“เพราะว่าการข้ามเพศไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งจำเป็นจึงต้องเป็นรัฐสวัสดิการ”
คำโปรยที่อยู่บนหลังปกวรรณกรรมเยาวชน ‘เรื่องเล่าของเต้ย’ ที่เล่าถึงประสบการณ์การเติบโตและสิ่งที่ ‘เต้ย’ เด็กหญิงข้ามเพศต้องเผชิญ ผ่านรูปแบบเรื่องเล่าสั้นๆ เข้าใจง่าย ที่สะท้อนให้ถึงปัญหาต่าง ทั้งจากบรรทัดฐานของคนในสังคมที่มองว่าโลกนี้มีเพียงแค่สองเพศ และกฎหมายที่ไม่รองรับความมีตัวตนของคนข้ามเพศ ซึ่งสามารถโหลดอ่านได้ฟรีบนแอพลิเคชั่น Meb
เมื่อเพศหลากหลายมีตัวตนอยู่จริง แต่กลับไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ และสังคมยังไม่เข้าใจถึงสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ The MATTER เลยขอพาไปดูประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้ ที่จุดประกายให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทับซ้อนที่แตกต่างหลากหลายจนหลายคนอาจมองข้ามไป
การสอนเรื่องเพศศึกษา
สอนวิธีปฏิบัติที่แบ่งแยกเพศให้เหลือเพศแค่ชายหญิง
เด็กชายควรปฏิบัติตัวแบบไหน เด็กหญิงควรวางตัวอย่างไร .. เนื้อหาที่ยังคงปรากฏอยู่ในแบบเรียนวิชาสุขศึกษา ที่นอกจากจะปลูกฝังบทบาททางเพศในหัวของเด็กแล้ว ยังไปตอกย้ำอีกว่า หากใครปฏิบัติตัวไม่ตรงตามเพศกำเนิด คนเหล่านั้นคือพวกเบี่ยงเบน มีปัญหา
เต้ย เด็กหญิงที่เกิดมาในร่างของผู้ชาย เป็นตัวแทนของผู้ที่เผชิญกับปัญหานั้น เธอกลายเป็นตัวประหลาดในสังคมเพียงเพราะสังคมบอกว่าเธอเบี่ยงเบน
“พวกเขาเป็นตัวปัญหาจริงๆ หรือเป็นเพราะสังคมต่างหากที่ไม่โอบรับพวกเขาในฐานะมนุษย์ทั่วไปคนหนึ่ง”
ไม่เพียงเท่านั้น หลายคนอาจเคยได้ยินเพื่อนร่วมชั้นหรือคนรู้จักที่เป็นกะเทย พากันกิน ‘ยาคุม’ ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เพื่อเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงเข้าสู่ร่างกาย แต่คำถามคือ ถ้ากินมากเกินไป จะเกิดผลเสียอะไรกับร่างกายหรือเปล่า?
เรื่องเล่าของเต้ย สะท้อนให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า การกินยาคุมกันตั้งแต่วัยรุ่นเพื่อให้ร่างกายมีฮอร์โมนเพศหญิงมากขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจพบเห็นได้จากวิชาสุขศึกษา ที่ยังคงแบ่งแยกเพศไว้แค่สองเพศ ผลักไสกลุ่มคนเพศหลากหลายออกไป
“จะดีแค่ไหนถ้าหน้าหนังสือวิชาสุขศึกษาที่เปิดอยู่นี้มีเรื่องการข้ามเพศที่ถูกต้อง”
“เต้ยฝันถึงโลกการศึกษาที่เปิดรับทุกเพศอย่างเท่าเทียมกัน จะเป็นอย่างไรถ้าสังคมมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นและช่วยให้คนที่ไม่ได้มีเพศตรงตามร่างกายสามารถเป็นตัวของตัวเองได้สักที”
พื้นที่สำหรับคนทุกเพศ
เมื่อโลกนี้มีห้องน้ำให้แค่ชาย-หญิง
ทำไมถึงไม่มีห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศกันนะ?
