ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยเรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้ บางประเทศก็มีการเตรียมการ ออกแบบเมืองให้เหมาะสมกับทุกวัย หรือวางแผนประชากรให้พร้อม รวมทั้งเปิดคอร์สสอนผู้สูงวัยด้วย
บ้านเราเอง ก็เริ่มมีหลายๆ แห่งที่เปิดโรงเรียนแนวนี้ ซึ่งให้เราได้เห็นภาพที่ไม่ใช่เด็กๆ หรือวัยรุ่นมานั่งเรียน แต่เป็นผู้สูงวัย ที่ได้กลับมานั่งเรียนอีกครั้ง อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ได้เปิดโครงการ ‘โรงเรียนผู้สูงอายุ’สำหรับนักเรียนอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีวิชาเรียนเข้ากับวัย ทั้งความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ โภชนาการ การวางแผนการเงินหลังเกษียณ รวมไปถึงการทำพินัยกรรม แบ่งมรดก เพื่อให้ผู้สูงวัยแข็งแรง และมีความรู้พร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในเร็วๆ
The MATTER พูดคุยกับ ดร.สันทณี เครือขอนรองผู้อำนวยการฝ่ายบริการสังคม สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ม.ธรรมศาสตร์ ถึงเป้าหมายในการเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุ การเตรียมความพร้อม และความสมดุลระหว่างเด็กรุ่นใหม่ และผู้สูงวัยในการเตรียมพร้อมสู่ Ageing Society ไปพร้อมๆ กัน
ทำไมถึงเปิดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ
อย่างที่เรารู้ๆ กันว่า ผู้สูงอายุในบ้านเราค่อนข้างเยอะ และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีกไม่นานนี้ ในฐานะที่เป็นนักกายภาพบำบัด สอนด้านกายภาพบำบัด และเราเห็นอยู่แล้วว่ามันมีปัญหา คือการที่เราจะผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 1 คน ให้ทันกับผู้สูงอายุที่ทวีคูณ มันไม่ได้ทำได้เร็ว เราจึงมองว่ามันจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะให้ความรู้ เพราะธรรมศาสตร์เป็นตลาดวิชา เรามีองค์ความรู้ที่หลากหลายและเหมาะกับผู้สูงอายุ เราจึงคิดจะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากนักเรียนเป็นผู้สูงอายุโดยตรง มันจะเร็วกว่าไหม
เราตั้งเป้าว่าคนที่มาเรียนคือผู้สูงอายุธรรมดา ที่เขาก็อาจจะมีความรู้บ้างอยู่แล้ว เราคิดว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงผู้สูงอายุเหล่านั้น เป็นตัวอย่าง และเผยแพร่ความรู้ที่ได้ไปให้เพื่อน หรืออย่างน้อยคู่สามีภรรยาที่อยู่ในสังคมข้างนอก และถ้าเราสร้างคนกลุ่มนี้ขึ้นมา สังคมผู้สูงอายุเราจะเข้มแข็งขึ้น และประกอบกับในเมือง คือโรงเรียนผู้สูงอายุมันมีในส่วนท้องถิ่น ที่อบต. อบจ. รับผิดชอบ มีอยู่ในทุกจังหวัด เราก็ไปดูโมเดลว่าเราจะทำอย่างไรกับผู้สูงอายุในเขตเมือง และเอามาปรับ สร้างเป็นโครงสร้างเนื้อหาให้เหมาะกับองค์ความรู้ในธรรมศาสตร์
หลักสูตรนี้มีเรียนอะไรบ้าง
