เหตุการณ์ต่างๆ ที่ ‘กองทัพ’ มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น คืบหน้าแค่ไหนบ้าง?
เมื่อผ่านพ้นเข้าสู่ช่วงเดือนต่างๆ ในแต่ละปี ประเทศไทยมีกิจกรรมมากมายเพื่อให้ผู้คน ‘รำลึก’ ถึงเหตุการณ์ที่ไม่น่าจดจำ ทว่าก็ยังคงลืมไม่ลง ตั้งแต่ความรุนแรงที่สร้างความสูญเสีย ก่อรัฐประหาร ไปจนถึงการเกิดขึ้นของภาพมีมบนอินเตอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพการ ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ในสังคมไทยที่มีกองทัพเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งนั่นยิ่งสร้างช่องว่างของสังคมไทยให้กว้างขึ้นยิ่งกว่าเดิม
การลอยนวลพ้นผิด (Impunity) หรือที่เรียกว่า อภิสิทธิ์ปลอดความผิด — การยกเว้นการรับโทษ ประหนึ่งผู้ที่มีอำนาจ ใช้อำนาจของพวกเขาในการสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ที่กระทำผิด
ซึ่งการลอยนวลพ้นผิดที่เราจะพูดถึงในที่นี้ คือสิ่งที่อธิบายการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชน ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) เขียนไว้ใน In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand ว่า ‘ตั้งแต่ปี 2475 รัฐไทยใช้อำนาจปราบปรามความเห็นต่างทางการเมืองด้วยการกักขัง ทรมาน สังหาร และอุ้มหาย ทว่าการเอาผิดผู้กระทำกลับกลายเป็นความล้มเหลวที่เรื้อรัง’ นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครั้งพฤติกรรมความรุนแรงและการลอยนวลพ้นผิดเหล่านี้กลายเป็นที่ยอมรับกันได้ด้วยทัศนคติที่ว่า ‘โลกมันก็เป็นเช่นนี้’
เราจะพามาย้อนดูเหตุการณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่การมีส่วนของ ‘กองทัพ’ ได้สร้างความเจ็บปวด และเกิดเป็นคำถามกับประชาชน ซึ่งจนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับความรับผิดชอบ หรือการแสดงข้อเท็จจริง
6 ตุลาฯ
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทย โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาร่วมมือกันสังหารหมู่นักศึกษา ประชาชนอย่างโหดเหี้ยม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 ราย และบาดเจ็บ 145 ราย
การสังหารหมู่ในครั้งนี้ กลายเป็นข่าวที่แพร่ไปทั่วทั้งโลก แต่กลับไม่มีผู้ก่อเหตุคนใดได้รับโทษแม้แต่คนเดียว กลับกันที่กลุ่มผู้ชุมนุมนักศึกษาและประชาชนนับ 3,000 คน ถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันดังกล่าว
ซึ่งรัฐบาลในเวลานั้น เสนีย์ ปราโมช ยืนยันว่าไม่ได้สั่งการและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ทว่าได้มีคำสั่งให้จับกุมตัวนักศึกษาที่ทำการแสดงละครแขวนคอ (4 ตุลาคม) เท่านั้น ไม่ได้สั่งให้ยิงนักศึกษา โดยในเวลาต่อมา พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้นได้ประกาศยึดอำนาจ และประณามนักการเมืองรวมถึงความ ‘ไร้ประสิทธิภาพของระบบประชาธิปไตย’
หลังจากมติของคณะปฏิวัติก็ได้นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทั้งหมด ทำให้นักศึกษากว่า 3,000 คนพ้นจากคดี เช่นเดียวกับ ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทั้งหมดหมดความกังวลว่าจะต้องรับโทษในภายหลัง
ตากใบ
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เกิดเหตุการณ์จลาจลที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยเหตุเริ่มต้นจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งเป็นชาวบ้าน 6 รายที่เข้าแจ้งความว่าปืนของพวกเขาหายไป แต่ตำรวจกลับสรุปคดีว่า ชรบ.ได้มอบปืนให้กับสมาชิกผู้ก่อความรุนแรง และได้จับกุมชรบ.
