แครอล มาริน (Carol Marin) มีอายุ 52 ปี ตอน ค.ศ. 2001 และทำงานอยู่สถานีโทรทัศน์ซีบีเอส ที่นิวยอร์ก เธอคือนักข่าวสืบสวนสอบสวนฝีมือดี ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 แครอลทำงานอยู่ในห้องส่ง ท่ามกลางผู้คนในวงการข่าวและรายล้อมด้วยจอโทรทัศน์จำนวนหลายจอ
เมื่อจอโทรทัศน์จับภาพเครื่องบินลำแรกพุ่งเข้าชนตึก World Trade Center มันสร้างความตื่นตกใจให้กับคนในห้องส่งอย่างมาก บางคนถึงกับอุทานว่า “พระเจ้าช่วย” ทุกคนต่างตะลึงงงงันทำอะไรไม่ถูก
แต่ไม่ใช่กับแครอล เธอเป็นนักข่าวมานาน จึงรู้ได้ทันทีว่ากำลังมีข่าวใหญ่เกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้นเธอจึงออกจากห้องส่ง แล้วขับรถมุ่งหน้ารุดไปยังจุดเกิดเหตุทันที ด้วยความคิดว่าหากตำรวจกั้นล้อมปิดสถานที่ตรงนั้นไว้แล้ว การเข้าไปรายงานข่าวในพื้นที่จะยากมาก ระหว่างที่เธอกำลังขับรถไปนั้น แครอลเห็นผู้คนจำนวนมากรีบหนีออกมาอย่างโกลาหลตลอดสองข้างทาง มีคนพยายามบอกให้เธอวนรถกลับออกไป อย่าเข้าไปยังจุดเกิดเหตุเด็ดขาด
แต่นักข่าวมากประสบการณ์บอกเพียงว่า “ไม่ต้องห่วง ฉันเป็นนักข่าวของซีบีเอส” แล้วเธอก็มุ่งหน้าไปยังจุดเกิดเหตุ ตอนนั้นเธอคิดจะรายงานข่าวทางโทรศัพท์มือถือ แต่ในวันนั้น สัญญาณโทรศัพท์ล่ม เพราะคนจำนวนมากใช้มือถือโทร.หากันจนระบบมีปัญหา ขณะที่เธอกำลังขับรถไป ตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ อาคารแรกก็พังถล่มลงมา แครอลตัดสินใจจอดรถ แล้วรีบวิ่งไปยังจุดที่อาคารถล่มแทน
เมื่อถึงจุดเกิดเหตุ เศษซากฝุ่นละอองหายนะของการพังทลายปรากฏให้เห็นเด่นชัด โดยอาคารที่ 2 ยังไม่พังถล่มลงมา นักผจญเพลิงหลายนายเข้าไปในพื้นที่ เธอแค่ชูบัตรสื่อมวลชน พวกเขาก็ให้เธอเข้ามาและแนะนำว่าให้ระวังซากของตึกที่อาจหล่นลงใส่หัวได้
นักผจญเพลิงรายหนึ่งเดินนำหน้าเธอเพื่อสำรวจพื้นที่ รายล้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักผจญเพลิงจำนวนมากที่กำลังเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ขณะที่เจ้าหน้าที่แพทย์รอดูสถานการณ์ไม่ได้เข้ามาในบริเวณดังกล่าว แครอลเดินเข้าไปในจุดเกิดเหตุตามหลังนักผจญเพลิง
ในเสี้ยววินาทีนั้น พื้นที่เธอเหยียบก็สั่นสะเทือนอย่างแรงจนรู้สึกได้ขณะก้าวเท้า นักผจญเพลิงหันมาหาเธอแล้วตะโกนดังลั่น
“วิ่ง!!!!!”
