ยาบ้าถูกกว่าข้าวไม่ใช่เรื่องเกินจริงในยุคนี้..
นอกจากกรณี #กราดยิงหนองบัวลำภู อดีตนายตำรวจกราดยิงผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 36 รายจนเป็นข่าวสลดและสะเทือนขวัญไปทั่วประเทศ ในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นข่าวยาบ้าตลอดในสื่อต่างไม่ว่า ‘ชายเมายาบ้าเดินยิงปืนใกล้โรงเรียน’ หรือ ‘หนุ่มคลั่งยาบ้าเผา จยย. วอด 2 คัน’ จนนำไปสู่คำถามว่า ทุกวันนี้ตลาดยาบ้าในไทยเป็นอย่างไรบ้าง
The MATTER ได้เปิดข้อมูลจาก ผลการปราบยาเสพติดทั่วประเทศ ป.ป.ส. ปี 2564 ร่วมกับรายงานยาเสพติดสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ UNODC ปี 2022 ถึงสถานการณ์ยาบ้าในประเทศไทย รุนแรงแค่ไหน เข้าถึงยากง่ายอย่างไร และสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
สถานการณ์ยาบ้า
รายงานของ UNODC ชี้ว่าปี 2021 ในภูมิภาคอาเซียนมีการยึดยาบ้าได้รวมกันสูงถึง 1 พันล้านเม็ด นับเป็นการทะลุถึงระดับพันล้านเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยพบว่ามีปริมาณยาบ้าเพิ่มขึ้น 16.1% เทียบกับปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 7 เท่าเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นมากกว่า 35 เท่าเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว
รายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่าในปี 2564 ไทยจับได้ยาบ้าได้ทั้งหมด 515,469,052 เม็ด ขณะที่รายงานของ UNODC ระบุว่าจับได้ที่ 592,013,942 เม็ด
โดยทางด้าน ป.ป.ส. ระบุว่าราคาของยาบ้าลดลงเรื่อยๆ และขณะนี้ราคาตลาดอยู่ที่ 30-50 บาท/ เม็ด หรือในบางพื้นที่อยู่ที่ 50-100 บาท/ เม็ดเท่านั้น และสำหรับยี่ห้อที่พบมากที่สุดในไทย 3 ลำดับแรก ได้แก่ 999 (73.5%), Y1 (13.2%) และยี่ห้ออื่น เช่น 111 หรือ AP2020 อีก 13%
สถานการณ์คดียาบ้า
ในรายงานของ ป.ป.ส. ระบุว่า ทั่วประเทศมีคดียาเสพติดทั้งหมด 132,675 คดี แบ่งเป็นคดีจากยาบ้ามากถึง 75% ของคดีทั้งหมด (103,235 คดี) ในจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด มีถึง 52.22% ที่เป็นผู้ต้องหารายใหม่
และในปีที่แล้วมีผู้ต้องหากระทำผิดซ้ำคดียาเสพติดอยู่ที่ 6,034 ราย ขณะที่จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดลดลงหรืออยู่ที่ 135,795 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 19,881 ราย
สำหรับจังหวัดที่พบคดียาบ้าสูงที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ สงขลา 6,540 คดี, ขอนแก่น 5,251 คดี และ อุบลราชธานี 3,930 คดี
ส่วนจังหวัดที่มีการจับยาบ้าได้ปริมาณสูงที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ หนองคาย 49,543,630 กก., เชียงราย 47,064,132 กก., ปทุมธานี 46,246,640 กก.
