นานนับเดือนแล้วที่ริมทางเท้าใจกลางกรุง ถูก ‘ม็อบชาวนา’ จับจองไปด้วยผืนเสื่อ พร้อมอุปกรณ์ยังชีพ ก่อนที่มุ้ง และเต็นท์ขนาดย่อมเป็นกำลังเสริมยามพระอาทิตย์ลาลับ ด้วยหวังจะได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ยิ่งพอกพูน โดยเฉพาะ 31 มี.ค. นี้ กำหนดชำระหนี้กำลังจ่ออยู่ที่ปากประตู
ช่วงเวลาที่หลายคนอิ่มอร่อยกับข้าวสวยร้อน ๆ น้อยคนที่จะรู้ว่าเกษตรกรต้นน้ำกำลังทุกข์หนัก จากหนี้สินที่เพิ่มขึ้นกว่า 22% นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โรคระบาด เงินลูกหลานที่คอยช่วยโปะหนี้ก็ขาดมือ สวนทางกับรายได้ที่ลดลงกว่า 27%
The MATTER จึงอยากชวนไปขบคิดว่า ทำไมหนี้ชาวนาจึงไม่ได้เป็นเพียง ‘ปัญหาส่วนตัว’ อย่างที่หลายคนเข้าใจ ผ่านการพูดคุยกับ เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร และความเป็นไปได้ที่จะหลุดพ้นเงื่อนไขความจน ที่ถูกยัดเยียดมายาวนาน
ระเบิดเวลาปัญหาหนี้ผู้สูงอายุ
ตัวเลขที่ว่าเกษตรกรอายุ 60 ปี ขึ้นไปของไทย เป็นหนี้กว่า 1.4 ล้านคน ดูไม่ได้เป็นจำนวนที่เกินจริง แต่กลับต่ำกว่าความเป็นจริงเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากนี้เป็นเพียงลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เท่านั้น ยังไม่ได้นับรวมกับหนี้สหกรณ์ หรือนอกระบบอื่น ๆ
ยิ่งกว่านั้น 24.4% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่คนพูดติดปากกันว่าหนี้เสีย ก็อยู่ในกลุ่มลูกหนี้อายุ 90 ปีขึ้นไปทีเดียว
ฉายภาพให้ชัดเจน ก็ลองมองม็อบชาวนาที่กำลังปักหลักอยู่ตอนนี้ จะมีสักกี่คนที่เรี่ยวแรงยังเหลือเฟือ ลุกนั่งปุบปับสบาย ๆ
“อีก 10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนไปเลย คนที่อายุ 50 กว่าปีตอนนี้ คือก้อนใหญ่สุดที่เป็นหนี้ เขาก็จะเข้ามาในสัดส่วนการเป็นหนี้ผู้สูงอายุทั้งหมด”
เป็นที่มาให้ อ.เดชรัต มองว่าหนี้ผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ โดยเริ่มต้นที่กลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไปก่อนที่มีนับแสนคน ไม่เช่นนั้น “ปัญหาวันข้างหน้าหนักยิ่งกว่านี้”
“เวลาเราพูดหนี้ผู้สูงอายุ ต้องเข้าใจว่าหนี้มันไม่จบ มันจะมีกลไกทางกฎหมายที่เลยต่อไป ถึงทรัพย์สิน การรับช่วงต่อหนี้ ไม่เหมือนปัญหาผู้สูงอายุมีรายได้น้อยที่พอเขาเสียชีวิตไป ก็ไม่มีประเด็นใด ๆ ต่อเนื่องไปถึงลูกหลาน”
เป็นหนี้โดยไม่ได้พยายาม
มาถึงตอนนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ทำอีท่าไหนบรรดาชาวนาถึงได้เป็นหนี้กันแทบทุกคนขนาดนี้
อ.เดชรัต อธิบายสูตรสำเร็จทางธุรกิจที่ว่า ‘High Risk High Return’ ยิ่งความเสี่ยงสูงผลตอบแทนจะสูงตามนั้น สวนทางกับการทำนาโดยสิ้นเชิง เพราะชาวนามีความเสี่ยงสูงในการผลิต ทั้งจากลมฟ้าอากาศ โรค และการตลาดที่ผันผวน แต่ผลตอบแทนกลับต่ำ
ถ้าจะขยายความต่อไปอีก คือ ข้าวเป็นสินค้าที่ซื้อจากที่ไหนก็เหมือนกันไปหมด หรือที่เรียกว่า ‘สินค้าโภคภัณฑ์’ ดังนั้นยิ่งผลผลิตเยอะก็ยิ่งขายได้ราคาน้อย แต่พอถึงช่วงที่ผลผลิตน้อย หลายครั้งก็ไม่มีจะขาย