ภาพที่เธอเห็นก่อนสับเท้า คือ ลูกบอลไฟใหญ่ๆ จากเครื่องบินร่วงลงมา
และไม่นานอาคารที่ 2 ก็พังถล่มลงมาตามตึกแรก
เธอวิ่งตามเสียงตะโกนของนักผจญเพลิง แต่ความสั่นสะเทือนของพื้นทำให้เธอล้ม นักผจญเพลิงฉุดเธอลุกขึ้นแล้วพากันวิ่งหนี ระหว่างนั้นเศษซากตึกถล่มลงมาต่อเนื่อง เขาพาเธอไปหลบ แล้วบังเศษซากเหล่านี้ไว้ ฝุ่นจำนวนมากคลุ้งรอบตัวเธอและเขา เธอรู้สึกถึงหัวใจของนักผจญเพลิงรายนี้เต้นระรัวผ่านกระดูกสันหลังของเธอ นักข่าวมากประสบการณ์ได้เห็นข้าวของออฟฟิศร่วงลงมา สิ่งของที่เราคุ้นเคยในการทำงาน บัดนี้มันร่วงตกมาอย่างไร้ค่า
จากนั้นทุกอย่างก็เริ่มมืดจนมองไม่เห็น มันไม่มีไฟไหม้แม้แต่น้อย มีแต่กลุ่มควันจำนวนมาก มากจนเธอคิดว่าไม่นาน เธอจะเริ่มหายใจไม่ออก และจะต้องขาดอากาศตายอย่างแน่นอน
แต่นักผจญเพลิงมีสติและความกล้าหาญ เขาดึงเธอไปหาตำรวจนิวยอร์กที่อยู่ใกล้ๆ กัน ทางตำรวจบอกให้เธอเอามือปิดหน้าไว้เพื่อป้องกันเศษฝุ่นจำนวนมากแล้วจากนั้นทั้ง 3 คน ตำรวจ นักข่าว นักผจญเพลิงต่างจ้องมองท่ามกลางความมืดมิด พวกเขาค้นหาแสงสว่าง เมื่อพบเจอแสงตรงหน้า ก็เริ่มออกเดิน เพราะเชื่อว่าแสงสว่างนั้นจะพาไปสู่ทางออกจากหายนะครั้งนี้ได้
ระหว่างก้าวเท้าไปหาแสงสว่างนั้น ทางนักผจญเพลิงเอาหน้ากากออกซิเจนให้เธอสูดอากาศเข้าปอดเป็นช่วงๆ แล้วเธอก็รอดมาได้อย่างหวุดหวิด
เมื่อออกจากซากอาคาร เธอเห็นผู้คนกรีดร้องคร่ำครวญ เห็นเจ้าหน้าที่กำลังทำงานอย่างหนัก พวกเขาเปื้อนฝุ่นขาวโพลนไปหมด ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าไปในอาคารหลังเกิดเหตุ ต่างป่วยเป็นมะเร็งจากการสูดดมเศษฝุ่นของการถล่มลงครั้งนี้ หลายคนต้องหยุดทำงาน หรือแม้แต่ล้มหายตายจากไป กว่าที่รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาชดเชยให้กับวีรกรรมของพวกเขา ก็ต้องผ่านการต่อสู้มาเกือบ 16 ปี กว่าที่รัฐจะเหลียวแลการสละชีวิตของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานถวายหัวในเหตุการณ์วันนั้น
หลังจากรอดมาได้ เธอรีบวิ่งออกมาแล้วไปพบคนขับรถเมล์ซึ่งเปิดประตูรถเมล์ไว้ทั้งๆ ที่ไม่มีผู้โดยสารแม้แต่คนเดียว เขายอมขับพาเธอไปยังสถานีโทรทัศน์ เพื่อรายงานข่าวเหตุการณ์นี้ สิ่งที่ผู้ชมทางบ้านเห็นในวันนั้น นอกจากภาพเครื่องบินพุ่งชนตึกทั้งสอง และการถล่มลงมาของตึกทั้งสองแล้ว
ภาพของเธอที่คุยกับยอดพิธีกรนักข่าว แดน ราเธอร์ (Dan Rather) ก็เป็นสิ่งที่ตราตรึงในหน้าประวัติศาสตร์ยิ่งนัก
เสื้อสูทสีน้ำเงินของเธอมีซากเศษฝุ่นที่เปรอะเปื้อนเต็มตัวเธอไปหมด พร้อมกับใบหน้าที่ตื่นตระหนก นักข่าวมากประสบการณ์เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งเธอได้ประสบพบเจอและรอดชีวิตมาได้อย่างฉิวเฉียด
