เกิดอะไรขึ้นวันที่ 11 กันยายน ปี 2001
วันนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้าย 19 คนที่สังกัดกลุ่ม Al-Qaeda จี้เครื่องบินพานิชย์ 4 ลำและบังคับให้พุ่งชนสถานที่สำคัญในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังก่ล่าวรวมทั้งหมด 2,996 คน และเป็นที่มาของยุคแห่งสงครามต่อกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก
โดยเหตุการณ์ทั้งหมดมีคร่าวๆ ดังนี้
เวลาประมาณ 8.45 น. เครื่องบินของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ โบอิง 767 พุ่งเข้าชนชั้น 80 ของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ฝั่งเหนือ ทำให้มีผู้เสียชีวิตในทันทีนับร้อยราย และอีกหลายร้อยรายติดอยู่บนอาคารที่ไฟกำลังลุกไหม้ ไม่สามารถลงมาได้
17 นาทีต่อมา เครื่องบินของสายการบินเดียวกัน พุ่งชนชั้น 60 ของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ฝั่งใต้ เกิดควันไฟลอยคลุ้งและเศษฝุ่นปกคลุมทั่วเมืองนิวยอร์ค ขณะที่ชาวอเมริกันกำลังขยี้ตาทำความเข้าใจเหตุการณ์ตรงหน้าว่าไม่ได้ฝันไป สื่อทั่วโลกรีบตัดภาพมารายงานเหตุการณ์ดังกล่าวในทันที
ไม่นานหลังจากนั้น อาคารสูงที่สุดในโลกที่โครงสร้างออกแบบเพื่อกันความเร็วลม 200 ไมล์/ ชั่วโมง ค่อยๆ ร่วงลงสู่พื้นเหมือนเกม Jenga นิวยอร์คทั้งเมืองสั่นสะเทือน และสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะโกลาหล
ชั่วโมงต่อมาหลังการโจมตีครั้งแรก เวลา 9.45 น. เครื่องบินของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์อีกลำ หมุนคว้างเหนือกรุงวอชิงตัน ดีซี ก่อนพุ่งชนตึกเพนทากอน อาคารสำนักงานของฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ คร่าชีวิตทหารและพลเรือนรวม 125 ราย
แต่การโจมตียังไม่จบแค่นั้น ผู้ก่อการร้ายได้ยึดเครื่องบินไฟท์ 93 หวังพุ่งเข้าชนสถานที่สำคัญอีกแห่ง แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามคิด ผู้โดยสารบนเครื่องลุกขึ้นต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย ก่อนพาเครื่องดิ่งลงที่ชานเมืองแชงค์วิลล์ มลรัฐเพนซิลวาเนีย ทั้ง 44 คนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด ไม่มีใครทราบว่าจุดหมายของไฟท์ 93 คือที่ใด อาจเป็นทำเนียบขาว ศูนย์กลางการบริหารของสหรัฐฯ แคมป์เดวิดสถานที่อพยพของจอร์ช บุชประธานาธิบดีขณะนั้น หรืออาจเป็นโรงงานนิวเคลียร์สักแห่งก็เป็นได้
คืนนั้น จอร์จบุชออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ทุกช่อง เขากล่าวว่า “เรา (ปฏิบัติการทางทหาร) จะไม่แบ่งแยกระหว่างผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ครั้งนี้ กับผู้ที่อยู่เบื้องหลังมัน”
หลังจากนั้น 1 เดือน สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานเพื่อโค่นล้มรัฐบาลตาลิบัน และตามล่า อุซามะห์ บิน ลาดิน บุรุษที่เขาเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังเหตุ 9/11 ก่อนทำได้สำเร็จจริงๆ ในปี 2011 และนั่นอาจเรียกได้ว่าคือ เป็นการจุดไฟสงครามระหว่างประชาคมโลกที่นำโดยสหรัฐฯ กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย
อะไรคือการก่อการร้าย
CIA ให้นิยามของการก่อการร้ายไว้ว่า ปฏิบัติการหรือการกระทำที่เตรียมการล่วงหน้า โดยกระทำต่อเป้าหมายซึ่งไม่สามารถสู้รบได้ และมีเหตุจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง อาจเป็นขบวนการจากกลุ่มที่ไม่ได้เป็นของรัฐหรือของรัฐก็ได้
ด้านองค์กรข่าวกรองลับของอังกฤษ หรือ SIS ให้นิยามไว้คล้าย CIA ว่า การใช้วิธีรุนแรงที่มีการวางแผนและเตรียมการ โดยหวังผลทางการเมืองเพื่อข่มขู่ ทำให้เสียขวัญ หรือตื่นตระหนก เช่น เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โค่นล้มรัฐบาล เปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย พ.ร.บ.รักษาความสงบภายใน พ.ศ.2519 ให้นิยามการก่อการร้ายไว้ว่า การปฏิบัติการคุกคามหรือใช้ความรุนแรงของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ มุ่งหวังผลตามเงื่อนไขข้อเรียกร้องทางการเมือง
