“สถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 ไม่เท่ากับปี 2554 แน่นอน” จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเมื่อ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ (27 สิงหาคม) มี 13 จังหวัด กำลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จนเกิดการคาดเดาว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะยุติลงที่ไหน เมื่อไหร่ และจะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หรือไม่ The MATTER จึงรวบรวมข้อมูลและประกอบสร้างเป็น ‘แผนที่เส้นทางน้ำสายหลัก’ ตั้งแต่ตอนเหนือจวบจนอ่าวไทย ให้ทุกคนได้เห็นภาพและเข้าใจแผนผังน้ำมากขึ้น
จากแผนผังดังกล่าวเราจะเห็นแม่น้ำสายสำคัญ อาทิ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ที่อยู่ส่วนบนของประเทศไทย ดังนั้นแล้วการให้ความสำคัญกับปริมาณ ‘น้ำเหนือ’ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมวลน้ำจากแหล่งน้ำเหล่านี้จะมาบรรจบกันที่ ตำบลปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ และพัดผ่านลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จนไหลออกสู่อ่าวไทย
และเขื่อนกั้นน้ำสำคัญ ที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางน้ำต่างๆ ได้แก่
- เขื่อนภูมิพล (แม่น้ำปิง: เชียงใหม่, ลำพูน, ตาก, กำแพงเพชร, นครสวรรค์)
- เขื่อนกิ่วคอหมา, เขื่อนกิ่วลม (แม่น้ำวัง: เชียงราย, ลำปาง, ตาก)
- เขื่อนสิริกิต์, เขื่อนนเรศวร (แม่น้ำน่าน: น่าน, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, พิจิตร, นครสวรรค์)
- เขื่อนแควน้อย (แม่น้ำแควน้อย: กาญจนบุรี, พิษณุโลก)
- เขื่อนทับเสลา (แม่น้ำสแกกรัง: นครสวรรค์, กำแพงเพชร, อุทัยธานี)
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (แม่น้ำป่าสัก เลย, เพชรบูรณ์, ลพบุรี, สระบุรี, พระนครศรีอยุธยา)
- เขื่อนเจ้าพระยา (แม่น้ำเจ้าพระยา: นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ)
สถานการณ์น้ำท่วมปี 2567
กรมอุตุนิยมวิทยา เผยสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคเหนือเดือนสิงหาคม 2567 ว่า เกิดขึ้นจากฝนตกต่อเนื่องและตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม เพราะอิทธิพลของ ‘ร่องมรสุม’ ที่พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยที่มีกำลังแรงขึ้น
โดยพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงจะมีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็น ‘น้ำท่า’ ที่มีปริมาณมหาศาล ซึ่งไหลลงสู่ลุ่มน้ำหนักและลุ่มน้ำสาขาต่างๆ ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบในระดับวิกฤต ได้แก่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ และสุโขทัย
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาชี้ว่า มวลน้ำที่ยังไหลในลุ่มน้ำต่างๆ จะเริ่มทยอยลงมาเรื่อยๆ ฉะนั้นต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์นับจากนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนของภาคเหนือจะเริ่มเลื่อนต่ำลงมา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้นกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ประสบกับฝนตกหนักเป็นเวลาหลายวัน
ขณะที่ ภาคใต้กำลังประสบกับฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังอุทกภัย ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554?
ทั้งนี้ ด้วยการคาดเดาข้างต้น หลายคนเกิดความกังวลว่าสถานการณ์จะซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554 หรือไม่ ที่ถือเป็นฝันร้ายครั้งใหญ่เพราะได้สร้างความเสียหายให้กับหลายพื้นที่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือแม้กระทั่งหลายเดือน
อย่างไรก็ดี สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุข โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่น้ำจะท่วมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑลคือ น้ำเหนือไหลหลาก ประกอบกับพายุ ฝนตกหนักท้ายเขื่อน น้ำทะเลหนุน และการจัดการป้องกันน้ำท่วมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่น้ำท่วมใหญ่ที่คล้ายคลึงกับปี 2554 โดยช่วงเวลาที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ เดือนกันยายนและตุลาคม เพราะช่วงเวลานั้นจะเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องอีกเช่นกัน
ทางด้าน จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลเบื้องต้น “ผลกระทบจากน้ำท่วมปี 2567 ไม่เท่ากับปี 2554 แน่นอน” เพราะปีดังกล่าว มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 5 ลูก ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติ 24% และมีค่ามากที่สุดในรอบ 61 ปี เทียบกับปี 2494 ซึ่งปีนี้ความรุนแรงจะไม่เทียบเท่า อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
อ้างอิงจาก