นับแต่วันที่ 2 มี.ค. นี้เป็นต้นไป พรรคการเมืองใหม่ๆ น่าจะได้เริงร่าออกมาจดทะเบียนจัดตั้งพรรคกันได้แล้ว ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ถือเป็นการออกสตาร์ทก่อนพรรคการเมืองเก่า ซึ่งยังถูกล่ามโซ่เอาไว้อยู่ กว่าจะเคลื่อนไหวก็ต้องรอเดือนถัดไป
ที่ผ่านมา ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รวมถึงกองหนุน ต่างอ้างเหตุที่ไม่อยากให้เกิดการเลือกตั้ง ก็เพราะไม่มี ‘ตัวเลือกใหม่’ มาให้เลือกเลย (เหมือนที่ทิดเอิบมักบ่นกับแม่ประไพ ทำนองว่า “..เลือกไปก็มีแต่คนหน้าเดิมๆ ไม่ต้องเลือกตั้งเลยดีกว่า..”)
เมื่อกฎหมายเปิดช่องแล้ว เราลองมาซุ่มดูกันซิว่า พรรคใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ / พ.ร.บ.พรรคการเมือง / มาตรา 44 ในยุคสมัยของ คสช. จะมีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด และมีความแตกต่างจาก ‘ตัวเลือกเก่า’ ทั้ง 69 พรรค ที่มีอยู่แล้วหรือไม่
เกือบ 4 ปีผ่านไป ผู้มีอำนาจลายพรางได้ ‘ปฏิรูปการเมือง’ จนเกิดตัวเลือกใหม่ๆ ขึ้นมาบ้างแล้วหรือยัง
และนี่ก็คือ ตัวอย่างพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่น่าสนใจบางส่วน
(1) พรรคประชาชนปฏิรูป
แกนนำพรรค: ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิก สปท.
จุดยืนพรรค: “สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อ” / ปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้มีความบริสุทธิ์และดีงาม / เพิ่มอำนาจประชาชนด้วยการตั้งสภาตรวจสอบรัฐบาลทั่วประเทศ
(2) พรรคพลังพลเมือง
แกนนำพรรค: สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เอกพร รักความสุข อดีต รมช.แรงงาน และอดีตรัฐมนตรีและ ส.ส. ราว 30 คน ส่วนใหญ่มาจากพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์
จุดยืนพรรค: “สนับสนุนคนดี มีจริยธรรม ให้เป็นนายกฯ” / แม้จะมีแต่นักการเมืองรุ่นเก่า แต่มีแนวคิดใหม่ ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะรับใช้ประชาชน ถ้าได้เป็นฝ่ายค้าน จะเป็นปากเสียงของประชาชน
(3) พรรคเพื่อชาติไทย
แกนนำพรรค: อัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร อดีตภรรยา พล.อ.สนทร คงสมพงษ์ หรือบิ๊กจ๊อด อดีต ผบ.สส. และประธาน รสช.
จุดยืนพรรค: “เชื่อมประสานฝ่ายปฏิวัติกับฝ่ายประชาธิปไตย”
(4) พรรค กปปส.
แกนนำพรรค: สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.
จุดยืนพรรค: “สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่อ” / ผลักดันการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ
ความจริงพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ยังมี ‘พรรคทหาร’ ซึ่งมีกระแสข่าวมาโดยตลอดว่ากำลังซุ่มจัดตั้งกันอยู่ และ ‘พรรคของนายทุน-คนรุ่นใหม่’ ที่อาจลงสนามครั้งนี้ด้วย แต่ทั้ง 2 พรรคนั้นยังไม่เปิดตัว ก็เลยต้องคอยดูกันไปก่อน
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มการเมืองอีกนับร้อย ที่ไปร่วมรับฟังคำชี้แจงถึงวิธีการจัดตั้งพรรคใหม่จาก กกต. ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่จดทะเบียนตั้งพรรคจริงๆ จังๆ
ด้านจุดยืนของตัว พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะปฏิเสธแข็งขันว่าไม่ตั้งพรรคการเมืองแน่ แต่ก็เคยประกาศไว้เป็นนัยผ่านการตั้งคำถาม 6 ข้อ ช่วงปลายปีก่อนว่า
“การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ถือเป็นสิทธิใช่หรือไม่”
นาทีนี้ ถือได้ว่า ปี่กลองการเมืองตามระบบ เริ่มกลับมาโหมประโคมแล้ว ขณะที่ผู้มีอำนาจก็เพิ่งสัญญาเป็นรอบที่สี่ว่าต้นปี 2562 จะมีเลือกตั้งแล้วนะ เลิกถามซะที มีแน่ๆ ทำไมไม่เชื่อกัน ปัดโธ่!