ในเนื้อหาจะมี 3 ส่วน คือต้องรู้ ควรรู้ และสิ่งที่เขาอยากรู้ ในส่วนที่ต้องรู้ ในฐานะที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์เราพบว่า ผู้สูงอายุพบโรคเรื้อรัง ข้อเข่าเสื่อม ปวดหลัง และอาการต่างๆ เราจึงหาองค์ความรู้ที่ถ้าเขารู้ เขาจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะยังมีผู้สูงอายุที่แข็งแรง ที่ป้องกันอาการเหล่านี้ได้อยู่
อีกหมวด คือเรื่องที่ควรรู้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่จำเป็นรองลงมา คือเรื่องที่เราจะต้องเตรียมตัวเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า เช่น ถ้าเสียชีวิตจะวางแผนให้กับลูกหลานยังไง ในเรื่องของมรดก หรือพินัยกรรม แม้กระทั่งแผนชีวิต (Living Will) ถ้าต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่ต้องเจาะ หรือไม่ต้องปั๊มหัวใจขึ้นมา ซึ่งมันเป็นกระบวนการที่ต้องทำให้ถูกต้องเพื่อจะมีผลตามกฎหมาย แต่บางทีเรื่องเหล่านี้ ลูกหลานไม่เข้าใจ เพราะทุกคนรักพ่อแม่ จึงต้องให้ผู้สูงอายุแสดงเจตจำนง ให้ลูกหลานยอมรับในทางกฎหมาย รวมถึงเรื่องอย่างการจัดเตรียมบ้าน เพราะแม้จะอยู่บ้านเดิม แต่อายุมากขึ้นก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องเพิ่มแสงไฟ หรือทำให้พื้นไม่ลื่น เพราะฉะนั้นเราเลยจัดเตรียมเรื่องเหล่านี้ให้กับผู้สูงอายุ
สุดท้ายเรื่องที่อยากรู้ โดยเรามีการถามว่าผู้สูงอายุอยากเรียนรู้อะไร ก็มีหลายสิ่งที่เขาอยากรู้ เช่น การวางแผนด้านการเงิน การลงทุน จะวางแผนให้เพียงพอต่อช่วงชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร หรืออย่างเรื่องของศิลปะ ที่ผู้สูงอายุบางคนไม่เคยแสดงออกด้านนี้ เราก็มีคลาสให้ทำอาหารทานง่ายๆ เพนต์ผ้า หรือเสื้อ โดยใช้ศิลปะทำให้สภาวะจิตใจสงบนิ่งขึ้น
ทำไมเป็นคนสูงวัยแล้ว ยังต้องกลับมาเรียนอีกครั้ง
ในฐานะที่เป็นอาจารย์ เราประเมินผู้เรียนเหมือน Student Center ว่าข้อมูลใดเป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ อย่างหลักสูตรนี้ เราได้สำรวจมาแล้วว่าเขาอยากรู้อะไรกัน และเขามีความรู้พวกนี้อยู่แค่ไหน ซึ่งบางคนก็มีบ้าง หรือไม่มีเลย ดังนั้นเราจึงทำการสำรวจก่อนว่าเขาไม่รู้เรื่องอะไร และสอน ปฏิบัติ เติมเต็มความรู้ในส่วนที่เขาไม่รู้ เพราะว่าไม่ได้เป็นผู้สูงอายุ แล้วจะรู้ทุกเรื่อง ทั้งห้องเรียนของเราไม่ได้เป็นภาพของการนั่งเรียน จดเลคเชอร์ที่น่าเบื่อ แต่เป็นเหมือนการแชร์ประสบการณ์ชีวิตในคอนเทนต์ที่เราเตรียมให้มากกว่า
นอกจากเรื่องเรียน เราคาดว่าเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ๆ จะทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวา กระตือรือร้นมากขึ้น เพราะบางทีเมื่ออยู่ที่บ้าน ลูกหลานอาจจะไม่ค่อยมีเวลารับฟัง แต่ถ้ามาเจอเพื่อน อาจจะมีเพื่อนที่แตกต่างกัน ที่ได้แชร์เรื่องราวกัน มีกลุ่มพูดคุยกัน ก็จะทำให้เค้าผ่อนคลายขึ้น
ปกติภาพห้องเรียนจะเป็นครูกับเด็กๆ พอเป็นผู้สูงวัยสภาพแวดล้อมในห้องเรียน แตกต่างกันไหม
ไม่ต่างค่ะ ต้องดุเหมือนกัน เพราะผู้สูงอายุก็คุยกันเก่งมากๆ ทั้งๆ ที่เพิ่งมาเจอกัน เพิ่งรู้จักกัน แต่ก็จะคุยกันเยอะ แอบเอาขนมมาแลกกันก็มี ต้องมีการเตือนว่าห้ามคุยกันในระหว่างเรียน แต่เค้าก็ค่อนข้างตั้งใจเรียน เพราะเป็นผู้ใหญ่ก็มีความรับผิดชอบกันแล้ว
หลังจบคอร์ส คาดหวังว่าผู้สูงอายุที่มาเรียนจะได้รับอะไรบ้าง
เป้าหมายแรก ด้านร่างกาย เราตั้งไว้เลยว่าผู้สูงอายุจะต้องมีสมรรถภาพทางด้านกายที่ดีขึ้น เพราะเรามีการประเมินก่อนเรียนด้านร่างกาย เป็น Physical Fitness Test ที่เป็นการประเมินโดยองค์การอนามัยโลก ทั้งเรื่องของเข่า การยืน เดิน ลำตัว ซึ่งหลังจบคอร์สเราก็จะมาดูกันว่าผู้สูงอายุพอได้รับความรู้ และออกกำลังแล้ว ร่างกายต่างไปจากเดิมไหม
ด้านที่สอง เรื่ององค์ความรู้ ในแต่ละครั้งที่เรียนเราก็มีการทดสอบว่าเขาว่าเป็นเรื่องที่รู้ไหม และหลังเรียนได้รู้อะไรเพิ่มมากขึ้น รวมถึงว่าหลังจากเรียนจบไปแล้ว เขาจะสามารถรู้ได้ว่าจะหาแหล่งความรู้จากไหน ถ้าเรียนไปแล้ว อาจจะลืม ก็สามารถมาถามคุณครูได้
เราคาดหวังว่ามันจะเป็นกลุ่มโซเชียลเล็กๆ ที่มีพลัง รวมตัวกันและสามารถไปทำประโยชน์ต่อได้ ที่ผ่านมาเรามีกิจกรรมจิตอาสาที่เกิดขึ้นโดยผู้สูงอายุ ซึ่งพวกเขาไม่ใช่ผู้สูงอายุที่ไม่มีศักยภาพ แต่จริงๆ เขามีพลังอยู่ เพียงแค่มันถูกเก็บ ถูกขีดเส้นว่าเป็นผู้สูงวัย อายุ 60 อัพแล้ว เราจึงวางพวกเขาไว้ในจุดที่ไม่มีความสำคัญ แต่เราหวังว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถออกไปขับเคลื่อนสังคม อย่างน้อยในเรื่องของผู้สูงวัยต่อไปได้
พูดถึงสังคมผู้สูงอายุในบ้านเรา ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
บ้านเราอาจจะเตรียมการในส่วนของ ‘ก่อน’ น้อยเกินไป กลุ่มเป้าหมายที่เราควรจะมองคือกลุ่มที่ ‘กำลังจะเป็นผู้สูงวัย’ มากกว่าผู้ที่สูงวัยแล้ว อย่างช่วง 60 ปีต้นๆ ยังไม่เกิน 70 ปี อาจต้องเตรียมความพร้อม และยังสอนเขาได้อยู่
เราควรจะมีคลาสที่เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย เราเห็นโมเดลในต่างประเทศที่มีคลาสให้ทุกๆ วัย พร้อมให้เขามีความรู้อัพเดทตลอด แต่ของเรา การศึกษาเหมือนจะจบอยู่ที่มหาวิทยาลัย หลังจากเรียนก็เป็นการทำงาน การเรียนเรื่องของชีวิตไม่ค่อยจะมีให้เห็นในสังคมประเทศไทย
และถ้าเราไม่มีการเตรียมตัว จะเกิดอะไรขึ้น
ในใจเอง เราก็คิดประเด็นนี้ เพราะเราก็เป็นคนนึงที่จะเข้าสู่วัยกลางคน และจะเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ ถ้าถึงตอนนั้นที่เราอายุ 60 ปีขึ้น ใครจะช่วยเรา เพราะมันจะมีสัดส่วนของคนที่อายุน้อยน้อยกว่า เด็กๆ ในรุ่นนี้ก็ต้องเป็นกำลังในส่วนสำคัญให้ประเทศขับเคลื่อนไป และเราในส่วนของผู้สูงอายุจะเป็นภาระหรอ? ต้องเพิ่งพาคนอื่นหรอ? เราก็คิดว่าไม่สิ เราต้องอยู่ได้และไม่เป็นภาระ เพราะเรารู้สึกว่าการที่คนรุ่นหลังจะต้องแบกรับภาระ มันเป็นเรื่องที่มากเกินไปสำหรับเขา แต่ถ้าเราร่วมกันคิด เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ คนที่อายุอย่างเรา จะเข้าสู่วัยกลางคนก็ต้องเริ่มเลย เริ่มที่จะแข็งแรง มีความรู้ และป้องกันตัวเอง อย่าให้เกิดสิ่งที่จะเป็นภาระ มันถึงจะเริ่มช่วยกันให้มันเดินหน้าไปได้
วัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ ควรตื่นตัวกับเรื่องนี้แค่ไหน
จริงๆ ถ้าเค้าหยุดคิดซักนิดสำหรับชีวิตที่เร่งรีบ เอาง่ายๆ มองในครัวเรือน ครอบครัวเรามีคนที่จะเป็นผู้สูงวัย หรือกำลังจะเป็นอยู่รึเปล่า และเรามีความรู้ที่เกี่ยวกับเขาแล้วหรือยัง บางทีในคลาสผู้สูงอายุเองก็มีผู้ที่ถามว่า ทำไมเขาไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน ทำไมลูกหลานไม่เคยบอก หรือเตือน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะว่าความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะในประเทศไทย จะมีความอาวุโส เราอาจจะคิดว่า เขาโตแล้ว เป็นผู้สูงวัยแล้ว มีความรู้อยู่แล้ว แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ต้องเปลี่ยนความคิดว่าผู้สูงอายุไม่ได้รู้ทุกอย่าง
เด็กและคนรุ่นใหม่เป็นคนที่เร็วกว่า รู้ได้รอบกว่า เราต้องมีการเชื่อมต่อตรงนี้กับผู้สูงอายุให้ได้ เพราะผู้สูงวัยอาจจะไม่พร้อมรับโซเชียลมีเดีย ตาไม่เห็น ความจำไม่ดี แต่เราสามารถที่จะให้ผู้สูงวัย หรือพ่อแม่เราตระหนักได้ว่ามีความรู้ที่จำเป็นกับเขา
แล้วคนรุ่นใหม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร
คนรุ่นใหม่ต้องแข็งแรง ในฐานะที่เราเป็นนักกายภาพบำบัด มีลูกค้าช่วงตั้งแต่เรียนจบถึง 40 กว่าปีเยอะมาก ที่ไม่ได้ตระหนักถึงตัวเอง รักตัวเองไม่พอ แต่รักงานมากกว่า มันเหมือนวัยที่มีพละกำลัง มีเรี่ยวแรง กำลังไต่ขึ้นที่สูง จึงมองไม่เห็นตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังจะเป็นไปอย่างไรในอนาคต สิ่งหนึ่งที่อาจารย์เตือนได้คือต้องมีสติ สำรวจตัวเองให้มาก บางทีมันมีสัญญาณบอก แต่เด็กยุคใหม่มองข้ามไป มุ่งเอาพลังไปใส่กับงานเต็มที่โดยไม่ได้หันมามองว่าร่างกายตัวเองเป็นอย่างไร
การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในเรื่องของการเก็บออมเงิน ควรเตรียมความพร้อมตั้งแต่เมื่อไหร่
อย่างในคลาสเราก็มีสอนเรื่องการเตรียมตัวเก็บเงินสำหรับผู้สูงอายุ แต่เราบอกเลยว่า สอนกับผู้สูงอายุมันไม่ทัน การเก็บออมเงินให้เพียงพอไว้ในอนาคต ควรจะเริ่มตั้งแต่วัยทำงาน แต่หลายคนยังไม่มีความรู้เรื่องนี้ ก็มารอเงินบำเหน็จ บำนาญ ซึ่งมันไม่พอสำหรับการดำเนินชีวิตให้อยู่อย่างสะดวกสบาย
เด็กรุ่นใหม่ควรต้องคิดถึงเรื่องการออม การลงทุนในระยะที่เรายังสามารถรับความเสี่ยงได้ เงินอาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในชีวิต แต่ก็เป็นส่วนที่ความจำเป็น เป็นสิ่งพื้นฐานในตอนที่อายุมากขึ้น ตอนนี้เรายังแข็งแรง อาจจะยังไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายจำนวนน้อยๆ ทั้งยังเรื้อรัง และลากยาว เพราะฉะนั้นต้องมีสติในการใช้จ่ายค่อนข้างมาก และเป็นเรื่องจริงที่เงินเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเก็บออม
ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีทักษะอะไรที่สำคัญและจำเป็นบ้าง
เรื่องของเทคโนโลยี เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ในหลายๆ อย่าง แล้วผู้สูงอายุจะมีข้อจำกัดในการเรียนรู้สิ่งพวกนี้ค่อนข้างมาก ถ้าผู้สูงอายุบางคนไม่รับและไม่เอาเลย ก็จะอยู่ยาก ทั้งเทคโนโลยีมีหลายด้าน ทั้งการสื่อสารออนไลน์ อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง และมีเรื่องการหลอกลวงผ่านเทคโนโลยีมากมาย ซึ่งผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการถูกหลอกได้ มันจึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้
ในคลาสเราก็มีสอนว่ามีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่บางอย่างในชีวิตแล้ว นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่นใหม่จะทำได้ อย่างน้อยสอนพ่อแม่ ถ้ามีอะไรออกใหม่ๆ ช่วยสอน อย่าคิดว่าเขาไม่อยากรู้ ซึ่งจริงๆ อาจจะต้องใช้เวลา ต้องใจเย็นในการสอนทำซ้ำๆ บ่อยๆ และเค้าจะเรียนรู้และอยู่ได้อย่างปลอดภัย นี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้
เด็กรุ่นใหม่กับผู้ใหญ่ ผู้สูงวัยก็มีความคิดต่างกัน วัยต่างกัน จะมีความสมดุล หรือความเข้าใจเตรียมการร่วมกันอย่างไรในสังคมผู้สูงอายุ
จะลดช่องว่างนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย อาจารย์ว่าหน่วยที่เล็กที่สุดคือครอบครัวที่จะสามารถทำได้ คนรุ่นใหม่เองควรรู้ว่าผู้สูงอายุไม่อยากเป็นภาระ นี่คือสิ่งที่ผู้สูงวัยทุกคนพูดเหมือนกัน อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนความคิดเขาว่าเค้าไม่เป็นภาระ แต่เราต้องเปิดใจ และบอกว่าเค้าไม่ได้เป็นภาระ เขายังเป็นผู้ที่ชี้นำลูกหลาน และเป็นที่พึ่งพาได้
คำว่าไม่เป็นภาระมีหลายมุมมอง เช่นถ้าเค้าไม่มีรายได้ อยู่บ้านเฉยๆ เค้าก็อาจจะรู้สึกแบบนั้นอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้สูงวัย หรือพ่อแม่บอกว่าอยากทำอะไร ถ้าเค้ายังทำได้ต้องปล่อย ให้การสนับสนุน เหมือนที่เค้าสนับสนุนเราตอนเป็นเด็กต้องทำเหมือนกัน อย่าห้าม เพราะถ้าห้ามจะทำให้ช่องว่างมันห่าง ถ้าเราไปตัดวงจรของการเรียนรู้ เพราะทุกวัยก็อยากมีการเรียนรู้