ล่าสุด (27 กันยายน) กรมป้องกันและและบรรเทาสาธารณภัยได้แถลงข่าวอุทกภัยจากพายุเตี้ยนหมู่ว่า ในขณะนี้มีอีก 23 จังหวัดที่กำลังเผชิญกับปัญหาอุทกภัย แบ่งเป็นภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลุ่มแม่น้ำชี 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลุ่มแม่น้ำมูล 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคกลาง 10 จังหวัด
โดยจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมี 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ลพบุรี, นครสวรรค์ และชัยภูมิ
The MATTER ชวนทำความเข้าใจการไหลของน้ำที่ล้นเอ่อในขณะนี้ มันจะเดินทางไปจังหวัดไหนต่อ พื้นที่ไหนควรต้องระวัง และภาครัฐควรเร่งทำอะไรเพื่อรับมือบ้าง
น้ำท่วมไปไหนต่อ
ทาง The MATTER ได้ติดต่อพูดคุยกับ หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อถามถึงการเคลื่อนที่ของมวลน้ำที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เขาชี้จุดสำคัญให้เห็นโดยในภาพใหญ่
1.น้ำท่วม จ.ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมา หรือโคราช
หาญณรงค์ชี้ว่า ขณะนี้น้ำที่ท่วมอยู่ในตัวเมืองชัยภูมิจะค่อยๆ ไหลงลงแม่น้ำชี ก่อนเดินทางไปต่อในจังหวัดขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสรธร และไหลรวมกับแม่น้ำมูลใน อ.กันทรารมย์ ในจังหวัดศรีสะเกษ
ขณะที่ทางด้านน้ำที่ท่วมจากจังหวัดนครราชสีมาจะไหลลงแม่น้ำมูล ก่อนเดินทางไปต่อในจังหวัด บุรีรัมย์, สุรินทร์ และรวมกับแม่น้ำชีที่ อ.กันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ
ในจังหวัดศรีสะเกษจะเป็นพื้นที่ที่น้ำที่ไหลมาทั้งสองสายมารวมกันเป็นแม่น้ำมูล ก่อนจะเดินทางต่อไปถึง อ.วาริณชำราบ ในจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนไหลต่อสู่เขื่อนปากมูล และแม่น้ำโขงต่อไป
ทั้งนี้ หาญณรงค์เสริมว่า สิ่งที่น่าห่วงในทางเดินน้ำสายนี้คือ เมื่อมวลน้ำเดินทางมารวมกันบริเวณ อ.วาริณชำราบ อาจจะทำให้มวลน้ำมีปริมาณมหาศาลและเกิดน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีได้
2.น้ำท่วม จ.เพชรบูรณ์ และลพบุรี
หาญณรงค์ชี้ว่าทั้งสองจังหวัดมีแม้น้ำป่าสักไหลผ่าน และเมื่อเดินทางถึงจังหวัดลพบุรีจะมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ซึ่งมีพื้นที่เก็บน้ำทั้งหมด 960 ล้านลบ.ม. (ขณะนี้ใช้ไปแล้วราว 70%) ตั้งอยู่ ซึ่งสามารถชะลอการไหลของน้ำได้ ก่อนที่จะไหลผ่านจังหวัดสระบุรี และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดอยุธยา และเข้ากรุงเทพและปริมณฑลก่อนหาทางออกสู่อ่าวไทยต่อไป
ในจุดนี้ หาญณรงค์บอกว่าความกังวลหนึ่งคือ ฝนที่ตกอยู่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งอาจทำให้น้ำไม่สามารถกันน้ำไว้ที่เขื่อนก่อนไปรวมที่จังหวัดอยุธยาได้
3.น้ำท่วม จ.นครสวรรค์ ตาก กำแพงเพชร และอุทัยธานี
ในจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นที่ตั้งของปากน้ำโพ หรือจุดที่แม่น้ำปิง วัง ยม น่านจากภาคเหนือไหลมารวมกันเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยน้ำที่ท่วมในจังหวัดนครสวรรค์ ตาก กำแพงเพชร และอุทัยธานี จะเดินทางเป็น 2 สาย
สายแรกจากตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์จะไหลลงสู่ ต.ปากน้ำโพ ผ่านจังหวัดอุทัยธานี และเข้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ซึ่งสามารถควบคุมน้ำได้อีกต่อหนึ่ง ก่อนปล่อยน้ำให้เดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรี และอ่างทอง ก่อนไปรวมกับน้ำจากแม่น้ำป่าสักที่จังหวัดอยุธยา ก่อนเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลออกสู่อ่าวไทยต่อไป
อีกด้านหนึ่ง หาญณรงค์ชี้ว่า บางอำเภอในกำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี จะมีแม่น้ำสะแกรกรังอีกสายหนึ่งไหลผ่าน โดยมันจะไหลออกทางจังหวัดอุทัยธานี ก่อนมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และไหลต่อสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ก่อนเดินทางต่อไปจนออกอ่าวไทยเช่นเดียวกัน
4.น้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัย
ในปีนี้ สุโขทัยเผชิญวิกฤตน้ำท่วมด้วยสาเหตุที่ต่างจากเดิม กล่าวคือน้ำยมไม่ได้ท่วมล้นตลิ่ง และกรมชลประทานสุโขทัยให้สาเหตุน้ำท่วมปีนี้ว่า “เกิดจากฝนตกหนักจนเกิดการท่วมขังในพื้นที่ และน้ำจากอำเภอใกล้เคียงทางฝั่งตะวันตก เช่น อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.บ้านด่านลานหอย ไหลหลากมาสมทบจำนวนมาก”
ด้านหาญณรงค์ชี้ว่า สาเหตุอีกประการที่ทำให้สุโขทัยน้ำท่วมในพื้นที่แปลกไปจากเดิมคือ การสร้างผนังกั้นน้ำสูง 3 เมตร ซึ่งในแง่หนึ่งก็ช่วยไม่ให้แม่น้ำยมล้นตลิ่งไหลท่วมเมือง แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้น้ำต้องเปลี่ยนทิศทางการไหล
โดยหลังจากที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำยมในอำเภอได้แล้ว มันจะเดินทางสู่จังหวัดพิษณุโลก และไปไหลหลวมกับแม่น้ำน่านที่นครสวรรค์ และบรรจบกับแม่น้ำปิงและวังที่ไหลมาจากตากและกำแพงเพชรในอีกด้านหนึ่ง ก่อนไหลรวมกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านอุทัยธานี เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สิงห์บุรี, อ่างทอง และไปชนกับแม่น้ำป่าสักที่อยุธยา ก่อนไหลสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และหาทางออกสู่อ่าวไทยต่อไป
10 ปีมาแล้ว ต้องอย่าชะล่าใจ
หาญณรงค์แสดงความเห็นถึงน้ำท่วมครั้งนี้ว่า นอกจากเราเตรียมความพร้อม และถอดบทเรียนจากปี 2554 ด้วยการสร้างจุดกักน้ำไม่ว่าฝาย เขื่อน หรืออะไรต่อมิอะไรแล้ว เราต้องปรับตัวอยู่กับน้ำเช่นกันทั้งฝ่ายของประชาชนและหน่วยงานราชการ
“ถ้าถามว่าในกรณีน้ำท่วมแบบนี้จะแก้ไขเด็ดขาดได้ไหม ประเทศไทยถือว่าโชคดีแล้ว เวียดนามปีนึงมีพายุเข้ามาปีนึง 15 ลูกเลยนะ”
