่ 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่
- ให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และเร่ง ครม.อนุมัติให้ธนาคารของรัฐโอนหนี้สินของเกษตรกรให้กองทุนฯ และขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้เกษตรกร (ฝากเน้นข้อนี้นะ)
- ลด/ปลดหนี้ให้กับสมาชิกกองทุนฯ ที่เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรค เหลือไม่เกิน 25%
- ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฯ
หลังปักหลักอยู่นานเกือบเดือน ก็มีกระแสข่าวว่าโครงการอาจสามารถเข้าที่ประชุม ครม. ได้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ม็อบชาวนาจึง เคลื่อนขบวนจากหน้ากระทรวงการคลัง ไปยังสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีโครงการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาเข้าสู่วาระการประชุม
เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติงบ ‘เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น’ ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2,000 ล้านบาท แต่นั่นก็ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แค่เล็กน้อย ยังไม่ใช่การโอนหนี้สินของเกษตรกรไปให้กองทุนตามที่ชาวนาเรียกร้องกันเป็นหลัก
จนเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกฯ ระบุว่า จะเตรียมเสนอปัญหาของม็อบชาวนา เข้าที่ประชุม ครม. ภายใน 2 สัปดาห์
ต้องมาจับตาดูกันว่า จะถึงคราวที่ปัญหาที่เหล่าชาวนาจะได้รับการแก้ไขจริงๆ หรือยัง หรือจะต้องปักหลักต่อกันไปเรื่อยๆ กว่าที่กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ จะได้รับความสนใจเสียที