ผมติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2016 อย่างหงอยๆ เพราะรู้สึกว่าเป็นการเลือกตั้งที่หมดสนุก สลดหดหู่ และไร้ซึ่งความหวังที่สุดตั้งแต่ติดตามการเมืองอเมริกามาหลายปี (ไม่นับกระแส feel the bern ของคุณปู่เบอร์นี่ แซนเดอร์ส สมาชิกวุฒิสภารัฐเวอร์มอนต์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต)
ทั้งฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ต่างก็เป็นผู้สมัครที่มีคนเกลียดมากกว่าคนรักในสายตาของประชาชนทั่วไป (ระดับ 60:40 เท่ากันทั้งคู่) ไม่ต้องพูดถึงกองเชียร์ของพรรคฝั่งตรงข้ามที่โคตรเกลียด ส่วนกองเชียร์ภายในพรรคตัวเองจำนวนมากก็ไม่ชอบหน้าเช่นกัน
เพียงแค่ 8 ปี บรรยากาศแห่งความหวังที่โอบามาปลูกไว้ในการเลือกตั้งปี 2008 ก็มลายสิ้นจากสังคมการเมืองอเมริกัน เหลือเพียงความเป็นจริงทางการเมืองที่ขมขื่น ฉาวโฉ่ ไร้ทางเลือก เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจและความเกลียดชัง
แล้วผลลัพธ์ของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ก็หักปากกาเซียน ฉีกผลโพลทุกสำนัก โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 20 มกราคม 2560 เวลาเที่ยงตรง ทั้งที่เริ่มต้นจากผู้สมัคร “ตัวตลก” เมื่อครั้งประกาศลงชิงตำแหน่ง
ทรัมป์กำลังจะเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เป็น “คนนอก” วงการการเมืองอย่างแท้จริง เขาไม่เคยดำรงตำแหน่งสาธารณะใดๆ มาก่อนเลยทั้งในระดับประเทศและระดับรัฐ ไม่ว่า รมต. ส.ส. ส.ว. ผู้ว่าการรัฐ ข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการประจำ รวมถึงแทบไม่เคยมีบทบาทในพรรครีพับลิกันก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งนี้
ทำไมทรัมป์ถึงมาไกลได้ขนาดนี้ หรือคลินตันพลาดตรงไหน
เมื่อมองย้อนหลังแบบฉลาดหลังเหตุการณ์ ผมคิดว่าการกำหนดยุทธศาสตร์การเมืองที่ผิดพลาดที่สุดของคลินตันคือ หลังจากเอาชนะแซนเดอร์ส ก้าวขึ้นเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตได้แล้ว คลินตันมั่นใจว่าตุนคะแนนเสียงฝั่งเดโมแครตไว้กับตัวได้แน่ คิดว่าคนเดโมแครตคงไม่มีใครเลือกทรัมป์ลง เธอจึงเลือกเส้นทางสู้กับทรัมป์ด้วยการเดินสายกลาง พยายามดึงคะแนนเสียงของคนกลางๆ ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร รวมถึงผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันที่ทำใจเลือกทรัมป์ไม่ได้ ให้หันมาเลือกตนเอง แทนที่จะเดินหน้าปลุกพลังการเมืองของฐานเสียงเดโมแครตต่อ