ในวันนั้นเอง ประชาชนกว่า 2,000 คนจึงได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยที่ผู้ชุมนุมทั้งหมดปราศจากอาวุธ มีเพียงเสียงแห่งความโกรธที่ตะโกนใส่เจ้าหน้าที่เท่านั้น
ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตา และใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง รวมถึงกระสุนจริง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7 รายในที่เกิดเหตุและบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุม 1,370 คนและบังคับให้ทำท่ามือไพล่หลัง นอนคว่ำทับซ้อนกัน 4-5 ชั้น ด้านหลังรถบรรทุกทหาร เพื่อเคลื่อนย้ายไปควบคุมตัวในค่ายทหารที่อยู่ห่างไปราว 150 กม. การขนย้ายในครั้งนี้ ทำให้ผู้ชุมนุมหลายรายขาดอากาศหายใจ ประกอบกับช่วงเวลานั้นพวกเขากำลังอยู่ในช่วงถือศีลอด ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 ราย
ซึ่งหลังจากที่มีการสอบข้อเท็จจริงจากรัฐ (ในเวลานั้นนำโดย ทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย) โดยได้ข้อสรุปว่า วิธีการที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผนและวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล ทว่าจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่คนเดียวที่ได้รับโทษ และคดีดังกล่าวก็ถูกหยิบขึ้นมาฟ้องร้องในศาลโดยชาวบ้านและครอบครัวของผู้เสียชีวิต
พฤษภาทมิฬ
“… ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ถึงสาเหตุของความจำเป็นที่ต้องผิดคำพูด และนำไปสู่การประท้วงขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ จนเกิดเป็น ‘พฤษภาทมิฬ’
ค่ำคืนหนึ่งในกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2535 ที่ถนนราชดำเนิน กองกำลังทหารและตำรวจหลายพันนายเข้าสลายการชุมนุม พร้อมรถถังและเกราะกันกระสุน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมถึงสูญหายเป็นจำนวนมาก
หลังจากผ่านเหตุการณ์สลายการชุมนุมในครั้งนี้ได้ 4 วัน พล.อ.สุจินดา เจ้าของฉายา ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และเกิดการเลือกตั้งใหม่ในเวลาต่อมา โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดได้รับโทษ เนื่องจากมีพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 – 21 พฤษภาคม 2535 ทำให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันนั้นพ้นจากความผิดทั้งหมด
จีที 200
กรณีของ ‘จีที 200’ เป็นอุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิดจากอังกฤษ ที่มีความสามารถสุดมหัศจรรย์ที่หลายหน่วยงานในไทยเช่น กองทัพเรือ กองทัพบก สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสำงานตำรวจแห่งชาตินำเข้ามาใช้งานในประเทศในปี 2548 ซึ่งมีมูลค่า 1,134 ล้านบาท
ด้วยราคาที่สูงลิ่วจนทำให้คนไทยเกิดความสงสัยถึงประสิทธิภาพของมัน เพราะทุกฟังก์ชั่นของมันดูมหัศจรรย์ไปหมด จนไม่รู้เลยว่าวิธีการทำงานของมันคือยังไง จนเกิดเป็นความกังวลหากทหารชั้นผู้น้อยที่ต้องใช้งานเครื่องมือดังกล่าวในการตรวจจับระเบิด แต่หากมันทำงานได้ไม่ดี หรือไม่ทำงาน อาจทำให้ทหารถึงแก่ชีวิตได้
ภาพความกังวลได้ปรากฏเป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2552 เกิดเหตุระเบิดที่จังหวัดนราธิวาส แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะใช้เครื่องจีที 200 ตรวจสอบวัตถุระเบิดอย่างละเอียดแล้วก็ตาม กระทั่งเกิดเหตุการณ์ระเบิดอีกครั้งในวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ที่จังหวัดยะลา แม้ว่าจะใช้เครื่องจีที 200 ตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้ได้พิสูจน์ว่า เครื่องมือดังกล่าวนั้นไม่มีประสิทธิภาพ
ความจริงปรากฏในปี 2556 เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้สั่งจำคุกเจ้าของบริษัทที่ผลิตจีที 200 ข้อหาต้มตุ๋น และทำให้ประเทศไทยกระจ่างว่าเครื่องมือตรวจระเบิดที่ซื้อมานั้นเป็นของปลอมและจึงเกิดเป็นวลี ‘ค่าโง่’ ขึ้นมาพร้อมกับการไล่บี้หาคนผิดในการจัดซื้อ
คดีนี้ มีรายงานว่า ศาลคคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ได้ตัดสินจำคุก อดีตผู้ว่าฯ จังหวัดยะลาและปัตตานี จากคดีการจัดซื้อ GT-200 ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 11 คนถูกจำคุกตั้งแต่ 8 เดือน ถึง 4 ปี 8 เดือน ขณะที่คดีที่หมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ถูก ป.ป.ช.ยื่นฟ้องนั้น ศาลตัดสินใจเวลาต่อมาให้ยกฟ้อง
สลายการชุมนุมเสื้อแดง
การชุมนุมของคนเสื้อแดง นปช. เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งเหตุการณ์ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งวันที่ 19 พฤกษภาคม 2553 ที่มีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง
ล้อมปราบ-ล้อมยิง-ซุ่มยิงด้วยสไนเปอร์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเหล่าผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชน มีรายงานข่าวการกราดยิงประชาชนและการ์ด นปช. ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม ขณะที่มีผู้ชุมนุมบางส่วนหลบหนีเข้าไปในวัดปทุมวนาราม (สถานที่ที่ได้รับการประกาศว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย) ทว่าหลังจากนั้นมีรายงานว่ามีการสังหารประชาชนที่หนีเข้าไปหลบภัยในวัดจำนวน 6 ราย
จากเหตุการณ์นี้ มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 94 ราย และบาดเจ็บอีกนับพันราย ซึ่งแม้จะผ่านระยะเวลาไปแล้วเกิน 10 ปี แต่ยังไม่มีการสะสาง ‘ความผิด’ กันอย่างจริงจัง และมีคำถามถึงผู้ก่อเหตุที่ยังคงลอยนวล ทิ้งไว้เพียงบาดแผลในใจของใครหลายๆ คน
คสช. ก่อรัฐประหาร
เมื่อวันที่ 22 พฤกษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก่อรัฐประหารและยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งรักษาการแทน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกฯ
การรัฐประหารดังกล่าวนับเป็นครั้งที่ 13 ของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งและการยึดอำนาจ โดยสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์พูดในเวลานั้นและกลายเป็นวรรคทองคือ “หากเป็นแบบนี้ผมขอยึดอำนาจ”
การรัฐประหารดำเนินต่อไปจนกระทั่งในปี 2562 ที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังผ่านไป 5 ปี และพล.อ.ประยุทธ์ได้ก้าวเข้าสู่วงการการเมือง ในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่เต็มตัว จนกระทั่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ภายใต้พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถือเป็นการปิดฉากตำแหน่งหัวหน้าคสช. โดยที่ไม่มีใครพูดถึงโทษที่ พล.อ.ประยุทธ์สมควรได้รับจากการทำรัฐประหาร
