เรียกว่าเป็นแมทช์หยุดโลกของวงการนักแฉก็ว่าได้ เมื่อทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาฯ มูลนิธิทนายเพื่อประชาชนออกมาแฉว่า ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตเจ้าพ่ออาบ อบ นวด รับเงินจากกลุ่มธุรกิจสีเทาเพื่อให้หยุดแฉพวกตน
จะบอกว่าไม่น่าติดตามได้อย่างไร ในเมื่อมุมแดงคือทนายหน้าใสแต่ลีลาเก๋า เคยว่าความให้ทั้งคดี น้องชมพู่, คดีหวย 30 ล้าน รวมถึงคดีแตงโม-นิภาดา ขณะที่มุมน้ำเงินคือ นักธุรกิจที่ยืดอกรับว่าร่ำรวยจาก ‘น้ำกาม’ แถมยังเคยเข้าสภามาแล้ว ในฐานะ ส.ส.ฝ่ายค้านอิสระ
พูดได้ว่าทั้งสองฝั่งถือเป็นรุ่นใหญ่ของวงการนักแฉ ชนิดที่ว่าคดีไหนที่คนใดคนหนึ่งในสองคนนี้ติดตาม เชื่อขนมกินได้เลยว่าจะกัดไม่ปล่อยจนกว่าความจริงจะปรากฏ
ว่าแต่มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมอยู่ดีๆ นักแฉยอดฝีมือทั้งคู่ถึงลุกขึ้นมาแฉกันไปกันมาซะงั้น The MATTER สรุปศึกนักแฉครั้งนี้ผ่านแชทจำลองให้ผู้อ่านติดตามกัน
* รูปทนายษิทราและชูวิทย์ในรูปภาพกราฟิกมาจากเฟซบุ๊กของเจ้าตัว รูปอัจฉริยะจากสำนักข่าวสด
22 มีนาคม 2566
เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ทนายษิทราได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพถุงกระดาษ 2 ใบที่ภายในบรรจุเงินสดจำนวนมาก พร้อมเขียนแคปชั่นว่า “แฉไป แถไป”
ก่อนเข้าไปคอมเมนต์ต่อในโพสต์ที่ตัวเองเขียนว่า “ไถเงินสีเทามา 50 ล้าน บริจาคเอาหน้า 3 ล้าน สร้างภาพกลับตัวกลับใจ ผมเป็นคนนึงที่ชื่มชมมาตลอด แต่พอรู้ความจริงแล้ว มันหมดรักเลยจริงๆ ผมไม่อยากให้มีอาชีพแบบนี้ สร้างประเด็นข่าวดีๆ แล้วไถ ใครยอมจ่ายก็ไม่พูดถึง เราจะยกย่องคนแบบนี้เป็นฮีโร่จริงๆ หรือครับ”
ต่อมาในเวลาประมาณ 23.00 น. ของวันเดียวกัน ชูวิทย์ออกมาโพสต์รูปที่ตัวเองบริจาคเงินจำนวน 6 ล้านบาทให้แก่ รพ.ธรรมศาสตร์และ รพ.ศิริราชก่อนจะเขียนแคปชั่นเป็นเชิงยอมรับว่า เขาได้รับเงินจากนายตำรวจผู้ใหญ่นายหนึ่งจริง โดยระบุว่าเป็นเงินจาก ‘สารวัตรซัว’ อดีตนายตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์เพื่อให้หยุดการกล่าวถึงสารวัตรซัว โดยชูวิทย์กล่าวว่าถึงแม้เขาจะปฏิเสธที่จะไม่รับแล้ว แต่ยังถูกยัดเยียดจึงรับเอาไว้
ชูวิทย์ชี้แจงในโพสต์ดังกล่าวต่อว่า ได้นำเงิน 3 ล้านไปมอบให้ รพ.ธรรมศาสตร์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 และอีก 3 ล้านมอบให้โรงพยาบาลศิริราชในวันที่ 15 มีนาคม 2566 ส่วนเรื่องสารวัตรซัวยังยืนยันเปิดเผยต่อไป
