ภาพการชุมนุม ประท้วง ปะทะกันของประชาชน และเจ้าหน้าที่กฎให้เห็นขึ้นบ่อยครั้งในครึ่งปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งในหลายๆ ประเทศการประท้วงก็ยังคงไม่สงบลง และยังมีการรวมตัวของประชาชน เพื่อเรียกร้องข้อตกลงต่างๆ จากรัฐบาลอยู่
The MATTER ได้รวบรวมการประท้วงใน 7 ประเทศ ที่ดุเดือด มีการรวมตัวยิ่งใหญ่ในครึ่งปีที่ผ่านมาว่า มีประเทศไหนบ้างที่ชุมนุม ชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลในประเด็นไหน และการชุมนุมนั้นจะจบลงเมื่อไหร่
ฮ่องกง
กำลังจะเข้าสู่เดือนที่ 3 ของการชุมนุมในฮ่องกงแล้ว จากจุดเริ่มต้นของการประท้วง ที่ประชาชนออกมารวมตัวต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยอมเลื่อน และระงับการผ่านร่างกฎหมายแล้ว แต่สถานการณ์การประท้วงกลับดูทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย
จากการที่มีกลุ่มชายเสื้อสีขาว ปรากฏตัวที่สถานีรถไฟและบุกเข้าทำร้ายประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจเองที่สลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตากระสุนยาง และเริ่มมีการจับกุมตัวผู้ชุมนุมมากกว่า 50 รายแล้ว รวมไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมเองที่ไปรวมตัวประท้วงบริเวณสนามบิน รถไฟฟ้าใต้ดินขวางทางเข้ารถไฟจนเกิดการจราจรติดขัดด้วย
แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสลายตัว และยังคงมีการนัดชุมนุมทุกสัปดาห์ โดยผู้ชุมนุมบางส่วนกล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่าการชุมนุมจะทำให้บรรลุเป้าหมาย คือการทำให้ร่างกฎหมายถูกยกเลิกไปเลย และเรียกร้องให้แครี่ แลม ผู้ว่าการรัฐฯ ลาออกด้วย
รัสเซีย
รัสเซีย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่การประท้วงเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และมีแนวโน้วว่าจะเกิดขึ้นอีกต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ ประชาชนได้ออกมาชุมนุมแล้ว 2 อาทิตย์ เพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ยุติธรรม และขอให้มีการยกเลิกคำสั่งที่ห้ามผู้สมัครพรรคฝ่ายค้านจำนวน 30 คน ลงสมัครการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ใช้ไม้กระบองในการสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ประท้วงไปแล้วประมาณ 1,400 คนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 มิ.ย.) ในข้อหาฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมโดยไม่ได้ขออนุญาต
ทางการอ้างว่า ผู้สมัครจากฝ่ายค้านขาดคุณสมบัติ เพราะไม่สามารถหารายชื่อผู้สนับสนุนได้เกิน 5,000 คน ตามที่ระบุไว้ แต่ฝ่ายค้านมองว่า การตัดสิทธิในครั้งนี้มาจากเหตุผลทางการเมือง ทั้งยังมีนักการเมืองบางส่วนในกลุ่มนี้ ที่ถูกจับกุมตัวไว้ด้วย รวมถึง Alexei Navalny ผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกจำคุกเป็นเวลา 30 วัน หลังเรียกร้องให้มีการชุมนุมด้วย
การชุมนุมในครั้งนี้ ถูกมองว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังที่รุนแรงในการสลายการชุมนุม มีประชาชนบาดเจ็บจากการใช้สเปรย์พริกไทย แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ชุมนุมก็ประกาศว่าจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ คือวันที่ 3 ส.ค.นี้ และจะชุมนุมไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งเพื่อกดดันรัฐบาลต่อไปด้วย
บราซิล
บราซิล เริ่มต้นปีมาด้วยการรับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ Jair Bolsonaro ในวันขึ้นปีใหม่ แต่ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา กลับมีการต้อนรับของประชาชนด้วยการชุมนุม ประท้วงนโยบายของ Bolsonaroอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม ที่นักเรียน นักศึกษา และครูอาจารย์หลายหมื่นคน ในกว่า 200 เมืองทั่วบราซิล ได้ออกมาชุมนุมหลังกระทรวงศึกษาธิการประกาศว่า รัฐบาลได้ระงับค่าใช้จ่ายของภาครัฐไปแล้วกว่า 30%ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ ก็เกิดการปะทะของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุม ยิงแก๊สน้ำตา และผู้ชุมนุมเองที่เรียกร้องด้วยการเผารถบัสด้วย
ต่อมาในเดือนมิถุยายน ก็เกิดการชุมนุมใหญ่อีกครั้งของประชาชนที่ต่อต้าน ประท้วงแผนการปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาล ที่ต้องการขยายอายุเกษียณของผู้ชายจาก 60 ปี เป็น 65 ปี และผู้หญิงจาก 60 ปี เป็น 62 ปี โดยอ้างว่าจะประหยัดงบประมาณไปได้ราว 8 ล้านล้านบาทด้วย ซึ่งก็มีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุมอีกครั้ง รวมถึงครั้งนี้ยังมีการจราจรที่ติดขัดจากการปิดถนน เผายาง และพนักงานรถไฟต่างๆ ที่หยุดงานมาประท้วง จนทำให้ขนส่งสาธารณะได้รับผลกระทบด้วย
ซูดาน
