6 ตุลาคม 2565 – วันที่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เกิดขึ้นในประเทศไทย และสร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก เมื่ออดีตตำรวจคนหนึ่งใช้ปืนและมืดสังหารผู้คนไป 36 ชีวิต เป็นเด็กเล็กถึง 22 ราย
เหตุการณ์ที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘กราดยิงหนองบัวลำภู’
ผู้นำโลกต่างออกมาแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนความน่ากลัวของเหตุการณ์นี้เป็นอย่างดี ขณะที่บรรดาผู้มีอำนาจฝ่ายไทยเองก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะหาทางแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องการครอบครองอาวุธปืน การระบาดของยาเสพติด รวมถึงเรื่องสุขภาพจิต พร้อมกับที่คำว่า ‘ถอดบทเรียน’ ถูกพูดถึงซ้ำไปซ้ำมา
การถอดบทเรียนไม่ใช่เรื่องผิดและเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่คำถามสำคัญคือ ถอดแล้วไปไหน เพราะนี่ไม่ใช่เหตุกราดยิงสะเทือนขวัญครั้งแรกในไทย เราเคยเผชิญกับโศกนาฏกรรมเช่นนี้มาแล้วเมื่อปี 2563 ในเหตุกราดยิงโคราชที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเวลาผ่านมา 1 เดือนแล้ว เราจึงอยากชวนมาดูว่าการแก้ไขต่างๆ ไปถึงไหนแล้ว การแก้ไขปัญหานี้จะเงียบหายไปอีกหรือเปล่า?
ปืนสวัสดิการตำรวจ
ปัญหาการครอบครองปืน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกคนพูดถึงมากในสังคม ช่วงที่เกิดเหตุกราดยิง ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า กฎหมายควบคุมปืนของคนทั่วไปในสังคมไทยนั้น แน่นหนาดีจริงแล้วหรือ
แต่ในเหตุกราดยิงครั้งใหญ่ของไทย ตั้งแต่กราดยิงโคราชเมื่อปี 2563 และกราดยิงหนองบัวลำภูที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุคือทหาร-ตำรวจ ซึ่งมีกฎเกณฑ์ในการครอบครองปืนที่ต่างออกไป โดยเฉพาะกรณีกราดยิงหนองบัวลำภูนี้ ที่ผู้ก่อเหตุใช้ปืนสวัสดิการตำรวจ อันเป็นที่ถกเถียงอยู่ในสังคมว่า เป็นโครงการที่มีช่องโหว่
ล่าสุด สำนักงานตำรวจประกาศยกเลิกโครงการปืนสวัสดิการตำรวจอย่างไม่มีกำหนด และจะให้ตำรวจเบิกใช้ปืนหลวงแทนในการปฏิบัติการ เพื่อลดการครอบครองอาวุธปืนเป็นการส่วนตัวและการซื้อปืนของตำรวจแต่ละนายที่ไม่เหมือนกันในหน่วยงานอันจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่
ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า จะสร้างโมเดลแบบตำรวจสหรัฐฯ ที่ทั้งหน่วยจะต้องใช้ปืนแบบเดียวกัน รวมทั้งจะใช้ระบบการเบิกอาวุธปืนแบบ QR code military spec ในทุกหน่วยงานตำรวจทั้งประเทศ แบบเดียวกับที่หน่วยคอมมานโดใช้ และจะสลักท้ายปืนด้วยลักษณะพิเศษเฉพาะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติติดกับปืนเพื่อให้สามารถระบุได้ว่าเป็นปืนของตำรวจไทย โดยการเบิกใช้แต่ละครั้งมีอายุ 15 วัน ถ้าพ้นกำหนดก็สามารถติดตามเอาคืนได้
สิ่งที่กล่าวมานี้ ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ แต่ถึงอย่างนั้นก็น่าตั้งคำถามว่า จะเป็นโมเดลที่ใช้ได้จริงไหม เพราะที่ผ่านมาระบบราชการไทยมักถูกวิจารณ์เรื่องการจัดการที่เน้นเอกสาร และมีความซ้ำซ้อนในหน่วยงานจนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากประชาชนจะเคลือบแคลงกับการนำโมเดลดังกล่าวมาปฏิบัติใช้จริง
การเข้าถึงยาเสพติด
ผลการสอบประวัติ พบว่าผู้ก่อเหตุถูกไล่ออกจากราชการเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 หลังจากต้องหาคดีอาญาข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน) ไว้ครอบครองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ผู้ก่อเหตุ ‘เสพยา’ ก่อนลงมือ
อย่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่า “จะให้ทำอย่างไรล่ะ ก็คนมันติดยา”