คำถามที่สะท้อนออกมาจากเรื่องเล่าของเต้ย เมื่อเธออยากเข้าห้องน้ำระหว่างอยู่ที่โรงเรียน แต่ต้องอดทนเอาไว้ เพราะไม่อยากเดินฝ่าเพื่อนผู้ชายเพื่อเข้าห้องน้ำ ‘ชาย’ ตามเพศกำเนิดของเธอ
แน่นอนว่า หลายคนอาจไม่สบายใจหากต้องเข้าห้องน้ำร่วมกับคนต่างเพศ โดยเฉพาะผู้หญิง ด้วยความกลัวว่าอาจถูกคุกคามได้ เป็นความหวาดกลัวที่มีสถิติรองรับตามจากรายงานสำรวจสถิติอาชญากรรมทั่วโลก ที่ระบุว่าผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชาย ทั้งในอาชญากรรมทางเพศและทรัพย์สิน ซึ่งปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศนี้ก็เป็นผลพวงมาจากความไม่เสมอภาคทางเพศอีกเช่นกัน
เต้ยพาตั้งคำถามอีกว่า ทำไมห้องน้ำในบ้านถึงเปิดรับสมาชิกทุกคนได้โดยไม่คำนึงเรื่องเพศ จะเป็นไปได้ไหมที่จะมีวิธีการให้ทุกคนในโลกสามารถไว้ใจกันได้โดยไม่มีความคิดว่า เพศใดจะมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง
“เป็นกะเทยมันลำบากมาก เข้าห้องน้ำชายก็โดนมอง เข้าห้องน้ำหญิงก็โดนมอง ปัดโธ่! แล้วจะให้เข้าห้องน้ำไหนกัน มีตัวเลือกอะไรในโจทย์นี้บ้างไหม ทำไมทุกเรื่องของคนข้ามเพศต้องเป็นเรื่องยากไปเสียทั้งหมดเลย”
คนข้ามเพศกับโลกการทำงาน
อคติทางเพศที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวในที่ทำงานกดทับกลุ่มเพศหลากหลาย
ตั้งแต่ช่องกรอกใบสมัครงานส่วนใหญ่ที่มักให้เลือกแค่ ชาย-หญิง เพิ่มเข้ามาอีกหน่อยก็มีช่อง ‘อื่นๆ’ ให้ระบุกันเอง ซึ่งผู้ว่าจ้างจะมองว่า การให้กรอกเพศเป็นไปเพื่อให้ทราบความแตกต่างระหว่างเพศ แต่เต้ยมองว่า นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า ‘อคติทางเพศ’ อยู่ดี
แม้ว่าทุกวันนี้ องค์กรต่างๆ จะมีตัวเลขสัดส่วนผู้หญิงและกลุ่มเพศหลากหลายที่มีบทบาทในการทำงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน พร้อมกับมีผลงานวิจัยออกมารองรับข้อดีของความหลากหลายทางเพศในที่ทำงานต่างๆ มากมาย แต่ผลการรายงานจาก The Global Gender Gap เมื่อปี 2018 โดย World Economic Forum (WEF) กลับชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร
ข้อมูลจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติระบุว่า อคติทางเพศที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว (Unconscious Bias) ของคนในองค์กรเป็นหนึ่งในสิ่งที่กดทับผู้หญิงและกลุ่มเพศหลากหลาย ซึ่งอคตินี้เกิดขึ้นตั้งแต่การรับสมัครงาน การประเมินผลการทำงาน การให้ค่าตอบแทนอย่างเงินเดือนและโบนัส และการอำนวยความสะดวกทั้งด้านข้อมูลและแรงงาน โดยอคติเหล่านี้เกิดขึ้นจากกรอบแนวคิดเรื่องบทบาททางเพศและความคาดหวังต่อสิ่งที่แต่ละเพศควรจะเป็น แล้วแสดงออกมาในรูปแบบของการเลือกปฏิบัติโดยไม่รู้ตัว
เรื่องเล่าของเต้ย ชี้ชวนให้เห็นว่า ในกลุ่มอาชีพติวเตอร์ตามบ้าน ส่วนมากมักระบุว่าต้องการติวเตอร์เพศหญิง เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ขณะที่ในกลุ่มเด็กเล็ก ติวเตอร์เพศชายก็ต้องเป็น ‘ชายแท้’ เพราะความเชื่อว่า การเป็นเพศหลากหลายเกิดขึ้นจากพฤติกรรมเลียนแบบ หรือแปลง่ายๆ ว่า กลัวเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมที่ ‘เบี่ยงเบน’ นั่นเอง