ทั้งนี้ ในภาพรวมเราจะเห็นว่าจำนวนคดี, จำนวนผู้ต้องหา และจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปริมาณของยาเสพติดกลับเพิ่มขึ้นหลายชนิด เช่น ยาบ้า, เอ็กซ์ตาซี (ยาอี), โคเคน, เฮโรอีน สะท้อนว่าผู้ค้ารายหนึ่งขายยาในปริมาณที่มากขึ้น หรือกลายเป็นพ่อค้ายารายใหญ่กว่าเดิม

การขนส่งยาบ้าในภูมิภาคอาเซียน/ UNODC
สาเหตุ
ในการแถลง ‘ที่สุดแห่งปี ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปี 2565’ ของ ป.ป.ส. เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ได้ตอบคำถามว่า “ยาเสพติดระบาดมากขึ้นจริงหรือไม่?” โดยให้เหตุผลว่า
ทุกวันนี้ขบวนการยาเสพติดได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้รุดหน้าขึ้น จากเดิมที่ผลิตได้ 64,800 เม็ด/ วัน กลายเป็น 4,000,000 เม็ด/ วัน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 61 เท่า
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีการผลิตยาเสพติดยังทำให้ต้นทุนของยาเสพติดลดเหลือ 50 สตางค์/ เม็ด เมื่อรวมค่าขนส่งและค่าต่างๆ แล้ว ตกราคาขายส่งที่ 15 บาท/ เม็ดเท่านั้น (กลุ่มพ่อค้ายานำมาขายต่อที่ 30-50 บาท/ เม็ด)
นอกจากนี้ ขบวนการยาเสพติดบริเวณรอบประเทศไทยมีมากถึง 7 ขบวนการ ทำให้การผลิตต่อวันสูงถึง 280,000,000 เม็ด/ วัน
ในรานงานของ ป.ป.ส. และ UNODC ชี้ตรงกันว่า เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นทำให้กลุ่มผู้ค้าและผู้เสพสามารถติดต่อกันได้ง่ายขึ้น และยังพบว่ามีการส่งยาเสพติดผ่านช่องทางส่งสินค้าทั่วไป โดยในรายงานของ ป.ป.ส. ระบุว่า
“การลักลอบจำหน่ายผ่านสังคมออนไลน์และจัดส่งผ่านทางพัสดุไปรษณีย์ได้รับความนิยมอย่างมากในบรรดากลุ่มการค้าระดับรายส่งและรายย่อย เนื่องจากกลุ่มการค้าเห็นว่า มีความปลอดภัยกว่าการจําหน่ายแบบเดิม แม้ว่าต้นทุนและราคาจําหน่ายจะสูงกว่าปกติ”
อีกสาเหตุคือ ความผันผวนทางการเมืองในเมียนมา อย่างที่ทราบกันว่าเมียนมา โดยเฉพาะในรัฐฉาน เป็นแหล่งผลิตแอมเฟตามีน (ยาบ้าและไอซ์) ที่สำคัญของโลก ซึ่งรายงานของ UNODC ระบุว่า การยึดยาบ้าและแอมเฟตามีนในปีที่ผ่านมาของเจ้าหน้าที่เมียนมาลดลง 35.1%
ข้อมูลจาก ป.ป.ส. ระหว่างเดือน ก.พ. – ก.ย. ปี 2564 หรือปีเดียวกับที่กองทัพรัฐประหารรัฐบาลเมียนมาพบว่า สามารถยึดยาบ้าได้กว่า 330 ล้านเม็ด หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่จับกุมยาไอซ์ได้มากถึง 15 ตัน
และสาเหตุสุดท้ายคือ โรคระบาด COVID-19 ทำไมโรคระบาดถึงทำให้จำนวนผู้ใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญคือ ปัญหาเศรษฐกิจที่มาพร้อมโรคระบาด (และดูเหมือนจะอยู่นานกว่า) ทำให้สังคมเกิดความเครียด และผู้คนหันเข้าหายาเสพติดเพิ่มขึ้น จนสุดท้ายผู้ใช้ยาเสพติดกลายเป็นผู้ค้ายาเสพติดเสียเอง
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการปิดพรมแดนที่ต่อเนื่องจากโรคระบาด ทำให้กลุ่มพ่อค้ายาเสพติดหันมาปรับมาร์เก็ตติ้งของตัวเองเสียใหม่ ส่งยาเข้าสู่พื้นที่ในภูมิภาคที่ผลิตเยอะขึ้น ทำให้ราคายาตกลง หาได้ง่ายขึ้น ขณะที่คุณภาพพัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยี
เชื่อว่าหลายคนคงตกใจกับตัวเลขที่หยิบยกมา แต่ผู้เขียนมองว่าจำนวนยาเสพติดที่จับได้สะท้อนได้อย่างน้อยใน 2 มุม มุมแรก เจ้าหน้าที่ไทยตื่นตัวกับปัญหายาเสพติด ขณะที่อีกมุมหนึ่งคือ ยังมียาเสพติดอีกมหาศาลที่เล็ดรอดผ่านไทย เพราะเป็นไปได้สูงว่าจำนวนที่จับได้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น และบางทีเราอาจต้องคูณสิบ คูณร้อย หรือคูณพันถึงจะรู้ได้ว่าปริมาณยาเสพติดที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทยมีมากขนาดไหน
และที่สำคัญ นโยบายปราบปรามอย่างเดียวไม่มีทางสู้กับปัญหายาเสพติดได้ มันต้องควบคู่ด้วยการบำบัด การสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องยาเสพติด และที่ผู้เขียนเชื่ออย่างมากว่าจะขจัดปัญหายาเสพติดได้คือ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
อ้างอิง:
ผลการปราบยาเสพติดทั่วประเทศ ป.ป.ส. ปี 2564
รายงานยาเสพติดสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ UNODC ปี 2022
Illustrator By Krittaporn Tochan