จากข้อมูลที่ The MATTER วิเคราะห์ล่าสุดพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เฉลี่ยในรอบ 10 วันที่ผ่านมา (26 มิ.ย.- 5 ก.ค.) อยู่ที่ 5,294 ราย/ วัน อาการหนัก 1,931 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 550 ราย รักษาหาย 3,033 ราย
บวกกับข่าวบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับ Sinovac ครบสองเข็มแล้ว แต่ยังติดเชื้อและต้องกักตัว นำไปสู่ข้อเรียกร้องทั้งจากประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขต่อให้มีการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยที่พูดถึงกันมากคือ ชนิดที่ผลิตโดยวิธี mRNA ได้แก่ Pfizer และ Moderna
The MATTER ขอพาผู้อ่านทำความรู้จักวัคซีนชนิด mRNA มันคืออะไร ทำงานอย่างไร งานวิจัยในต่างประเทศชี้ว่าประสิทธิภาพของมันต่อ COVID-19 สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์เป็นอย่างไร และชวนฟังเสียงจาก นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ตัวแทนจากภาคีบุคลากรสาธารณสุขที่ออกมาเรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีน mRNA แก่บุคลากรสาธารณสุขโดยเร็วที่สุด
อะไรคือ mRNA
ก่อนที่จะเข้าเนื้อหา อยากขอเล่าประวัติของเทคโนโลยี mRNA (Messenger Ribonucleic Acid) สักเล็กน้อย
โดย mRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีนที่ถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ปี 1989 ด้วยฝีมือของนักวิจัยจากบริษัทด้านชีววิทยาที่ชื่อ Vical ร่วมมือกับทีมจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน โดยพวกเขาได้ทดลองฉีด mRNA เข้าไปในร่างกายของหนู และพบว่าหนูสามารถรับรหัสพันธุกรรมใน mRNA และเปลี่ยนเป็นโปรตีนในร่างกายได้
แต่ mRNA ถูกนำพัฒนาและต่อยอดจริงๆ ด้วยฝีมือของนักชีวเคมีชาวฮังการี เคทลิน คาริโก เธอใช้เรี่ยวแรงและกระเป๋าตังค์ของตัวเองเก็บข้อมูลและศึกษากระบวนการดังกล่าวเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งเธอก็ต้องฝ่าฝันนานาอุปสรรคทั้ง ห่างจากคู่ชีวิต, ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง, ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นศาสตราจารย์ จนกระทั่งพบกับ ดรูว์ ไวส์แมน นักภูมิคุ้มกันวิทยาชาวอเมริกัน และร่วมกันคิดค้นวิธีการทำให้ mRNA แอบเข้าไปในร่างกายโดยที่ร่างกายไม่แตกตื่นเสียก่อนได้สำเร็จ
ในปี 2005 ความพยายามของ คาริโก และ ไวส์แมนสำเร็จผล ทั้งคู่ตีพิมพ์งานวิจัยออกมามากมาย และได้โอกาสจดสิทธิบัตรกระบวนการ mRNA จนไปเข้าตาของ เดอร์ริก รอสซี นักชีววิทยาสเต็มเซลล์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จนสุดท้ายเกิดเป็นบริษัท Moderna ขึ้นในปี 2010 และตามมาด้วยการจดทะเบียนเปิดบริษัท BioNTech ในปี 2013
นั่นเป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ของต้นกำเนิด mRNA และจุดเริ่มต้นของสองบริษัทผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่ที่กลายเป็นความหวังของคนทั้งโลกในตอนนี้
สำหรับการทำงานของ mRNA แล้ว พูดให้ง่ายมันคล้ายเป็นคู่มือที่สอนให้เซลล์เราสู้กับไวรัสด้วยตัวเอง โดยเมื่อมันถูกฉีดเข้าไปในตัวเราแล้ว วัคซีนจะสอนให้ร่างกายเราผลิตโปรตีนขึ้น เพื่อสร้างแอนติบอดีสำหรับสู้กับไวรัสชนิดนั้นๆ
สำหรับวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เมื่อมันเข้าสู่ร่างกายเราแล้ว มันจะกระตุ้นให้เซลล์ผลิตโปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 และเรียนรู้ที่จะสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดหนามดังกล่าวออกไป ดังนั้น เมื่อได้รับเชื้อในคราวหน้า ร่างกายจะจดจำและต่อสู้กับไวรัสได้ดีขึ้น
ประสิทธิภาพจากงานวิจัย
“สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อันตราย พวกมันยังคงพัฒนาและกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เรายังจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์และปรับเปลี่ยนแผนด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและรอบคอบ”
“สายพันธุ์เดลตากระจายตัวไปแล้วในอย่างน้อย 98 ประเทศ พวกมันแพร่อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนสูงหรือต่ำ” ทั้งสองข้อความข้างต้นออกมาจากปากของ ดร.Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการทั่วไปของ WHO ที่แสดงถึงความกังวลต่อการกลายพันธุ์และระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่มีข้อมูลชี้ว่าสามารถระบาดได้มากกว่าอัลฟ่า 1.4 เท่า (อัลฟ่าแพร่ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 1.7 เท่า) และมีแนวโน้มดื้อวัคซีนมากขึ้น
ดังนั้น เรียกได้ว่าสายพันธุ์เดลตาไม่ใช่แค่ความกังวลของแพทย์ในไทย แต่คือความท้าทายของระบบสาธารณสุขทั้งโลกในตอนนี้
กระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักรได้ทดลองวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาหลังได้รับวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca ครบสองเข็ม และพบว่า
- การฉีด Pfizer ครบสองเข็มสามารถป้องกันป่วยแบบมีอาการได้ถึง 88% (33% สำหรับหนึ่งเข็ม) และสามารถป้องกันป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาลได้ 96% (94% สำหรับหนึ่งเข็ม)
- การฉีด AstraZeneca ครบสองเข็มสามารถป้องกันป่วยแบบมีอาการได้ถึง 60% (33% สำหรับหนึ่งเข็ม) และสามารถป้องกันป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาลได้ 92% (71% สำหรับหนึ่งเข็ม)
ขณะที่ทางด้านวัคซีน Sinovac มาถึงตอนนี้ยังไม่มีการทำวิจัยที่เป็นชิ้นเป็นอันนักเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมันต่อสายพันธุ์เดลตา แต่มีกรณีที่น่าห่วง เมื่อสำนักข่าว Reuter รายงานว่ามีแพทย์อินโดนีเซียกว่า 350 คน ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบสองเข็ม แต่ยังมีรายงานว่าติดเชื้อ COVID-19 และบางรายต้องเข้าโรงพยาบาล
สำนักข่าว Wall Street Journal รายงานว่ามีแพทย์อินโดนีเซียอย่างน้อย 10-26 ราย ที่เสียชีวิตจากวัคซีน COVID-19 หลังได้รับวัคซีน Sinovac ครบสองเข็ม
ทางด้านไทยเอง ล่าสุดมีรายงานว่าบุคลากรของโรงพยาบาลนครศรีอยุธยาติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 28 ราย แบ่งเป็นสายพันธุ์เดลตา 7 ราย สายพันธุ์อัลฟา 2 ราย และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหน 8 ราย ซึ่งบางส่วนในกลุ่มนี้ได้รับวัคซีน Sinovac แล้วสองเข็ม
ในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีรายงานว่า พบบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อจำนวน 49 ราย โดยล่าสุด (8 กรกฎาคม) กรมควบคุมโรครายงานว่าบุคลากรที่ตรวจพบว่าได้รับเชื้อไวรัส มีอาการน้อยถึงไม่มีอาการ และได้รักษาจนกลับบ้านหมดทุกคนแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา
อีกงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจต่อสายพันธุ์อัลฟ่า มาจากสหราชอาณาจักรเช่นกัน โดยพวกเขาได้ทดลองวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อัลฟาหลังได้รับวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca ครบสองเข็ม และพบว่า
- การฉีด Pfizer ครบสองเข็มสามารถป้องกันป่วยแบบมีอาการได้ถึง 93% (49% สำหรับหนึ่งเข็ม) และสามารถป้องกันป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาลได้ 95% (83% สำหรับหนึ่งเข็ม)
- การฉีด AstraZeneca ครบสองเข็มสามารถป้องกันป่วยแบบมีอาการได้ถึง 66% (51% สำหรับหนึ่งเข็ม) และสามารถป้องกันป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาลได้ 86% (71% สำหรับหนึ่งเข็ม)
ทางด้านวัคซีน Sinovac มีการรวมข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขไทยพบว่าหลังผ่านไป 14 วันของการได้รับวัคซีนครบสองเข็มสามารถกันติดและกันตายได้ที่ 71-91%