อย่างไรก็ดี ผลการตรวจร่างกายของผู้ก่อเหตุหลังเสียชีวิต ไม่พบว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย
ถึงอย่างนั้น 1 วันถัดจากเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็เรียกประชุมด่วนเพื่อถอดบทเรียนและหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก โดยผลการประชุมสรุปได้ว่า กระทรวงมหาดไทยจะเร่งดำเนินการเรื่องยาเสพติด โดยกำชับมาตรการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด
- ตรวจคัดกรองยาเสพติดในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
- นำผู้ป่วยที่เสพติดเข้ารับการบำบัด
- เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจตรา ตั้งด่านชุมชนเพื่อตรวจสารเสพติด
- เฝ้าระวังเหตุการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อสังคมและอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ
ซึ่งเมื่อวัน 31 ตุลาคมที่ผ่านมา สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็จัดประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล โดยกล่าวว่า ต้องการให้ทุกหน่วยงานช่วยกันสกัดกั้นสารโซเดียมไซยาไนด์ ที่ถูกนำไปผลิตเป็นยาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมา มีการนำเข้ากว่า 1,150 ตัน และส่งออกไปเมียนมาถึง 810 ตัน ขณะที่จะใช้ในกลุ่มโรงงานชุบโลหะภายในประเทศ 310 ตัน
สารจำนวน 810 ตัน เคยคำนวนเป็นจำนวนยาบ้าได้กว่า 16,060 ล้านเม็ด ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า โซเดียมไซยาไนด์ 1 กิโลกรัม สามารถผลิตยาบ้า ได้กว่า 22,000 เม็ด ซึ่งที่ผ่านมาเวลาที่ ป.ป.ส.ตรวจยึดโรงงานที่ผลิตสารดังกล่าว ก็จะถูกโรงงานร้องเรียน
ขณะที่ จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า โซเดียมไซยาไนด์เป็นสิ่งที่ไทยไม่สามารถผลิตได้ ต้องมีการนำเข้า-ส่งออก โดยตอนนี้ก็มีการสั่งให้ชะลอการส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์ เพื่อจัดสรรให้รัดกุมก่อน โดยเฉพาะที่นำไปส่งออกต่างประเทศ ส่วนในประเทศที่ต้องการใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ กว่า 310 ตัน ก็จะมีการคุมเข้มในการใช้
แต่นอกจากเรื่องการปราบปรามยาเสพติดแล้ว การบำบัดฟื้นฟูผู้เสพก็เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเองก็ออกนโยบายว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” เพื่อเปลี่ยนแนวคิดของสังคมว่า ผู้เสพจำเป็นต้องเข้าถึงการบำบัดรักษา
แปลว่าการซัพพอร์ทเพื่อช่วยเยียวยาผู้เสพก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เต็มที่จริงไหม? แต่ก็มีคำถามกันว่า แล้วการบำบัดที่ทุกคนควรเข้าถึงนี้ ‘ฟรี’ จริงหรือเปล่า?
หากไร้สิทธิประกันสังคมหรือบัตรทองแล้ว ค่ารักษาในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งมีค่ารักษาแรกรับอยู่ที่ 6,000 บาท โดยแบ่งเป็น
- ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐาน
- ค่าตรวจหาสารเสพติดตามประเภทสารเสพติด
- ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมกรณีมีโรคร่วม
การบำบัดยาเสพติดเป็นการรักษาที่ต้องทำต่อเนื่องประมาณ 4-12 สัปดาห์ นั่นแปลว่า หลังจากเสียค่าแรกรับแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเสียค่ารักษาในสัปดาห์ต่อไป สัปดาห์ละ 5,950 บาท ไม่รวมค่ายา และหากจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ก็จะต้องเสียค่าห้องพักอีก 700-2,100 บาท/คืน
เท่ากับว่า หากผู้ป่วยนอกต้องการรักษาตัวเบื้องต้น ใช้เวลา 4 สัปดาห์ จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ 29,800 บาท โดยย้ำอีกครั้งว่า ราคานี้ยังไม่รวมค่ายานะ
อย่างนี้แล้ว คำว่า “ผู้เสพ = ผู้ป่วย” ที่ต้องการสะท้อนว่าทุกคนจะต้องเข้าถึงการรักษา จะเกิดขึ้นได้จริงๆ ไหม?
