สิ่งใดที่ไม่ดี ควรจะทำ #ให้มันจบในรุ่นเรา แต่สิ่งใดที่มีประโยชน์ต่อชีวิตทั้งมวล โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ อาจต้องมองกลับกันคือ #อย่าให้จบในรุ่นเรา ต้องช่วยกันรักษากันไว้ให้อยู่ต่อเนื่องไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน – หนึ่งในนั้นก็คือพื้นที่ป่าไป จนถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่า
นับแต่มี ‘พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า’ ฉบับแรก เมื่อ 60 ปีก่อน
จำนวน ‘สัตว์ป่าสงวน’ สัตว์ป่าหายากหรือสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด – ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีจำนวนเป็น 19 ชนิด
ปี 2503 – 9 ชนิด แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละมั่ง สมัน เนื้อทราย เลียงผา กวางผา
ปี 2535 – 15 ชนิด (*เพิ่ม 7 ชนิด ถอดออก 1 ชนิด) แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละมั่ง สมัน เลียงผา กวางผา *นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร *นกแต้วแล้วท้องดำ *นกกระเรียน *แมวลายหินอ่อน *สมเสร็จ *เก้งหม้อ *พะยูน (เนื้อทรายถูกถอดออก เพราะมีจำนวนเพิ่มขึ้น)
ปี 2562 – 19 ชนิด (*เพิ่ม 4 ชนิด) นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละมั่ง สมัน เลียงผา กวางผา นกแต้วแล้วท้องดำ นกกระเรียน แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อ พะยูน *วาฬบรูด้า *วาฬโอมูระ *เต่ามะเฟือง *ปลาฉลามวาฬ
ขณะที่ ‘สัตว์ป่าคุ้มครอง’ สัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศหรือจำนวนประชากร ของสัตว์ป่าชนิดนั้นมีแนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ – ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนมีมากถึง 1,302 ชนิด ในปี 2562
ในขณะที่ ‘พื้นที่ป่าไม้’ ของไทย จากการตรวจสอบย้อนหลัง นับแต่ปี พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบัน อาศัยข้อมูลจากจากสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ พบว่า มีสัดส่วนระหว่าง 30-33% ของพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 517,630 ตร.กม.
และพื้นที่ป่าในแต่ละปี มีตัวเลขดังนี้ (มีไม่ครบทุกปี)
- 2543 – 170,110 ตร.กม. (32.86%)
- 2544 ไม่มีข้อมูล
- 2545 ไม่มีข้อมูล
- 2546 ไม่มีข้อมูล
- 2547 – 167,591 ตร.กม. (32.38%)
- 2548 – 161,001 ตร.กม. (31.10%)
- 2549 – 158,653 ตร.กม. (30.65%)
- 2550 ไม่มีข้อมูล
- 2551 ไม่มีข้อมูล
- 2552 – 172,184 ตร.กม. (33.23%)
- 2553 ไม่มีข้อมูล
- 2554 ไม่มีข้อมูล
- 2555 ไม่มีข้อมูล
- 2556 – 163,391 ตร.กม. (31.57%)
- 2557 – 163,657 ตร.กม. (31.62%)
- 2558 – 163,585 ตร.กม. (31.60%)
- 2559 – 163,480 ตร.กม. (31.58%)
- 2560 – 163,450 ตร.กม. (31.58%)
- 2561 – 163,981 ตร.กม. (31.68%)
- 2562 – 163.974 ตร.กม. (31.68%)
[ หมายเหตุ: มีคำอธิบายว่า ‘พื้นที่ป่าไม้’ ได้มาจากการแปลภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชต และดาวเทียม Landsat 8 และให้หมายถึง “พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณที่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นไม้ยืนต้นปกคลุมเป็นผืนต่อเนื่องขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ (0.5 เฮกตาร์) และหมายรวมถึง ทุ่งหญ้าและลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่ปรากฏล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จำแนกได้ว่าเป็นพื้นที่ป่า โดยไม่รวมถึงสวนยูคาลิปตัสหรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่ประเมินได้ว่าผลผลิตหลัก ของการดำเนินการไม่ใช่เนื้อไม้ ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์ม ]
นี่คือสถานการณ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าไม้ในเมืองไทย ที่อาจจะต้องช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้ กระตุ้นให้เห็นความสำคัญ ช่วยกันรักษาไว้ให้มีสืบเนื่องต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานเรา ซึ่งแค่กำลังคนๆ เดียวไม่มีทางทำได้ แต่คนในสังคมจะต้องช่วยกัน