“ผมว่าเราต้องปรับตัวอยู่กับน้ำด้วย เราต้องมี mindset ใหม่ของทั้งประชาชนและหน่วยงานราชการ เราจะอยู่กับน้ำท่วมยังไง ถ้าน้ำแล้งเราจะกักเก็บน้ำที่ใช้ให้พอเพียงได้ไง”
“มันต้องมีการจัดการพร้อมกันหลายมิติ ไม่ใช่สร้างอ่างแล้วเก็บน้ำได้หมด แล้วหน่วยงานราชการไปบอกว่า “ต่อไปนี้ไม่มีน้ำท่วมแล้ว” ชาวบ้านเขาก็สร้างบ้านต่ำ สุดท้ายเวลาน้ำมามันท่วมถึงหน้าต่างชั้นหนึ่งเลย ผมว่าเรื่องปลูกบ้านยกสูงแบบนี้ก็ยังจำเป็น”
“นักการเมืองพยายามหาโครงการเดียวที่แก้ไขได้ทุกปัญหา แต่ผมยืนยันได้เลยว่า ถ้าอยู่ที่ลุ่ม พอมันถึงเวลายังไงมันก็กลับมาท่วมอีก อย่าง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตอนสร้างบอกมันจะไม่ท่วมอีกแล้ว พอผ่านไป 10 ปี มันก็ท่วมอำเภอเสาไห้ จ.สระบุรีอีก ดังนั้น มีเขื่อนไม่ได้หมายความว่าน้ำจะไม่ท่วมอีกแล้ว เพราะมีเขื่อนคุณก็ต้องปล่อยน้ำลงมาอยู่ดี”
“ผมคิดว่าอย่าชะล่าใจ ถึงแม้ผ่านมา 10 ปีแล้วมันก็อาจท่วมอีกได วันนี้เรามีเครื่องมือเยอะกว่าเดิม เช่น ข้อมูลด้านน้ำ มีการดูตัวเลขรอบด้านกว่าปี 2554 แต่การบริหารจัดการกับเครื่องมือมันต้องพ่วงไปด้วยกัน มันหาสูตรสำเร็จไม่ได้หรอกว่าจะจัดการทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วมด้วยสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่งได้”
“ผมไม่อยากเห็นภาพว่าพอน้ำท่วม นักการเมืองไปสร้างกำแพงกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปหมด สุดท้ายเจ้าพระยาวิ่งเร็วขึ้น เพราะคุณไปทำให้มันเป็นคลองคอนกรีต ทั้งที่ เมื่อก่อนมันมีต้นไม้คอยชะลอ มีทุ่งให้บ่าได้ในบางจุด แต่ตอนนี้มีคอนกรีต น้ำมันก็จะพุ่งลงข้างล่างอย่างดียว”
ภาครัฐต้องร่วมมือกันทำงาน
หาญณรงค์ขี้ว่า ปัญหาของระบบราชการไทยคือตัวมันเอง ที่เทอะทะ ทำงานทับซ้อน และไม่ยอมแบ่งข้อมูลให้กัน ถึงแม้ขณะนี้จะมี สน.ทช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นประธานก็ยังไม่ทำงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพพอ”
“กรมทรัพยากรน้ำก็มีศูนย์เมขลา กรมชลประทานก็มีศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ต่างคนมีข้อมูล แต่ไม่ยอมแมตกัน”
“ในกรณีวิกฤตน้ำท่วมแบบนี้ หน่วยงานต้องเอาข้อมูลมารวมกันที่ กนช. (คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ) และคนที่รับผิดชอบคือประธาน กนช. ซึ่งคือรองนายกฯ ประวิตร แต่ตอนนี้ทุกคนรีรอ เพราะแกไม่ลุก ไม่สั่งสักที เพิ่งจะเรียกประชุมพรุ่งนี้ (29 ก.ย.)”
“ถ้ามีข้อมูลแล้ว ตัดสินใจได้แล้ว ก็สั่งต่อไปที่จังหวัด ให้จังหวัดส่งไปท้องถิ่นต่อ แล้วเขาจะได้ดำเนินการได้ทันทีว่าควรทำอย่างไร ต้องระวังตรงไหน”
“บางทีหน่วยงานราชการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ปิดกั้นข้อมูลแก่กัน หรือตกลงไม่ได้ว่าใครจะทำ มันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ดังนั้น มันควรจะมีศูนย์กลางที่คอยสั่งการ จะได้สลายเป็นคำสั่งเดียวเลยว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร”
Illustrator By Waragorn Keeranan