“การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะไม่สูญสิ้นไปจากโลกนี้” อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 16 ของสหรัฐฯ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ที่เกตตีสเบิร์กในปี 1863
ถ้าเราพูดถึงระบบการปกครองของสหรัฐฯ อาจจะดูช่างซับซ้อน แต่ระบบที่หลายขั้นตอนเหล่านี้เอื้อให้ผู้ลงคะแนนเสียงทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการปกครองทุกระดับ ซึ่งอีเวนท์ใหญ่ที่ใกล้เข้ามานี้คือการเลือกตั้งระดับประเทศ หรือ US Election 2024 ที่กำลังน่าจับตามอง
แต่ก่อนที่เราจะไปดูการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นนี้ The MATTER จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจระบบเลือกตั้งของสหรัฐฯ ว่ากว่าที่แคนดิเดตคนหนึ่งจะขึ้นไปสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี เขาต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง?
การเลือกตั้งของสหรัฐฯ มีรายละเอียดที่น่าสนใจมาก เริ่มตั้งแต่การเลือกวันเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในสหรัฐฯ จะต้องจัดขึ้นในปีที่ลงท้ายด้วยเลขคู่ในวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน อย่างเช่นในปี 2024 นี้ วันที่ถูกกำหนดให้เลือกตั้งคือวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนนี้
ทำไมถึงมีแค่ 2 พรรคการเมืองให้เลือก?
เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศก็เริ่มขยายอาณาเขต ในเวลานั้นก็มีพรรคการเมืองถือกำเนิดขึ้นมากมาย แม้ในปัจจุบันพรรคเดโมแครต และรีพับลิกันจะมีบทบาทมากที่สุดในกระบวนการทางการเมืองก็ตาม โดยนับตั้งแต่ปี 1852 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีที่ขึ้นรับตำแหน่งจะมาจาก 2 พรรคการเมืองนี้เท่านั้น
ระบบการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ใช้หลัก ‘first past the post’ ที่หมายถึง ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดก็จะชนะไปเลย ซึ่งไม่จำเป็นต้องชนะขาดลอยในเขตนั้นๆ ระบบที่ว่านี้จึงทำให้พรรคการเมืองเล็กๆ ในสหรัฐฯ เอาชนะพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรคนั้นได้ยาก
ไทม์ไลน์เลือกตั้ง
- เดือนมิถุนายนถึงกันยายน – วันเลือกตั้งขั้นต้น และการประชุมภายใน
- ต้นเดือนพฤศจิกายน – วันเลือกตั้งทั่วไป ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับแคนดิเดตประธานาธิบดีที่ต้องการ ซึ่งส่วนมากจะมีการประกาศตัวเต็งหลังจากปิดหีบในคืนวันเลือกตั้ง จากนั้นรัฐจะนำผลเลือกตั้งทั่วไปมาใช้แต่งตั้ง ‘คณะผู้เลือกตั้ง’
- ช่วงกลางเดือนธันวาคม – คณะผู้เลือกตั้งประชุมภายกันในรัฐของตัวเอง เพื่อลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีบนบัตรเลือกตั้งที่แยกกัน
- ช่วงกลางเดือนธันวาคม – ประธานวุฒิสภาได้รับผลการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งภายในระยะเวลาไม่เกิน 9 วันหลังการประชุมคณะผู้เลือกตั้ง
- กลางเดือนมกราคม – รองประธานาธิบดีในฐานะประธานวุฒิสภาเป็นประธานในการนับคะแนนในสภาคองเกรส
- 20 มกราคม – สหรัฐฯ ยึดวันนี้เป็นวันที่ว่าที่ประธานาธิบดีและว่าที่รองประธานาธิบดี (หากตรงกับวันอาทิตย์จะเลื่อนเป็นวันที่ 21 มกราคมแทน) เข้าพิธีกล่าวคำสาบานตนและเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
หนทางสู่การเป็น ‘ประธานาธิบดี’ ต้องเจอกับอะไรบ้าง?
