ตอนนี้ ชาวโลกมีวัคซีน COVID-19 แบบไหนบ้างนะ?
แม้ว่าเราจะยังได้ฉีดวัคซีนกันเพียงไม่กี่ยี่ห้อ แต่ในนานาชาติต่างก็พยายามพัฒนาวัคซีนยี่ห้อใหม่ๆ ออกมา เพื่อให้ทันกับการกลายพันธุ์ของไวรัส และมีหลากหลายเพียงพอกับประชากรโลกแล้ว
เราเลยอยากพาไปดูกันว่า ตอนนี้ เรามีวัคซีน COVID-19 ชนิดไหนบ้าง ยี่ห้อไหนอยู่ในระหว่างการทดลอง แล้วตัวไหนที่เริ่มใช้ในบางประเทศไปแล้วบ้าง
วัคซีนที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
1. วัคซีนเชื้อเป็น (Live-attenuated vaccine) เป็นวัคซีนที่นำเชื้อไวรัสที่มีชีวิตมาทำให้อ่อนแอลง เป็นวิธีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคหลายโรค เช่น โรคคางทูม โรคหัด โรคอีสุกอีใส
- ข้อดี อาจทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันกว้างขึ้น เมื่อเทียบกับวัคซีนอื่น
- ข้อเสีย อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิต ได้แก่ Codagenix วัคซีนจากสหรัฐฯ อยู่ในการทดลองเฟส 1 ที่สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ
2. วัคซีนที่ทำจากส่วนหนึ่งของไวรัส (subunit vaccine) เป็นวัคซีนที่ใช้ชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มาเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองและจดจำได้ วิธีนี้จะไม่ใช้จุลินทรีย์ทั้งหมดของไวรัส หรือนำเอาไวรัสที่ปลอดภัยมาเป็นพาหะ โดยส่วนย่อยของไวรัสที่จะนำมาใช้นั้น อาจเป็นโปรตีนหรือน้ำตาลก็ได้
- ข้อดี มีผลข้างเคียงน้อย ใช้ได้กับคนที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่ดี
- ข้อเสีย อาจสร้างภูมิต้านทานได้ไม่นาน ใช้ต้นทุนในการผลิตเยอะทำให้ราคาสูง
วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิต ได้แก่
Novavax วัคซีนจากสหรัฐฯ โดยผลิตด้วย Protein-Based ตอนนี้ยังอยู่ในการทดลองเฟส 3 ที่อินเดีย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ
Nanogen วัคซีนจากเวียดนาม อยู่ในการทดลองเฟส 3 ที่เวียดนาม
Anhui Zhifei Longcom วัคซีนจากจีน อนุมัติใช้แล้วอย่างน้อย 2 ประเทศ คือ จีนและอุซเบกิสถาน
FBRI วัคซีนจากรัสเซีย อนุมัติใช้แล้วอย่างน้อย 2 ประเทศ คือ รัสเซียและเติร์กเมนิสถาน
Medigen วัคซีนจากไต้หวัน อนุมัติใช้ในไต้หวันแล้ว
Sanofi วัคซีนจากฝรั่งเศส อยู่ในการทดลองเฟส 3 ที่สหรัฐฯ และเคนย่า
วัคซีนที่ใช้แพร่หลายแล้ว
1. วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เป็นกรรมวิธีแรกในการผลิตวัคซีน นำไวรัสหรือแบคทีเรียที่เป็นพาหะของโรค หรือชนิดที่คล้ายคลึงกันมาก มายับยั้งหรือฆ่ามันโดยใช้สารเคมี ความร้อน หรือรังสี โดยเทคโนโลยีการผลิตแบบนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลในมนุษย์ ซึ่งเป็นวิธีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่และโปลิโอ
แต่การผลิตวิธีนี้ต้องใช้ห้องปฏิบัติการพิเศษเพื่อให้ไวรัสหรือแบคทีเรียเติบโตได้อย่างปลอดภัย และใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างนาน นอกจากนี้ ยังอาจต้องฉีดกันมากกว่า 2 โดสเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ
- ข้อดี ใช้กับคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้
- ข้อเสีย ต้นทุนสูง ผลิตได้ทีละจำนวนน้อยกว่าแบบอื่นๆ
วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิต ได้แก่
Sinovac วัคซีนสัญชาติจีน อนุมัติใช้แล้วอย่างน้อย 39 ประเทศ เช่น ไทย อินโดนีเซีย บราซิล ชิลี
Sinopharm (Beijing) วัคซีนสัญชาติจีน อนุมัติใช้แล้วอย่างน้อย 59 ประเทศ เช่น ไทย เบลารุส บราซิล อินโดนีเซีย เวียดนาม
