ในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์กว่า 102 ล้านไร่ หรือ 31.68% ของประเทศ จึงถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และท้าทายสำหรับ ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ ผู้สืบสานเจตนารมณ์ในการปกป้องผืนป่าให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์เอาไว้
อย่างไรก็ตาม พักหลังมานี้มีข้อมูลการลดงบประมาณสำหรับ ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ ที่ส่งผลให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องปรับลดจำนวนหรือเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ลง ซึ่งเป็นที่มาทำให้ข่าวเกี่ยวกับสภาพการเป็นอยู่ของ ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ ได้รับการเปิดเผยออกมามากขึ้น
เนื่องในวาระวันสืบ นาคะเสถียร The MATTER อยากจะพาไปสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับ ‘เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า’ ว่าจะต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างจากการทำงานปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
เปิดงบประมาณบุคลากรของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปี 2563-2565
งบประมาณที่แต่ละหน่วยงานจะได้รับการจัดสรรในแต่ละปีสามารถเป็นอีกหนึ่งเครื่องชี้วัดถึงความสำคัญของแผนงานในแต่ละหน่วยงานได้เป็นอย่างดี สำหรับงบประมาณที่จะผันแปรกลายมาเป็นค่าจ้าง ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ คืองบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบุคลากรภาครัฐซึ่งถือเป็นงบที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับบุคลากรในสังกัด โดย ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ สังกัดอยู่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใน 3 กรมสำคัญได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทั้งนี้ตามข้อมูลจาก พรบ งบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งแต่ปี 2563-2565 พบว่างบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบุคลากรภาครัฐของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการปรับลดลงต่อเนื่อง 2 ปี ด้วยกัน
- ปี 2563 11,450 ล้านบาท
- ปี 2564 11,422 ล้านบาท
- ปี 2565 11,333 ล้านบาท
จำนวน ‘ผู้พิทักษ์ป่า’ ของไทย
แน่นอนว่าพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลขนาดนี้ย่อมต้องการกำลังเจ้าหน้าที่ จำนวนหนึ่งในการดูแลปกป้องทรัพยากรของประเทศ โดยข้อมูลในปัจจุบัน จากมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่าในปัจจุบันประเทศไทยของเรามี ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ ทั้งสิ้นโดยประมาณอยู่ที่ 20,000 คนด้วยกัน กระจายอยู่ตามพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ
ออฟฟิศของ ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’
หากพูดถึงสถานที่ทำงานของ ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แล้ว แน่นอนว่าจะต้องไม่ใช่อาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่มีผู้คนขวักไขว่ อย่างแน่นอน เนื่องจากชื่อของตำแหน่งก็ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาผืนป่าและเหล่าสรรพสัตว์ เพราะฉะนั้นสถานที่ทำงานของพวกเขาคงจะหนีไม่พ้น ผืนป่าอันกว้างใหญ่ที่มี 2 เท้าขับเคลื่อนเป็นพาหนะไปทำงาน
ในปัจจุบันประเทศไทยของเรามีพื้นที่ป่าที่ป่าสมบูรณ์กว่า 102 ล้านไร่ หรือ 31.68% ของประเทศ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืชดูแล 81.5 ล้านไร่
ดังนั้น หากเราลองเทียบจำนวน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั้งหมดในประเทศไทยแล้ว เฉลี่ยเจ้าหน้าที่ 1 คนจะต้องดูแลพื้นป่ามากถึง 5,100 ไร่ โดยประมาณ อย่างไรก็ตาม ปริมาณพื้นที่ป่าที่ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องดูแลจริงจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่แยกย่อยอีกทีหนึ่ง
ค่าตอบแทน
สำหรับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างหลังจากที่ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวออกมาว่ามีการปรับลดงบประมาณในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลง ส่งผลทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่มีทางเลือกต้องปรับลดการจ้างงาน หรือลดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าแบบจ้างเหมาส่วนหนึ่ง
หลังจากที่กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงก็ทำให้ มีการเปิดเผยข้อมูลตามมาถึงเรื่องของค่าตอบแทนและสวัสดิการ ที่โดยเฉลี่ยแล้ว เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จะได้เงินเดือนอยู่เฉลี่ย 6,900 – 9,000 พร้อมค่าเสี่ยงภัย 1,500 บาทต่อครั้งเมื่อต้องออกลาดตระเวน
นอกจากนี้ สวัสดิการการรักษาพยาบาลก็มีอย่างจำกัด เนื่องจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าส่วนใหญ่ไม่ได้บรรจุเข้าเป็นข้าราชการแต่ถูกจ้างเป็นพนักงานราชการตามสัญญาจ้างทำให้ไม่มีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเหมือนข้าราชการทั่วไป และ มีเพียงสิทธิบัตรทองดั่งที่ประชาชนทุกคนพึงมีอยู่แล้ว
หน้าที่และความรับผิดชอบ
สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าแล้วหน้าที่หลักและถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือการปกป้องผืนป่าโดย เหล่าผู้พิทักษ์ป่า จะเดินลาดตระเวนและเพื่อหาร่องรอยของผู้กระทำความผิด จึงเป็นวิธีป้องกัน และเฝ้าระวังไม่ให้ทรัพยากรของชาติถูกทำลายลงอย่างผิดกฎหมาย
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 8-10 คน จะออกลาดตระเวนเดือนละ 4 ครั้ง ครั้งละ 3 ถึง 4 คืน แม้การออกลาดตระเวนจะมีค่าเสี่ยงภัยตอบแทนครั้งละ 1,500 บาท
นอกจากนี้ทุกครั้งที่ประชาชนอย่างเราๆ เข้าไปในบริเวณเขตป่าสงวน ไม่ว่าจะเป็นการไปสัมผัสธรรมชาติหรือเป็นทีมวิจัยลงพื้นที่เข้าไปเก็บข้อมูล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ายังมีหน้าที่ อำนวยความสะดวก ในการดำเนินการอีกด้วย
ความเสี่ยง
ขณะที่ภารกิจปกป้องทรัพยากรของประเทศ มีความเสี่ยงถึงชีวิตทุกครั้งเมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่ผืนป่าเพื่อเผชิญกับขบวนการผิดกฎหมาย สัตว์ป่าดุร้าย รวมไปถึง โรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ขณะที่เงินเดือนและสวัสดิการอาจจะยังไม่มีศักยภาพมากพอให้เจ้าหน้าที่สามารถป้องกันตัวเองจากภยันตรายได้อย่างเต็มที่
อ้างอิงจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/015/T_0001.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/082/T_0001.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/062/T_0001.PDF
https://taejai.com/th/d/rangersfund2022/
https://news.thaipbs.or.th/content/282231
https://news.thaipbs.or.th/content/317983
Illustration by Krittaporn Tochan