ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ดูเหมือนพรรคการเมืองต่างๆ ก็เริ่มประกาศจุดยืนของตัวเองอย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งไม่ว่าการประกาศเช่นนี้จะมาจากแรงกดดันภายนอกหรือภายใน ความชัดแบบนี้คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือ ประชาชน ที่เริ่มใช้สิทธิอันชอบธรรมของตัวเองกันแล้วสำหรับคนไทยในต่างประเทศ
แต่เมื่อประกาศแล้ว แน่ใจนะว่าจะไม่มีการกลับลำ เมื่อคุณค่าของคนอยู่ที่คำพูด The MATTER จึงอยากขอบันทึกถ้อยแถลงแสดงจุดยืนในการร่วมรัฐบาลของพรรคการเมือง 8 พรรคไว้เสียหน่อย ทั้งเพื่อให้ประชาชนแบบเราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และมันยังจะช่วยเป็นสายทองคล้องคำสัญญาที่พรรคการเมืองให้ไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปรากฎการณ์พูดหาเสียงอย่างนึง แต่โหวตเลือกนายกฯ อีกอย่างนึงเช่นเดียวกับการเลือกตั้งในปี 2562
พรรคเพื่อไทย
พี่ใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตย (ตามที่ ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยสร้างไทยเรียก) ปัดป่ายมาตลอดถึงจุดยืนในการร่วมรัฐบาล จนมีกระแสข่าวอย่างหนาหูในช่วงก่อนหน้านี้ว่า มีดีลลับระหว่างคนแดนไกล อดีตผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
ถึงแม้ ในช่วงนั้นพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ปฏิเสธดีลดังกล่าว เพียงแต่ตอบไปในเชิงว่า ‘รอหลังเลือกตั้ง’ หรือใช้ข้ออ้างจากยุทธศาสตร์พรรคที่ว่าเพื่อไทยจะแลนสไลด์จนไม่ต้องจับมือร่วมกับพรรคอื่น แต่ในท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยในงาน ‘5 เมษา คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’ ซึ่งจัดขึ้นที่ธันเดอร์โดม สเตเดียมยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีดีลลับกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐ
และยิ่งชัดเจนขึ้นอีก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยได้กล่าวปราศรัยที่โรงเรียนบ้านวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ย้ำว่า จะไม่ร่วมจัดรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากเป็นมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหาร ปล้นชิงอำนาจจากประชาชน
สำหรับแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคม 2566 ชลน่านได้กล่าวที่เวทีปราศรัย จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลกว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร และจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวหากได้คะแนนเสียง 310 ที่นั่ง นอกจากนี้ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Nikkei Asia ว่า เขาคาดว่าเพื่อไทยจะได้ที่นั่งประมาณ 250 ที่นั่ง และยังต้องการพันธมิตรทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านในสมัยที่ผ่านมา
พรรคก้าวไกล
‘ตรงไปตรงมา’ คือถ้อยคำที่อยู่บนเสื้อหาเสียงของพลพรรคก้าวไกล ซึ่งต้องยอมรับว่าล้อไปกับท่าทีในการจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะไปเวทีไหน หรือหาเสียงที่หนใด พรรคก้าวไกลย้ำจุดยืนของตัวเองเสมอว่า ‘มีเรา ไม่มีลุง ’ หรือไม่ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลโพสต์ผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของตัวเองตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 ว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะไม่จัดตั้งรัฐบาลกับ “ทุกพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐหรือรวมไทยสร้างชาติ” และถ้าใครติดตามในทุกดีเบตหรือทุกครั้งที่พรรคก้าวไกลไปหาเสียง พวกเขายังยืนยันในจุดยืนเช่นเดิมว่า “มีเรา ไม่มีลุง … มีลุง ไม่มีเรา”
พรรคไทยสร้างไทย
พรรคของอดีตขุนศึกเพื่อไทยอย่าง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็เดินเกมชัดเจนมาตั้งแต่ต้นเช่นกัน โดยยืนยันอย่างสม่ำเสมอว่า พรรคจะไม่ร่วมงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร หรือพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างแน่นอน
สุดารัตน์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 ยืนยันว่า “ แน่นอนเราไม่เอาเผด็จการ คนที่ทำรัฐประหารมาเราคงไม่เป็นบันไดให้เขาเหยียบยืนต่อไป เพราะเขาสร้างความเสียหายให้กับประเทศเยอะแล้ว และไม่เห็นด้วยกับระบบนี้”
เธอยังตอบคำถามหากพรรคเพื่อไทยร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐว่า ยินดีเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน และจะทำให้คนโกงชาติล้มลงโดยเร็วที่สุด
พรรคเสรีรวมไทย
อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกหนึ่งพรรคที่มี ‘มือปราบนาแก’ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นหัวหน้าพรรคอย่างพรรคเสรีรวมไทย ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่ร่วมงานกับหนึ่งลุงคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ป๋าเสรียอมรับตรงๆ กับนักข่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าพร้อมร่วมงานกับ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐ โดยเขากล่าวว่าจุดยืนของตัวเองคือ “ต่อต้านการรัฐประหาร” แต่ พล.อ.ประวิตรไม่มีปัญญาทำรัฐประหาร เพราะเกษียณมาหลายปีแล้ว ดังนั้น “จะร่วมงานกันก็ทำได้ แต่ไม่ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์แน่นอน”
นอกจากนี้ ป๋าเสรียังเสริมว่าพร้อมร่วมงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมทุกพรรคเช่นกัน
พรรคพลังประชารัฐ