2. วัคซีนที่ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccine) วัคซีนชนิดนี้จะเอาสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา มาเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และใส่เข้าไปในไวรัสที่จะเป็นพาหะ โดยไวรัสที่เป็นพาหะนั้นจะต้องปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดโรคร่างกายของมนุษย์ และไวรัสตัวที่เป็นพาหะจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มหรือตัวนำสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายของเรา
- ข้อดี พัฒนาปรับปรุงได้ไว เก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศา
- ข้อเสีย เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่แน่ใจในผลข้างเคียงระยะยาว
วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิต ได้แก่
AstraZeneca วัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน โดยมีบริษัทอื่นๆ รับถ่ายทอดเทคโนโลยีไปผลิต ซึ่งวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท Oxford อนุมัติใช้แล้วอย่างน้อย 119 ประเทศ เช่น ไทย เยอรมนี ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย ส่วนวัคซีนที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย อนุมัติใช้แล้วอย่างน้อย 45 ประเทศ เมียนมา อินเดีย บราซิล แคนาดา แอฟริกาใต้
Johnson & Johnson วัคซีนสัญชาติสหรัฐฯ อนุมัติใช้แล้วอย่างน้อย 56 ประเทศ เช่น เดนมาร์ก อังกฤษ สหรัฐฯ เวียดนาม ไทย (แต่ยังไม่ได้ใช้)
Sputnik V วัคซีนสัญชาติรัสเซีย อนุมัติใช้แล้วอย่างน้อย 70 ประเทศ เช่น รัสเซีย ฮังการี อิรัก ฟิลิปปินส์ เวียดนาม
3. วัคซีนชนิด mRNA
เป็นวัคซีนที่นำ mRNA (messenger RNA) มาห่อหุ้มด้วยอนุภาคนาโนไขมัน เมื่อฉีดเข้าไปจะทำให้เซลล์ในร่างกายสร้างโปรตีน เพื่อกระตุ้นให้เกิดตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน
- ข้อดี ผลิตได้ง่ายและรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูง
- ข้อเสีย เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่แน่ใจในผลข้างเคียงระยะยาว
วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิต ได้แก่
Pfizer วัคซีนสัญชาติสหรัฐฯ อนุมัติใช้แล้วอย่างน้อย 97 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย (แต่ยังไม่ได้ใช้)
Moderna วัคซีนสัญชาติสหรัฐฯ อนุมัติใช้แล้วอย่างน้อย 64 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย (แต่ยังไม่ได้ใช้)
CureVac วัคซีนสัญชาติเยอรมัน เป็นอีกยี่ห้อนึงที่แม้จะยังไม่ได้ใช้งานจริง เพราะอยู่ในการทดลองเฟส 3 ใน 6 ห้องทดลอง แต่ก็ถือเป็นวัคซีนใช้เทคโนโลยีการผลิตเหมือนกับ Pfizer และ Moderna ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลาย
ตอนนี้ หลายชาติในสหภาพยุโรปก็สั่งจองวัคซีน CureVac กันล่วงหน้าไว้แล้วมากถึง 400 ล้านโดส แม้ผลการทดลองประสิทธิภาพของวัคซีน CureVac ในเฟส 3 จะอยู่ที่ 47-48% โดยในช่วงอายุ 18-60 ปีนั้น จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการอยู่ที่ 53% และสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 100% นอกจากนี้ ยังเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิต่อการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยทางบริษัทผู้ผลิตก็ยืนยันว่า วัคซีนรุ่นที่ 2 ของ CureVac จะต้องมีประสิทธิภาพดีกว่ารุ่นแรกแน่นอน
อ้างอิงจาก