เต้ยยังเล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกหัวหน้างานเรียกไปตักเตือนว่า คนในที่ทำงานบางคนไม่สบายใจกับการแต่งตัวและการแสดงออกของเธอ เพราะรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม และสิ่งที่เธอทำได้ก็มีเพียงการพูดขอโทษ ทั้งที่ไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าตัวเองทำอะไรผิด
กฎหมายสำหรับเพศหลากหลาย
ไม่มีสมรสเท่าเทียม เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อไม่ได้
แม้แต่ ‘ความรัก’ ของเพศหลากหลายก็ยังถูกรัฐกีดกัน
เมื่อเร็วๆ มานี้ ศาลรัฐธรรมนูญไทยเพิ่งอ่านคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1448 อันเป็นกฎหมายที่กำหนดให้เพียงชาย-หญิง สมรสกันได้เท่านั้น ไม่ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก้าวย่างของความเท่าเทียมทางเพศในสังคมถดถอยไปพร้อมกับคำวินิจฉัยนั้น
“เต้ยอยากจะลืมไปว่าโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’ อยู่” นี่คือข้อความที่ปรากฏอยู่บนหน้ากระดาษ แต่โชคชะตาทำให้เธอได้เจอกับความรัก แต่กฎหมายของประเทศที่ยังไม่เปิดโอกาสให้สมรสเท่าเทียมเกิดขึ้น ทำให้เธอเลือกที่จะยุติความสัมพันธ์นั้นลง
ในขณะที่คู่รักชาย-หญิงมีสิทธิ์ต่างๆ จากการเป็นคู่สมรส แต่กลุ่มเพศหลากหลายกลับไม่เคยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้เลย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พยายามจะผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเป็นการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ไว้สำหรับกลุ่มเพศหลากหลายโดยเฉพาะ กลายเป็นคำถามว่า ทำไมถึงต้องมีกฎหมายแยกให้กับคนเฉพาะกลุ่มขึ้นมา ทำไมถึงใช้กฎหมายเดียวกับคนอื่นๆ ไม่ได้
ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องเล่าของเต้ยยังกล่าวถึงความทรมานใจจากการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อไม่ได้ เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิให้คนข้ามเพศ
“ทั้งที่ประเทศไทยมีที่ท่องเที่ยวที่ใช้อัตลักษณ์ทางเพศของคนกลุ่มนี้เพื่อทำเงินอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การโชว์คาบาเร่ต์ตามแบบพัทยา หรือการประกวดความงามของเธอ แต่ก็ประเทศไทยอีกนั่นล่ะที่ไม่เคยจะเอื้อเฟื้อกฎหมายใดที่บ่งชี้ให้พวกเธอเป็น ‘คน’ เฉกเช่นกับคนอื่นทั้งสิ้น”
สำหรับประเทศไทยนั้น มีความพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อมาตลอด โดย กกกร เบญจาธิกุล นักแสดงสาวข้ามเพศ ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Voice online ถึงการเรียกร้องสิทธิให้กับคนข้ามเพศว่า พวกเธอไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษเหนือผู้หญิง-ผู้ชายทั่วไป แต่อยากมีสิทธิเท่าเทียมกับทุกๆ คนในสังคม
“บางคนบอกว่าพวกเราขอมากไปหรือไป สังคมให้คุณมากแล้วนะ ก็อยากย้อนถามว่า คุณให้อะไร สังคมยังไม่ให้อะไรเราเลยนะคะ และที่เราขอไปไม่มีใครเสียผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ชายจริงหญิงแท้ ก็มีสิทธิเท่าเทียมเหมือนเดิม เราไม่ได้ขอมากกว่าคนอื่นๆ เลย เพียงแค่ขอเท่าเทียม ขอพื้นที่ให้เรายืนอยู่ในสังคมได้เต็มภาคภูมิ”
