“ระบอบชั่วร้าย” อาลี คาเมเนอี (Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าว ซึ่งหมายถึงอิสราเอล “จะต้องถูกทำโทษด้วยเงื้อมมือของชายผู้กล้าหาญของเรา เราจะทำให้พวกเขาต้องเสียใจต่ออาชญากรรมนี้ และอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน”
คาเมเนอีกำลังหมายถึงเหตุการณ์ทิ้งระเบิดใส่อาคารทางการทูตของอิหร่านในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งคร่าชีวิตผู้บัญชาการระดับสูงและเจ้าหน้าที่ทหารอย่างน้อย 7 นาย ซึ่งอิหร่านกล่าวหาว่า อิสราเอลคือคนทำ
นั่นจึงเป็นเหตุให้อิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 13 เมษายน โดยการยิงขีปนาวุธและโดรนจากแผ่นดินอิหร่านโดยตรง รวมกันกว่า 300 ครั้ง ประกอบด้วย โดรน 170 ลำ ขีปนาวุธร่อน (cruise missiles) มากกว่า 30 ลูก และขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) มากกว่า 120 ลูก
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน กองทัพอิหร่าน หรือที่เรียกว่า ‘กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม’ (IRGC) ยังได้บุกยึดเรือ MSC Aries สัญชาติโปรตุเกส แต่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท Zodiac Maritime ซึ่งอยู่ภายใต้ Zodiac Group บริษัทแม่ของมหาเศรษฐีอิสราเอล เอยาล โอเฟอร์ (Eyal Ofer) และครอบครัวอีกด้วย
แม้ พล.ร.ต. แดเนียล ฮาการี (Rear Adm. Daniel Hagari) โฆษกกองทัพอิสราเอล จะออกมาเปิดเผยว่า อิสราเอลสามารถสกัดกั้นการโจมตีของอิหร่านได้ถึง 99% แต่ความเคลื่อนไหวของอิหร่านครั้งนี้ ก็ถือเป็นการเปิดฉากความขัดแย้งครั้งใหม่ ที่เป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 ชาติที่มีอิทธิพลในตะวันออกกลางโดยตรง แทนที่จะเป็นการต่อสู้กันผ่านตัวแทน ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาหลายปี ภายใต้ชื่อที่เรียกกันว่า ‘สงครามเงา’ (shadow war)
และล่าสุด อิสราเอลก็เริ่มตอบโต้อิหร่านแล้วในวันนี้ (19 เมษายน) ด้วยการยิงขีปนาวุธเข้าไปในดินแดนอิหร่าน ซึ่งพบว่ามีโดรนของอิสราเอลเหนือเมืองอิสฟาฮาน (Isfahan) ของอิหร่านด้วย
ท่าที่และบทบาทของอิหร่านรอบนี้ ทำให้สถานการณ์สงครามซับซ้อนและทำให้เห็นถึงตัวละครทางการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น คำถามคือใครเป็นใครในสองขั้วขัดแย้งนี้บ้าง? The MATTER สรุปคำตอบไว้ด้านล่างนี้
อิสราเอล-อิหร่าน
เดิมทีอิสราเอลกับอิหร่านเป็นสองชาติที่ถือได้ว่ามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นพอสมควร อิหร่านเองก็เป็นชาติมุสลิมชาติแรกๆ ที่ให้การรองรับความเป็นรัฐของอิสราเอล นับตั้งแต่การก่อตั้งอิสราเอลเมื่อปี 1948 จากนั้น ก็มีความร่วมมือทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร พอสมควร
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเกิดการปฏิวัติอิหร่าน ในปี 1979 ส่งผลให้ระบอบการปกครองถูกเปลี่ยนแปลง กลายเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน โดยมี อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี (Ayatollah Khomeini) ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดในขณะนั้น ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐฯ รวมถึงรัฐยิวอย่างอิสราเอล
ในอิหร่าน ถึงกับมีชื่อเรียกสหรัฐฯ ว่าเป็น ‘ซาตานตัวใหญ่’ (Great Satan) และอิสราเอลเป็น ‘ซาตานตัวเล็ก’ (Little Satan)
นับตั้งแต่การปฏิวัติอิหร่าน ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านก็ถูกตัดขาด กลายเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน โดยมีความขัดแย้งที่สะท้อนให้เห็นได้ผ่านสงครามตัวแทนต่างๆ ซึ่งดำเนินมาหลายปี ผ่านตัวละครต่างๆ ดังนี้
ฮิซบอลเลาะห์
เมื่อปี 1982 อิสราเอลยกกองกำลังเข้าร่วมรบทางตอนใต้ของเลบานอน จึงกลายเป็นจุดแตกหัก เมื่อกองทัพ IRGC ของอิหร่านส่งนายทหารเข้าสู่เลบานอน เพื่อซ้อมรบให้กับกลุ่มทหารชีอะห์ ซึ่งสุดท้ายจะเติบโตกลายเป็นขบวนการติดอาวุธที่เรียกว่า ฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในที่สุด
ฮิซบอลเลาะห์คือตัวอย่างสำคัญของการทำสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ซึ่งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เองก็ปะทะกับอิสราเอลอยู่เรื่อยมา แม้กระทั่งปัจจุบัน ภายหลังอิสราเอลเริ่มปฏิบัติการสงครามในฉนวนกาซา เพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาส นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ปี 2023 ด้วย
ฮามาส
ฮามาส (Hamas) กลุ่มที่ทรงอิทธิพลในฉนวนกาซา ซึ่งกำลังสู้รบกับกองทัพอิสราเอล ณ ขณะนี้ ก็มีรายงานว่าได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านด้วย ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 ระบุว่า อิหร่านให้การสนับสนุนเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ให้กับกลุ่มต่างๆ ในปาเลสไตน์ ซึ่งครอบคลุมถึงฮามาส
ขณะที่ อิสมาอิล ฮานิเยะห์ (Ismail Haniyeh) ผู้นำคนสำคัญของกลุ่มฮามาสเอง ก็เคยเปิดเผยในการสัมภาษณ์ว่า กลุ่มของเขาได้รับการสนับสนุนทางทหารจากอิหร่าน เป็นจำนวนเงิน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ฮูตี
ถัดออกไปในเยเมน กลุ่มฮูตี (Houthi) ซึ่งมีอิทธิพลในการปกครองบางส่วนของเยเมน จากการสู้รบในสงครามกลางเมืองเยเมนซึ่งดำเนินมาถึงทุกวันนี้ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับอิหร่านด้วย มีรายงานว่า ฮูตีได้รับการสนับสนุนทางทหารจากอิหร่านเช่นกัน ซึ่งอาจจะเริ่มต้นเร็วที่สุดในปี 2009 และคาดว่าได้รับอาวุธจากอิหร่านตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา
เมื่อสงครามอิสราเอล-ฮามาสเปิดฉาก ฮูตียังมีส่วนร่วมในการต่อต้านอิสราเอล ด้วยการยิงขีปนาวุธเข้าไปที่เมืองไอลัต (Eilat) เมืองริมชายฝั่งทะเลแดงของอิสราเอล รวมถึงโจมตีเรือขนส่งสินค้าต่างๆ ในทะเลแดง โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับชาวปาเลสไตน์ด้วย
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นการปะทะกันระหว่างอิสราเอล กับอิหร่าน และกลุ่มทางทหารต่างๆ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ในชื่อ ‘Axis of Resistance’ หรือ ‘แกนแห่งการต่อต้าน’ ซึ่งมีอิหร่านเป็นผู้นำ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การลดอิทธิพลของยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และการล่มสลายของรัฐอิสราเอล