หนึ่งในพรรคที่เต็มไปด้วยขุนพลนักเลือกตั้งทั่วไทยไม่ได้ชัดเจนนักถึงจุดยืนในการร่วมรัฐบาล เพราะถึงแม้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะออกมาให้สัมภาษณ์สื่อโดยอ้างว่าได้ตกลงกับผู้ใหญ่ในพรรคแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐจะไม่ร่วมกับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่ารับนโยบายหลายข้อของทั้งสองพรรคไม่ได้
“การที่บางพรรคไปกล่าวอ้างต่างๆ นานา หรือมีกระแสข่าวแพร่ออกมาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจผิดว่า พรรคเราไปมีดีลร่วมกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ขอแถลงในวันนี้ว่าไม่จริง และเราไม่ประสงค์ด้วย ไม่ประสงค์ที่จะร่วมมือใดๆ เราต้องการเป็นพรรคการเมืองที่มีอิสระ มีเอกภาพในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้ได้อย่างสมบูรณ์” ไพบูลย์กล่าว ก่อนที่ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะออกมาปฏิเสธว่าสิ่งที่ไพบูลย์พูดเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวไม่ใช่มติพรรค
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 เมษายน 2566 พล.อ.ประวิตรได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงคำพูดของไพบูลย์ ว่าจะไม่จับมือตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลว่าเป็นเพราะ “นโยบายไม่ตรงกัน” ก่อนผู้สื่อข่าวจะถามต่อว่านโยบาย ม.112 ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “แล้วมันเป็นนโยบายหรือเปล่า”
พรรคภูมิใจไทย
ม้ามืดที่น่าจับตาที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้คงหนีไม่พ้นพรรคของ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่ทำท่ามีมารยาททางการเมือง วางตัวเหนือความขัดแย้ง บอกทุกครั้งว่าพรรคพร้อมให้สิทธิพรรคที่ได้คะแนนสูงที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน
ถึงแม้ พรรคภูมิใจไทยจะไม่ปิดประตูจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคไหนเลย แต่ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยได้กล่าวไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 แล้วว่า จะไม่ร่วมงานพรรคที่มีนโยบายแก้ไข หรือยกเลิก ม.112 โดยเด็ดขาด ก่อนชี้ให้ชัดว่าพรรคนั้นคือพรรคก้าวไกล
“พรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรคพูดแทนสมาชิกทุกคนได้เลยว่า เราไม่แก้ไข และจะคัดค้าน ขัดขวางถึงที่สุด รวมทั้งจะไม่ร่วมมือ ร่วมทำงาน กับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่เสนอแก้ไข ม.112 ทุกระดับ รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า หรืออีกกี่ครั้งก็ตาม” อนุทินกล่าว
พรรครวมไทยสร้างชาติ
ผู้นำคณะรัฐประหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และพรรครวมไทยสร้างชาติหวังว่าคราวนี้พวกเขาจะได้เสียงอย่างน้อย 25 ที่นั่ง แล้วอาศัยเสียงของ ส.ว. โหวตส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่ออีก 2 ปีตามวาระที่เหลืออยู่ (ในกรณีนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งรวมเป็น 10 ปี)
ตัวแคนดิเดตนายกฯ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยออกมาให้ความเห็นอะไรในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แต่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ อีกคนของพรรคเคยขึ้นปราศรัยที่สวนเบญจกิติ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 โดยพูดตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีไว้เพื่อคนรักชาติ ไทยเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัย ดังนั้น “ถ้าคุณไม่ชอบคุณไม่มีสิทธิเปลี่ยน เพราะคนไทยทั้งชาติเขาเอา ถ้าคุณไม่ชอบเชิญไปอยู่ที่อื่น”
“ถ้ารวมไทยสร้างชาติเป็นแกนนำรัฐบาลเราจะจัดการกับพวกชังชาติ พวกล้มสถาบันโดยเด็ดขาด” พีระพันธุ์กล่าวระหว่างปราศรัยวันที่ 7 เมษายน 2566
ถึงแม้ในวันต่อมา พีระพันธุ์จะปัดตอบคำถามนักข่าวถึงการร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แต่ก่อนหน้านี้ หน่ึงในลูกพรรคคนสำคัญอย่าง ธนกร วังบุญคงชนะ เคยกล่าวไว้ในรายการดีเบตตัวตึง ทางช่อง 3 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 (นาทีที่ 1.19 – 1.40)
“คุณวิโรจน์บอกว่าพรรคก้าวไกลไม่ร่วมกับรวมไทยสร้างชาติแน่นอน เพราะพรรคก้าวไกลมีแนวคิดยกเลิก ม.112 ซึ่งพวกผมไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาด ผมบอกเลยไม่มีทางร่วมกับก้าวไกลเช่นเดียวกัน” ก่อนวิโรจน์ ลักขณาอดิศร หนึ่งในผู้ร่วมดีเบตจากพรรคก้าวไกลจะตอบโต้ว่า มันก็เป็นเรื่องน่ายินดีอยู่แล้วที่ชัดเจน
ดังนั้น จึงแปลได้ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติมีจุดยืนไม่ร่วมกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิก ม.112
พรรคชาติพัฒนากล้า
สำหรับพรรคที่ประกาศตัวเองว่า “กล้าพัฒนาชาติ” อย่างพรรคชาติพัฒนากล้า ประกาศจุดยืนเดียวของตัวเองว่า พร้อมร่วมรัฐบาลกับทุกฝ่ายเพราะต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ
สำนักข่าวคมชัดลึกรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 สุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคกล่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้าไม่มีเงื่อนไขในการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล เพราะมองว่าต้องการสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ 300 เสียงขึ้นไป จึงแปลว่าอาจร่วมได้กับทุกพรรคที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล
พรรคไหนรักษาสัญญา พรรคไหนปัดป่ายปฏิเสธไปเรื่อย อีกไม่ถึงเดือนประชาชนจะได้รู้กัน
อ้างอิงจาก