เด็กควรตั้งคำถามว่าทำไมเขาได้กินไข่แค่ครึ่งซีก ในขณะที่บางคนอาจไม่ต้องกินไข่ต้มหรือมาม่าเลยทั้งชีวิต
#ไข่ต้ม จากเรื่องราวอิ่มสุขด้วยไข่ต้มครึ่งซีกในหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ‘ภาษาพาที’ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลายเป็นประเด็นร้อนที่พบเห็นได้แทบจะทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
เนื้อหาในบทนี้ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘ใยบัว’ เด็กสาวจากบ้านที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งถูกเพื่อนรักอย่าง ‘ข้าวปุ้น’ ชักชวนให้ไปเยี่ยมบ้านเด็กกำพร้าที่เธออาศัย
จุดที่หลายคนตั้งข้อสังเกตคือ ในระหว่างการเรียนรู้วิถีชีวิตที่บ้านเด็กกำพร้า เด็กทั้งสองต้องกินอาหารกลางวันที่มีเพียง ‘ผัดผักบุ้งและไข่ต้มผ่าครึ่งตามจำนวนคน’ เป็นกับข้าว ตอนนั้นเอง ข้าวปุ้นได้แนะนำใยบัวที่คิดว่ากับข้าวแค่นี้ไม่น่าจะเพียงพอให้ลอง ‘บี้ไข่คลุกข้าวแล้วเหยาะน้ำปลา’ ก่อนที่สุดท้าย ใยบัวจะกินอย่างเอร็ดอร่อย พร้อมทั้งได้แง่คิด ซึ่งตามบทเรียนเขียนไว้ว่า
“ใยบัวรู้สึกตื้นตันจนน้ำตาคลอ รู้แล้วว่าคุณค่าของชีวิตอยู่ที่ไหน
บ้านของข้าวปุ้นอยู่กินอย่างพอเพียง ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกหลายอย่าง
แต่ทำไมทุกคนมีความสุข ความสุขอยู่ที่ใจนี่เอง”
นิทานตัวอย่างจากแบบเรียนนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจของผู้เขียนตำราที่พยายามชี้ชวนให้มองภาพความลำบากอย่างสวยหรู แอบแฝงกรายๆ ให้ยอมแพ้ต่อปัญหาเชิงโครงสร้างแล้วหาทางพอใจในเงื่อนไขชีวิตของตัวเอง หรือบางฝ่ายก็ออกตั้งคำถามตัวโตว่า มื้อนี้ชี้ให้เห็นถึง ‘ความพอเพียง’ หรือ ‘อดอยาก’ กันแน่ เพราะตัวละครในเรื่องไม่น่าจะได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการอย่างครบถ้วน เพียงพอ เสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการในอนาคต ฯลฯ
จากเรื่องราวที่เริ่มต้นจากไข่ต้มฟองนี้ The MATTER จึงชวน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมสำรวจความเหลื่อมล้ำ พร้อมตั้งคำถามไปยังผู้เขียนตำราถึงปัญหาซึ่งถูกสะท้อนผ่านแบบเรียนมาตรฐานภาษาไทย
กรณี ‘ไข่ต้มครึ่งซีก’ ในแบบเรียนภาษาพาทีสะท้อนปัญหาในสังคมไทยอย่างไรบ้าง?
ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่น่าจะเป็นเหมือนกันทุกวงการ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับวงการของนักการศึกษาที่เขียนแบบเรียนเท่านั้น คือคนที่ออกนโยบายส่วนมากในทุกวงการของไทยอาจจะไม่เคยใช้ชีวิตแบบที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน พวกเขาจึงไม่เข้าใจ เวลาจะออกนโยบายอะไรสักอย่างจึงเหมือนการฉายภาพความจนให้เป็นเรื่องแฟนตาซี มองความจนไม่ต่างจากเวลาที่พวกเขาไปบริจาค ไปทำอีเวนต์ มองความจนเป็นสิ่งชั่วคราวเหมือนเวลาพวกเขาดูหนัง ดูละคร ดูจบ เรื่องนี้ก็จบไป
เพราะฉะนั้น นโยบายต่างๆ จากพวกเขาจึงดูเหมือนออกมาจากนิยายมากๆ อันนี้ยังไม่นับรวมความเข้าใจเรื่องโภชนาการด้วยนะ แต่โดยรวม ภาพที่ออกมาก็ทำให้รู้ว่าคนที่ออกนโยบายไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของคนจริงๆ และตัวแบบเรียนภาษาพาทีนี้ก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจทั้งหลาย
มีตัวอย่างด้านอื่นๆ อีกมั้ยที่สนับสนุนว่าผู้ออกนโยบายไม่มีความเข้าใจในสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมากพอ?
ตัวอย่างที่ใกล้ที่สุด เช่น การยืนยันตัวตนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่หลายคนต้องเดินทางไกล 90 กิโลเมตร เพื่อเข้ามายืนยันตัวตนที่ธนาคารกรุงไทย หรือบางคนก็ต้องไปหามือถือที่สามารถโหลดแอปฯ ได้ คนที่ออกนโยบายอาจจะคิดว่า มันง่ายจะตาย ทุกวันนี้ ใครๆ ก็มีมือถือ หรือถ้าทำไม่ได้ ก็ไปธนาคารสิ มีอยู่ทุกที่ แถวบ้านฉันก็มี ห่างไปแค่ 2 กิโลเอง คือมันขาดความเข้าใจในสภาพความเป็นจริงของคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับความยากจนตลอดเวลา แถมยังขาดความเข้าใจในสภาพของปัญหาจริงที่เกิดขึ้น หลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีคิดที่พวกเขาใช้กัน
หรือจำกันได้มั้ย เมื่อสัก 2-3 ปีก่อนที่มีการดีเบตเรื่องการขอขึ้นค่าอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งพิจารณาปรับขึ้นแค่จาก 20 บาท เป็น 21 บาท แต่ต้องถกเถียงเรียกร้องกันแทบเป็นแทบตาย ในขณะที่ค่าข้าวกล่องอาหารกลางวันในรัฐสภาที่ ส.ส. และ ส.ว. กิน ตกต่อหัวประมาณ 500-600 บาท นี่เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเหรอ
หลายฝ่ายกังวลว่าเนื้อหาในหนังสืออาจทำให้เด็กมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักโภชนาการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงออกมาชี้แจงว่า ในบทเรียนวิชาสุขศึกษามีข้อมูลที่ถูกต้องระบุไว้อยู่แล้ว อาจารย์คิดเห็นอย่างไรในประเด็นนี้?
คือถ้าเราจะบอกว่าในวิชาสุขศึกษามีการพูดถึงสิ่งที่ควรเป็น แต่ในอีกวิชากลับพูดถึงสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ควรเป็น นี่ก็คือสิ่งที่เราควรถกเถียงเพื่อหาทางแก้ไขไม่ใช่เหรอ การที่คณะกรรมการการศึกษาฯ ออกมาพูดแบบนี้ก็ดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผล นี่เป็นแบบเรียนบังคับ แต่หนังสือไม่ได้มีท่าทีชี้แจ้งด้วยซ้ำว่าเนื้อหาในเล่มผ่านฐานความคิดหรือชุดอุดมการณ์แบบไหน แถมยังไม่ได้มีบทสนทนาที่แสดงให้เห็นว่า จริงๆ มีทางเลือกหรือทางแก้ปัญหาแบบอื่นอีกรึเปล่า
คุณไม่ได้เสนอเลยว่า เราอาจจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ผ่านการต่อสู้ ผ่านการไม่สยบยอมต่อผู้มีอำนาจ ผ่านการร้องเรียน หรือแทนที่จะอดทน ทำไมเด็กจึงไม่ควรตั้งคำถามว่า ทำไมเขาได้กินไข่แค่ครึ่งซีกจากงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้แบบนี้ ในขณะที่บางคนอาจไม่ต้องกินไข่ต้มหรือมาม่าเลยทั้งชีวิต
หลายคนอาจจะอ้างว่า ป.5 ยังเด็กเกินไป วิธีแก้ปัญหาพวกนี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่คนเขียนหนังสือก็เริ่มยัดเยียดความคิดแบบอนุรักษ์นิยมให้เขาตั้งแต่อายุแค่ 10-11 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่สมควรจะมีทางเลือกต่อรูปแบบสังคมที่หลากหลายได้
หรือบทเรียนอาจจะแค่ต้องการนำเสนอวิธีมองโลกในแง่ดี มีความสุขภายใต้เงื่อนไขชีวิตของตัวเอง?