แครอลพูดชื่นชมการทำงานของนักผจญเพลิงคนดังกล่าว “มันเป็นสิ่งที่น่าเหลือเชื่อมาก” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงการเล่าตะกุกตะกัก และพิธีกรข่าวต้องจับมือเธอเพื่อประคองสติขณะออกอากาศสด
หลังจากออกอากาศแล้วเสร็จ เธอไม่ได้กลับไปพักที่โรงแรมจนถึงเที่ยงคืน เพราะความรู้สึกแย่ๆ ปรากฏขึ้นในใจเธอ ซึ่งเป็นสำนึกที่ย้ำเตือนว่า เธอไม่ได้ช่วยชีวิตใครเลยจากเหตุการณ์วันนี้
หลายปีผันผ่าน แครอลยืนยันว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ เธอก็จะทำแบบเดิม คือเข้าไปยังจุดเกิดเหตุแล้วเสี่ยงชีวิตที่จะก้าวไปสู่ความเป็นความตายอีกครา แล้วหากรอดมาได้ ก็จะกลับมารายงานข่าวที่สถานีโทรทัศน์อีกครั้งอย่างแน่นอน
นอกจากนี้เธอยังได้แสดงความเสียใจต่อการนำเสนอข่าวของสื่อโทรทัศน์ในเหตุการณ์ดังกล่าวว่าสื่อมวลชนตอนนั้นนำเสนอข่าวเน้นความเป็นตายมากเกินไป จนสร้างความตื่นตกใจและสร้างความหม่นหมองให้กับประเทศ
“พวกเราได้รับบทเรียนล้ำค่าย้ำเตือนจากเหตุการณ์นี้
ถึงจุดประสงค์และภารกิจของพวกเรา
นั่นก็คือข่าวถูกสร้างมาเพื่อเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่หิวกระหาย
อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคำถามว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาได้”
นี่คือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนโลกครั้งประวัติศาสตร์ เพราะในภายหลัง กองทัพอเมริกาและชาติพันธมิตรบุกอัฟกานิสถานเพื่อล่าตัว โอซาม่า บิน ลาเดน (Osama bin Laden) ไล่ล่ากลุ่มองค์กรก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ก่อนที่ฝ่ายขวาจัดจะลากสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามอิรัก จนผ่านไป 10 กว่าปี สหรัฐอเมริกายังคงจมปลักในสงครามอิรัก อัฟกานิสถาน ตะวันออกกลาง มีผู้คนล้มหายตายจากหลายหมื่น แม้ว่าตัวบิน ลาเดน ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 จะถูกปลิดชีพไปแล้วก็ตาม แต่ภัยก่อการร้ายกลับไม่มอดดับลงไปด้วย
ชีวิตของทหารอเมริกา ประชาชนในอัฟกานิสถาน ผู้คนในอิรัก และตะวันออกลาง ยังคงสูญเสียจากภัยก่อการร้ายอยู่เหมือนเดิม กลายเป็นความเสี่ยงที่โลกชดใช้จากเหตุการณ์ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001
การถล่มของอาคาร WTC วันนั้น มีผู้เสียชีวิตไปทั้งสิ้น 2,602 คน สูญหาย 24 คน มีผู้ได้รับผลกระทบตามมาอีกจำนวนมาก รวมถึงมีคนไทยที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึก 2 คนด้วยกัน
มันกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์หายนะของโลก ที่เปลี่ยนโลกใบนี้อย่างรุนแรงยิ่งนัก
สำหรับแครอลนั้น ตลอดชีวิตการทำข่าว ทักษะที่เธอมี ทำให้ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 เธอได้ชื่อตำรวจที่พาเธอออกมา ได้ชื่อแม้กระทั่งแพทย์ที่พาเธอออกมาตรงถนน เธอได้แม้กระทั่งชื่อคนขับรถเมล์ที่ขับรถพาเธอไปยังสถานีโทรทัศน์
แต่เธอกลับไม่ได้คุยกับนักผจญเพลิงที่ช่วยชีวิตเธอ ไม่รู้ว่าเขาคือใคร เป็นใคร ชื่ออะไร
บนเวที TED Talks หลายปีผ่านมา เธอได้พูดถึงชีวิตการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวน เธอบอกว่า การทำข่าวตลอดชีวิตของเธอได้ให้บทเรียนเธอ 5 ข้อด้วยกัน ข้อแรก—การทำข่าวมีสิทธิ์ทำให้คนอื่นตายได้ ข้อต่อมาคือ—ตัวนักข่าวมีสิทธิ์ตายจากการทำข่าวได้เช่นกัน ข้อสาม คือ เตรียมใจรับมือการถูกเกลียด เพราะการทำข่าวบางครั้งเราจำต้องถามในสิ่งที่คนไม่ชอบ แต่มันคือสิ่งที่นักข่าวต้องทำ
เธอใช้คำว่า มันคือ ‘อภิสิทธิ์ของนักข่าว’
ข้อสี่ คือ เตรียมตัวที่จะรับมือกับการยกย่องมากกว่าที่คุณคู่ควร เธอเล่าถึงตอนถูกบีบออกจากงานข่าว มีคนยกย่องเธอมากมาย มีสื่อมวลชนเขียนถึงวิพากษ์วิจารณ์ ต่างจากคนทั่วไปที่ทำในสิ่งที่ถูกต้องทำตามหลักการ แต่กลับถูกให้ออกจากงาน ซึ่งมีคนแบบนี้ทุกวัน แต่ไม่ได้รับการยกย่องเท่านักข่าว
ข้อห้า—จงเตรียมพร้อมในสิ่งที่คุณไม่พร้อมจะเผชิญ เพราะมันเป็นภารกิจของนักข่าว เหมือนพยาบาลที่ต้องจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะมันไม่ใช่ว่าคุณควรทำมัน แต่เพราะคุณถูกฝึกให้ทำ คุณต้องการจะทำและคุณเชื่อว่าจะต้องทำ
ทุกข่าว ทุกวัน ทุกปี ที่เธอทำแบบนี้ มันคือสิ่งที่นักข่าวต้องทำในการทำงานนี้ มันคืออภิสิทธิ์ของนักข่าว
อย่างไรก็ดี ด้วยอภิสิทธิ์ของเธอที่ทำให้เธอผ่านการทำข่าวมาอย่างโชกโชน แต่แครอลยอมรับว่าเธอไม่รู้ว่านักผจญเพลิงคนที่ตะโกนบอกให้เธอวิ่ง คนที่บังเธอ และส่งเธอให้กับตำรวจนั้นคือใคร ภาพสุดท้ายที่เธอเห็นเขา คือ เมื่อนักผจญเพลิงพาเธอออกมาได้ เขาก็หันหลังกลับแล้ววิ่งเข้าไปในซากตึก เขาวิ่งไปที่ชั้น 2 ของตัวอาคารที่ยังยืนหยัดอยู่ท่ามกลางซากอาคารที่ถล่มลงมาอย่างต่อเนื่อง
เธอได้เขียนจดหมาย สืบหา สอบถาม ทำอย่างสุดความสามารถของทักษะนักข่าวเพื่อหาตัวเขา ด้วยความหวังว่าวันหนึ่ง สักวัน สักคนจะรู้ว่านักผจญเพลิงรายนี้คือใคร
แต่ก็ยังไม่มีใครพบหรือรู้ว่าเขาคือใครจนถึงปัจจุบัน
เอาเข้าจริง ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่า เขารอดจากเหตุการณ์ในวันนั้นหรือเปล่า
และนั่นคือสิ่งที่หลอกหลอนเธอมาจนถึงทุกวันนี้