ไม่อยากติดฝีดาษลิงต้องทำไง? เดินใกล้กันจะเป็นไรไหม? ใส่ถุงยางช่วยรึเปล่า?
ขณะที่สถานการณ์ของโรคยังไม่แน่นอน แต่ภัยโรคร้ายก็ดูเหมือนจะเข้าใกล้เรามาทุกที หลังไทยยืนยันผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox รายแรกไม่นาน WHO ก็ออกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ คงต้องรอดูว่าสาธารณสุขบ้านเราจะรับมืออย่างไร จะถึงขั้นประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่
คงไม่ได้นับว่าเป็นเรื่องโชคดี แต่อย่างน้อยโรคฝีดาษลิงก็ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มีบันทึกการพบในคนช่วงปี พ.ศ. 2513 ซึ่งในครั้งนั้นมีรายงานผู้ป่วยมากกว่า 400 คน อัตราการเสียชีวิตราว 10% แต่ครั้งนี้นับแต่ระบุผู้ป่วยคนแรก 6 พ.ค. 2565 เวลาเพียงเดือนเศษตัวเลขก็แตะ 18,095 คนในวันที่ 26 ก.ค.ไปแล้ว
The MATTER รวบรวมให้ดูว่า โรคฝีดาษลิงติดต่อได้อย่างไร และสามารถป้องกันตัวเองได้ยังไงบ้าง
จากที่เคยรู้สึกว่าโรคฝีดาษลิงอาจจะยังไกลตัว แต่ตอนนี้หลายคนอาจจะเริ่มจับตามากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว ด้วยเหตุผลจากการระบาดที่รวดเร็ว และยังมีความเข้าใจต่อโรคน้อยมาก
อีกเหตุผลคือการประกาศลักษณะนี้ จะทำให้ WHO สามารถระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาได้มากขึ้น และทำให้เกิดความร่วมมือระดับนานาชาติในการรักษา แบ่งปันวัคซีน เช่นเดียวกับการออกมาตรการด้านการค้าและการเดินทางโดยเฉพาะการคัดกรองผู้ติดเชื้อที่สนามบินได้
อย่างไรก็ดี ข้อคำถามแรกที่คนเริ่มให้ความสนใจ หนีไม่พ้นเรื่องวิธีการติดต่อ ซึ่งข้อมูลจนถึงตอนนี้ยังคงให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงสัมผัสผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงโดยตรง คล้ายกับการระบาดในช่วงต้นของโรคโควิด-19 ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญเองก็ยังไม่ได้ตัดโอกาสความเป็นไปได้ ของการแพร่กระจายผ่านทางอาการ ที่เราคุ้นชินกันว่า Airborne ออกไป
ติดต่อได้ยังไง
- สัมผัสรอยโรคผู้ป่วยโดยตรง เช่น ผื่น สะเก็ด สารคัดหลั่ง
- สัมผัสสิ่งของที่มีสารคัดหลั่งผู้ป่วย
- สัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม
- จากแม่ไปยังเด็กในครรภ์
- ถูกสัตว์ที่มีเชื้อก่อโรคกัด
- กินเนื้อสัตว์ที่เป็นพาหะโดยไม่ปรุงให้สุก
*ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ นับตั้งแต่เริ่มปรากฏตุ่มขึ้น สิ้นสุดเมื่อตกสะเก็ดจนหมด ใช้เวลา 2-4 สัปดาห์*
เมื่อข้อมูลในตอนนี้ส่วนใหญ่ ชี้ไปที่การสัมผัสว่าเป็นช่องทางการติดเชื้อสำคัญ คำถามที่ตามมา คือ ‘เพศสัมพันธ์นำไปสู่การติดเชื้อได้หรือไม่’ และคำตอบยังคงเป็นเช่นเดิมว่า ‘ยังไม่มีข้อมูล’ ว่าโรคฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายผ่านน้ำอสุจิ หรือของเหลวในช่องคลอดได้หรือไม่
เพียงแต่ต้องยอมรับว่า หากใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวแล้ว ลักษณะของการสัมผัสระหว่างมีเพศสัมพันธ์ มีโอกาสทำให้คู่นอนติดเชื้อตามไปได้ ทั้งกอด นวด จูบ รวมถึงการใช้เวลาอยู่ด้วยกันเป็นเวลานาน
วิธีป้องกัน
- เลี่ยงสัมผัสสารคัดหลั่งผู้ป่วย สัตว์ติดเชื้อ
- เลี่ยงกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
- สังเกตอาการตนเอง หลังกลับจากประเทศเขตติดโรค
ที่ผ่านมา โรคฝีดาษนับเป็นหนึ่งโรคที่เคยถูกประกาศว่าหมดไปจากโลกแล้ว ส่งผลให้การศึกษาและวิจัยไม่เป็นที่สนใจ และการระบาดของฝีดาษลิงที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นในวงจำกัดต่างกับครั้งนี้มาก จึงจำเป็นที่ต้องคอยจับตาและอัพเดทข้อมูลกันต่อไป
อ้างอิงจาก