ปัญหาสุขภาพจิต
การกราดยิง เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการฆ่าตัวตาย
แบบนี้แล้ว จะไม่กล่าวถึงเรื่องของสุขภาพจิตได้อย่างไร
ปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทยเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้น พร้อมไปกับจำนวนผู้ป่วยที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง ตามข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า ในปี 2558-2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคน เป็น 2.3 ล้านคน
นอกจากนี้ก็ยังมีสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น จากในปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 6.08 รายต่อแสนประชากร มาในปี 2563 ก่อนที่วิกฤตโรค COVID-19 จะเข้ามา โดยเพิ่มเป็น 7.37 รายต่อแสนประชากร ขณะที่ปี 2564 ตัวเลขขยับเป็น 7.8 รายต่อแสนประชากร
ขณะที่ ประเทศไทยมีจิตแพทย์รวม 860 คน คิดเป็นราว 1.30 ต่อแสนประชากร ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่เพียงพอกับปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทย ไม่ต้องพูดไปถึงการกระจุกตัวของแพทย์ที่มักอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ ด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในจังหวัดใหญ่ จะสามารถแก้ปัญหาสุขภาพจิตได้หรอกนะ เพราะจิตแพทย์จำนวนมากก็อุ้มงานบริการกันล้นมือ ส่งผลไปถึงเรื่องจิตแพทย์ขาดแคลนด้วยเช่นกัน
ส่วนในพื้นที่ของตำรวจ ปัญหาสุขภาพจิตยิ่งช้ำหนัก งานวิจัยจากวารสารรัฐศาสตร์ปริทรรศน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ข้าราชการตำรวจมีความเครียดสูงมาจนส่งผลต่อร่างกาย นั่นคือ รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลทางด้านจิตใจโดยทำให้ไม่มีสมาธิ สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างมากกว่าคู่สนทนา
ไม่เพียงเท่านั้น ความขัดแย้งในครอบครัว ความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ภาวะเศรษฐกิจที่ย้ำแย่ ก็มีผลต่อผู้ที่ทำอาชีพตำรวจด้วยเช่นกัน
กลับมาดูที่เหตุกราดยิง ราว 1 สัปดาห์หลังเหตุกราดยิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัญญาว่าจะเพิ่มกลไกดูแลสุขภาพจิตด้วยการตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ และตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียน สถานศึกษา สถานประกอบการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน
สิ่งเหล่านี้อาจต้องรอดูกันต่อไปว่า จะเกิดขึ้นได้จริงไหม และแม้จะเกิดขึ้นจริง คำถามต่อมาก็คือจะมีประสิทธิภาพจริงๆ หรือเปล่า
ปฏิรูปตำรวจ
คราวที่เกิดเหตุกราดยิงโคราช ปฏิรูปกองทัพก็ถูกพูดถึง
คราวที่เกิดเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ปฏิรูปตำรวจก็ต้องถูกพูดถึงด้วยเช่นกัน
ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะไม่สามารถทำได้จริงเลย หากไม่มีการแก้ไขเชิงโครงสร้างด้วยการปฏิรูปองค์กรตำรวจ เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงแนวทางในการปฏิรูปตำรวจและทหารไว้ว่า
- ต้องล้มระบบเส้นสาย การใช้ตั๋วซื้อขายตำแหน่ง
- เจ้าหน้าที่ต้องดูแลผู้น้อยอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน องค์กรต้นสังกัด ต้องมีกระบวนการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและโปร่งใส
- รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ผลักภาระผู้ปฏิบัติหน้าที่ การซื้อปืนเอง ซื้อกระดาษเอง จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป นอกจากนี้ ต้องไม่มอบภารกิจที่ไม่จำเป็น อย่างทหารรับใช้ เพราะควรได้ทำตามหน้าที่
- กรณีที่พวกเขาต้องออกจากองค์กร รัฐและองค์กรต้นสังกัดต้องเข้ามาดูด้วยว่า พวกเขาสามารถอยู่ได้อย่างปกติสุขกับประชาชนทั่วไปได้หรือไม่
นอกจากนี้ โรมยังเคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ไว้ด้วยว่า การจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ได้ ต้องอาศัยระบบการเมืองในภาพใหญ่ด้วย เพราะหากระบบการเมืองยังมีการอุปถัมภ์ ไม่รับฟังเสียงผู้น้อย รวมศูนย์อำนาจไว้กึ่งกลาง การปฏิรูปองค์กรใดๆ ก็คงไร้ความหมาย
“ต้นไม้ที่จะโตได้ ก็ต้องการดินที่ดีหน่อย สภาพการเมืองในวันนี้มันอาจจะไม่เอื้อ ที่จะนำไปสู่หนทางของการแก้ไขปรับปรุง แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเราสร้างประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังจากนี้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จะนำพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลง มันก็คือดินชั้นดีที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งตำรวจและทหาร”
ดังนั้นแล้ว หากไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่แล้ว ก็คงไม่มีอะไรการันตีความปลอดภัยของประชาชนได้สักที และบทเรียนที่ถอดกันไว้นั้น ก็คงไร้ความหมาย
อ้างอิงจาก