ความคิดเชิงยุทธศาสตร์การเมืองกระแสหลักในตอนนั้นคือ ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นของคลินตันแน่ถ้าไม่พลาดเสียเอง โจทย์ใหญ่คือการรักษาการนำ ระมัดระวังไม่ให้เพลี่ยงพล้ำ อย่าลืมว่าในตอนนั้นทีมทรัมป์หาเสียงกันอย่างสะเปะสะปะ มีข้อผิดพลาดรายวัน ขาดประสบการณ์จัดการแบบมืออาชีพ เงินก็ร่อยหรอ มีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการแคมเปญ แกนนำคนสำคัญของพรรครีพับลิกันก็ไม่สนับสนุน แถมหลายคนประกาศว่าจะเลือกคลินตันเสียอีก กระทั่งทรัมป์ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันแล้วก็ยังมีข่าวกดดันให้ทรัมป์ถอนตัวเพื่ออนาคตของพรรคด้วยซ้ำไป
ทีมคลินตันก็เลยหาเสียงแบบปลอดภัยไว้ก่อน ไม่สุดขั้ว ไม่เปรี้ยวเกินไป พยายามดึงคนนอกพรรคให้หันมาเลือกตน พร้อมรักษาฐานเสียงเดโมแครตของตัวไว้แบบไม่หวือหวา แนวทางนี้จึงยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์นักการเมืองรุ่นเก่าที่น่าเบื่อ ไม่นำพาการเปลี่ยนแปลง และเอาใจชนชั้นนำทางการเมืองเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปวางเทียบกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่หาเสียงโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการเมืองแบบดั้งเดิม ไม่สนใจกระทั่ง political correctness ในวัฒนธรรมการเมืองอเมริกัน พูดจาเหยียดผิว เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ อยู่ตลอดเวลา โจมตีคลินตันแบบสาดเสียเทเสียอย่างรุนแรง และนำเสนอนโยบายเกินจริง เช่น สร้างกำแพงยักษ์กั้นพรมแดนสหรัฐกับเม็กซิโก โดยแทบไม่สนใจที่จะถกเถียงเรื่องนโยบายเชิงลึกเลย
หรือกระทั่งเมื่อเทียบกับอดีตคู่แข่งภายในพรรคอย่างแซนเดอร์ส ซึ่งแก่แบบไฟลุกโชน กลับดูปลุกเร้าพลังการเมืองใหม่ๆ ได้มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ระดมเสียงสนับสนุนจากการเลือกตั้งขั้นต้นได้เกือบ 15 ล้านเสียง ทำให้พลิกบทบาทจากม้านอกสายตาที่ลงเลือกตั้งเพื่อบีบให้คลินตันต้องใส่ใจฐานเสียงฝ่ายก้าวหน้าในพรรคบ้าง กลายมาเป็นแกนนำ movement เพื่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นคู่แข่งตัวจริงที่ต่อสู้กับคลินตันได้อย่างสูสีตลอดเส้นทาง จนเธอเกือบจะมอดไหม้จากกระแส feel the bern แกนนำพรรคเดโมแครตถึงกับต้องออกแรงอุ้มชูคลินตันกันพัลวันทั้งในที่แจ้งและที่ลับกว่าจะเอาตัวรอดมาได้ แต่ชัยชนะของคลินตันเหนือแซนเดอร์สในศึกสนามเล็กที่สูสีก็สร้างความผิดหวังและเจ็บช้ำน้ำใจให้กองเชียร์ของคุณปู่ไม่น้อย จนหลายคนประกาศว่าจะไม่ยอมสนับสนุนคลินตันในสนามใหญ่
หนึ่งในการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สะท้อนความผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์ของคลินตันได้อย่างดีคือการเลือกคู่สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเป็นทิม เคน อดีตผู้ว่าการรัฐและสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเวอร์จิเนีย อดีตประธานกรรมการระดับชาติของพรรคเดโมแครต แทนที่จะเลือกแซนเดอร์ส เพื่อความสมานรอยร้าวในพรรค หรืออลิซาเบธ วอร์เรน สมาชิกวุฒิสภารัฐแมสซาชูเซตส์ ขวัญใจเบอร์หนึ่งของสายก้าวหน้าในพรรคเดโมแครตในปัจจุบัน ซึ่งมีเสียงเรียกร้องหนาหูให้ลงสมัครประธานาธิบดีในครั้งนี้ด้วย แต่เธอปฏิเสธ