โดย ดร.กิตติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าการเก็บข้อมูลจากบุคลากรด่านหน้าในพื้นที่จังหวัดเชียงรายพบว่า วัคซีน Sinvac มีประสิทธิภาพกันติดเชื้อที่ 82.8% ขณะที่กรมควบคุมโรคระบุว่ามีประสิทธิภาพ 70.9%
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังพูดถึงการเก็บข้อมูลผู้มีความเสี่ยงสูงในจังหวัดภูเก็ตและสมุทรสาครที่พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 90.7% และ 90.5% ตามลำดับ
ตัวอย่างประเทศที่ใช้วัคซีน mRNA
เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, อิสราเอล, แคนาดา เป็นเพียงตัวอย่างจากประเทศในโลกที่ใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนหลัก และมีผลประจักษ์ที่ชัดเจนว่าสามารถควบคุมการระบาดได้จริง มีผู้ป่วยหนักน้อยลงจริง และสามารถให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติจริง
ยกตัวอย่าง อิสราเอล ถึงแม้ล่าสุดจะมีรายงานการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในประเทศจนต้องมีการเพิ่มมาตรการอีกครั้ง แต่ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“ถ้าเราย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2020 ต่อต้นปี 2021 ในขณะที่อิสราเอลมีการระบาดของ Alpha variant ทั้งประเทศมีผู้ป่วยรายใหม่วันละหลายพันราย บางวันทะลุหมื่นราย จนรัฐบาลตัดสินใจประกาศ full lockdown เพื่อสกัดการระบาด และตามด้วยการฉีดวัคซีน Pfizer ปูพรมทั้งประเทศอย่างรวดเร็ว จนทำให้การระบาดสงบได้ และทยอยเปิดเมืองทีละขั้น จนอนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องใส่หน้ากาก และสามารถทำกิจกรรมรวมคนหมู่มากได้ มีวิถีชีวิตใกล้เคียงปกติ”
“เมื่อดูสถานการณ์การระบาดปัจจุบัน เราทราบดีว่า Delta variant นั้นมีความสามารถในการแพร่ระบาดดีกว่า Alpha มาก และยังดื้อต่อวัคซีนด้วย เรากลับไม่เห็นอัตราเร่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่แบบเดิมอีก ในขณะที่ผู้คนยังคงใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิม มีการปรับมาตรการให้ใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในอาคารหรือสถานที่ปิด และเลื่อนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม ที่เหลือยังคงเดิม”
นพ.มานพ ระบุว่าความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลจากการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในประชาชน ซึ่งไม่ใช่ว่าผู้ติดเชื้อต้องเป็นศูนย์ แต่หมายถึงการระบาดลดลงและสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น
ทางด้านเยอรมนีหรือแคนาดา ทั้งสองประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงหลังจากใช้วัคซีน mRNA เป็นตัวหลักในการฉีดให้ประชาชนทั่วประเทศ โดย อังเกลา แมร์เคิล ผู้นำของเยอรมนีได้สนับสนุนให้ฉีดวัคซีนแบบ Mix&Match เรียกร้องให้ประชาชนได้รับวัคซีนหนึ่งเข็ม หันมารับวัคซีน mRNA เป็นเข็มถัดไป
ด้านแคนาดา คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านภูมิคุ้มกันแห่งชาติแคนาดามีมติตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน อนุญาตให้ประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะรับวัคซีนเข็มที่สองเป็นชนิดใดระหว่าง Pfizer, Moderna และ AstraZeneca เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงโรคลิ่มเลือดจากวัคซีน AstraZeneca
ภาคีบุคลากรสาธารณสุข
The MATTER ได้ติดต่อพูดคุยกับ นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ตัวแทนภาคีบุคลากรสาธารณสุขที่ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐนำเข้าวัคซีน mRNA และฉีดให้แก่บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าโดยเร็วที่สุด เขากล่าว่า