เมื่อเงินไหลเข้าหยิบมือแต่ไหลออกเป็นน้ำ ท้ายสุดก็ต้องหันไปพึ่งพาระบบกู้หนี้ยืมสินไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเข้าจนได้ โดยใช้สินทรัพย์ คือ ที่นา ไปค้ำประกันเงินกู้
บังเอิญคนมีที่ดิน ส่วนใหญ่มีไม่น้อย ราคาที่ก็เพิ่มสูง กลายเป็นว่าชาวนาเป็นหนี้ติดลบไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ไม่เกินมูลค่าที่ดิน เขาจะรู้สึกเดือดร้อนมากก็ตอนเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์
ซึ่งกว่าวันนั้นจะมาถึง หลายคนก็หมดแรงเกินกว่าจะปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้เหมาะสมแล้ว
อีกรูปแบบหนึ่งของการค้ำประกันหนี้ ที่ อ.เดชรัต กำลังมองว่าจะกลายเป็นปัญหาในวันหน้าคือ การใช้ผู้ค้ำประกันแบบกลุ่ม เพื่อแบ่งปันความเสี่ยง เพราะชุมชนไทยแต่เดิมมักอยู่กันแบบใกล้ชิด
แต่ตอนนี้ลูกหลานจำนวนมากต่างทำงานไกลบ้าน หรือย้ายถิ่นฐาน เมื่อพ่อแม่ตายลงก็อาจไม่สนิทใจมากที่ต้องมารับภาระหนี้ต่อร่วมกับคนอื่น
คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถานการณ์โรคระบาดที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ ก็เป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้ชาวนาลุกขึ้นมาส่งเสียง ด้วยที่ผ่านมาลูกหลานก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรับภาระหนี้มาตลอด ก็ได้รับผลกระทบสูงไม่ต่างกัน
ข้อแนะนำแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร
หากลองคิดเล่น ๆ เราเห็นคำว่า ‘ปลดหนี้’ เกลื่อนมากทั้งตามโฆษณาบริษัทให้สินเชื่อเอย นโยบายรัฐเอย ไม่เว้นบรรดารายการเกมโชว์ที่คนดูติดกันงอมแงม แต่ อ.เดชรัต ยืนยันหนักแน่นว่า การปลดหนี้ให้โดยการจ่ายแทน ไม่ยั่งยืนพอที่จะตัดปัญหามรดกหนี้ได้ จึงได้เสนอวิธีแก้ปัญหาที่น่าสนใจไว้หลายประเด็น
ทำให้กติกาการเป็นหนี้มีความเป็นธรรม
อ.เดชรัต เล่าว่า การแก้ไขสัญญาหนี้เกษตรกร หรือกติกาในการกู้ยืมของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลดีในหลายด้าน
อย่างเรื่องใหญ่สุดที่คนมักสงสัยว่า ใช้หนี้มาตั้งนานไม่หมดสักที ส่วนหนึ่งก็มาจากเดิมทีเงินที่จ่ายแต่ละเดือนจะถูกตัดเป็นส่วนของดอกเบี้ยก่อน ดังนั้นถ้าเราไม่จ่ายเยอะจริง ๆ ต่อเดือน ก็แทบไม่ได้แตะยอดเงินต้นเลย “ก็เลยเปลี่ยนเวลาจ่าย ให้ตัดต้นและดอกในสัดส่วนเท่ากัน”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่น ๆ เช่น ลดค่าปรับกรณีจ่ายผิดนัด ลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด
เพิ่มทางเลือกจัดการหนี้
ชื่อกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในม็อบชาวนามาตลอด ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า กองทุนดังกล่าวสามารถช่วยเหลือให้ชาวนาจำนวนมากชำระหนี้หมด จนสามารถไถ่ถอนที่ดินกลับมาได้ ด้วยการซื้อหนี้จากเจ้าของหนี้เดิมมาปรับโครงสร้างหนี้ พร้อม ๆ ไปการผ่อนชำระจากชาวนาในส่วนที่ได้รับการชำระหนี้แทนไป
“ไปรับซื้อหนี้มา ตัดหนี้ลงครึ่งหนึ่ง แล้วค่อยให้เขาผ่อน ที่ผ่านมาเขาผ่อนชำระได้ดีมาก พี่น้องเกษตรกรพอมีปัญหาถึงขั้นวิกฤติจริงๆ และเขาได้รับโอกาส เขาค่อนข้างใช้โอกาสนั้นได้ดี”