ทั้งแซนเดอร์สและวอร์เรนได้รับแรงสนับสนุนจากผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่และสมาชิกสายก้าวหน้าผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เพราะสนับสนุนนโยบายเพื่อชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง สู้กับพวกกลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มทุนวอลสตรีท และมีภาพลักษณ์นักเปลี่ยนแปลง ทำงานและพูดจาตรงไปตรงมา
ก่อนหน้าที่คลินตันจะตัดสินใจเลือกเคน วอร์เรนอยู่ใน short list ของคลินตันรอบสุดท้ายด้วย คลินตันเคยออกไปลองหาเสียงคู่กับวอร์เรน ปรากฏว่าสร้างพลังคึกคักบนเวทีหาเสียงได้มาก ปลุกระดมมวลชนได้กว้างขวาง จนมีกระแสสนับสนุนล้นหลามให้สองสาว(แก่)ลงคู่กัน แต่สุดท้าย คนรุ่นใหม่และสายก้าวหน้าในพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับแฟนคลับของเบอร์นี่ก็ต้องอกหักอีกครั้ง เมื่อคลินตันตัดสินใจเลือกเคน ตัวเลือกปลอดภัยที่เธอไว้ใจแทน แม้เคนจะไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่สาธารณชนและแลดูไร้บารมี แต่เป็นนักประสานการเมืองที่เก่ง และเป็นที่รักในแวดวงนักการเมืองทั้งสายเดโมแครตและรีพับลิกัน การตัดสินใจครั้งนี้ยิ่งสะท้อนว่าคลินตันเลือกที่จะเล่นการเมืองข้างบนมากกว่าการเมืองข้างล่าง
ทีมคลินตันคงคิดว่าพวกเขาทำตามตำราการเมืองได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ยุทธศาสตร์การเมืองที่เลือกใช้ก็เข้าทีตามเงื่อนไขสถานการณ์ ไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็นทีมงานของคลินตัน สื่อมวลชน นักการเมือง และคอการเมืองส่วนใหญ่ (อาจจะกระทั่งทีมงานของทรัมป์เองด้วย) มองเห็นเค้าลางความพ่ายแพ้ของเธอจวบจนกระทั่งหลังปิดหีบนับคะแนน ทีมคลินตันเตรียมการเฉลิมฉลองใหญ่กันล่วงหน้า แกนนำในพรรคบางคนโพสต์รูปแชมเปญลงโซเชียลมีเดียก่อนวันเลือกตั้งแบบไม่กลัวหน้าแตก
เสียแต่เพียงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้ง “ฉีกตำรา” การเดินตามตำราการเมืองดั้งเดิมจึงไม่เพียงพอ ผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ใช้สิทธิ์ต้องการการเปลี่ยนแปลงจากการเมืองแบบเดิมและแบบเดิมๆ แบบเดิมคืออยากออกไปจากการเมืองที่มีเดโมแครตเป็นอำนาจนำ เช่น ไม่เห็นด้วยกับ obama care ไม่เห็นด้วยกับการต่อต้านสิทธิในการพกอาวุธปืน ไม่เห็นด้วยกับ TPP ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศ เช่น การทำข้อตกลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่าน เป็นต้น ส่วนแบบเดิมๆ คืออยากออกไปจากการเมืองของนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่นำพาการเปลี่ยนแปลงและมุ่งรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำทางการเมืองและธุรกิจ โดยต้องการการเมืองใหม่ แม้จะเป็นการเมืองใหม่แบบทรัมป์ที่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะนำประเทศไปสู่จุดใดก็ตาม แต่ก็ยังอยากลอง ขอให้ออกไปจากจุดที่ยืนอยู่ก่อนก็พอ สำหรับกลุ่มหลังนี้ ทรัมป์ดูจะเป็นตัวเลือกเดียว หากมีแซนเดอร์สอยู่ด้วย ก็น่าสนใจว่ากลุ่มพลังนี้จะเอนเอียงไปทางทิศไหนมากกว่ากัน
ผลการเลือกตั้งชี้ว่า กลุ่มที่มีพลังมากที่สุดในการกำหนดผลการเลือกตั้งครั้งนี้คือ กลุ่มแรงงานชาย ผิวขาว มีอายุ การศึกษาไม่สูง อาศัยอยู่แถบชนบทในรัฐที่เคยเป็นแหล่งผลิตด้านอุตสาหกรรม เช่น รัฐมิชิแกน วิสคอนซิน โอไฮโอ เพนซิลวาเนีย คนกลุ่มนี้เคยเป็นฐานเสียงเดโมแครตมาก่อน แต่รอบนี้แปรพักตร์หันมาสนับสนุนทรัมป์เป็นจำนวนมาก จนสามารถเอาชนะ หักกลบลบเสียงสนับสนุนเดโมแครตในเขตเมือง เปลี่ยน 4 รัฐ “สนามรบ” (battleground state หรือ swing state) จากสีน้ำเงินเป็นสีแดงได้สำเร็จแบบเหนือความคาดคิด นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเรียกคนกลุ่มนี้ว่า angry white man ผู้กล่าวโทษ immigration (โดนผู้อพยพลี้ภัยแย่งงาน) และ globalization (โดนแรงงานราคาถูกชาติอื่นแย่งงานจากการย้ายฐานการผลิต) ว่าทำให้ชีวิตของเขาเผชิญกับความยากลำบาก
ในกลุ่มรัฐเหล่านี้ มีเพียงโอไฮโอ ที่พอมองเห็นก่อนเลือกตั้งว่าเอนเอียงไปทางทรัมป์มากกว่าคลินตัน ส่วนเพนซิลวาเนีย โพลชี้ว่าคะแนนคลินตันนำขาด ในวันเลือกตั้งตอนนับคะแนนช่วงแรกๆ คลินตันก็นำ แต่ทรัมป์กลับมาพลิกชนะได้ในช่วงท้าย เรียกว่าเป็นรัฐตอกฝาโลงที่ถวายพานตำแหน่งประธานาธิบดีให้ทรัมป์แบบชัวร์ๆ (ผมขึ้นนอนตอนนั้นแหละครับ) ที่น่าสนใจที่สุดคือมิชิแกนกับวิสคอนซิน ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐพระเอกของทรัมป์ในคราวนี้ เพราะแทบไม่มีใครเอะใจมาก่อน โดยเฉพาะทีมคลินตันและสื่อมวลชนทั่วไป นอกจากไมเคิล มัวร์ ซึ่งออกมาชี้ความคับข้องใจของคนกลุ่มนี้ในสารคดี Trumpland ของเขา รวมถึงทีมงานของทรัมป์ที่ยังวนเวียนหาเสียงในรัฐพวกนี้ในโค้งสุดท้าย ท่ามกลางเสียงหัวเราะเยาะของคู่ต่อสู้ว่าเปล่าประโยชน์ ว่ากันว่าหลังจากผ่านพ้นศึกชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตกับแซนเดอร์ส คลินตันแทบไม่ได้เหยียบมิชิแกนกับวิสคอนซินเลย เพราะมั่นใจมากว่าชนะใส โดยไม่ได้ใส่ใจว่าชัยชนะของแซนเดอร์สต่อเธอในสองรัฐนี้เป็นสัญญาณเตือนถึงพลังการเมืองที่เปลี่ยนไป
ส่วนกลุ่มผู้หญิงที่คาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นกำลังสนับสนุนสำคัญของคลินตัน จากจุดขายประธานาธิบดีหญิงคนแรก เอาเข้าจริงกลับไม่ได้ทรงพลังอย่างที่คิด ผู้หญิงเลือกคลินตันเกินครึ่ง แต่ก็เลือกทรัมป์ถึงกว่า 40% แม้ทรัมป์จะออกมาพูดจาทำนองดูถูกผู้หญิง แต่ผู้หญิงสายรีพับลิกันที่ไม่เอาเดโมแครตก็บอกว่า ถึงแม้ไม่ชอบ แต่ก็ขอมองข้ามและเลือกทรัมป์อยู่ดี
ตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจคือ คะแนนเสียงทั้งประเทศที่ทั้งทรัมป์และคลินตันได้รับนั้นน้อยลงมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งสองครั้งก่อน ฝั่งรีพับลิกันนั้นไม่ต่างจากเดิมมาก (ปี 2008 แม็คเคนได้ 60 ล้านเสียง ปี 2012 รอมนีย์ได้ 61 ล้านเสียง ส่วนทรัมป์ล่าสุดได้ 60.3 ล้านเสียง) แต่ฝั่งเดโมแครตนั้น คลินตันได้คะแนนเสียงน้อยกว่าโอบามามาก (ปี 2008 โอบามาได้ 69.5 ล้านเสียง ปี 2012 ได้ 66 ล้านเสียง ส่วนคลินตันล่าสุดได้ 60.8 ล้านเสียง) ในวันเลือกตั้งมีข่าวว่าคะแนนของทรัมป์น้อยกว่าแม็คเคนกับรอมนีย์เสียอีก แต่นั่นเป็นคะแนนที่ยังนับไม่ครบทั้งหมดนะครับ (กระทั่งตอนนี้ก็ยังนับไม่ครบ) การที่คนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยอาจแสดงถึงความสิ้นหวังของผู้คนต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ จนทำให้ “เลือก” ที่จะไม่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ตัวเลขบอกเราว่าฝั่งเดโมแครตรู้สึกสิ้นหวังกว่ารีพับลิกันมาก เสียงของคลินตันหายไปร่วม 5 ล้านเสียง หากเทียบกับคนที่เคยเลือกโอบามาเมื่อ 4 ปีก่อน และ 9 ล้านเสียง เมื่อเทียบกับเสียงที่โอบามาได้รับเมื่อ 8 ปีก่อน
เหล่านักวิเคราะห์ผู้ฉลาดหลังเหตุการณ์มองว่าเหตุที่คลินตันต้องประสบความพ่ายแพ้ มิใช่เพราะกลุ่มพลังทางการเมืองใหม่อย่าง angry white man ไปร่วมกับรีพับลิกันและทรัมป์เท่านั้น แต่ปัจจัยหลักเป็นเพราะเธอไม่สามารถปลุกเร้าให้กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างคึกคักดังเช่นที่โอบามาเคยทำได้ ภาพลักษณ์นักการเมืองชนชั้นนำเก่า การเลือกยุทธศาสตร์หาเสียงแบบสายกลาง หวังสร้างคะแนนนิยมจากคนนอกพรรคมากกว่ามุ่งเพิ่มพลังการเมืองให้คนในพรรค รวมถึงการเอาชนะแซนเดอร์สอย่าง “คาใจ” กลุ่มผู้สนับสนุนคุณปู่ ทำให้ผู้สนับสนุนจำนวนมาก แม้ไม่เลือกทรัมป์ แต่ก็ไม่ออกมาเลือกคลินต้นด้วย
หากดูผลการเลือกตั้งในรัฐสนามรบจะพบว่า เอาเข้าจริง ทรัมป์ก็ชนะอย่างฉิวเฉียวทั้งนั้น ทรัมป์ชนะที่มิชิแกน 0.3% (1.2 หมื่นคะแนน) เพนซิลวาเนีย 1.2% (7 หมื่นคะแนน) วิสคอนซิน 1% (2.7 หมื่นคะแนน) หรือที่ฟลอริดา ก็ชนะแค่ 1.3% (1.2 แสนคะแนน) เท่านั้น ถ้าพลังเดโมแครตออกมาเลือกตั้งใกล้เคียงเดิม ผลการเลือกตั้งก็อาจจะเปลี่ยนไปอีกทาง
ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตจำนวนไม่น้อยอดคิดไม่ได้ว่า หากแซนเดอร์สเป็นตัวแทนพรรค ผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นอย่างไร หรือถ้าคลินตันเลือกแซนเดอร์สหรือวอร์เรนเป็นคู่หู ชะตากรรมอาจไม่เป็นเช่นนี้ เคนมีภาพลักษณ์นักการเมืองแบบเก่าเหมือนเธอและเป็นลูกน้องผู้ภักดีเดินตามเธอมากเกินไป แต่แซนเดอร์สหรือวอร์เรนมาพร้อมกับภาพลักษณ์ตรงกันข้ามที่มาเสริมจุดอ่อนของเธอได้ดีกว่า ซึ่งแน่นอน พวกรีพับลิกันคงไม่อยากเลือก แต่พวกเดโมแครตจะยิ่งออกมาเลือกกันเต็มที่ คลินตันจึงถูกวิจารณ์ว่าให้คุณค่ากับผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตน้อยเกินไป และมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของพลังการเมืองภายในพรรคเดโมแครตน้อยเกินไป จนแพ้ภัยตัวเอง
อย่าลืมว่าในพรรคเดโมแครตก็มีพลังที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองให้พ้นไปจากแบบเดิมๆ เหมือนกัน นั่นคือ กลุ่มผู้สนับสนุนแซนเดอร์ส แต่กลุ่มนี้กลับไม่แสดงตัวออกมาในการเลือกตั้งมากนัก ต่างจากกลุ่ม angry white man ที่ออกมาสร้างความแตกต่าง ดังนั้นเมื่อมองพลังการเมืองสายต่อต้านชนชั้นนำทางการเมืองเดิมในการเมืองอเมริกาใหม่จึงมีพลังสองขั้วสู้กันทั้งซ้ายและขวา ไม่ได้มีแต่พลังขวา อนาคตของพรรคเดโมแครตจึงมิใช่ไม่มี โจทย์สำคัญอยู่ที่จะทำงานกับกลุ่มพลังการเมืองใหม่ภายในพรรคของตัวเองอย่างไร มิให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งเหมือนการเลือกตั้ง 2016 ที่ผ่านมา นอกจากนั้น โครงสร้างประชากรของอเมริกาในอนาคตยิ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางเป็นคุณแก่พรรคเดโมแครต เพราะประชากรที่ไม่ใช่คนผิวขาวจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคนผิวดำ ฮิสแปนิก และเอเชีย ซึ่งเป็นฐานเสียงของเดโมแครตอยู่แล้ว พรรคเดโมแครตจะทำงานกับคนกลุ่มนี้อย่างไรเพื่อตรึงให้อยู่กับพรรค กระแส “ขวาหัน” ยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเลือกอยู่กับพรรคมากขึ้นด้วย เดโมแครตต้องไม่ทำให้เสียของไป อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญมากคือจะดึงกลุ่มผู้ใช้แรงงานผิวขาวกลับคืนสู่พรรคได้อย่างไร ทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เชื่อว่าชุดนโยบายของเดโมแครตดีกว่ารีพับลิกัน
ด้านทรัมป์เองก็อย่าเพิ่งได้ใจกับชัยชนะที่ไม่คาดฝันหนนี้ แม้จะขึ้นสู่บัลลังก์สูงสุด แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวเองก็ไม่ต่างจาก “คนนอก” พรรครีพับลิกันและวงการการเมือง ตอนเลือกตั้งก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากแกนนำคนสำคัญในพรรคอย่างกลุ่มบุช รวมถึงขาใหญ่อย่างรอมนีย์ แม็คเคน สายผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน ถ้าพลาดทำตัวเป็นจุดอ่อนของพรรคขนาดหนัก ก็อาจถูกสังเวยให้พ้นทางได้เหมือนกัน เพราะพวกผู้นำพรรคก็กลัวทรัมป์มายึดพรรคแล้วเปลี่ยนคุณค่าสำคัญของรีพับลิกันไปจากเดิมเหมือนกัน ส่วนทางด้านสื่อมวลชนก็ไม่ได้รักทรัมป์ มองเห็นเป็นตัวขายข่าวมากกว่าจะให้ค่าในฐานะผู้มีศักยภาพเป็นประธานาธิบดีได้ ดังจะเห็นได้จากสื่อมวลชนแทบทั้งหมดต่างประกาศสนับสนุนคลินตันในการเลือกตั้งครั้งนี้