การชุมนุมในซูดาน มีพัฒนาการเรื่อยมาจากปีที่ผ่านมา จากการประท้วงเรื่องปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ มาเป็นการโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งมีรายงานว่า มีชาวซูดานเข้าร่วมเป็นจำนวนมากจนสามารถเรียกร้องกองทัพให้มาช่วยโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่ครองอำนาจมายาวนานกว่า 30 ปีได้
แต่ถึงอย่างนั้น แม้รัฐบาลจะถูกโค่นล้ม แต่กองทัพกลับขอเวลาอีก 2 ปีแล้วค่อยจัดเลือกตั้ง ทั้งยังไม่ยอมเปลี่ยนผ่านอำนาจให้สู่ประชาชนเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ช่วงกลางเดือนมิถุนายน กองทัพเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุม รวมถึงมีรายงานว่าทหารได้ข่มขืนผู้หญิง ทำร้ายประชาชน จนเกิดเป็นแฮชแท็กในโลกออนไลน์อย่าง #prayforsudan ด้วย
ซึ่งจนถึงตอนนี้ ประชาชนก็ยังคงออกมาประท้วงกองทัพต่อเนื่องและล่าสุดยังมีเหตุการณ์นักเรียนที่ร่วมประท้วงถูกยิง จนรัฐบาลต้องสั่งหยุดโรงเรียนหลังเหตุการณ์นี้ด้วย โดยตั้งแต่ปลายปี 2018 ถึงตอนนี้ มีรายงานว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากการประท้วงมากกว่า 300 คนแล้ว
เช็ก
สาธารณรัฐเช็กเอง ก็มีการชุมนุมประท้วงใหญ่เกิดขึ้น โดยประชาชนกว่า 250,000 คนออกมารวมตัวกัน ในเมืองหลวงกรุงปรากเรียกร้องให้ผู้นำลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี จากกรณีการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งประชาชนมองว่าเขาได้ใช้อำนาจรัฐ ปกป้องธุรกิจของตัวเอง และอาจใช้เงินอุดหนุนจากสหภาพยุโรป เอื้อต่อกิจการของตนด้วย
การชุมนุมครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่การปฏิวัติกำมะหยี่ เพื่อยุติลัทธิคอมมิวนิสต์ของเช็ก ที่แม้จะไม่มีความรุนแรง และตอนนี้ผู้นำยังไม่ยอมลาออก แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า การชุมนุมครั้งนี้จะส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาลในระยะยาวด้วย
ฝรั่งเศส
การชุมนุมเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสเป็นข่าวที่เราเห็นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ประชาชนยังมีการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องเข้ามาถึงเดือนที่ 9 แล้ว โดยข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปรับปรุงค่าครองชีพ ค่าแรงขั้นต่ำ ไปจนถึงการเรียกร้องให้ ปธน.อิมมานูเอล มาครง ลาออกด้วย
การชุมนุมแต่ละครั้งของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า1 หมื่นคน ในหลายเมืองทั่วประเทศ โดยการรวมตัวครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน ถือเป็นการชุมนุมครั้งที่ 29 แล้วโดยที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมยังได้ใช้วิธีรุนแรงทั้งเผาทำลายทรัพย์สิน รถยนต์ ร้านค้าต่างๆ ในขณะเดียวกัน ด้านตำรวจเองก็ได้ตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา ระเบิด และจับกุมผู้ประท้วงแล้วกว่า 1,000 ราย โดยยังไม่มีแนวโน้มว่ากลุ่มผู้ชุมนุม จะเลิกการประท้วงในเร็วๆ นี้
เวเนซุเอลา
อีกหนึ่งประเทศที่ยังมีปัญหาการเมืองค้างคาต่อเนื่องคือ เวเนซุเอลา โดยประชาชนเองก็ยังคงออกมาประท้วงรัฐบาลต่อเนื่องเช่นกัน การประท้วงของเวเนซุเอลาในปีนี้ เริ่มขึ้นหลังนิโคลัส มาดูโร เข้าสาบานตนรับตำแหน่ง ปธน. อีกสมัย เมื่อเดือนมกราคม ท่ามกลางความสงสัยถึงความโปร่งใสในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านมาดูโรรวมถึงมีเหตุการณ์ที่ ประธานรัฐสภา ฮวน กุยโด สถาปนาตัวเองเป็นประธานาธิบดีรักษาการอีกคน
การประท้วงของประชาชนดำเนินต่อไปโดยประชาชนให้การสนับสนุน กุยโด และเรียกร้องให้มาดูโรลงจากตำแหน่ง รวมถึงกุยโดที่เรียกร้องให้กองทัพร่วมโค่นล้มมาดูโร แต่ไม่สำเร็จ ทั้งการชุมนุมยังกลายเป็นเหตุจลาจลที่มีทั้งการเผารถ เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ มีการใช้แก๊สน้ำตา รวมถึงขับรถทหารพุ่งเข้าใส่ประชาชนชนด้วย และมาดูโรก็บอกว่าจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมด้วย ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้มีทั้งผู้บาดเจ็บหลายร้อยราย และเสียชีวิตจำนวนมาก โดยที่มาดูโรเองก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยอมลาออกตามคำเรียกร้องด้วย
นอกจาก 7 ประเทศนี้ ก็ยังมีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงผลการเลือกตั้งในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การประท้วงปธน.ทรัมป์ ที่เกิดขึ้นเมื่อไปเยือนประเทศต่างๆ หรือไม่ใช่การประท้วงต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นประเด็นอย่างสิ่งแวดล้อม หรือต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดมากขึ้นทั่วโลกด้วย
อ้างอิงจาก