“จะเรียกผมว่าอะไรก็ได้ นักบุญ คนบาป โรบินฮู้ด นักแฉใจบุญ” ชูวิทย์เขียนไว้ในโพสต์ดังกล่าว ก่อนที่ทนายษิทราจะมาคอมเมนต์ใต้โพสต์ในเชิงตั้งคำถามว่า ถ้าเขาไม่โพสต์ลงเฟซบุ๊ก จะมีคนรู้ไหมว่าชูวิทย์รับเงินจริงๆ และตั้งคำถามถึงยอดเงินทั้งหมดที่ชูวิทย์ได้รับ
23 มีนาคม 2566
ทนายษิทราได้จัดแถลงข่าวชี้แจงโพสต์เฟซบุ๊กของตัวเอง โดยมีประเด็นสำคัญในการแถลงข่าวครั้งนั้นทั้งหมด 3 เรื่อง
ประเด็นแรก จำนวนเงินที่ชูวิทย์ได้รับไม่ใช่ 6 ล้านบาท ทนายษิทรายืนยันว่าได้ลองใช้วิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์วัดความสูงและความกว้างของเงินเทียบกับขนาดของถุงกระดาษทั่วไป ทำให้เชื่อว่าเงินที่ชูวิทย์ได้รับน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
ประเด็นที่สอง เงินจำนวนที่เหลืออยู่ที่ใด ทนายษิทรากล่าวว่า ชูวิทย์มี ‘กล่องดวงใจ’ คนสนิทที่ทำธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า คนนี้เองที่พาตัวแทนจากเว็บไซต์พนันออนไลน์เข้าพบและมอบเงินให้ชูวิทย์ ที่โรงแรมเดวิด ทนายษิทราเพิ่มเติมว่า ได้มอบข้อมูลให้ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ไปสืบแล้วว่า ได้มีการมอบเงินดิจิทัลจำนวน 50 ล้านบาทให้แก่ ‘กล่องดวงใจ’ ของชูวิทย์หรือไม่
ประเด็นที่สาม ทำไมไม่แฉ ‘แทนไท’ ต่อ ชายที่ถูกอ้างถึงคือ แทนไท ณรงค์กูล ผู้ต้องหาคดีฟอกเงินจากธุรกิจพนัน ซึ่งทนายษิทราอ้างว่าที่ชูวิทย์ไม่แฉชายคนนี้ต่อ เป็นเพราะ ‘กล่องดวงใจ’ พาแทนไทไปพบชูวิทย์เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2566 หรือไม่
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ชูวิทย์ ได้ออกมาแถลงข่าวชี้แจงทั้งหมด 3 ประเด็น
ประเด็นแรก ข้อมูลของทนายษิทรามาจากไหน ชูวิทย์กล่าวว่าทนายษิทราได้ข้อมูลมาจากคนชื่อ ‘เปา’ ซึ่งชูวิทย์เคยดูแลมาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อชูวิทย์ต้องเข้าเรือนจำ และฝากให้เปาเก็บค่าเช่าคอนโดให้ ปรากฎว่าเปาโกหกชูวิทย์ ซึ่งต่อเปาขอลาออกเพื่อไปทำงานกับสารวัตรซัว
ประเด็นที่สอง ยืนยันว่าได้รับเงินแค่ 6 ล้าน ชูวิทย์กล่าวว่ามีนายตำรวจ 2 นาย คนหนึ่งชื่อย่อ อ. มียศ พล.ต.ต. ยังรับราชการอยู่ อีกคนชื่อย่อ ป. ยศ พล.ต.ท. เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งรู้จักกันตั้งสมัยชูวิทย์ยังทำอาบ อบ นวด ได้เข้ามาพบชูวิทย์และมอบเงินดังกล่าวให้
ชูวิทย์ตั้งคำถามกลับว่า ถ้าเขามีเงิน 10 ล้านบาทจริง ทำไมไม่เก็บไว้เองจะเอาไปบริจาคทำไม หรือถ้าไม่อยากให้เป็นที่สังเกต ทำไมไม่เก็บไว้ 6 ล้านบาท แล้วนำไปบริจาค 4 ล้านบาทแทน ก่อนที่ชูวิทย์จะตั้งคำถามกลับไปที่ทนายษิทราว่า แล้วทนายษิทรารับงานใครมาหรือไม่?