ต่อให้ตีความแบบนั้นที่ดูจะเข้าข้างคนเขียนแบบเรียนมากไปนิด สุดท้ายการใช้วิธีมองโลกในแง่ดี แต่มองข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ใหญ่โตมากในประเทศไทยก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี
แล้วแบบนี้ หนังสือเรียนที่ควรจะเป็นในความคิดเห็นของอาจารย์ควรมีหน้าตาอย่างไร?
ผมเคยได้อ่านนิทานที่ฟินแลนด์ใช้สอนเด็ก ซึ่งก็มีการพูดถึงปัญหาเหล่านี้เหมือนกัน ในเรื่องเหมือนจะเล่าถึงการโต้เถียงว่าจะจัดสรรสนามเด็กเล่นให้เด็กหรือจะใช้พื้นที่เพื่อทำลานจอดรถ ในนิทาน เด็กรวมตัวกันไปยื่นหนังสือแก่นายกเทศมนตรีเพื่อขอให้ทำการแก้ไข นายกเทศมนตรีบอกว่า เรื่องนี้แก้ไขไม่ได้หรอก สนามเด็กเล่นราคาแพง ดูแลรักษายาก แล้วเด็กก็ย้อนถามกลับว่า ถ้านายกเป็นเด็กแบบพวกเราจะอยากได้สนามเด็กเล่นหรือว่าอยากได้ที่จอดรถ
เนี่ย ผมคิดว่ามันควรต้องเป็นแบบนี้ มันควรจะพูดถึงปัญหากันแบบตรงไปตรงมาได้ เราไม่ควรคิดแทนเด็กว่าเด็กต้องอยู่กับความสวยงาม ความกลมเกลียว แต่เราสามารถพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้แม้กระทั่งในหนังสือ ทำไมในสวีเดนถึงมีเกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ขึ้นมา ก็เพราะในโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงประถมพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จนเกรต้ารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ปกติ เธอต้องมีแอ็กชั่นอะไรบางอย่าง ซึ่งพ่อแม่เธอก็ไม่ได้เห็นด้วยนะ แต่การถูกบ่มเพาะผ่านการตั้งคำถามมาโดยตลอดช่วยให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ ถ้าเราจะจบเรื่องนี้ด้วยการบอกว่า ทุกคนสามารถมองในแง่ดี โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ของไทย มันก็จะไม่นำพาเด็กและคนรุ่นถัดไปสู่อะไรเลย ระบบการศึกษาที่พึงจะเป็นของทุกสากลโลกล้วนต้องการเด็กที่ฉลาดกว่าเรา ไม่ใช่เด็กที่จะโง่กว่าหรือคิดได้แบบเดียวกับเรา ผมว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องพยายามให้เกิดขึ้น
แต่เราก็ยังเห็นอยู่ว่า ยังมีอะไรหลายอย่างที่คนรุ่นก่อนพยายามยัดเยียดให้เด็กอยู่ในกรอบ โอเค มันมีคุณค่าบางอย่างที่เราสามารถส่งต่อจากประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนได้ แต่ก็มีคุณค่าอีกหลายอย่างที่เด็กสมควรจะมีสิทธิ์ทลายหรือตั้งคำถามเช่นกัน
ทั้งที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ขนาดนี้ แต่ก็ยังมีผู้ลงสมัคร ส.ส. ออกมาติดแฮชแท็ก ‘saveไข่ต้ม’ อยู่เลย เราควรมองเหตุการณ์นี้ด้วยท่าทีอย่างไร?
