“ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ ไม่มีพลังงาน” โยอัฟ กัลลันต์ (Yoav Gallant) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล ประกาศปิดล้อมฉนวนกาซาแบบ ‘เบ็ดเสร็จ’ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา
ฉนวนกาซา (Gaza Strip) ดินแดนส่วนหนึ่งของปาเลสไตน์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิสราเอล กลับมาเป็นที่สนใจของนานาชาติอีกครั้ง หลังฮามาสเปิดฉากโจมตีในดินแดนอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ในปฏิบัติการที่เรียกว่า ‘อัล-อักซอ ฟลัด’ (Operation Al-Aqsa Flood)
พื้นที่แห่งนี้ถูกปกครองโดยฮามาส (Hamas) ในขนาดแค่ 365 ตร.กม. แต่อัดแน่นไปด้วยประชากรกว่า 2.2 ล้านคน ฉนวนกาซาต้องเผชิญกับการปิดล้อม (blockade) ทางน้ำ บก อากาศ โดยอิสราเอลและอียิปต์ เป็นเวลา 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2007 และยกระดับขึ้นด้วยการปิดล้อมเบ็ดเสร็จ (complete siege) โดยอิสราเอล ภายหลังฮามาสเริ่มโจมตีรอบล่าสุด
มีอะไรในฉนวนกาซา? The MATTER พาสำรวจดินแดนปาเลสไตน์แห่งนี้ ผ่านแผนที่ ไปพร้อมๆ กัน
ฉนวนกาซามาจากไหน
ไม่มีฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ ในแผนที่อิสราเอลในอนาคตที่นายกฯ อิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นำมาโชว์บนเวทีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ที่นิวยอร์ก เมื่อไม่นานมานี้ ในวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา
แล้วฉนวนกาซามาจากไหน?
รัฐปาเลสไตน์ประกอบด้วยดินแดน 2 ส่วน คือ เวสต์แบงก์ ซึ่งหมายถึงดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน และฉนวนกาซา ที่ล้อมรอบด้วยอิสราเอลทางเหนือและตะวันออก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันตก และอียิปต์ทางใต้ โดยมีความยาว 41 กม. ส่วนความกว้าง มีแค่ 6-12 กม. ประกอบเป็นพื้นที่ขนาด 365 ตร.กม.
เส้นพรมแดนในปัจจุบันของฉนวนกาซาถูกกำหนดขึ้นในความตกลงสงบศึกระหว่างอียิปต์และอิสราเอล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1949 เพื่อเป็นเขตกันชนระหว่างอียิปต์และอิสราเอล
ความเป็นเขตกันชนที่ว่านี้ก็ทำให้มีการวิเคราะห์ว่า เป็นเหตุให้เราเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘ฉนวน’ ในภาษาไทยด้วย
ฉนวนกาซาภายใต้อิสราเอล
ถ้าว่ากันด้วยประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ก่อนหน้านี้ฉนวนกาซาเคยถูกควบคุมโดยอียิปต์มาก่อน กระทั่งตกมาอยู่ในมือของอิสราเอล หลังชนะสงคราม 6 วัน (Six-Day War) ที่ทำกับประเทศเพื่อนบ้านอาหรับเมื่อปี 1967
อิสราเอลควบคุมฉนวนกาซาต่อมาหลังจากนั้นไปอีก 38 ปี จากข้อมูลทั่วไปที่บันทึกไว้ก็พบว่า ภายในดินแดนนี้ อิสราเอลได้ให้ชาวยิวเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนทั้งหมด 21 แห่งในช่วงเวลาดังกล่าว
ระหว่างนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองของอิสราเอลในฉนวนกาซามาโดยตลอด กระทั่งช่วงทศวรรษ 1990 จึงเริ่มมีความพยายามถ่ายโอนอำนาจมาสู่การปกครองของปาเลสไตน์ อดีตนายกฯ อิสราเอล ยิตซัก ราบิน (Yitzhak Rabin) เคยถึงกับกล่าวว่า
“ผมอยากให้กาซาจมไปกับทะเล แต่มันคงไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น จึงต้องมีการหาทางออก”
ปี 1994 อิสราเอลเริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจบริหารให้กับองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority หรือ PA) ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงออสโล (Oslo Accords)
ต่อมาในปี 2005 อดีตนายกฯ อิสราเอล แอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) ได้ออกคำสั่งผ่านรัฐสภา ให้อิสราเอลถอนตัวออกจากฉนวนกาซาอย่างเป็นทางการ พร้อมส่งทหารจากกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ประมาณ 50,000 นาย ลงในพื้นที่ เพื่อดำเนินการถอนตัวให้แล้วเสร็จ โดยขับไล่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวราว 9,000 คน ออกจากพื้นที่ในฉนวนกาซา
ปกครองโดยฮามาส – แล้วฮามาสคือใคร
ฮามาส เป็นชื่อย่อในภาษาอาหรับ ที่มาจาก ฮะเราะกะฮ์ อัลมุกอวะมะฮ์ อัลอิสลามียะฮ์ (Ḥarakat al-Muqāwamah al-ʾIslāmiyyah) แปลว่า ขบวนการอิสลามเพื่อการต่อต้าน (Islamic Resistance Group) ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ท่ามกลางการลุกฮือต่อต้านการปกครองของอิสราเอล โดยยึดถือแนวทางและค่านิยมแบบอิสลามในการดำเนินการทางการเมือง