“ไม่ใช่ครั้งแรกที่สีเทามาหาผม ก็จริงครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะหยุดพูด” ชูวิทย์ยอมรับ
ประเด็นที่สาม ข้อมูลแทนไทน้อยเกินไป ชูวิทย์ชี้แจงว่าเหตุที่ไม่แฉแทนไทต่อ เป็นเพราะว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับแทนไทน้อย แต่แทนไทเคยมาพบชูวิทย์จริง แต่ไม่ได้นำเงินมาให้ โดยมาหาเพื่อเล่าว่าแทนไปพบ สนธิ ลิ้มทองกุล มาเรื่องคดีความ ซึ่งชูวิทย์ก็ได้เตือนไปว่าอย่าฟ้องสนธิเลย
ในช่วงกลางดึงของวันที่ 23 มีนาคม ชูวิทย์ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ทาง รพ.มธ. และ รพ.ศิริราช ได้ประสานขอคืนเงินบริจาคแล้ว
24 มีนาคม 2566
ทนายษิทราได้โพสต์รูปภาพลงเฟซบุ๊กพร้อมเขียนไว้ในแคปชั่นว่า ภาพดังกล่าวถ่ายที่โรงแรมเดวิสเมื่อปีที่แล้ว (2565) โดยเป็นวันที่เจ้าของเว็บพนันออนไลน์เอาเงินมาให้ชูวิทย์ครั้งแรก ทนายษิทราเสริมต่อว่าในการพูดคุครั้งนั้นมีกันทั้งหมด 5 คนคือ ชูวิทย์, ตำรวจระดับนายพล 2 คน, เจ้าของเว็บพนันออนไลน์ และ ‘กล่องดวงใจ’ คนสนิทของชูวิทย์
ทนายษิทราเขียนไว้ในโพสต์ดังกล่าวด้วยว่า เรื่องที่พูดคุยกันคือมีเว็บไซต์พนันออนไลน์ใดบ้างที่พูดถึงได้ และเว็บไซต์ใดบ้างที่พูดถึงไม่ได้
ต่อมา โรงพยาบาลศิริราชได้แถลงข่าวชี้แจงว่า ทางโรงพยาบาลได้ติดต่อหา ชูวิทย์เพื่อให้นำเงินที่เอามาบริจาคเมื่อวันที่ 15 มีนาคม กลับไปแล้ว
ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน ชูวิทย์ได้โฟนอินเข้าพูดคุยในรายการ ‘เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand’ ที่ดำเนินการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ยืนยันว่ารับเงินจากซัวจริงตามที่เป็นข่าว แต่รับเงินมาแค่ครั้งเดียวคือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 ก่อนตั้งคำถามกลับไปที่ษิทราว่า
“ผมไม่รู้ว่าทนายตั้มมีจุดประสงค์อะไรถึงออกมาในช่วงนี้ แต่พอผมคิดไปคิดมา อ๋อ ผมนึกได้ล่ะ เพราะว่าผมพูดเรื่องพรรคภูมิใจไทย” ชูวิทย์กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย
ก่อนที่ในช่วงค่ำของวันดังกล่าว ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจะออกข่าวประชาสัมพันธ์ (ปปง.) ระบุว่า ปปง. กำลังตรวจสอบเรื่องนี้ใน 2 ประเด็นคือ เงินบริจาคดังกล่าวผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือไม่ และมีพฤติการณ์กระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงินหรือไม่
ทั้งนี้ สำนักข่าว PPTV ให้ข้อมูลไว้ว่า ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 ระบุเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินไว้ 3 ข้อ ดังนี้
- โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการ กระทําความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน
- กระทําด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออําพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจําหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด
- ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดผู้นั้นกระทําความผิดฐานฟอกเงิน
25 มีนาคม 2566
ทนายษิทราได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นรูปตัวเองไหว้พระที่วัดแห่งพร้อมเขียนแคปชั่นว่า “วันนี้มาทำบุญไม่ขออะไรมาก ขอสาบแช่งใครที่เคยรับเงินชั่วของแก๊งสารวัตรซัว แสร้งทำเป็นโจรกลับใจ รับผลกรรมโดนยึดทรัพย์หมดตัวทั้งตระกูลกลายเป็นคนไร้ต้นทุนจริงๆ สมพรปากทีเถอะสาธุ”
ก่อนที่ในวันเดียวกัน ชูวิทย์จะโพสต์เฟซบุ๊กเสียดสีทนายษิทราว่าเป็นทนายแต่ไม่พึ่งหลักวิชานิติศาสตร์ กลับไปพึ่งศาลพระภูมิแทน ชูวิทย์เขียนต่อว่า “อีกไม่นาน ไปเจอกันที่ศาลอาญาดีกว่า” โดยระบุว่าเขาเตรียมฟ้องแล้ว และทนายษิทราควรเตรียมหลักฐานที่บ่งชี้ว่าชูวิทย์หรือลูกรับเงิน 50 ล้านบาทให้พร้อมมากกว่า
26 มีนาคม 2566
เป็นครั้งแรกที่ชูวิทย์เปิดวอร์ก่อน โดยเขาได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพใบเสนอราคาของบริษัท SITTRA LAW FIRM BANGKOK ซึ่งในเอกสารดังกล่าวเขียนว่า “ค่าแถลงข่าวออกสื่อ บวก 15 เปอร์เซ็นต์จากยอดเงินที่ได้รับ จำนวนเงิน 300,000 บาท”
