ทรัพยากรมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นหลายๆ ประเทศ มอบสวัสดิการอุดหนุนเพื่อดูแลคนได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เกิดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่ทำให้คนอยากมีลูกกันน้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไหว สิทธิ์และสวัสดิการสำหรับการมีลูกเพื่อเพิ่มทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ขณะเดียวกัน ในช่วงวันสองวันมานี้ ประเด็นเรื่องสิทธิลาคลอดก็กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในโลกออนไลน์ หลังมีคนยกประเด็นว่า การลาคลอดนานเกินไป อาจทำให้เพื่อนร่วมงานเดือดร้อน และเป็นการเอาเปรียบนายจ้าง ทั้งที่สิทธิในการลาคลอดและลาเพื่อเลี้ยงดูลูก เป็นสวัสดิการที่ประชาชนพึงได้รับกันอยู่แล้ว
The MATTER ขอชวนไปดูสิทธิ์ลาคลอดและลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ใน 10 ประเทศทั่วโลกว่า แต่ละประเทศให้ลาคลอดได้นานเท่าไหร่ แล้วรัฐอุดหนุนเงินค่าจ้างให้เท่าไหร่บ้าง
บัลแกเรีย
นับเป็นประเทศที่มอบสิทธิลาคลอดนานที่สุดในโลกด้วยวันลาทั้งสิ้น 410 เริ่มจาก 45 วันก่อนถึงกำหนดคลอดบุตร โดยที่พ่อเองก็สามารถลาคลอดได้ 15 วัน นอกจากนี้ ผู้ที่อุปการะเด็กที่อายุต่ำว่า 5 ปี ก็สามารใช้การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อีก 12 สัปดาห์เช่นกัน ซึ่งการลาคลอดในบัลแกเรีย พนักงานจะได้รับเงิน 90% จากค่าจ้างที่ได้ตามปกติ
โปแลนด์
ได้สิทธิลาคลอดนาน 20 สัปดาห์ พร้อมเงินค่าจ้าง 100% ขณะที่พ่อจะสามารถลาคลอดได้แบบเดียวกับแม่ในกรณีที่แม่ไม่รับเลี้ยงลูกหรือเสียชีวิต
สเปน
ให้สิทธิ์แม่ลาคลอดได้ 16 สัปดาห์พร้อมเงินค่าจ้าง 100% และหากมีลูกแฝดก็จะเพิ่มจำนวนวันลาได้อีก ขณะที่เมื่อปี 2018 มีการเปลี่ยนกฎหมายให้พ่อสามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ 5 สัปดาห์ พร้อมกับที่มีความพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายที่ให้ทั้งพ่อและแม่ได้สิทธิ์ลาคลอดเท่าเทียมกัน
ฝรั่งเศส
แม่ลาได้ 16 สัปดาห์ พร้อมเงินค่าจ้าง 90% ขณะที่สิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรสำหรับพ่อนั้น เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนในช่วงปีนี้ ให้พ่อลาเพื่อเลี้ยงดูลูกได้นาน 4 สัปดาห์ โดยรัฐบาลหวังว่า กฎหมายนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนอยากมีลูกกันมากขึ้น และต้องการลดความไม่เป็นธรรมทางเพศด้วย ขณะที่ พ่อแม่ที่อุปการะเด็กก็ได้รับสิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูลูก 10 สัปดาห์ และหากรับอุปการะมากกว่า 1 คน ก็ได้สิทธิลาเพิ่มเป็น 22สัปดาห์
เยอรมนี
กฎหมายให้สิทธิลาคลอดได้นาน 14 สัปดาห์ โดยมอบเงินค่าจ้างให้ 100% โดยทั้งพ่อและแม่ได้สิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรเท่าเทียมกัน และสิทธิ์ดังกล่าว ยังนับรวมไปถึงคนที่ทำธุรกิจส่วนตัว คู่สมรสที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน และเหล่าผู้ลี้ภัยด้วย
อิสราเอล
แม่ได้รับสิทธิลาคลอดนาน 15 สัปดาห์ โดยได้รับเงินค่าจ้าง 100% ขณะที่แม่สามารถโอนสิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรให้กับพ่อได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นคู่ที่อาศัยอยู่ด้วยกันเท่านั้น
ญี่ปุ่น
แม่สามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ 14 สัปดาห์ โดยได้รับเงินอุดหนุน 67% จากค่าจ้างปกติ ขณะที่ ญี่ปุ่นกำลังจะบังคับใช้กฎหมายที่ให้พ่อสามารถลาเพื่อเลี้ยงดูลูกได้ 4 สัปดาห์ หลังจากที่บุตรกำเนิดภายใน 8 สัปดาห์
เกาหลีใต้
ตามกฎหมายแล้ว อนุมัติให้สามารถลาคลอดได้กว่า 12 สัปดาห์ โดยได้เงินค่าจ้าง 80% ขณะที่ภาครัฐได้ขยายวันลาให้กับผู้เป็นพ่อเป็น 10 วัน นับจากที่บุตรกำเนิดได้ 90 วัน ซึ่งถ้าลูกอายุน้อยกว่า 9 ปี หรือเรียนอยู่ชั้นประถมตอนต้น ก็สามารถใช้สิทธิ์ลดชั่วโมงทำงานให้น้อยลงได้ เป็นเวลา 2 ปี
ชิลี
ให้สิทธิลาคลอดได้นาน 30 สัปดาห์ พร้อมกับเงินค่าจ้าง 100% ขณะที่พ่อสามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ 5 วันหลังบุตรกำเนิด และแม่จะสามารถโอนสิทธิ์ให้พ่อลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ หลังบุตรกำเนิดแล้ว 7 สัปดาห์
เนเธอร์แลนด์
เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้เงินค่าจ้างระหว่างลาคลอดแบบเต็มจำนวน 100% โดยสามารถลาได้ 16 สัปดาห์ และพ่อสามารถใช้สิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงดูเด็กแบบได้ค่าจ้างได้ 2 วัน ขณะเดียวกันก็มอบสิทธิ์ให้กับผู้ที่อุปการะเด็ก ลาเพื่อเลี้ยงดูลูกได้เป็นเวลา 6 สัปดาห์
สำหรับประเทศไทย สามารถลาคลอดได้ 98 วันโดยนับรวมการลาเพื่อตรวจครรภ์เข้าไปด้วย โดยพนักงานจะได้รับค่าจ้างในช่วงที่ลาจำนวน 45 วัน ขณะที่การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรนั้น สามารถทำได้ 150 วัน แต่จะไม่ได้รับเงินค่าจ้างระหว่างที่ลา
ดังนั้น การลาคลอดจึงไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวที่ผู้หญิงต้องแบกรับกันอยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นสิ่งที่สังคมและภาครัฐต้องสนับสนุน หากคาดหวังจะได้มีทรัพยากรมนุษย์มาช่วยพัฒนาประเทศ
อ้างอิงจาก