ไข่ต้มครึ่งซีก ความสุขอยู่ที่ใจ เสรีภาพของผู้มีปัญญา … สารพัดเรื่องราวในภาษาพาที แบบเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง
แล้วทำไมเรื่องนี้ถึงกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึง?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานในโลกออนไลน์ออกมาแชร์ภาพข้อความจากหนังสือภาษาพาที ป.5 หน้า 142 ที่ระบุว่า “ใยบัวรู้สึกตื้นตันจนน้ำตาคลอ รู้แล้วว่า คุณค่าของชีวิตอยู่ที่ไหน … ความสุขอยู่ที่ใจนี่เอง ไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ”
สาเหตุที่ใยบัวตื้นตันจนน้ำตาไหลเพราะเธอได้กินข้าวราดผัดผักบุ้ง ไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา และขนมวุ้นกะทิที่แม้ตอนแรกเธอกังวลใจว่ากินไม่กี่คำก็หมดแล้ว
เมื่อเรื่องราวของ ‘ใยบัว’ ถูกเผยแพร่ ผู้คนก็พร้อมใจกันแชร์บทอื่นๆ ในภาษาพาที ในระดับชั้นเรียนที่แตกต่างกันไป The MATTER จึงขอรวบรวมและหยิบประเด็นที่ถูกวิจารณ์ในแบบเรียนภาษาพาทีมาให้ดูกัน
บี้ไข่ต้ม (ครึ่งซีก) คลุกข้าว แล้วเหยาะน้ำปลา
“…เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวัน ทุกคนนั่งล้อมวงเป็นวงใหญ่ กับข้าวแบ่งเป็น 2 ชุด จานแรกเป็นผัดผักบุ้ง จานที่ 2 เป็นไข่ต้มผ่าครึ่งตามจำนวนคน โดยแต่ละคนตักผักบุ้งพอรับประทาน และไข่ต้มคนละซีก…”
เมื่อหนังสือเรียนบอกว่า กินข้าวกับผัดผักบุ้ง และไข่ต้มครึ่งซีกที่เหยาะน้ำปลาก็พอ แต่แพทย์เตือนว่า อาหารที่เด็กควรได้รับใน 1 วัน ต้องครบ 5 หมู่ โดยสิ่งสำคัญคือโปรตีน ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง กล้ามเนื้อ และการทำงานของ เอนไซม์ในระบบต่างๆของร่างกาย และยังมีเรื่องของ วิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญ ที่ไม่ควรขาดในเด็กอีก อาหาร จึงไม่ใช่เพียง ‘แค่อิ่มท้อง’ หรือ ‘แค่อร่อยปาก’
อยู่ได้ด้วยเงินบริจาค เราจึงอยู่อย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ
“…พวกเราอยู่กันได้ด้วยเงินบริจาคที่ผู้มีจิตเมตตาบริจาคให้แต่ละเดือน บางเดือนก็พอ บางเดือนก็ขาดแคลน แต่พวกเราก็อยู่กันอย่างมีความสุข…”
สะท้อนการเป็น ‘สังคมแห่งการบริจาค’ แต่การบริจาคควรเป็นทางเลือก ไม่ใช่ทางออกหลักของการดูแลเด็กกำพร้า และหน้าที่ในการดูแลเด็กที่แท้จริง ควรเป็น ‘ภาครัฐ’ ดังนั้น การบอกว่าอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค จึงเป็นการปลูกฝังให้มองข้ามความล้มเหลวของการทำงานของรัฐ
ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แต่ทำไมทุกคนมีความสุข ความสุขอยู่ที่ใจนี่เอง ไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ
“…คุณค่าของชีวิตอยู่ที่ไหน บ้านของข้าวปุ้นอยู่กันอย่างพอเพียง ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แต่ทำไมทุกคนมีความสุข ความสุขอยู่ที่ใจนี่เอง ไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อเราคิดดี ทำดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข ใจเราก็สุขตาม…”
เมื่อความยากจนกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าสอนใจ มองภาพความยากจนให้ดูเป็นเรื่องอบอุ่นหัวใจ ยิ่งสะท้อนปัญหาการโรแมนติไซส์ความยากจน (romanticizing the poverty) หรือก็คือ การล้างสมองให้คนยอมรับและอยู่กับความลำบาก
เรื่องเล่าของเด็กข้างบ้านว่า “ใจแตก” จนสุดท้ายมีปัญหาท้องในวัยเรียน
“…เกี๊ยวเป็นลูกสาวคนโต เกี๊ยวตัวสูงใหญ่เกินอายุ หน้าตาสะสวย แต่งตัวเก่ง เกี๊ยวใจแตกตั้งแต่ยังไม่มีคำนำหน้าว่านางสาว ตามีไว้ดูโทรทัศน์ ปากมีไว้กิน และพูดเรื่องไร้สาระ หูมีไว้แนบกับโทรศัพท์มือถือแทบไม่เคยห่าง…”
“…เกี๊ยวสนุกที่จะเอารางวัลมีชีวิต ซึ่งผู้ชายคนไหนก็ได้ที่ชนะเดิมพันจะเอาไปย่ำยี…”
“ผลการเรียนของเกี๊ยวตกต่ำ สอบไม่ผ่าน ประกอบกับไม่มีจิตใจเรียนต่อ เพราะเกี๊ยวกำลังหลงใหลเพื่อนชายมากหน้าหลายตา สุดท้ายเกี๊ยวต้องออกจากโรงเรียน ขณะที่น้องทั้งสองคนประพฤติตัวอยู่ในโอวาท ผลการเรียนก้าวหน้าเป็นลำดับ .. ป้านวลและลุงพจน์น้ำตาแทบเป็นสายเลือด เมื่อรู้ว่าลูกสาวสุดที่รักฉลองคำนำหน้านางสาวด้วยการตั้งท้องลูกไม่มีพ่อ”
ปัญหาการท้องในวัยเรียนถูกผลักให้เป็นความผิดของปัจเจกเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ เกิดจากปัญหาอีกมากมาย เช่น ปัญหาความเข้าใจเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ ทั้งในระดับครอบครัวและการศึกษาในโรงเรียน การเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข เป็นต้น
เสรีภาพเป็นของผู้มีปัญญา ประชาธิปไตยต้องมีใจไม่ลุ่มหลง
“เสรีภาพเหมือนดาบสองคมหนอ อาจเกิดก่อคุณและโทษประโยชน์หย่อน
หากผู้ใช้ไร้ปัญญาพาเดือดร้อน ไม่สังวรขอบเขตนำเภทภัย
ได้เสรีมีผลทุกคนชอบ ถูกระบอบศีลธรรมนำสุขให้
ไม่ล่วงล้ำสิทธิของผู้ใด เทิดประชาธิปไตยให้ยืนยง”
“อันประชาธิปไตยนั้นใหญ่ยิ่ง ค่าแท้จริงอยู่ที่ใจไม่ลุ่มหลง
ใช้คุณธรรมเป็นหลักปักใจตรง ยุติธรรมดำรงตลอดกาล
มีประชาธิปไตยในชีวิต เคารพสิทธิ์กันและกันหมั่นประสาน
มีประชาธิปไตยในวงงาน กอบกิจการด้วยศรัทธาค่าอนันต์”
แต่ประชาธิปไตย คือการมองเสียงของทุกคนเท่ากัน ดังนั้น การบอกว่าเสรีภาพเป็นของที่เหมาะกับผู้มี ‘ปัญญา’ และต้องมีประชาธิปไตยอย่างมี ‘คุณธรรมเป็นหลักปักใจ’ นั้น จึงขัดกับความเชื่อที่ว่า เสียงของทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีเชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา และชนชั้นใด