ต้องยอมรับว่าในสังคมก็มีทั้งซ้ายและขวา แม้แต่ประเทศที่ก้าวหน้าอย่างสวีเดน อังกฤษ ก็มี เป็นปรากฏการณ์ที่ปกติ แต่ความผิดปกติคือ ถ้าเป็นชนชั้นนำในต่างประเทศที่ต่อสู้กันมา เขาจะรู้จักคำว่าละอายและรู้สึกผิด
เขาอาจจะคิดแบบนี้เหมือนกันเลย กินไข่ต้มก็มีความสุขได้ เป็นอาหารที่ดีเนอะ แต่คุณจะไม่เห็นนักการเมืองอังกฤษหรือสวีเดนแสดงออกแบบนี้ในที่สาธารณะหรอก เขารู้ว่ามันเป็นเรื่องที่น่าละอาย เพราะเขาเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศไม่ว่าทางตรงทางอ้อม แต่เขากำลังจะบอกให้คนพอใจกับไข่ต้มเพียงแค่ครึ่งซีก และเขาก็ทำเป็นแฟนตาซีเหมือนกับพาลูกไปซาฟารีเวิลด์ ไปดูสิงสาราสัตว์ ไปดูป่าอะเมซอนต่างๆ มันเป็นแบบนี้นะความโหดร้ายของป่าเขาลำเนาไพร ไปเสร็จคุณก็กลับบ้านมาอยู่ในที่นอนอันอบอุ่น มันคือเรื่องเดียวกัน ก็หมือนกับคุณพาลูกไปทัวร์กินไข่ต้ม โอ๊ย มันลำบาก แต่ก็อร่อยดีนะลูก แล้วคุณก็กลับมากินอาหารราคาแพงเหมือนเดิม
นี่คือการโรแมนติไซส์ความความจนที่ชนชั้นนำมองจากยอดพีระมิด คนที่รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนกับการเพิ่มค่าอาหารกลางวัน แต่โอเคกับการซื้อเรือดำน้ำ 3 หมื่นล้าน หรือมีฐานประจำการ 3 แสนคน คนเหล่านี้อาจจะรู้สึกว่าปกติ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องความเป็นความตาย เพราะเขาคิดว่าคนก็สามารถมีความสุขได้กับไข่ต้มครึ่งซีก…
นอกจากนี้ กรณีที่น่าตั้งคำถามในแบบเรียนภาษาพาทีก็ไม่ได้จบลงแค่ที่เรื่องของไข่ต้ม แต่ยังบานปลายไปถึงความพยายามในการหล่อหลอมค่านิยมที่อาจไม่สอดรับกับยุคปัจจุบัน โดยสามารถร่วมสังเกตปัญหาในแบบเรียนด้วยกันได้ที่ ‘ภาษาพาที’ มีปัญหาอะไรซ่อนอยู่บ้าง? เมื่อแบบเรียนแฝงมายาคติความยากจน
ก็คงต้องติดตามกันต่อว่า หนังสือภาษาพาที ตลอดจนแบบเรียนภาคบังคับอื่นๆ จะมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับยุคสมัย ค่านิยม และบรรทัดฐานของสังคมหรือไม่ อย่างไร
เพราะท้ายที่สุด เราคงไม่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำราเหล่านี้คือรากฐานชั้นดีในการปลูกฝังตัวตน วิธีคิด และทัศนคติของเด็กไทย ที่หากผู้มีอำนาจเผลอฝาก ‘ความเข้าใจผิด ๆ’ ลงไป ก็อาจนำมาซึ่งอาการป่วยเรื้อรังที่สังคมไทยต้องตามเยียวยารักษาต่อเนื่องไม่รู้จบ