แม้ไม่ได้ต้องการให้เกิดวิกฤติก่อนถึงจะแก้ไข แต่ อ.เดชรัต สนับสนุนว่าวิธีการนี้สร้างนิสัยที่ดีกว่าการยกหนี้ให้ ทั้งยังมีทางเลือกให้แบ่งเช่าที่ดินระยะยาวในกรณีที่ไม่ต้องการทำเกษตรกรรมเอง
“มีหลายเหตุผลที่เขาลงทุนเองไม่ได้ ทั้งไม่ทราบ ไม่มีเงินทุน ไม่รู้วิธีการ แล้วแบ่งปันกลับไปในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของที่ แรงงาน และเกษตรกลุ่มเป้าหมายที่ต้องช่วยเหลือ”
ข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่ง คือ การวางแผนทำการเกษตรที่ไม่จำเป็นต้องปลูกเต็มพื้นที่อย่างที่แล้วมา แต่ใช้การคำนวณจากจำนวนที่จะกินและขายได้ ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็สามารถปลูกพื้นที่ให้กำไรในระยะยาวได้ “ส่วนที่ดินเหลือจะปล่อยไว้ก็ดีกว่าที่จะปลูก แล้วทำให้มีอำนาจต่อรองน้อยลง”
“สมมติมีที่ดิน 29 ไร่ เขาจะคิดว่าทำไหวรึเปล่ากับที่ทั้งหมด พูดง่าย ๆ ว่าทำเต็มพื้นที่ ผลคือผลผลิตเกินจากที่กินเองและขายได้ ทำให้ถ้าจะได้เงินตามเป้าต้องพึ่งคนกลางมาบอกว่า ปลูกอันนี้สิ รับรองเขาช่วยซื้อ ตลาดมันก็จะดีอยู่สัก 3-5 ปีก็แย่”
ปัญหาหนี้ชาวนาเป็นเรื่องที่ต้องร่วมรับผิดชอบ
ถ้าใครได้ติดตามข่าวการเคลื่อนไหวของม็อบชาวนาอยู่เป็นระยะ ก็อาจได้ยินเสียงขอโทษขอโพยจากพี่น้องชาวนาอยู่ประปราย ว่าพวกเขาอาจสร้างความไม่สะดวกให้หลายคนที่ใช้รถ ใช้ถนนจากการที่มาปักหลักกินนอนมาแรมเดือน
อ.เดชรัต อธิบายว่า คนเมืองไม่น้อยยังมองว่าปัญหาหนี้สินของชาวนาเป็นปัญหาปัจเจกบุคคล ทำได้เพียงช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ชาวนาเองจึงเลือกวิธีการสื่อสารผ่านการขอความเห็นใจ ความเข้าใจ เป็นอันดับต้น โดยที่ไม่ได้แตะโครงสร้างสังคมเลย
ย้อนไปหลายสิบปีก่อน ในช่วงที่ข้าวไทยเฟื่องฟูจะพบว่า รัฐบาลจัดเก็บภาษีจากชาวนาหนักมา โดยเฉพาะค่าพรีเมี่ยมข้าว แม้ทั้งหมดจะเป็นการเก็บจากผู้ส่งออก แต่ก็ถูกผลักภาระกลับมาที่ชาวนาจนได้
ในจังหวะที่เป็น โอกาสทอง ของการสร้างเนื้อสร้างตัว แล้วเราก็ลืมไป ไม่สนใจว่าเคยทำอะไรกับเขาไว้บ้าง เพราะฉะนั้นจะถามว่าทำไมต้องช่วยชาวนา ไม่ถูกนะ เราคงต้องถามว่าทำไมตอนนั้น เราต้องไปเอามาจากชาวนาด้วย
ยิ่งกว่านั้นการที่ชาวนาต้องยกปัญหาจากท้องทุ่ง มาร้องขอความเห็นใจไกลถึงเมืองหลวง ทำให้ อ.เดชรัต ก็อดไม่ได้ที่จะสงสัยว่าทำไมการแก้ปัญหามันรวมศูนย์ถึงเพียงนี้ องค์การปกครองสวนท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมสร้างโมเดลไขหนี้สินได้ โดยไม่ต้องควักกระเป๋าเองสักบาท
“แต่ไหนแต่ไรจะแก้ปัญหาหนี้แต่ละที มองแค่อดีต มองวันนี้ แต่มองไม่ไปถึงอนาคต ทำให้จบที่การต่อรอง มากกว่าจะหาทางออก”
หากรัฐบาล ประชาชน หรือแม้แต่พี่น้องชาวนาเอง ไม่ร่วมกันใช้โอกาสเรียกร้องครั้งนี้แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ปล่อยให้เป็นชะงักติดหลังชาวนาต่อไป ก็ไม่มีเหตุผลที่จะถามหาอนาคตที่ดีกว่าของลูกหลาน เพราะหนี้สินคือหนึ่งในต้นทุนชีวิต ที่ทำให้คนไม่สามารถพลาดหรือลองผิด ลองถูกไปสู่สิ่งที่ดีกว่า