20 ปีหลังเหตุการณ์ 9/11
จากรายงานของ Globl Terrorism Index 2020 ที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2002-2019 ชี้ว่า
- ตลอดระยะเวลา 18 ปี มีการก่อการร้ายเกิดขึ้นทั้งหมด 106,120 ครั้ง หรือเฉลี่ย 16.15 ครั้ง/ วัน
- ตลอดระยะเวลา 18 ปี มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้าย 236,422 ราย เฉลี่ย 35.985 ราย/ วัน
- ปี 2014 มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายมากที่สุด 33,438 ราย
- ในปี 2019 มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้าย 13,826 ราย ซึ่งถือว่าลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 5
- ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ, รัสเซียและยูเรเซีย, อเมริกาใต้ และเอเชียใต้มีอัตราการเสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงอย่างน้อย 20%
ทั้งนี้ ประเทศ 5 ลำดับแรกที่ยังคงมีเหตุก่อการร้ายเข้มข้นที่สุดจากรายงาน Global Terrorism Index 2020 ของสถิติการก่อการร้ายในปี 2001-2019 คือ
- อัฟกานิสถาน มีผู้เสียชีวิตจากการก่อร้ายมากถึง 39,358 ราย ส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ และกลุ่มที่มีส่วนปฏิบัติการมากที่สุดคือ กลุ่มตาลิบัน
- อิรัก มีผู้เสียชีวิตจากการก่อร้ายมากถึง 66,689 ราย ส่วนมากเป็นพลเรือนและทรัพย์สินของพลเรือน โดยกลุ่มที่มีส่วนปฏิบัติการมากที่สุดคือ ISIL ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง
- ไนจีเรีย มีผู้เสียชีวิตจากการก่อร้าย 22,441 ราย ส่วนมากเป็นพลเรือนและทรัพย์สินของพลเรือน โดยกลุ่มที่มีส่วนปฏิบัติการมากที่สุดคือ บาโกฮารารม ทั้งนี้ ในปี 2019 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงมาต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011
- ซีเรีย มีผู้เสียชีวิตจากการก่อร้าย 10,831 ราย ส่วนมากเป็นพลเรือนและทรัพย์สินของพลเรือน โดยกลุ่มที่มีส่วนปฏิบัติการมากที่สุดคือ ISIL ทั้งนี้ นับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของ ISIS จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายก็ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
- โซมาเลีย มีผู้เสียชีวิตจากการก่อร้าย 7,180 ราย โดยมีสัดส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐกับพลเรือนและทรัพย์สินของพลเรือนระดับใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มที่มีส่วนปฏิบัติการมากที่สุดคือ Al-Shabaab
ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติดอันดับท็อปเทนเช่นกันคือ ฟิลิปปินส์ (อันดับ 10) ด้านประเทศไทยอยู่ในอันดับ 21 และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์อยู่ในอันดับสุดท้ายของตาราง หรือ 135
กลุ่มก่อการร้ายที่ก่อเหตุบ่อยและรุนแรงที่สุด
ตาลิบัน (Taliban)
กลุ่มตาลิบันก่อตั้งขี้นในปี 1996 เพื่อตอบโต้การรุกรานของสหภาพโซเวียต ผ่านการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และเงินจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ
ภายหลังที่กลุ่มตาลิบันและชาติพันธมิตรตะวันตกสามารถทำให้สหภาพโซเวียตล่าถอยได้ พวกเขาได้จัดตั้งรัฐบาลและประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์ ซึ่งนำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน กดขี่สิทธิสตรี และความรุนแรงต่างๆ
ในปี 2004 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งทหารเข้าไปในประเทศอัฟกานิสถานและโค่นล้มรัฐบาลตาลิบัน ก่อนจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา ทำให้กลุ่มตาลิบันลงสู่ใต้ดิน และเริ่มปฏิบัติการตอบโต้ชาติตะวันตกอีกครั้ง
