นับครั้งไม่ถ้วนที่เมื่อเกิดความสูญเสียจากโศกนาฏกรรม ผู้คนล้วนถามหากฎหมายบังคับเป็นลำดับต้น และบ่อยครั้งผลที่ออกมาพบว่า ‘ไม่ใช่ไม่มี’ แต่การตรวจสอบ และกำกับดูแลดูจะจริงจังไม่มากพอ เช่นเดียวกับกรณีโกดังดอกไม้เพลิงระเบิดที่เพิ่งเกิดขึ้น
ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 กำหนดให้พลุ ดอกไม้ไฟ หรือ ดอกไม้เพลิง เป็นวัตถุอันตราย ตามคำจำกัดความที่บอกว่าครอบคลุมวัตถุไวไฟ และวัตถุระเบิด
ทำให้ในการกำกับดูแลการผลิต การค้า และการครอบครอง จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยควบคุมยุทธภัณฑ์ ว่าด้วยกระสุนปืน ว่าด้วยโรงงาน เป็นต้น เป็นที่มาของประกาศกระทรวง ที่ระบุถึงหลักเกณฑ์ข้อบังคับที่น่าสนใจหลายประการ
The MATTER จึงถือโอกาสชวนดูกรณีเหตุโกดังพลุระเบิดที่เคยเกิดขึ้น ว่าถูกตั้งข้อสังเกตถึงการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับในประเด็นใดบ้าง
ประการแรกที่ต้องทำความเข้าใจ คือขอบข่ายของคำว่า ‘ดอกไม้เพลิง’ ตามกฎหมาย ที่ครอบคลุมวัสดุที่เมื่อเผาไหม้แล้วทำก่อให้เกิดแสง เสียง เช่น พลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และอื่นๆ ที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน ซึ่งมีดินปืนเป็นส่วนประกอบหลักสถานประกอบการ หรือโรงงานผลิตจึงต้องได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และ ‘สอดคล้อง’ กับการดำเนินกิจกรรมจริง
พูดให้ง่ายๆ การขออนุญาตเปิดโกดังเก็บพลุกับก่อตั้งโรงงานผลิตพลุ มีข้อกำหนดที่ต้องทำตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ต่างกันลิบลับ เลยไม่ใช่ว่านึกขยับขยายจากสถานที่เก็บและขาย มาเป็นผลิตเพื่อจัดจำหน่ายได้ตามอำเภอใจ
ยกตัวอย่างผู้ค้า ก็มีหลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับดูแลการค้าดอกไม้เพลิง เช่น
- ห้ามเก็บสะสมดอกไม้เพลิงที่มีน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิด เกินกว่า 50 กิโลกรัม (ไม่รวมวัสดุห่อหุ้ม)
- ต้องมีแผ่นป้ายหรือสัญลักษณ์ ‘ห้ามสูบบุหรี่’ และแผ่นป้ายคำเตือนถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟ หรือความร้อน
- ห้ามทำกิจกรรมใดๆ ที่อาจทำให้เกิดประกายไฟ หรือความร้อน เช่น การปรุงอาหาร จุดธูปเทียน การเจาะ การเชื่อม และการประสานโลหะหรือสิ่งอื่นใด เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์จำนวนหนึ่งเจาะจงสถานที่เก็บรักษา เลยทำให้ใครที่จะครอบครองดอกไม้เพลิงหรือวัตถุดิบที่ใช้ผลิต จำเป็นต้องเตรียม ‘อาคาร’ ให้มีลักษณะ เช่น
- ไม่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนที่มีคนอยู่อาศัย หรือใกล้สาธารณสถาน ทั้งโรงเรียน วัด โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ เป็นต้น
- ตั้งห่างจากชุมชนตามกำหนด มีตั้งแต่ 30-360 เมตร (ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ถือครองโปรตัสเซียมคลอเรท)
- ต้องเป็นอาคารเอกเทศ ชั้นเดียว ไม่มีห้องใต้ดินหรือชั้นลอย
- ก่อสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ เช่น คอนกรีต อิฐ หลังคาระบายความร้อน
- ห้ามมีการพักอาศัยในสถานที่เก็บรักษาดอกไม้เพลิงโดยเด็ดขาด
- จัดหาเครื่องดับเพลิงชนิดผงแห้ง ขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 5 กิโลกรัม อย่างน้อย 2 เครื่องต่อพื้นที่ 100 ตารางเมตร
มาถึงตอนนี้หลายคนคงเริ่มปะติดปะต่อข้อบังคับที่กล่าวมาข้างต้น กับเหตุการณ์โกดังดอกไม้ไฟระเบิดตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน ซึ่งมีการรายงานตามสื่อหลายสำนัก และยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เช่น
25 ธันวาคม 2556
ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
ครั้งนั้นเป็นเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นใน ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเป็นบ้านชั้นเดียวและถูกดัดแปลงเป็นแหล่งผลิตและโกดังเก็บพลุ บนเนื้อที่รวม 3 ไร่ ทำให้บ้าน โรงงานประกอบพลุ และโกดังเก็บพลุ รวมทั้งสิ้น 6 หลังเสียหาย มีผู้เสียชีวิต 2 คน ทั้งยังมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ไม่มีบ้านเรือนรอบข้างเสียหาย เพราะตั้งอยู่กลางทุ่งหน้า
เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลว่า บ้านหลังที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ผลิตพลุแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน ที่ยังอยู่ระหว่างการขออนุญาตทำพลุ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนั่นไม่ใช่ครั้งแรก บ้านหลังนี้เคยเกิดระเบิดมาแล้ว ในวันที่ 9 มิถุนายน 2555
