การเลือกตั้งครั้งใหม่ใกล้เข้ามาอีกครั้ง
สะท้อนให้เห็นในการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส.-ส.ว. ของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ที่มีขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 24 ถึงวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 10 ฉบับ
ร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับนั้น ประกอบด้วย ‘ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ (เรียกสั้นๆ ว่า ‘ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.’) 4 ฉบับ เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคการเมืองต่างๆ และ ‘ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง’ อีก 6 ฉบับ
วันนี้ ร่างที่น่าสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้น ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ ครม. ได้ผ่านร่างเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะได้นำมาใช้จริงมากที่สุด ซึ่งเมื่อบังคับใช้แล้ว จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาการเลือกตั้งครั้งถัดไปหลังกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เช่น สัดส่วน ส.ส.แบ่งเขต–บัญชีรายชื่อ หรือ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น
The MATTER จึงสรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ให้อ่านกัน พร้อมเปรียบเทียบกับร่าง พ.ร.ป.ของพรรคการเมืองอีก 3 ฉบับ และดูว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างในการเลือกตั้งครั้งหน้า
จุดประสงค์หลักของ ‘ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.’ ฉบับ ครม. คือการแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ฉบับ 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564
รัฐธรรมนูญฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ได้กำหนดสัดส่วนให้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน จากเดิมที่มี แบ่งเขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน ดังนั้น สาระสำคัญประการหนึ่งของร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ฉบับนี้ ก็คือการแก้ไขมาตรา 11 ของ พ.ร.ป. ฉบับ 2561 เพื่อให้สัดส่วน ส.ส. เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
อีกประการหนึ่งที่มีนัยสำคัญมากก็คือการแก้ไขมาตรา 84 ของ พ.ร.ป. ฉบับ 2561 ที่กำหนดให้แบ่งบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบแยกจากกันชัดเจนระหว่างบัตรของ ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเราก็จะเห็นได้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า การนับคะแนนจะแยกเป็นคนละส่วนกัน ต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ที่นำคะแนน ส.ส.แบ่งเขตมาคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
สำหรับการเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขต–บัญชีรายชื่อ มาเป็น 400 คน กับ 100 คน รวมถึงการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญที่แนบมากับร่าง พ.ร.ป. ของ ครม. ระบุไว้ว่า หากประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะทำให้ “การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นอกจากนี้ ยังทำให้ “ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น”
ส่วนวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบใหม่ ได้มีการแก้ไขในมาตรา 128 ของ พ.ร.ป. ฉบับ 2561 หากจะอธิบายขั้นตอนอย่างง่ายๆ ก็สรุปได้ว่า ให้นำคะแนนการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคมารวมกันทั้งประเทศ จากนั้นให้หารด้วย 100 จะได้เป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน ให้ทดไว้ในใจก่อน ต่อมา หยิบคะแนนรวมของแต่ละพรรคขึ้นมา หารด้วยคะแนนเฉลี่ยที่เราได้มาก่อนหน้านี้ จะได้เป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้ โดยหยิบมาเฉพาะจำนวนเต็ม
เพื่อให้เห็นภาพ สมมติว่า การเลือกตั้งทั้งประเทศ มีผู้ลงคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 100,000 คน โหวตให้พรรค ก. 60,000 คน และ พรรค ข. อีก 40,000 คน ก่อนอื่นเราก็ต้องนำ 100,000 มาหารด้วย 100 จะได้เป็นคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 1,000 ให้นำจำนวนนี้มาหารคะแนนของแต่ละพรรค เท่ากับว่า พรรค ก. จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 60,000/1,000 = 60 คน ส่วน พรรค ข. จะได้ 40,000/1,000 = 40 คน
แต่ถ้าหากคำนวณแล้วได้ ส.ส.ไม่ครบ 100 คน ก็จะปัดเศษให้พรรคที่คำนวณแล้วมีเศษเป็นจำนวนมากที่สุด ได้ ส.ส. ครั้งละ 1 คน เรียงตามลำดับจนกว่าจะได้ครบ และในกรณีที่พรรคมีเศษเท่ากัน ทำให้จำนวนเกิน 100 คน ก็จะต้องจัดให้มีการจับสลาก
ส่วนการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอื่นๆ มีเพื่อให้สอดคล้องหรือรองรับการแก้ไขมาตราหลักๆ ที่ได้พูดถึงไป เช่น การแก้ไขมาตรา 19 (1) กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง 9 คน จากเดิมที่มี 5 คน เพื่อรองรับการลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ หรือการเพิ่มเติมข้อห้ามในการหาเสียง กฎเกณฑ์–คุณสมบัติต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ เป็นต้น
แตกต่างจากร่างของพรรคการเมืองอย่างไร
‘ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.’ ในระเบียบวาระวันที่ 24-25 ก.พ. นี้ นอกจากที่เสนอโดย ครม. ก็ยังมีอีก 3 ฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ซึ่งร่างที่มีรายละเอียดแตกต่างหรือเพิ่มเติมจากร่างของ ครม. ก็คือฉบับของฝ่ายค้านทั้ง 2 พรรค
ร่างของพรรคเพื่อไทยมีสาระสำคัญที่เพิ่มเติมมา คือ การแก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่ 3/1 เข้าไปใน พ.ร.ป. ฉบับ 2561 กำหนดให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขตและบัญชีรายชื่อเป็นหมายเลขเดียวกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน
แนวทางการกำหนดหมายเลขที่พรรคเพื่อไทยเสนอคือ ให้กำหนดหมายเลขตามลำดับก่อนหลังในการส่งบัญชีรายชื่อ หากส่งพร้อมกันและตกลงกันไม่ได้ ให้จับสลาก และให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตใช้หมายเลขเดียวกับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ และหากมีพรรคใดส่งแต่ผู้สมัครแบบแบ่งเขต ให้ใช้หมายเลขต่อท้ายจากผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ
สำหรับร่างของพรรคก้าวไกล มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดหมายเลขผู้สมัครคล้ายคลึงกับพรรคเพื่อไทย และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นอื่นๆ เช่น แก้ไขมาตรา 56 เพิ่มให้ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องมาจากการพิจารณาโดยสมาชิกพรรค โดยคำนึงถึงภูมิภาคของผู้สมัครและความเท่าเทียมทางเพศ
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังได้แก้ไขบางมาตราเพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสมากขึ้น เช่น มาตรา 117 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดว่า การนับคะแนนต้องให้ประชาชนสามารถสังเกตการณ์ได้อย่างชัดเจน และห้ามขัดขวางการบันทึกและเผยแพร่ภาพ หรือมาตรา 120 ที่ได้แก้ไขเพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกหลักฐานการนับคะแนนเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และประชาชนต้องเข้าถึงได้ทั่วไปภายในวันเลือกตั้ง เป็นต้น
ส่วนประเด็นอื่นๆ อาทิ การกำหนดโทษให้กับการกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลได้เสนอปรับปรุงแก้ไขอยู่หลายมาตรา โดยส่วนใหญ่จะเป็นการตัดบทบัญญัติที่ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำผิด