เชื้อไวรัส Covid-19 กลับมาระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งในช่วงสัปดาห์นี้ โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 1,000 คนติดต่อกันหลายวัน จึงเป็นอีกครั้งที่สังคมไทยต้องเก็บคองอเข่า ดูแลตัวเองเพื่อดูแลคนรอบข้างไม่ให้การระบาดขยายตัวไปมากกว่าเดิม
แต่ไวรัสไม่เข้าใครออกใคร บางคนได้รับเชื้อและไม่แสดงอาการ ตลอดจนบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองได้รับเชื้อจากที่ไหน ทั้งนี้ การได้รับเชื้อไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย แต่การเตรียมตัวไว้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้น TheMATTER อยากชวนคุณเซฟภาพกราฟิกชิ้นนี้ไว้ เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คุณจะได้เตรียมตัวเพื่อสู้โรคอย่างดีที่สุด
สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจ Covid-19
จนถึงขณะนี้ เกณฑ์ในการรับตรวจ Covid-19 ของภาครัฐยังคงเป็นเช่นเดิม คือรับตรวจฟรีเฉพาะผู้ที่เข้าข่ายกฎเกณฑ์ที่วางไว้ โดยสามารถเข้ารับการตรวจฟรีได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน มีเกณฑ์ดังนี้
1.ตัวร้อนมากกว่า 37.5 องศา
2.มีอาการไอ เจ็บคอ หรือหายใจไม่สะดวก
3.มีน้ำมูก
4.อาการที่ไม่ปกติอื่นๆ อาทิ ปวดท้อง ผื่น
5.มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเดินทางไปต่างประเทศใน 14 วัน
6.เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง
และสำหรับผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว แต่เป็นกังวลและอยากเข้ารับการตรวจ มีค่าใช้จ่ายการตรวจตั้งแต่ 1,500-10,000 บาท แล้วแต่โรงพยาบาล โดยสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่:
https://www.cigna.co.th/faq/hospital-checklist-for-covid19
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขไม่เชิญชวนให้ผู้ที่ไม่มีอาการหรือไม่เข้าข่ายเข้ารับการตรวจ โดยให้เหตุผลว่าการเดินทางไปโรงพยาบาลอาจยิ่งเป็นการเสี่ยงให้สัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อได้
สำหรับผู้ที่พบว่าตัวเองติดเชื้อ Covid-19
สำหรับผู้ที่เข้ารับการตรวจเชื้อและพบว่าตัวเองติดเชื้อไวรัส Covid-19 มิต้องเป็นกังวลว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดย พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้ยืนยันผ่านเวทีเสวนาหัวข้อ “ติดเชื้อโควิด-19 จะหาเตียงอย่างไร เสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ ? สายด่วน และ LINE สบายดีบอต” ว่า ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับสิทธิในการรักษาฟรี ไม่ว่าในโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลรัฐ
ดังนั้น เมื่อคุณไปตรวจและพบว่าตัวเองติด Covid-19 คุณควรเตรียมตัวดังนี้
- เตรียมเอกสารที่ต้องใช้
- บัตรประชาชน
- ผลตรวจ Covid-19
- แยกกักตัวและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายสู่คนที่ใกล้ชิด อาทิ คนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูง
- จัดการข้าวของเครื่องใช้และขยะของตัวเองอย่างระมัดระวัง ตรงนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะต้องไม่ลืมว่าข้าวของเครื่องใช้และขยะบางชนิด อาทิ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว อาจทำให้ผู้อื่นติดเชื้อต่อได้ ถ้าไม่มีการจัดการขยะที่ดี
- หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอล องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO เคยแนะนำไว้ว่า ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส Covid-19 หากเกิดอาการเวียนหัว ปวดตัว มีไข้ ให้กินยาพาราเซตามอลเข้าไปแทน เพราะยาอีกประเภทหนึ่งที่ชื่อว่าไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจไปกระตุ้นเอ็นไซม์บางตัว ทำให้เชื้อโควิด-19 ลุกลามเร็วขึ้นและกลายพันธ์ุ
- งดการเดินทางไปข้างนอกและข้ามจังหวัด ทั้งนี้ ถ้าหากเจ้าหน้าที่พบว่าฝ่าฝืนอาจถูกมีโทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2534 มาตรา 34
- ถ้าหากยังหาเตียงไม่ได้ติดต่อสายด่วน
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพ: 1330
- กรมการแพทย์: 1668
- สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ: 1669
- แอดไลน์: @sabaideebot
- เจ้าหน้าที่จะประสานเข้ารับการรักษาตามอาการ
- ถ้ามีอาการรุนแรง —> โรงพยาบาล
- ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง —> โรงพยาบาลสนาม
- ผู้ป่วยติดเชื้อไม่แสดงอาการ/ ค้นหาเชิงรุก —> Hospitel
กระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งความรุนแรงของเชื้อไวรัส Covid-19 ไว้ 3 ลำดับ สีเขียว (ไม่แสดงอาการ), สีส้ม (อาการเล็กน้อย) และสีแดง (อาการรุนแรง) โดยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจะถูกส่งตัวเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทันที ส่วนผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการแต่มีเชื้อในร่างกายจะถูกส่งไป โรงพยาบาลสนามและ Hospitel ตามลำดับ
สายด่วนสำคัญ
กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำให้ประชาชนเมมเบอร์สายด่วนสำคัญไว้ โดยมีดังต่อไปนี้
- กรณีที่มีข้อสงสัยหรืออยากสอบถามเพิ่มเติมเรื่อง Covid-19
- กรมควบคุมโรค: 1422
- กรณีที่มีปัญหาเรื่องเตียง จากล่าสุดที่มีการเปิดเผยว่าผู้ป่วยบางรายไม่สามารถหาเตียงในโรงพยาบาลได้
-
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพ: 1330
- กรมการแพทย์: 1668
- สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ: 1669
- แอดไลน์: @sabaideebot
-
- ศูนย์เอราวัณ (กรุงเทพมหานคร): 1646 ทั้งนี้ ศูนย์เอราวัณเป็นศูนย์เฉพาะในกรุงเทพมหานครเท่านั้น
- สายด่วนกรมสุขภาพจิต: 1323
อ้างอิง:
https://www.cigna.co.th/faq/hospital-checklist-for-covid19
https://www.prachachat.net/general/news-650685
https://www.prachachat.net/spinoff/health/news-649666
https://news.thaipbs.or.th/content/303459