14 เมษายน 2562
ตำบลดงป่าคำ อำเภอเมือง จังหหวัดพิจิตร
สำหรับจังหวัดพิจิตร เป็นอีกแห่งที่เกิดเหตุคล้ายคลึงทั้งกับโกดังเก็บพลุ และโรงงานผลิตอยู่หลายหน โดยเมื่อ 14 เมษายน 2562 เกิดเหตุโรงเก็บพลุระเบิด บริเวณกลางทุ่งนา หมู่ 7 ตำบลดงป่าคำ จนทำให้โรงเรือนที่ทำด้วยไม้วอดไปทั้งหลัง เสียหายเบื้องต้น 200,000 บาท แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ในตอนนั้นตำรวจตรวจสอบใบอนุญาตการผลิตพลุ และพบว่าใบอนุญาตหมดอายุแล้ว ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการต่อใบอนุญาตที่จะต้องดำเนินการปีต่อปี คาดว่าอากาศที่ร้อนจัดทำให้ดินประสิว และกำมะถันเกิดความร้อน
4 กุมภาพันธ์ 2564
ตำบลหนองหญ้าไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร
อีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพิจิตร คือ เหตุโกดังพลุระเบิด ใน ตำบลหนองหญ้าไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน หนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นลูกชายเจ้าของโรงงาน เพลิงลุกลามไหม้บ้านเรือน เสียหายนับ 10 หลังคาเรือน
ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น ระบุว่า จุดเกิดเหตุเป็นบ้านร้างที่เจ้าของเสียชีวิตไปแล้วเกือบ 2 ปี แต่มีญาติมาใช้เป็นสถานที่ลักลอบทำพลุลูกบอลสำหรับเกษตรกรใช้จุดไล่นก และอาจมีประกายไฟจนทำให้พลุลูกบอลดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณมากเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง
24 กรกฎาคม 2566
ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเด็ด จังหวัดเชียงใหม่
เกิดเหตุระเบิดในพื้นที่ ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเด็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 คน บ้านเรือนประชาชนเสียหายหลายหลัง ซึ่งนั่นไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อ 6-7 ปีก่อน เคยเกิดเหตุมาแล้ว
สำหรับกรณีมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ด้วยช่วงต้นมีการให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกันเรื่องของใบอนุญาตและลักษณะของจุดเกิดเหตุ ซึ่งในใบอนุญาตนั้นระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นใบอนุญาตให้ค้า หรือจำหน่ายดอกไม้เพลิงยกเว้นประทัดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ไม่ใช่ใบอนุญาตเพื่อการผลิต
แต่ทางนายกเทศมนตรี ตำบลสันปูเลย อ้างว่าจุดเกิดเหตุเป็นที่เก็บรักษาหรือจำหน่ายสินค้าประเภทพลุดอกไม้ไฟเท่านั้น โดยยืนยันว่าไม่มีการผลิตหรือมีลักษณะเป็นโรงงานผลิต สวนทางกับชาวบ้านใกล้เคียง รวมถึงคนงานที่ต้องหนีตายในวันนั้น ที่บอกเล่าว่าที่นี่เป็นสถานที่ผลิตพลุดอกไม้ไฟ
29 กรกฎาคม 2566
ตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
เหตุระเบิดโกดังเก็บพลุที่สร้างความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้ ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตแล้ว 12 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คน เกิดขึ้นใน อำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กลางพื้นที่ชุมชน จนส่งผลให้นอกจากบ้านเรือนประชาชนที่เสียหายแล้ว ยังมีหน่วยราชการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล สถานีตำรวจ โรงเรียน รวมถึงรพ.สต.มูโนะ
เบื้องต้นในการตรวจสอบพบว่า มีการเชื่อมเหล็กต่อเติมในโกดังดังกล่าว แล้วเปลวไฟได้กระเด็นไปติดกล่องกระดาษเก็บดอกไม้เพลิง ที่ตั้งกองสุมไว้เป็นกองใหญ่จนเกิดระเบิดขึ้น
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขออกมาอย่างแน่ชัดว่า ปริมาณสารที่ทำให้เกิดระเบิดมีปริมาณเท่าไหร่ถึงทำให้เกิดรัศมีความเสียหายได้ราว 1 กิโลเมตร ทั้งนี้เมื่อเจ้าหน้าที่นำกำลังตรวจสอบบ้านเจ้าของโกดังพลุระเบิด ก็พบประทัด และพลุเพิ่มอีกมากกว่า 200 ลัง
จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปมปัญหาอย่างหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ การขออนุญาตที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินการจริง หากขออนุญาตเพื่อการค้าก็จะมีหลักเกณฑ์ประมาณหนึ่ง ซึ่งเทียบไม่ได้กับการเป็นผู้ผลิตเลย ซึ่งล้วนส่งผลต่อความปลอดภัยทั้งสิ้น
คงต้องติดตามว่า ผลการสืบสวนเหตุโกดังเก็บพลุระเบิดในนราธิวาสครั้งนี้ จะสามารถเปลี่ยนแปลงวงการธุรกิจค้าพลุให้ความเป็นสีเทาอ่อนลงได้แค่ไหน หรือท้ายที่สุดแล้วจะเป็นเพียงหนึ่งบทเรียนที่ถูกจดบันทึก ว่าเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมของบ้านเรากันแน่
อ้างอิงจาก