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มตาลิบันได้เข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานและประกาศจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง แม้จะประกาศว่าพวกเขาจะให้สิทธิสตรีในการเรียนหนังสือ ทำงานนอกบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตามล่าสุด พวกเขาก็เพิ่งประกาศห้ามไม่ให้ผู้หญิงเล่นกีฬา รวมถึงมีการลงโทษนักข่าวด้วยการโบ้ยหลัง
โบโกฮาราม (Boko Haram)
โบโกฮาราม (แปลว่า ความเป็นตะวันตกคือการละเมิดทางศาสนา) เป็นกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 โดยมีฐานที่มั่นอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไนจีเรีย และปฏิบัติการในไนจีเรีย, มาลี, แคมเมอรูน, ชาด รวมถึงไนเจอร์
กลุ่มโบโกฮารามเชื่อว่า ความเป็นตะวันตกที่ไหลเข้ามาสู่ประเทศไนจีเรียกำลังทำให้ประเทศเดินไปผิดทาง และทำลายค่านิยมความเป็นอิสลาม และพยายามชี้ว่าความเป็นตะวันตกทำให้เกิดการคอรัปชัน และขยายช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน
ในปี 2015 โบโกฮารามเปลี่ยนชื่อเป็น ISWA หรือกลุ่มรัฐอิสลามในแอฟริกาตะวันตก ก่อนที่ในปีต่อมาจะแตกออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกยังคงใช้ชื่อ ISWA ขณะที่อีกกลุ่มกลับมาใช้ชื่อโบโกฮาราม
ISIL หรือ ISIS
กลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ISIL, ISIS ก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มทหารอิรักในทศวรรษ 2000 โดยมีเป้าหมายที่จะก่อร่างสร้างรัฐอิสลามที่ปกครองโดยผู้นำการเมือง และผู้นำศาสนาเพียงคนเดียวตามหลักฎหมายชารีอะห์ โดยมีการประเมินกันว่านักรบ ISIS มีมากถึง 31,000 คน และมากถึง 12,000 คนในนั้นเป็นนักรบจากต่างชาติ
เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในช่วงปี 2014 เมื่อกลุ่ม ISIS ประกาศตั้งรัฐอิสลามในพื้นที่ซีเรียและอิรัก และ อาบู บาการ์ แบกดาดี หัวหน้ากลุ่ม ISIS ได้ประกาศแต่งตั้งตัวเองขึ้นเป็นคาลิปของรัฐอิสลาม โดยมีการประเมินกันว่ากลุ่ม ISIS สามารถยึดครองพื้นที่ในสองประเทศรวมกันได้อย่างน้อย 40,000 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ดี กลุ่ม ISIS ได้พ่ายแพ้ให้แก้กองกำลังชาติพันธมิตรในปี 2018
ทั้งนี้ ล่าสุดกลุ่ม ISIS-K ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของกลุ่ม ISIS แต่ยึดวิธีการที่รุนแรงกว่า สุดโต่งกว่า ได้โจมตีสนามบินในกรุงคาบูล ในอัฟกานิสถาน และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 ราย
Al-Shabaab
กลุ่ม Al-Shabaab (แปลว่าความเยาว์วัย) เริ่มปฏิบัติการครั้งแรกในปี 2006 โดยเป็นกลุ่มที่มีมีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศโซมาเลียและเคนยา ประกาศมุ่งต่อสู้เพื่อสถาปนารัฐอิสลาให้เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟกริตาตะวันออก โดยคาดมีสมาชิกราว 7,000-9,000 คน
ในเดือนกันยายน ปี 2013 กลุ่ม Al-Shabaab ได้ปฏิบัติการกราดยิงผู้บริสุทธิ์ในเมืองไนโรบี ประเทศเคนยา ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 65 ราย ขณะที่ในปี 2015 ได้บุกเข้ากราดยิงนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย Garissa ในประเทศเคนยาเช่นกัน และทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 140 ราย
“จงรู้ไว้ว่าเราจะไม่ลืม เราจะตามล่า และเอาคืนพวกเขาอย่างสาสม” ประโยคดังกล่าวมาจากปากของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ที่เป็นดั่งคำมั่นสัญญาว่าจะเอาคืนให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ถล่มสนามบินในกรุงคาบูลของกลุ่ม ISIS-K และเป็นคำมั่นเช่นเดียวกันว่า สงครามกับผู้ก่อการร้ายยังไม่สิ้นสุด และยังมีผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยอีกมาก ..
อ้างอิง:
britannica.com/topic/Boko-Haram
Illustrator By Waragorn Keeranan