“มันมีการพูดคุยกันมาสักพักแล้วว่า ทำไมประเทศไทยถึงไม่นำเข้าวัคซีนหลายชนิด แต่ผูกขาดอยู่กับแค่ AstraZeneca หรือ Sinovac แต่การระบาดก่อนหน้านี้สงบได้รวดเร็ว ไม่รุนแรงมาก บวกกับรัฐบาลก็ตอบว่ายังไม่มีความเชื่อมั่นในวัคซีน ตอนนั้นก็เลยจบกันไป”
“แต่พอปีนี้ สถานการณ์รุนแรงขึ้นและเริ่มควบคุมไม่อยู่แล้ว เลยมีคำถามว่าทำไมถึงไม่เอาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเข้ามา เพราะจากรายงานทางวิชาการของประเทศอื่นที่เขาใช้วัคซีน mRNA เช่น อิสราเอล, สหรัฐอเมริกาในบางรัฐ, นิวซีแลนด์ หรือออสเตรเลีย เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ”
“มันค่อนข้างเห็นชัดว่าประสิทธิภาพของ mRNA มันได้ผลจริง ยิ่งในช่วงนี้ที่สถานการณ์เมืองไทยมันระบาดหนักและมีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์ถึงแม้ได้รับ Sinovac ครบสองเข็มแล้ว แต่ยังติดเชื้อและแพร่เชื้อให้คนใกล้ตัวได้อยู่ มันเลยเป็นที่มาของแคมเปญเรียกร้องให้นำวัคซีน mRNA เข้ามา”
นพ.สันติ แสดงความเห็นถึงรายงานประชุมจากคณะกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อพิจาณณาถึงแนวทางการให้วัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์ในไทย ซึ่งมีความเห็นถูกบันทึกไว้ในข้อ 10 ว่า “ในขณะนี้ ถ้าเอา (Pfizer) มาฉีดกลุ่ม 3 แสดงยอมรับว่า Sinovac (วัคซีนหลักที่ไทยใช้อยู่) ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”
“ในรายงานประชุมดังกล่าว มันเป็นเพียงความคิดเห็น แต่ถ้าเขาคิดแบบนั้นจริง เขาควรจะมองผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาคุยกันมากกว่า ว่าถ้าไม่เอาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาฉีดให้บุคลากรด่านหน้ามันจะเกิดปัญหาอย่างไร”
“การให้วัคซีนที่ดีกับบุคคลากรสาธารณสุขด่านหน้า มันทำให้เขาป้องกันตัวเองได้ ไม่ให้เขาป่วย ทำให้เขาลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและโดนกักตัว จนสูญเสียทรัพยากรและกระทบกับระบบสาธารณสุขภาครวม”
“ผมคิดว่าเขา (ผู้มีอำนาจ) ควรมองในภาพรวมมากกว่าแค่เรื่องคนจะเชื่อมั่น Sinovac หรือไม่ เพราะว่าถึงไม่ทำแบบนี้คนก็ไม่เชื่อ Sinovac อยู่ดี เพราะทุกวันนี้มันมีข้อมูลวิทยาศาสตร์หลายตัวออกมาและประชาชนก็ไม่ได้โง่”
คุณหมอมองถึงความเป็นไปได้ในแผนเปิดประเทศภายใน 120 วันว่า “คุณเอาตัวเลข 120 วันมาเนี่ย คุณเอาอะไรมากำหนดบ้างว่ามันจะเป็นได้จริง เพราะนี่ผ่านมาเกือบสองสัปดาห์ ยังไม่เห็นความใกล้เคียงเลย เห็นแต่อนาคตที่มืดมนมากกว่า ไม่รู้ว่าปลายปีนี้จะเปิดได้หรือเปล่าด้วย”
“วัคซีนที่มีก็ไม่มีประสิทธิภาพ ยอดการฉีดก็ยังไม่ได้ตามเป้าหมายสักวัน ดังนั้น มั่นใจได้อย่างไรว่าอีก 120 วันจะเปิดประเทศได้ รัฐบาลเองก็ไม่มีแผนออกมาเป็นรูปธรรมเลยว่า 1, 2, 3, 4 รัฐบาลจะทำอะไรบ้าง”
“ที่ผมออกมาทำแคมเปญนี้ก็เพื่อประโยชน์ของประเทศทั้งนั้นเลย การนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพจะทำให้เป้าหมาย 120 วันเป็นไปได้ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการ” นพ.สันติกล่าว
เขาทิ้งท้ายถึงเป้าหมายในการสื่อสารแคมเปญดังกล่าวว่า “จริงๆ อยากส่งให้ถึงผู้มีอำนาจทั้ง ศบค. นายกฯ รัฐมนตรี รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องทุกองค์กร ผมมองว่าพวกคุณต้องรับฟังเสียงประชาชนและกลับมาทบทวนได้แล้วว่าที่ทำผิดพลาดไปมันเกิดจากอะไร และควรจะออกมาขอโทษอย่างชัดเจนบ้าง เพราะการไม่ออกมาขอโทษ แถมพยายามโบ้ยโทษประชาชนยิ่งทำให้คนหมดความเชื่อมั่นในระบบไปหมด”
“อันที่จริง ตอนนี้ประชาชนก็ช่วยกันเองหมดแล้ว ถ้ากวนวัคซีนเองได้ก็คงทำแล้ว ดังนั้น ผมอยากสื่อสารถึงพวกเขาว่าประชาชนเริ่มไม่ไหวแล้ว อยากให้รัฐบาลทบทวนและยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้” นพ.สันติกล่าวทิ้งท้าย
*แก้ไขรูปภาพกราฟิคและข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลา 21.12 น.
อ้างอิง:
chulalongkornhospital
the standard