ถึงแม้จะมีนักการเมืองหลายคนที่สนใจเป็นประธานาธิบดี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองเพื่อลงชิงชัยในสนามเลือกตั้ง ซึ่งขั้นตอนแรกของการเลือกตั้งสหรัฐฯ คือผู้ที่สนใจเป็นตัวแทนของพรรค จะต้องลงสมัครเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกภายในก่อน โดยรวมๆ แล้วแบ่งออกเป็น 2 วิธี
- การเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Vote) – วิธีนี้หากเป็นแบบ ‘ปิด’ จะเป็นการลงคะแนนเสียงโดยสมาชิกพรรคเท่านั้น แต่ถ้าเป็นแบบ ‘เปิด’ ผู้มีสิทธิออกเสียงทุกคนสามารถลงคะแนนเลือกได้ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็ตาม เพื่อหาผู้สมัครที่ดีที่สุด
- การประชุมคอคัส (Caucus) – เป็นการประชุมภายใน มีการอภิปรายและลงคะแนนหลายครั้ง เพื่อหาผู้สมัครที่ดีที่สุด
หลังจากที่ได้แคนดิเดตเพียงหนึ่งเดียวของพรรคแล้ว ตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะทำการเลือกคู่หู เพื่อเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และก็เริ่มลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อหาเสียงกันต่อในระดับประเทศ
เมื่อประชาชนผู้มีสิทธิออกไปทำการเลือกตั้ง แม้จะกาแค่ 1 เบอร์ ในกระดาษเลือกตั้ง 1 ใบเพื่อเลือกประธานาธิบดี แต่จริงๆ ประชาชนผู้ใช้สิทธิในแต่ละรัฐกำลังลงคะแนนให้กับ ‘ผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี’ ซึ่งในแต่ละรัฐก็จะมีจำนวนต่างกันออกไป
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นเช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนียมีกำหนดจำนวนผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่ที่ 55 เสียง หากพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถเอาชนะการเลือกตั้งในพรรคนี้ได้ ก็จะได้เสียงของผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีมา 55 เสียง โดยผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (270 เสียง) จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี
สิ่งนี้มีความแตกต่างจากระบบการเลือกตั้งของไทยโดยสิ้นเชิง โดยระบบเลือกตั้งของไทยเป็นระบบผสม คือ สามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบรายเขต (ส.ส.เขต) และการเลือกพรรคที่ชอบได้ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) กลับกันกับระบบเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่ใช้ระบบคะแนนนำ เป็นระบบเลือกประธานาธิบดีหรือผู้นำ ซึ่งชาวอเมริกันที่ไปลงคะแนนจะต้องลงคะแนนให้กับผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีจากพรรคที่ต้องการ ซึ่งผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีจะไปลงคะแนนให้กับประธานาธิบดีอีกที
Swing state – รัฐสมรภูมิ
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พรรคการเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ต่างหวังว่าจะกวาดชัยชนะได้ในหลายๆ รัฐ แต่จะมีบางรัฐที่คะแนนเสียงสูสีกันเกินกว่าที่จะบอกได้ว่าพรรคไหนจะคว้าชัยไป เราเลยเรียกรัฐเหล่านี้ว่า Swing state
รัฐที่ปกติแล้วจะเป็น Swing state และมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ได้แก่ แอริโซนา, ฟลอริดา, มิชิแกน, เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน นอกจากนี้ นิวแฮปเชียร์ นอร์ทแคโรไลนาก็ถือเป็นรัฐที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็น Swing state ด้วย
สิ่งที่ทำให้การแข่งขันทางการเมืองสหรัฐฯ ดุเดือดขึ้นคือหลัก Winner takes all เพราะต่อให้ผู้สมัคร A จะเป็นคนที่ประชาชนลงคะแนนให้เยอะที่สุด แต่ก็ไม่ได้แปลว่า A จะชนะในการเลือกตั้ง
โดยกรณีดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในการเลือกตั้งปี 2000 ที่จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช จากพรรครีพับลิกัน ได้รับคะแนนเสียง 50.45 ล้านคน แต่สามารถเอาชนะ อัล กอร์ จากพรรคเดโมแครตที่ได้คะแนนเสียง 50.99 ล้านคน เนื่องจากจอร์จได้รับคะแนนคณะผู้เลือกตั้งไปที่ 271 คะแนน ขณะที่ กอร์ได้เพียง 266 คะแนน
และในปี 2016 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถเอาชนะ ฮิลลารี คลินตันด้วยคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งที่ 304 คะแนนต่อ 227 คะแนน แม้ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงคะแนนเสียงให้กับฮิลลารีถึง 65 ล้านคนต่อ 62 ล้านคนก็ตาม
ซึ่งสิ่งที่น่าจับตาในสนามเลือกตั้งปี 2024 นี้คือ แคนดิเดตจากทั้ง 2 พรรคใหญ่อย่าง ‘กมลา แฮร์ริส’ จากพรรคเดโมเครต และ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งมีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว รวมถึงแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งในและนอกสหรัฐฯ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเราอย่างแน่นอน ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
อ้างอิงจาก