รัฐบาลไม่ทำตามสัญญา หน่วยงานไม่โปร่งใส ไม่ถามความเห็นชาวบ้าน
เป็นอีกครั้ง ที่ชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขึ้นมาประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หลังจากที่เมื่อปลายปี 63 เคยขึ้นมาปักหลัก ยื่นเสนอข้อเรียกร้องกับรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบแผนการจัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่จะทำให้พื้นที่ทำกิน ที่เป็นเกษตรกรรม ต้องเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
แม้ว่าในวันนี้คณะรัฐมนตรี จะมีมติทำตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และยอมชะลอโครงการ แต่เราก็ต้องจับตาต่อไปว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งเรื่องนี้นอกจาก คณะรัฐมนตรี และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นแล้ว ยังมีรัฐมนตรี หน่วยงาน และบริษัทเอกชน ที่ต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ซึ่งใครเกี่ยวข้องยังไง เรื่องราวเป็นอย่างไรบ้าง The MATTER มากางเปิดแผนผัง ให้เห็นทั้งความสัมพันธ์ และตัวละครแล้ว
คณะรัฐมนตรี และบริษัทเอกชน
โครงการนิคมอุตสาหกรรม ได้รับการอนุมัติให้เป็น พื้นที่แห่งที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ในปี 2562 โดยคณะรัฐมนตรี โดยในตอนนั้น ได้มีการนำกิจการของเอกชนอย่าง บริษัท TPIPP และบริษัท IRPC ร่วมลงทุนในโครงการ ซึ่งมีประเมินงบประมาณในการลงทุนไว้ที่ 600,000 ล้านบาท
ขณะที่บริษัท TPIPP นั้น มี ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงความเกี่ยวโยงของประชัย และรัฐบาล เนื่องจากประชัยนั้น เคยซื้อโต๊ะจีน 2 โต๊ะ ในงานจัดระดมทุนพรรคพลังประชารัฐ และบริษัท TPIPP นั้น ยังอยู่ในรายชื่อผู้สนับสนุนพรรคในการจัดกิจกรรมโต๊ะจีนระดมทุนครั้งนั้นด้วย
นักการเมืองในคณะรัฐมนตรีอีกคน ที่ถูกพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้น คือ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เคยถูกประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในโครงการนี้ ซึ่งพรรคก้าวไกลนั้น ได้ระบุว่า ในสมัยที่นิพนธ์ ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ได้มีส่วนในการผลักดันให้เกิดโครงการนี้ รวมถึงยังถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และรวบรวมฉโนดให้กลุ่มทุน โดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็เคยยื่น ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบนิพนธ์ในกรณีนี้ด้วย
สำหรับเรื่องที่ดินนั้น ส.ส.พรรคก้าวไกลยังอภิปรายอีกว่า นิพนธ์ และบริษัท TPIPP มีส่วนเกี่ยวข้องกัน โดยบริษัท TPIPP ได้ซื้อที่ดินจากกลุ่มคนใกล้ชิดนิพนธ์ รวมถึงยังอ้างว่ากรมที่ดินว่า ได้ให้ ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน จ.สงขลา-นครศรีธรรมราช ซึ่งล้วนแต่อยู่ในกำกับดูแลของนิพนธ์ เร่งดำเนินการออกโฉนดที่ดิน เน้นเฉพาะพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งหลายแปลงมีการออกโฉนดทับซ้อนกัน จนเกิดเป็นข้อพิพาท และการฟ้องร้องระหว่างบริษัท TPIPP และชาวบ้านจะนะด้วย
ขณะที่ล่าสุด นิพนธ์เองได้ออกมาประกาศชัดเจนว่า สนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และอ้างว่าคนในพื้นที่ 80-90% เห็นด้วย รวมถึงชี้ว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับโครงการ และสำหรับเรื่องรวบรวมโฉนดที่ดินนั้น นิพนธ์ก็ตอบว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ตามขั้นตอนกฎหมาย และไม่ได้กดดันชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ส่วนด้านของประชัย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่มาเรียกร้องหน้า UN และทำเนียบว่า “การกระทำของอันธพาลกลุ่มนี้ไม่ใช่วิถีของประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของอนาธิปไตยหรืออันธพาลธิปไตย ทั้งยังมีเจตนาบ่อนทำลายความสงบสุขของชาวบ้าน”