ทรัมป์จึงมีภารกิจใหญ่ในการพิสูจน์ตัวเองต่อพรรครีพับลิกันและสื่อมวลชนด้วย สำหรับการเมืองอเมริกันนั้น ประธานาธิบดีไม่สามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ได้ง่ายๆ นะครับ ไม่ใช่ว่าครองเสียงข้างมากในสภาแล้วจะทำอะไรก็ได้ ทรัมป์ยังต้องแสวงหาเสียงสนับสนุนนโยบายของตนจากภายในพรรครีพับลิกันเองด้วย เพราะนโยบายสุดโต่งหลายเรื่องในตอนหาเสียง แม้แต่ภายในพรรคเองก็คงไม่เห็นด้วย ดังนั้นอย่าคิดว่าพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งสองสภาและครองอำนาจในทำเนียบขาวแล้ว จะทำอะไรได้ราบรื่นตลอดรอดฝั่งเป็นเนื้อเดียวกัน (ดูโอบามาในช่วงสองปีแรกเป็นตัวอย่าง นั่นขนาดโอบามานะครับ)
แน่นอนว่าในช่วงต้นคงไม่มีใครกล้าลองดีกับทรัมป์มากเพราะเพิ่งชนะศึกเลือกตั้งใหญ่มีเสียงประชาชนสนับสนุนอยู่ข้างหลัง แต่หากทำงานไป แล้วเสียงประชาชนเริ่มวิจารณ์หนาหู แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้อย่างที่หาเสียงไว้จนกลุ่มแรงงานตีตัวออกห่าง แล้วการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2018 พรรครีพับลิกันประสบความพ่ายแพ้เสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์อาจจะเป็นทุกขลาภมากกว่าที่คิด
คนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ต้องจับตาในยุคทรัมป์ครองทำเนียบขาว คือรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ อดีตผู้ว่าการรัฐอินเดียน่า เพราะจะมีบทบาททางการเมืองอย่างยิ่งในรัฐบาลทรัมป์ โดยเฉพาะการเป็นตัวเชื่อมระหว่างทรัมป์กับผู้มีอำนาจเดิมในพรรครีพับลิกัน เช่น พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร และมิทช์ แม็คคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา เพนซ์ต่างหาก (ไม่ใช่ทรัมป์!) ที่เป็นที่รักของเหล่าแกนนำพรรคเพราะเป็นรีพับลิกันพันธุ์แท้ ทั้งในเชิงอุดมการณ์และประสบการณ์การเมือง ล่าสุดเพนซ์ก็ก้าวขึ้นมารับบทหัวหน้าทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจแทนที่คริส คริสตี้แล้ว
สหรัฐอเมริกาอาจมีความคล้ายประเทศไทยในเวลานี้ตรงที่อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น อะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็มีโอกาสจะได้เกิด ต่างกันก็ตรงที่การเมืองของเขาทำงานด้วยระบบ มีกลไกคานและถ่วงดุลอำนาจ ประชาชนและสื่อมวลชนก็มีส่วนร่วมทางการเมืองในการกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจ และมีประชาชนและชนชั้นนำที่เชื่อมั่นในกลไกเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติผ่านการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีความหมายโดยขึ้นกับเสียงประชาชนอย่างแท้จริง
บทความโดย ปกป้อง จันวิทย์ – ได้รับการอนุญาตเผยแพร่อย่างถูกต้องแล้ว