สิทธิในการข้ามเพศ ควรเป็นสวัสดิการจากรัฐ
การแปลงเพศไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย แต่เป็นการหลุดพ้นออกจากภาวะ Gender dysphoria
“นี่ไม่ใช่ร่างกายที่ถูกต้อง”
ความคิดนี้อาจจะยากเกินความเข้าใจคนที่เกิดมามีเพศกำเนิดตรงกับเพศสภาวะ แต่เป็นสิ่งที่คนข้ามเพศหลายคนต้องเผชิญ เกิดเป็นภาวะ Gender Dysphoria หรืออาการทุกข์ที่เกิดจากเพศสภาวะไม่ตรงกับเพศตามกำเนิด เป็นปัจจัยหลักให้คนข้ามเพศไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
“คนข้ามเพศไม่ใช่คนที่อยากเปลี่ยนจากอีกเพศหนึ่งเป็นอีกเพศหนึ่ง แต่คือคนที่ข้ามจากเพศทางร่างกายไปสู่เพศสภาวะที่แท้จริงของเขา ถ้ารัฐไม่ช่วยให้คนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างที่เขาควรมีก็เท่ากับว่ารัฐปล่อยให้คนกลุ่มทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าล้มหายตายจากไปเหมือนกัน”
คำกล่าวของเต้ยที่พูดกับครูในโรงเรียน หลังครูถามว่า ‘อะไรควรเป็นสวัสดิการจากรัฐบ้าง’ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการข้ามเพศซึ่งควรเป็นสิทธิที่ประชาชนได้รับจากสวัสดิการของรัฐ
ย้อนกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในวัยมัธยม เพื่อนข้ามเพศหลายคนต้องกินยาคุมแบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้มีร่างกายตรงกับเพศสภาวะของตัวเอง
ความสำคัญของสิทธิในการข้ามเพศ เห็นได้อย่างชัดเจนจากกรณีของ ก้าวหน้า เสาวกุล ผู้ก่อตั้งทีค พลังทรานส์ (TEAK – Trans Empowerment) ชุมชนผู้ชายข้ามเพศ ไทย-อินโดนีเซีย และอดีตประธานร่วมสมาคมอิลก้า เอเชีย (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association) ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์ไว้กับบีบีซีไทยว่า เขาต้องฉีดฮอร์โมนไปตลอดชีวิต โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 500 บาท ยังไม่รวมการเข้ารับการผ่าตัดหน้าอก มดลูก และผ่าตัดเพื่อต่ออวัยวะเพศ ซึ่งเสียเงินอีกมหาศาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคให้ชนชั้นล่างไม่สามารถเป็นชายข้ามเพศได้
ขณะเดียวกัน บางคนอาจเข้าใจว่า การแปลงเพศ เป็นเพียงความต้องการของคนข้ามเพศที่ต้องการจะมีร่างกายตามใจตัวเองเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว พวกเขาต้องเผชิญกับภาวะทุกข์ทรมานจากการเกิดมามีร่างกายไม่ตรงกับเพศจริงๆ และเป็นอุปสรรคทางจิตใจที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตด้วย ขณะที่เรื่องเล่าของเต้ยระบุไว้ว่า การเริ่มต้นเก็บเงินของชีวิตคนข้ามเพศถูกทำให้ช้าลงไปด้วยความไม่เข้าใจของรัฐ
บทส่งท้ายของเรื่องเล่าของเต้ย ระบุว่า “มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกับคนทุกอัตลักษณ์ให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นการทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเพื่อสร้างความเสมอภาคของบุคคลอย่างแท้จริง”