‘นาฬิกา’ ยืมเพื่อน
ช่วงปลายปี 2560 ได้มีถ่ายภาพชุด ‘ครม.ประยุทธ์ 3’ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในเวลานั้น พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ที่อยู่ในครม. ชุดนี้ด้วยได้ยกมือขึ้นมาบังแดด ทำให้ ‘นาฬิกา’ บนข้อมือโผล่ออกมาสู่สายตาประชาชน และแน่นอนว่าภาพนี้ถูกเผยแพร่ต่อกันไปเป็น ‘มีม’ ดังจนถึงปัจจุบันด้วยเช่นกัน
นาฬิกาเรือนนั้นคือ ริชาร์ด มิลล์ (Richard Mille) รุ่น RM 029 ที่มีราคาเรือนละ 3.6 ล้านบาท ทว่าสิ่งนี้ไม่ได้มีอยู่ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินกับป.ป.ช.กรณีการเข้ารับตำแหน่งในปี 2557 จึงทำให้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะบิ๊กป้อมดันบอกว่านาฬิกาเรือนนี้เป็นของหนึ่งในเพื่อนรัก ‘เซนต์ คาเบรียล คอนเนคชั่น’ ที่ตนที่ยืมมาใส่
จากนั้นสื่ออีกหลายเจ้าได้เริ่มขุดคุ้ยเพิ่มเติมเกี่ยวกับทรัพย์สินของบิ๊กป้อมจนได้รู้ว่า บิ๊กป้อมมีนาฬิกาหรูอีก 20 กว่าเรือนที่ใส่ในช่วงรับตำแหน่งรอบนายกฯ ในปี 2557-2560 และไม่มีปรากฏในบัญชีทรัพย์สินเช่นกัน
สิ่งนี้ทำให้คนไทยตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานของ ป.ป.ช. และขอให้เร่งตรวจสอบทรัพย์สินบิ๊กป้อม เนื่องจากมีพฤติการณ์จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือไม่ แต่จนแล้วจนรอด ศาลก็มีคำสั่งปรับเงิน ป.ป.ช. ที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลสำนวนคดีนี้เสียที
ตำนานนาฬิกายืมเพื่อนก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่าแท้จริงแล้ว ทรัพย์สินของบิ๊กป้อมจริงๆ มีเท่าไหร่ และนาฬิกาหรู 20 เรือนนี้เป็นของใครกันแน่
เรือหลวงสุโขทัย
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 เกิดเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 24 ราย และสูญหาย 5 ราย ขณะที่มีผู้รอดชีวิต 70 ราย โดยบทสรุปในการอัปปางชี้ว่า เรือมีรอยรั่วหลายจุด, สภาพคลื่นลมที่มีความรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน รวมถึงเรือหลวงสุโขทัยที่มีอายุการใช้งานกว่า 30 ปี และเกิดความเสียหายในตำแหน่งที่ทำให้น้ำเข้าสู่ห้องเรือ
กองทัพเรือได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว และสรุปได้ว่าเรืออัปปางไม่ได้เกิดจากการจงใจของผู้บังคับการ และลูกเรือ แต่เพราะสภาพอากาศที่รุนแรงและน้ำทะเลที่เข้าสู่ตัวเรือทำให้เรือเอียงและจมลง โดยกองทัพเรือได้สรุปผลคือ ลงโทษผู้บังคับการเรือหลวง ณ ขณะนั้น โดยให้ลงโทษเป็น ‘กัก’ เป็นเวลา 15 วัน
หลายการกระทำที่รุนแรง ขุ่นมัว และยังไม่ได้รับการเปิดเผยข้อเท็จจริง กลายเป็นเหมือนหนึ่งวัฒนธรรมของสังคมไทย นอกจากนี้ การลอยนวลพ้นผิดนั้น ยังคงสร้างผลร้ายต่อทั้งสังคมและดันให้อำนาจรัฐไปคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันได้เชื่อมโยงกับทุกสิ่งอย่างของเรา ไม่ว่าจะความเหลื่อมล้ำ สถานะทางเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของเราในทุกๆ วัน
อ้างอิงจาก
In Plain Sight Impunity and Human Rights in Thailand — Tyrell Haberkorn
Graphic Designer: Manita Boonyong