ทั้งเขายังอ้างว่าประชาชนชาวจะนะ ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตและท่าเรือน้ำลึกที่จะนะ ในพื้นที่ที่ดินของเจ้าของโครงการ โดยไม่ได้ไปยึดเอาสวนกงมาเป็นท่าเรือน้ำลึก อย่างที่กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นนี้กล่าวหา ทั้งยังมีการทำประชาพิจารณ์ฟังความเห็นชาวจะนะ วันที่ 13 ธันวา ที่ผ่านมาด้วย
หน่วยงานรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย และข้อเรียกร้องจากกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น
สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ และดูแลโครงการนั้น ทางคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการ และก็ได้มีโครงการนำร่องเกิดขึ้นแล้ว โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 63 นั้น ศอ.บต.ได้เปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชน ซึ่งข้อมูลนั้น ต้องไปนำเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน
จนจากการประชุม เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 63 ครม.ก็มีมติให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดสงขลา ดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน ด้วยการเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ตรงนั้นจากสีเขียวเป็นสีม่วง พร้อมอ้างผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จากเวทีที่ ศอ.บต. ซึ่งชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมองว่า เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม เพราะไม่ได้ฟังเสียงประชาชนอย่างโปร่งใส และมีการคุกคามผู้คัดค้านด้วย
สำหรับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ขึ้นมาเรียกร้องในครั้งนี้ มีข้อเรียกร้องเดิมเหมือนปี 63 ได้แก่
- รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมือง และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในทันที เพื่อเป็นการหยุดการสืบทอดความไม่ชอบธรรมที่ส่งต่อมาจากระบอบ คสช.
- รัฐบาลต้องจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้
- จะไม่มีการยุติการชุมนุมจนกว่ารัฐบาลจะทำกระบวนการข้างต้นแล้วเสร็จ
ซึ่งในตอนนั้นมีการเซ็นต์ MOU กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง นายกฯ ประยุทธ์ ก็ออกมาประกาศว่า ตน และ ครม. ไม่ได้ตกลงด้วย ขณะที่ด้านธรรมนัสก็ออกมาบอกว่า หลังจากพ้นจากตำแหน่ง ก็ไม่สามารถสานงานต่อได้ และนายกฯ รวมถึง ครม.เองก็รับรู้ถึง MOU นี้ด้วย เพราะมีการถกเถียงในที่ประชุมมาแล้ว
โดยล่าสุด หลังจากที่จะนะรักษ์ถิ่น ได้ย้ายการตั้งหมู่บ้านจากหน้า UN เดินเท้ามา ปักหลักนอนบริเวณสะพานชมุยมรุเชษ หน้าทำเนียบรัฐบาล และทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น รวมถึงเครือข่ายองค์กรประชาชน 20 องค์กร ได้ยื่นข้อเสนอ ถึงสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จกรณีนิคมจะนะ และมีการค้างคืนเพื่อรอคอยมติคณะรัฐมนตรีต่อนิคมอุตสาหกรรมจะนะในวันนี้
โดยในตอนแรก รองปลัดสำนักนายกฯ ได้ชี้แจงทิศทางมติ ครม.ที่กำลังมีการประชุมว่า รับทราบข้อร้องเรียน มีมติจะชะลอโครงการ แต่จะให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานนั้น เข้าร่วมทำ SEA ด้วย แต่ทางจะนะรักษ์ถิ่นคัดค้านมตินี้ ก่อนที่สุดท้าย ที่ประชุม ครม.มีมติให้รับข้อเสนอของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำ SEA ส่วนการดำเนินงานอื่นๆ ให้ชะลอออกไปก่อน รวมถึงยอมถอด กพต.ออกจากหน่วยงานรับผิดชอบ สศช.เป็นหน่วนงานหลักตามข้อเรียกร้อง
ซึ่งหลังจากนี้ รัฐบาลจะยอมทำตามมติจริงๆ หรือไม่ หรือจะไม่รักษาสัญญาแบบปีที่แล้ว โครงการนี้จะถูกดำเนินการอย่างไรต่อไป เราคงต้องติดตามกัน
อ้างอิงจาก
facebook.com/prachai.leophairatana