ค่ำวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา เครื่องบินชนิด ATR 72-600 สายการบินแห่งชาติเมียนมา Myanmar National Airlines ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตาก
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการเมียนมา นำโดยกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) เข้ายึดเมืองเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง ซี่งอยู่ใกล้เคียงกับ อ.แม่สอด
ความขัดแย้งที่ลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองในเมียนมาจึงกลับมาได้รับความสนใจในหมู่ประชาชนไทยและแวดวงการเมืองของไทยอีกครั้ง
แต่เมียวดีก็ไม่ใช่เมืองเดียวที่ตกอยู่กึ่งกลางความขัดแย้งนี้
นับตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เมื่อ ตัดมาดอว์ (Tatmadaw) หรือกองทัพเมียนมา เข้ายึดอำนาจการปกครอง โดยมี พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ขึ้นสู่อำนาจ ความขัดแย้งนี้ก็จุดประกายการชุมนุมทางการเมืองเป็นวงกว้าง และโหมไฟความขัดแย้งทางการทหารในที่สุด นำโดยกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ
ในประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ราว 135 กลุ่ม ซึ่งถูกรวมเป็นกลุ่มหลัก 8 กลุ่ม ดูเหมือนว่า ณ ขณะนี้ รัฐบาลเผด็จการของเมียนมากำลังจะถูกปิดล้อมโดยกองกำลังของกลุ่มเหล่านั้น สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอยากเห็นก็คือ ‘ประชาธิปไตย’ (democracy) ในรูปแบบ ‘สหพันธรัฐ’ (federal)
สถานการณ์ในเมียนมาเป็นอย่างไร? กลุ่มชาติพันธุ์ยึดเมืองสำคัญได้มากแค่ไหน? The MATTER ชวนสำรวจภูมิทัศน์สงครามกลางเมืองเมียนมาไปพร้อมๆ กัน
กองกำลังชาติพันธุ์ปิดวงล้อมรัฐบาลทหาร
วันที่ 27 ตุลาคม 2023 กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่มทางตอนเหนือของเมียนมา ในชื่อ พันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) ประกอบด้วย กองกำลังโกกั้ง (MNDAA) กองทัพอาระกัน (Arakan Army) และ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta’ang National Liberation Army) เปิดฉากปฏิบัติการทหาร ที่เรียกว่า ปฏิบัติการ 1027 (Operation 1027)
ภายหลังจากนั้นราว 3 สัปดาห์ พล.ต. ซอ มิน ตุน (Zaw Min Tun) โฆษกรัฐบาลทหาร ก็ต้องออกปากยอมรับว่า กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลตกอยู่ภายใต้ “การโจมตีอย่างหนักหน่วงจากทหารติดอาวุธฝ่ายกบฏที่มีจำนวนอย่างมีนัยสำคัญ” ในรัฐฉานทางตอนเหนือ รัฐกะยาทางตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งติดชายแดนไทย และรัฐยะไข่ ทางตะวันตก
ผู้สังเกตการณ์เมียนมาต่างบอกว่า ปฏิบัติการดังกล่าวจะทำให้ “สมดุลอำนาจเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เปลี่ยนทิศทางภายในประเทศหรือรัฐบาลทหารได้” และนำมาซึ่ง “โมเมนตัมสำคัญในการฝ่าทางตันและสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในอนาคตของเมียนมา”
จนถึงตอนนี้ ข้อมูลจาก Burma News International (BNI) ร่วมกับ Myanmar Peace Monitor เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ชี้ว่า กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเริ่มที่จะควบคุมพื้นที่ได้ในหลายๆ ภูมิภาคที่สำคัญ อาทิ รัฐชิน รัฐยะไข่ ภาคสะกาย รัฐฉาน รัฐกะยา และรัฐกะเหรี่ยง โดยยึดหัวเมืองได้ทั้งหมดอย่างน้อย 53 เมือง
กรณีนี้รวมถึงเมืองเมียวดีในรัฐกะเหรี่ยง ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเข้ายึดครองได้ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา – แต่อย่างไรก็ดี รายงานข่าวล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน) ก็เผยว่า KNU ได้ ‘ถอยทัพชั่วคราว’ จากเมืองเมียวดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ พะโด ซอ ตอนี (Padoh Saw Taw Nee) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ระบุว่า “กองกำลัง KNLA [กองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง] … จะทำลายล้างกองกำลังของคณะรัฐประหารและกำลังเสริมที่เข้ามาที่เมียวดี” แต่ไม่ได้ระบุว่าการเคลื่อนทัพครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร
ไทยรับมือกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง
“ย้ำว่าหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยมีแผนที่จะรองรับสถานการณ์ในทุกรูปแบบ และขอให้ประชาชนในพื้นที่สบายใจ มีความไว้วางใจได้ว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดและดูแลอย่างเต็มที่”
นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวประโยคดังกล่าวในวันนี้ (24 เมษายน)
ด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบในอีกฝั่งของชายแดนไทย-เมียนมา นิกรเดชเปิดเผยว่า จึงทำให้มีผู้หนีภัยเข้ามาอยู่ในฝั่งไทยสูงสุดกว่า 3,000 คน แต่จนถึงตอนนี้ได้เดินทางกลับไปเป็นส่วนใหญ่ เหลืออยู่ประมาณ 650 คนในไทย และมีแนวโน้มเดินทางกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมายังเป็นเหตุให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ 1/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา โดยมี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นั่งเป็นประธาน
ท่ามกลางสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอธิบายท่าทีของไทยไว้ 3 ประการ
- ไทยยึดมั่นรักษาอธิปไตยของคนไทย รวมถึงการดูแลความปลอดภัยความมั่นคงของพี่น้องชาวไทย
- ไทยไม่ให้ใช้ดินแดนในการดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศไม่ว่าจะจากฝ่ายใด
- ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ
“ผมย้ำอยู่เสมอว่าเราติดตามกันรายชั่วโมง รายวัน มีความเคลื่อนไหวของฝ่ายกองทัพเมียนมา ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวในฝ่ายต่อต้านด้วย ผมจึงขอไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้เพราะตัวผมเองก็ได้รับรายงานที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา” นิกรเดช ระบุ