เป็นข่าวใหญ่ในสังคมขึ้นมา หลังตำรวจไซเบอร์เข้าจับกุม ไข่เน่า และแฟนหนุ่ม จากการทำคอนเทนต์ 18+ ในแพลตฟอร์ม OnlyFans ซึ่งภายหลังนอกจากเรื่องคดีต่างๆ แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐยังออกมาพูดถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เป็นการทำ ‘ขัดศีลธรรมอันดีงาม’ จนเกิดการถกเถียงว่า ศีลธรรมคืออะไร คำที่นามธรรมนี้ จะถูกตีความหมายได้อย่างไร และใครเป็นคนกำหนดความหมายกันแน่
แต่เคสนี้ ไม่ใช่เคสแรกที่เกิดขึ้น แล้วมีการยกคำว่าศีลธรรมอันดีงามมาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งเหตุการณ์ และคดีที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐห้าม สั่งแบน มองว่าผิดกฎหมาย และถูกดำเนินคดี โดยการอ้างถึงศีลธรรมด้วย The MATTER รวบรวมเคสบางส่วนที่เกิดขึ้นมาให้ดูว่า อะไรบ้างที่เคยถูกรัฐมองว่าผิดศีลธรรม
น้องไข่เน่า กับการทำคอนเทนต์ 18+ ใน OnlyFans
เหตุการณ์ล่าสุด กับคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ บุกจับกุม ‘ไข่เน่า’ และแฟนหนุ่ม ซึ่งเป็นคู่รักที่ทำแอคเคาท์ และคอนเทนต์ 18+ ในแพลตฟอร์ม OnlyFans ด้วยข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาร่วมกันทำผลิต มีไว้ หรือนำเข้าหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือทำให้แพร่หลายโดยประการใดๆ อันลามก เพื่อความประสงค์แห่งการค้าเพื่อแจกจ่าย หรือเพื่อการแสดงแก่ประชาชน มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยทั้งคู่ได้ปฏิเสธในข้อหานี้
แม้ว่าคดีของไข่เน่า จะไม่ได้ระบุถึงว่าเป็นการกระทำที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่หลังการจับกุม ภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ก็ได้เปิดเผยถึงคดีนี้ว่า เนื่องจากน้องไข่เน่าได้โพสต์ในลักษณะเชิญชวน ซึ่งกระทบต่อสังคมศีลธรรมอันดี
เช่นเดียวกับทาง พล.ต.ท. กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ที่ให้สัมภาษณ์หลังสอบปากคำว่า ไม่สามารถปล่อยผ่านกรณีนี้ได้ เพื่อจรรโลงความถูกต้องในศีลธรรมอันดีของประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่อเยาวชนที่จะเติบโตมาด้วย
อ้่านสรุปคดีของไข่เน่า และ OnlyFans ได้ที่ thematter.co
Sex toy ผิดกฎหมาย โรงงานถูกทยาย เพจขายถูกจับ
ไม่เพียงแค่คอนเทนต์ 18+ ที่ถูกมองว่ากระทบต่อศีลธรรมอันดีงาม แต่อุปกรณ์อย่าง Sex toy ในประเทศไทย ยังถูกจัดว่าเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย เข้าข่ายลามก อนาจาร ‘เป็นอันตรายต่อสังคมและศีลธรรม’ โดยกรมศุลกากรห้ามนำเข้า Sex toy หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เพราะเป็นวัตถุหรือสื่อลามก มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งในปีที่ผ่านมานี้ ก็มีหลายคดีที่เจ้าหน้าที่ได้กวาดจับผู้ขาย Sex toy เช่น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2564 ที่กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล บุกจับชาวจีนที่บ้านพัก และค้นโกดัง ซึ่งพบของกลาง Sex toy มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท ที่มีสำหรับจำหน่ายทางออนไลน์ด้วย หรือเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 ที่ได้จับกุมชายวัย 28 ปี เจ้าของร้านขาย Sex toy ออนไลน์ และพบของกลาง Sex toy กว่า 169 ชิ้น หลังมีผู้บริโภคซื้อสินค้ามา และได้เตือนภัยของคุณภาพของสินค้า
โดยคดีนี้ยังสะท้อนว่า การทำให้ยังเป็นของผิดกฎหมายนั้น ทำให้ไม่มีการควบคุมคุณภาพ และการลับลอบขาย ทำให้สินค้าไม่ได้รับการตรวจสอบ ท่ามกลางกระแสที่ นักการเมืองหลายคนได้ประกาศว่าต้องการผลักดันให้ Sex toy เป็นสินค้าถูกกฎหมาย แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในประเด็นนี้แต่อย่างใด
วิจารณ์เรื่องวัคซีนของธนาธร
พูดถึงวัคซีน ก็เป็นเรื่องขัดต่อศีลธรรมได้เช่นกัน กับคดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลว่าล่าช้า และกเป็นการแทงม้าตัวเดียว จากการเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดวัคซีน และผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยภายหลังธนาธรได้ถูกแจ้งข้อหา ม.112 และ พรบ.คอมพิวเตอร์จากการไลฟ์ในประเด็นนี้
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของธนาธร มีการระบุว่า เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงชี้ว่า “เป็นการกระทำที่จาบจ้วงล่วงเกิน ใช้ถ้อยคำอันเป็นการเหยียบย่ำหัวใจพสกนิกรชาวไ ทยทั้งประเทศ ด้วยการใส่ร้ายดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อย่างไร้ซึ่งความเคารพเทิดทูน…การใช้สิทธิและเสรีภาพของนายธนาธรฯ เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะหน้าที่ของพลเมืองต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ไม่ให้ตั้งชื่อพรรค ‘เกรียน’
ไม่เพียงแค่เรื่องเพศ แต่การตั้งชื่อพรรค ก็เคยถูกชี้ว่าจัดต่อศีลธรรมมาแล้วเช่นกัน กับกรณีที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้ไปแจ้งกับ กกต.เพื่อขอจัดตั้งพรรคเกรียน แต่ถูก กกต.ตอบกลับว่าชื่อพรรคไม่ผ่าน โดยในหนังสือ แจ้งการจัดตั้งพรรค ระบุว่า ชื่อพรรคเกรียนอาจก่อให้เกิดในความหมายอันไม่มีความเหมาะสมและจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 18 ประกอบกับ มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
ภายหลัง สมบัติก็ได้ยื่นฟ้องนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อศาลปกครอง กรณีปฏิเสธการขอจดแจ้งชื่อพรรคเกรียน แต่ก็ถูกศาลยกฟ้องโดยศาลฯ เห็นว่า คำว่า “เกรียน” ตามพจนานุกรม เป็นศัพท์สแลงที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน ไร้เหตุผล หรือคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของสังคม ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว วิญญูชนทั่วไปเมื่อได้ยินคำว่า “เกรียน” ย่อมสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นศัพท์สแลงที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมดังกล่าว อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับธรรมเนียมประเพณีของไทย
บล็อกประกาศคณะราษฏรในเว็บนิติราษฎร์
ไม่ใช่แค่เนื้อหาใน OnlyFans แต่เนื้อหาในเว็บนิติราษฎร์ ก็เคยโดยบล็อก หรือปิดกั้นเนื้อหามาแล้ว ในปี 2555 เมื่อพบหน้าประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งอยู่ในหมวดเอกสารประวัติศาสตร์ ถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายราย โดยกระทรวง ICT ในขณะนั้น โดยทางกระทรวงได้แจ้งกับสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ว่า เป็นการสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการเผยแพร่ หน้า URL “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” และปิดกั้นตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ซึ่งในมาตรานี้ระบุว่า “ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่กำหนดไว้ในภาคสอง ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้”
แบนหนัง Insect in the Backyard
เรื่องเพศในวงการภาพยนตร์ ก็เคยถูกแบนด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน ในปี 2553 ที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พิจารณาไม่ผ่านและไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง Insects in the Backyard หรือแมลงรักในสวนหลังบ้าน ซึ่งกำกับการแสดง โดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ โดยให้เหตุผลว่า เนื้อหาภาพยนตร์ขัดต่อมาตรา 29 ในพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มีเนื้อหา ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ หรืออาจจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย เช่น บางฉากมีภาพลามกอนาจาร เป็นต้น
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ มีการเล่าเรื่องความรักของคนเพศเดียวกัน ฉากร่วมเพศ และอาชีพโสเภณี ซึ่งหลังถูกแบน ธัญญ์วารินได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองในเดือนมีนาคม 2554 แต่คดีไม่คืบหน้าอยู่หลายปี ก่อนที่ในเดือนธันวาคม ปี 2558 ศาลปกครองจะอ่านคำตัดสิน พิจารณาว่าหากตัดฉากร่วมเพศที่เห็นอวัยวะเพศออก ก็จะสามารถฉายได้ในเรต 20+ ทำให้ต่อมาหนังเรื่องนี้สามารถเข้าโรงฉายได้ในปี 2560
อ้างอิงจาก