จะมีตัวเลือกไหนส่งผลเสียน้อยที่สุดหรือเปล่า?
วนเวียนกันมาอีกครั้งกับเทศกาลลอยกระทง ประเพณีเก่าแก่ที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนของเราออกมาทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบการทำกระทงใส่ดอกไม้และธูปเทียน ก่อนจะออกมาลอยลงสู่แหล่งน้ำใกล้ตัวของเรา ไม่ว่าจะเพื่อขอขมาพระแม่คงคา ขอลอยสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากชีวิตเรา หรืออีกหลากหลายเหตุผลที่อาจวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของทุกๆ ประเพณี
วิวัฒนาการดังกล่าว นอกจากจะหมายถึงในแง่วัฒนธรรมโดยกว้างแล้ว ทว่าเมื่อวิทยาการของโลกเราเปลี่ยนแปลง หรือเทรนด์โลกเปลี่ยนไป วิธีที่ผู้คนมีส่วนร่วมในประเพณีใดก็ตามย่อมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เมื่อเรามีวัสดุที่ผลิตได้สะดวกขึ้น กระทงก็เปลี่ยนแปลงไป แต่หากวัสดุเหล่านั้นเป็นภัยต่อธรรมชาติ ก็มีการรณรงค์ทั้งวิธีใหม่หรือเก่า เพื่อให้การลอยกระทงยังมีที่ทาง และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยต่อไปอย่างไม่เบียดเบียน หรือไม่ทำลายสภาพแวดล้อมของเราไปด้วย
ทว่าเมื่อเราลองจำแนกชิ้นส่วนที่ประกอบเป็นกระทงประเภทต่างๆ ออกมาแล้ว กลับมีคำถามที่เกิดขึ้นคือ เรามีตัวเลือกนั้นจริงหรือเปล่า?
ดอกไม้
แม้ดอกไม้จะย่อยสลายในน้ำได้ แต่เมื่อมีปริมาณมากเกินไป และไม่ได้รับการเก็บกวาดก็อาจนำไปสู่การเน่าเสียของน้ำได้ โดยบทความจากยูเนสโกเกี่ยวกับแบรนด์สินค้าสำหรับการทำพิธีบูชาอย่างยั่งยืน Phool พูดถึงดอกไม้บูชาว่า เพื่อความสวยสดของดอกไม้ ดอกไม้จึงถูกปลูกมาด้วยยาฆ่าแมลงมหาศาล รวมไปถึงประเทศอินเดีย ในวัดเพียงแห่งเดียวก็มีการนำดอกไม้เหล่านั้นลอยลงในแม่น้ำคงคาวันละ 8.4 ตัน
หากพูดถึงธรรมชาติของการย่อยสลาย จริงอยู่ว่าวัสดุจากธรรมชาตินั้นย่อยสลายกลายเป็นสารอาหารให้แก่สิ่งมีชีวิตในน้ำได้ แต่ถ้ามีจำนวนที่มากเกินไปก็สามารถทำลายระบบนิเวศได้เช่นกัน นอกจากนั้นภายในดอกไม้จำนวนมากยังมียาฆ่าแมลงที่เป็นภัยต่อทั้งมนุษย์และสัตว์น้ำ
ใบตอง
“ใบตอง” จัดเป็นใบไม้ที่ย่อยสลายได้เองในน้ำตามธรรมชาติ อย่างไรก็ดี เมื่อเราพูดถึงบริบทของกระทง ทุกอย่างที่ถูกลอยลงไปในน้ำต้องถูกจำแนกให้กลายเป็นขยะเสียทั้งสิ้น ซึ่งปัจจัยหลักๆ มาจากปริมาณของกระทง การเน่าเสียของวัสดุจากธรรมชาติ และระยะเวลาอันยาวนานของการย่อยสลายวัสดุสังเคราะห์
และที่ต้องใส่เครื่องหมายคำพูดให้แก่ “ใบตอง” เป็นเพราะเราไม่ได้พูดถึงใบตองเฉยๆ เท่านั้น เนื่องจากกระทงจำนวนมากในยุคหลังแทนที่ใบไม้เขียวนี้ด้วยกระดาษ ผ่านตรรกะที่ว่ากระดาษถูกน้ำไม่นานก็ยุ่ยและย่อยสลายแล้ว จึงน่าจะดีกว่าการใช้ใบตองแล้วปล่อยทิ้งร้างไว้ให้น้ำเน่าเสียหรือเปล่า? ทว่าในความเป็นจริงแล้ว นั่นยังเป็นเรื่องห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก
เมื่อปี 2553 ประพิมพ์ บริสุทธิ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการย่อยสลายกระทงรูปแบบต่างๆ เอาไว้ โดยสถิติที่เราจะอ้างอิงตลอดงานเขียนชิ้นนี้พบว่า กระทงที่ทำจากกระดาษใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2 – 5 เดือนเลยทีเดียว เพราะการเปื่อยยุ่ยของมันไม่ได้แปลว่าจะสามารถย่อยสลายได้ง่ายกว่า แต่เป็นเพียงการเพิ่มความยากต่อการเก็บกระทงมากขึ้นไปอีกขั้นต่างหาก ซึ่งนั่นยังไม่นับรวมว่ากระดาษบางชนิดที่นำมาใช้ทำกระทง ต้องผ่านการใช้สารเคมีและการพ่นสีจนอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนแหล่งน้ำได้
เครื่องมือยึดกระทง
กระทงจะสามารถเป็นรูปเป็นทรงได้นั้นจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้ยึด อาจจะมาในรูปแบบของลวดเย็บกระดาษ เข็มหมุด หรือตะปู ซึ่งทั้งหมดเป็นโลหะที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ อีกทั้งการทิ้งโลหะไว้ในน้ำนานเกินไปก็จะทำให้เกิดสนิม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวปัญหามลพิษทางน้ำได้ด้วย
ฐานกระทง
ส่วนที่ได้รับการพัฒนาแก้ไขมากที่สุดของกระทง แน่นอนว่าคือฐาน หลายปีที่ผ่านมามีทั้งการใช้ต้นกล้วยและหยวกกล้วย โฟม กะลามะพร้าว ขนมปัง น้ำแข็ง ฯลฯ เมื่อคนส่วนมากพูดถึงการเลือกกระทงรูปแบบต่างๆ เรามักพูดถึงส่วนนี้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นแล้วจะมีฐานกระทงรูปแบบใดทำลายธรรมชาติน้อยกว่ารูปแบบใดหรือเปล่า?
ต้นกล้วยใช้เวลาประมาณ 14 วันสำหรับย่อยสลาย แต่หากปล่อยไว้ในน้ำนานเกินไปก็สามารถขัดขวางทางเดินน้ำ และทำให้น้ำเน่าเสียได้ ส่วนฐานกระทงที่ทำจากโฟมจะใช้เวลาย่อยสลาย 50 ปีขึ้นไป กระทงขนมปังที่ปลากินไม่ทันและไม่ถูกเก็บขึ้นได้ทันระยะเวลาย่อยสลาย ซึ่งสั้นมากๆ ด้วยเวลาเพียง 3 วัน ก็ทำให้น้ำเน่าเสียได้เช่นกัน ส่วนกระทงที่ทำจากน้ำแข็งนั้นแม้อาจดูไม่มีพิษมีภัยอะไร แต่ก็ยังมีดอกไม้และธูปเทียนหลงเหลือเป็นขยะอยู่ในแม่น้ำ
ทว่าทั้งหมดที่กล่าวมายังไม่นับรวมขยะที่เราอาจมองว่าเล็กน้อย เช่น เทียนหรือธูปที่ปล่อยควัน ซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็ง และกลายเป็นมลภาวะทางอากาศ หรือเมื่อลงไปในน้ำแล้วสัตว์น้ำอาจเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร นั่นก็สร้างความอันตรายต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเรียกได้ว่านี่คือหนึ่งในประเพณีไทยที่เราอาจต้องมองถึงความยั่งยืนให้มากยิ่งขึ้น
แล้วจะมีตัวเลือกไหนส่งผลเสียน้อยที่สุดหรือเปล่า? หรือว่านี่คือวันที่ตัวเราในฐานะสังคมต้องหันมามองประเพณีลอยกระทงอย่างจริงจัง เพื่อพามันเดินไปข้างหน้าโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้แล้ว?
อ้างอิงจาก