ชูวิทย์เขียนแคปชั่นในโพสต์ดังกล่าวว่า “แถลงไป ไถไป” ก่อนเสียดสีว่าเป็นทนายประชาชนแต่จะช่วยเหลือประชาชนต้องจ่ายค่าแถลงข่าว 300,000 บาท ก่อนตั้งคำถามว่าเงินจำนวนนี้แบ่งให้ใครบ้างหรือเปล่า ก่อนทิ้งท้ายว่าไม่รู้จริงๆ ว่าทนายคิดค่าแถลงข่าวได้ด้วย
27 มีนาคม 2566
หลังจากชูวิทย์เปิดเผยใบเสนอราคา ทางด้านทนายษิทราก็ได้แถลงข่าวยอมรับว่ามีการเรียกเก็บเงินจากลูกความจริง แต่ไม่ใช่ทุกราย เงินจำนวนดังกล่าวเก็บเป็น ‘ค่าเสี่ยงภัย’ สำหรับคดีที่เสี่ยงถูกฟ้องกลับเท่านั้น โดยปกติ ทางสำนักงานของทนายษิทราคิดค่าบริการ ดังนี้
- ปรึกษาทางโทรศัพท์กับทีมงาน 20 นาที ค่าใช้จ่าย 1,000 บาท
- ปรึกษาทางโทรศัพท์กับทนายษิทรา 20 นาที ค่าใช้จ่าย 1,500 บาท
- เดินทางมาปรึกษาที่สำนักงาน 30 นาที ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าก่อนที่ทนายษิทราจะแถลงข่าวประเด็นดังกล่าว เขาได้โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึงชูวิทย์ว่า ได้ข่าวว่าจะมาสำนักงาน SITTRA LAW FIRM ทางทนายษิทรายินดีต้อนรับ ขอเพียงแต่ให้มาคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช่มาท้าตีท้าต่อย
ทางชูวิทย์ก็ได้ตอบโต้สั้นๆ ผ่านทางเฟซบุ๊กทันทีว่า เขาไม่ได้เดินทางไปที่สำนักงานของทนายษิทรา แต่ตัวเขาอยู่ที่ศาลในคดีฟ้องร้อง สันธนะ ประยูรรัตน์ ต่างหาก
ที่ศาลอาญา รัชดา ผู้สื่อข่าวได้ยื่นไมค์สัมภาษณ์ ทนายอนันตชัย ไชยเดช ทนายส่วนตัวของชูวิทย์ถึงกรณีที่ทนายษิทราแฉว่าชูวิทย์รับเงินจากกลุ่มธุรกิจสีเทา โดยทนายอนันตชัยแยกเป็นทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก ความผิดฐานหมิ่นประมาท กรณีที่ทนายษิทราแฉว่าชูวิทย์และลูกรับเงิน 50 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เปิดเผยข้อมูลของสารวัตรซัว เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งถ้ามีกรณีคล้ายกันนี้อีกครั้ง จะยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายครั้งละ 100 ล้านบาท
ประเด็นสอง ทนายษิทราให้สัมภาษณ์โดยไม่กรั่นกรองข้อเท็จจริงตามวิสัยของทนาย จนอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องคดีโดยไม่มีมูลความจริง การกระทำของทนายษิทราจึงอาจผิดตามมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 3 ข้อ 9 “กระทำการอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีอันหามูลมิได้” มีโทษสูงสุดต้องถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ดังนั้น การกระทำของทนายตั้ม น่าจะมีความผิดมรรยาททนายความ ซึ่งจะมีการร้องสภาทนายความต่อไปแน่นอน
ประเด็นที่สาม ชูวิทย์ฟอกเงินผ่านการบริจาคหรือไม่ ทนายอนันตชัยให้ความเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จะต้องทำโดยเจตนาด้วย อย่างไรก็ตาม ชูวิทย์ไม่รู้ว่าเงินจำนวนนั้นมาจากไหน ดังนั้น จึงไม่น่ามีเจตนา และไม่มีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน
แล้วตัวละครใหม่ก็โผล่มาอีกหนึ่งคน นั่นคือ อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมเครือข่ายช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งได้เข้าร้องทุกข์กับกองปราบปรามเพื่อดำเนินคดีกับ รองเลขาธิการ ป.ป.ง.ม พล.ต., เปี๊ยก และพวกรวม 4 คน โดยระบุว่าคนกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับเงินจำนวน 6 ล้านบาทที่สารวัตรซัวมอบให้ชูวิทย์ จึงขอให้กองปราบปรามอายัดเงินจำนวนดังกล่าวมาตรวจสอบ และดำเนินคดีกับชูวิทย์ฐานฟอกเงิน
เรียกว่าคลุกวงในจับทุ่มแลกกันคนละหมัดเลยทีเดียวสำหรับศึกนักแฉในรอบนี้ แล้วเรื่องราวทั้งหมดจะเป็นอย่างไรต่อ ชูวิทย์ได้รับเงินมากกว่า 6 ล้านจริงหรือไม่ ทนายษิทรารับงานมาจากใครหรือเปล่า ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่รัฐจะสืบความจริงจนเปิดโปงได้ไหมว่า เบื้องหลังเรื่องทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับใครบ้าง และในจำนวนนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐกี่คน
อ้างอิงจาก