“..วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง..”
วันที่ 11 เดือน 11 ปีนี้ นอกจากจะตรงกับวันคนโสด กิมมิกทางการตลาดของเว็บไซต์ซื้อสินค้าออนไลน์สัญชาติจีน ยังตรงกับ ‘วันลอยกระทง’ ประเพณีขอขมาต่อสายน้ำ ที่ยังถกเถียงกันไม่จบว่าเริ่มในยุคใดกันแน่ ระหว่างสุโขทัยหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เชื่อหรือไม่ว่า ความตื่นตัวเรื่อง ‘ขยะกระทง’ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 แล้ว เช่นเดียวกับ keyword รณรงค์ลดขยะ 1 ครอบครัว 1 กลุ่ม 1 กระทง ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551
ทำให้แม้ปริมาณขยะกระทงช่วงสิบปีหลังจะยังอยู่ที่หลายแสนใบ แต่สัดส่วนกระทงที่ใช้โฟมที่ต้องใช้เวลาย่อยสลาย 50 ปี หรือเกือบจะเท่า 1 ชั่วอายุคน ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับการลอยกระทงทางเลือก เช่น ‘กระทงขนมปัง’ มีการพูดกันมาไม่น้อยกว่า 20 ปี แม้จะเริ่มถูกโต้แย้งแล้วว่าอาจทำให้น้ำเสียได้ ส่วน ‘กระทงน้ำแข็ง’ เริ่มคุยกัน 3-4 ปีที่ผ่านมานี่เอง (สำหรับกระทงผิดลิขสิทธิ์ ที่ใช้ช่องโหว่กฎหมาย ล่อให้กระทำผิดและเรียกรับเงิน ก็มีมาให้ได้ยินอยู่เนืองๆ ไม่ใช่แค่เพิ่งเกิดขึ้นปีนี้ ..แต่นั่นมันคนละกระทงหรือเปล่านะ!)
สถิติการจัดเก็บกระทงในกรุงเทพ
- ปี 2553 – รวม 964,838 ใบ เป็นโฟม 12%
- ปี 2554 – รวม 322,779 ใบ เป็นโฟม 18%
- ปี 2555 – รวม 916,354 ใบ เป็นโฟม 14%
- ปี 2556 – รวม 865,415 ใบ เป็นโฟม 13%
- ปี 2557 – รวม 982,064 ใบ เป็นโฟม 10%
- ปี 2558 – รวม 825,614 ใบ เป็นโฟม 9%
- ปี 2559 – รวม 661,935 ใบ เป็นโฟม 7%
- ปี 2560 – รวม 760,019 ใบ เป็นโฟม 7%
- ปี 2561 – รวม 841,327 ใบ เป็นโฟม 5%
- ปี 2562 – รวม … ใบ เป็นโฟม …%
(ที่มาข้อมูล: สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร)
ระยะเวลาย่อยสลาย
- กระทงน้ำแข็ง …ไม่กี่ชั่วโมง
- กระทงขนมปัง …3 วัน
- กระทงใบตอง …14 วัน
- กระทงกระดาษ …2-5 เดือน
- กระทงโฟม …50 ปี
(ที่มาข้อมูลบางส่วน: กรมทรัพยากรน้ำ)
การรณรงค์ลดขยะ/ทางเลือกลอยกระทง
ปี 2535 มติ ครม.ครั้งแรก รณรงค์ลอยกระทงไม่ใช้โฟมหรือวัตถุที่ไม่สลายตัวในการทำกระทง
ปี 2540 เป็นอย่างช้า มีการพูดถึง ‘กระทงใบตอง’
ปี 2542 เป็นอย่างช้า มีการพูดถึง ‘กระทงขนมปัง’
ปี 2551 เริ่มรณรงค์ “1 ครอบครัว 1 กลุ่ม 1 กระทง”
ปี 2558 เริ่มรณรงค์ “เทิดวัฒนธรรมประเพณี สืบทอดวิถีแห่งปวงประชา ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมใจเที่ยวไทย ปลอดภัยวันลอยกระทง”
ปี 2559 เป็นอย่างช้า มีการพูดถึง ‘กระทงน้ำแข็ง’
ปี 2560 เริ่มรณรงค์ “ลอยกระทงปลอดภัย สืบสานวัฒนธรรมไทย ใส่ใจสายน้ำและสิ่งแวดล้อม”
แล้วคุณล่ะจะไปลอยกระทงกันไหม จะลอยกระทงแบบใด จะไปลอยที่ไหน และอยากลอยอะไรไปกับกระทง