ฮามาส ซึ่งมักจะขัดแย้งกับฝ่ายบริหารในเวสต์แบงก์ที่เห็นด้วยกับการเจรจาข้อตกลงออสโล ได้รับชัยชนะเหนือพรรคฟะตะห์ (Fatah) ที่เป็นฝ่ายเดียวกับ PA ในการเลือกตั้งของฉนวนกาซาเมื่อปี 2006 แต่หลังจากนั้นก็ใช้กำลังยึดอำนาจในฉนวนกาซาในปี 2007 ซึ่งจนถึงตอนนี้ ฉนวนกาซาก็ไม่มีการเลือกตั้งอีกเลย ปัจจุบันฮามาสมีผู้นำ คือ อิสมาอิล ฮานิเยะห์ (Ismail Haniyeh)
หลายประเทศในโลกตะวันตกชี้ว่าฮามาสคือ ‘องค์กรก่อการร้าย’ อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร รวมถึงสหภาพยุโรป ขณะที่บางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ก็มองว่า เฉพาะปีกการทหารของฮามาสเท่านั้น ที่จัดว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย
จะว่าไปแล้ว ชาวปาเลสไตน์กับฮามาสก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเนื้อเดียวกันเท่าไรนัก เพิ่งมีผลสำรวจออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ชี้ว่า ชาวปาเลสไตน์ 35% หรือเกือบ 1 ใน 3 มองว่า การแตกหักกันระหว่างฮามาสในฉนวนกาซา กับ PA ในเวสต์แบงก์ ถือว่าเป็น ‘สิ่งที่สร้างความเสียหายมากที่สุด’ ต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ในช่วง 75 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว
16 ปีแห่งการปิดล้อม ทางน้ำ บก อากาศ
ภายหลังจากฮามาสขึ้นสู่อำนาจในฉนวนกาซา อิสราเอล โดยความร่วมมือกับอียิปต์ ก็ได้ประกาศปิดล้อมทางน้ำ บก และอากาศ อย่างถาวร ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา จำกัดการนำเข้าสินค้าเข้าไปในฉนวนกาซา เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อ้างว่า เพื่อป้องกันการนำเข้าอาวุธและวัสดุที่อาจนำไปสร้างเป็นอาวุธ และห้ามพลเรือนเดินทางเข้า-ออก หากไม่ได้รับอนุญาต
เป็น 16 ปีที่ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่
ฝั่งอิสราเอลมองว่า มีไว้เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ของอาวุธ ส่วนชาวปาเลสไตน์ก็มองว่า นี่เป็นการ ‘ลงโทษหมู่’ (collective punishment) ต่อประชากรในฉนวนกาซา ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง Human Rights Watch เรียกการปิดล้อมมาโดยตลอดว่าเป็น ‘คุกกลางแจ้ง’ (open-air prison)
ปัจจุบัน (ก่อนเริ่มสงครามระลอกใหม่) ฉนวนกาซามีจุดผ่านแดนสำหรับเดินทางเข้าออกที่ใช้งานได้ 3 จุด คือ
- จุดผ่านแดน เอเรซ (Erez) หรือ เบอิต ฮานูน (Beit Hanoun) เชื่อมกับอิสราเอลทางตอนเหนือ
- จุดผ่านแดน คาเรม ชาลอม (Karem Shalom) หรือ กอร์ม อะบู ซาเล็ม (Korm Abu Salem) บรเวณพรมแดนอียิปต์-อิสราเอล
- จุดผ่านแดน ราฟาห์ (Rafah) หรือ อัลอาวดา (Al ‘Awda) เชื่อมกับอียิปต์
สภาพความเป็นอยู่ในฉนวนกาซาเป็นอย่างไร
ด้วยประชากรประมาณ 2.2 ล้านคน ในพื้นที่ 365 ตร.กม. ทำให้ Gisha องค์กรสิทธิมนุษยชนในอิสราเอลที่ติดตามสถานการณ์ในฉนวนกาซา เรียกฉนวนกาซาว่าเป็น “สถานที่แห่งหนึ่งที่หนาแน่นที่สุดในโลก”
ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ภายใต้สหภาพยุโรป ชี้ว่า มีประชากรในฉนวนกาซามากกว่า 80% ที่ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือ อันเนื่องจากความขัดแย้งและการจำกัดการเข้าถึง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของฉนวนกาซา
ขณะที่สำนักงานสถิติกลางแห่งปาเลสไตน์ (PCBS) ระบุในข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 2 ของปี 2023 ว่า ในฉนวนกาซา มีประชากร 245,000 คนที่ไม่มีงานทำ คิดเป็น 46.4% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ส่วนการคาดการณ์ในปี 2023 ของธนาคารโลก (World Bank) ชี้ว่า มีประชากรถึง 59.8% ที่อยู่ในภาวะยากจน
ในประชากรทั้งหมดกว่า 2.2 ล้านคน ยูนิเซฟ (UNICEF) ประเมินว่า เป็นเด็กถึงราวๆ 1 ล้านคน หรือก็คือเกือบครึ่งของประชากรทั้งหมด
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 คราวที่ความขัดแย้งทางทหารระหว่างฮามาสกับอิสราเอลปะทุขึ้นอีกครั้ง อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ เคยถึงกับบอกว่า
“ถ้าจะมีนรกบนดิน มันก็คือชีวิตของเด็กๆ ในกาซา”
ส่วนในสงครามระลอกล่าสุด กูแตร์เรสคนเดียวกันก็เผยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมว่า รู้สึก “ทุกข์ใจอย่างยิ่ง” ต่อการประกาศปิดล้อมฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จของอิสราเอล ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดฉากโจมตีของฮามาสในอิสราเอล ที่คร่าชีวิตประชาชนชาวอิสราเอลไปเป็นจำนวนมาก
ขณะที่โลกยังคงจับตาอย่างใจจดใจจ่อ ว่าอนาคตของฉนวนกาซา รวมถึงอนาคตของภูมิภาคตะวันออกกลางโดยรวม จะเดินต่อไปในทิศทางใด