คำพูดที่ว่า “ความยุติธรรมคือคุณธรรมแรกสุดของสถาบันทางสังคม” หรือ Justice is the first virtue of social institutions เป็นคำพูดของ จอห์น รอลส์ (John Rawls) นักปรัชญาการเมืองร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของอเมริกาและของโลก
แต่คำถามที่หลายคนคงนึกถามก็คือ
แล้วความยุติธรรมคืออะไรกันเล่า?
ในสังคมโบราณดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะสังคมยุคกลาง ยุคที่เชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ หรือสถาบันอื่นๆ ยุคที่ยังไม่ก้าวเข้าสู่การรื้อฟื้นเหตุและผลแบบกรีกอย่างยุคเรอเนซองส์ที่มีแนวคิดมนุษยนิยม มักจะยก ‘ความยุติธรรม’ ให้เป็นเรื่องของ ‘เจ้า’ ทั้งหลาย โดยเฉพาะเทพเจ้า หรือพระเจ้า ที่จะประทานสิทธิขาดในการตัดสินความยุติธรรมให้แก่ ‘เจ้าผู้ปกครอง’ อีกทีหนึ่ง โดยผ่านความเห็นชอบของผู้ที่สามารถติดต่อกับพระเจ้า (อย่างเช่นองค์กรทางศาสนา หรือศาสนจักร) อีกทีหนึ่ง
ดังนั้น ความยุติธรรมแบบนี้จึงเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็น ‘ความยุติธรรมส่วนตัว’ (Private Justice) ที่มีบุคคลบางพวกบางกลุ่ม (หรือในบางกรณีก็เป็นบุคคลแค่คนเดียวด้วยซ้ำไป เช่น จักรพรรดิราชทั้งหลาย โดยเฉพาะจักรพรรดิจีน) ที่กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าที่ไหน เพราะถือว่าเป็นโอรสมังกรโดยตัวของตัวเอง แล้วคนเหล่านี้ก็ ‘แพร่’ หลักความยุติธรรมที่เป็นไปตามครรลองส่วนตัวไปให้กับคนอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง โดยอาจมอบหมายให้คนอื่นๆ เป็นตัวแทนสำแดงความยุติธรรมแบบนี้ก็ได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือตุลาการศาลศาสนาในสเปน หรือบุคคลที่ถือกันว่า ‘ทรงความยุติธรรม’ อย่างสูงในจีนโบราณ เช่น เปาบุ้นจิ้น ผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินเรื่องต่างๆ ว่าใครผิดหรือถูกโดยอาศัยวิจารณญาณส่วนตัวเป็นหลัก เนื่องเพราะคนเหล่านี้เป็นคนที่สามารถ ‘ติดต่อ’ ได้โดยตรงกับ ‘อำนาจ’ ขนานใหญ่ที่ครอบงำมนุษย์ทั้งปวงใน ‘ใต้หล้า’ อยู่ (แต่ในกรณีของเปาบุ้นจิ้น บางครั้งเราก็จะเห็นความขัดแย้งระหว่างผู้ครองอำนาจที่แท้จริงคือจักรพรรดิกับผู้ใช้อำนาจอย่างเปาบุ้นจิ้นได้ด้วย)
ความยุติธรรมแบบนี้เรียกว่าเป็นความยุติธรรมที่เกิดจาก Divine Command หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็น ‘บัญชาสวรรค์’ หรือ ‘เทพบัญชา’ ทฤษฎีความยุติธรรมแบบนี้จึงเรียกว่า Divine Command Theory ซึ่งทำให้ผู้ได้รับเทพบัญชามา นอกจากจะต้องปฏิบัติตามนั้นแล้ว ยังต้องพยายามแสดงตัวให้เห็นว่าตัวเองศักดิ์สิทธิ์ มีลักษณะเป็นเทพหรือกึ่งเทพไปด้วย
เช่นในกรณี ‘โอรสมังกร’ ของจีน หรือไม่อีกทีหนึ่งก็ตั้งตัวเป็นหัวหน้าของศาสนจักรไปเลย เช่นพระเจ้าเฮนรี่ที่แปดของอังกฤษที่ประกาศให้ตัวเองเป็นหัวหน้าสูงสุดของศาสนจักรอิงแลนด์ จึงครอบครองอำนาจทั้งทางโลกย์และทางศาสนาไปพร้อมๆ กัน เพียงเพื่อปลดแอกตัวเองออกจากศาสนจักรคาทอลิกที่มีพระสันตะปาปาเป็นหัวหน้า จะได้ตั้งกฎเกณฑ์การแต่งงานใหม่ได้ตามใจชอบ
ความยุติธรรมแบบนี้เกิดจาก ‘ระบบศีลธรรม’ (Morality) ขนาดใหญ่ ที่วางตัวเองอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า พระเจ้าคือองค์แห่งความดีงามทั้งปวง เมื่อเป็นบัญชาของพระเจ้าหรือบัญชาสวรรค์แล้ว ก็ไม่พึงมีใครตั้งคำถามต่อบัญชานั้นอีก มนุษย์พึงเชื่อฟังกฎของพระเจ้าหรือเทพเจ้าเหล่านี้ เพราะ ‘โดยธรรมชาติ’ ของพระเจ้าแล้ว ถือว่าทรงไว้ซึ่งความดีสูงสุด ตัวพระเจ้าเองนั่นแหละคือความดีงาม
ดังนั้น ผู้ที่ได้รับสืบทอดอำนาจจากพระเจ้า ไม่ว่าจะด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใดๆ หรือด้วยการสืบทอดกันมาตามสายเลือด เชื้ออสุจิ ไข่ และพันธุกรรม ก็ต้องถือว่าเป็นบุคคลที่ทรงไว้ซึ่งความดีงามตามทฤษฎีนี้ด้วย และความดีงามนี้ก็ย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมเสมอ
ระบบยุติธรรมที่ตั้งอยู่บนระบบศีลธรรมแบบนี้
จึงเป็นระบบยุติธรรมที่ชวนให้ตั้งคำถาม
และเกิดข้อสงสัยมากมาย
เพราะมันคือระบบยุติธรรมแบบเก่าที่เกิดขึ้นสำหรับกลุ่มคนยุคโบราณที่พยายามรักษาเผ่าพันธุ์ตัวเองเอาไว้ด้วย ‘ความเชื่อร่วม’ บางอย่าง เพื่อให้ชนเผ่าของตัวเองอยู่รอดต่อไปได้ด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อน
แต่ระบบยุติธรรมแบบนี้ถูก ‘รื้อ’ มาตั้งแต่ยุคโสเครตีสแล้ว เมื่อเพลโตเล่าถึงคำถามของโสเครตีสในบทสนทนากับยูไธโฟร (Euthyphro) เรียกกันว่าเป็น ‘ปฏิทรรศน์ยูไธโฟร’ (Euthyphro Dilemma) คำถามนั้นถามง่ายๆ แค่ว่า “สิ่งที่เรียกว่าดีงามในทางศีลธรรมนั้น เทพเจ้าบัญชาขึ้นเพราะมันเป็นสิ่งที่ดีงามในทางศีลธรรม หรือว่าที่มันดีงามในทางศีลธรรม เป็นเพราะว่ามันถูกบัญชาโดยเทพเจ้า” ซึ่งก็นำมาซึ่งการถกเถียงเรื่อง ‘สุทธิธรรม’ กับ ‘อสุทธิธรรม’ มาจนถึงยุคของอิมมานูเอล คานต์ และกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
แม้ระบบยุติธรรมแบบ ‘เทพบัญชา’ นี้ หลายคนจะมองว่าเป็นเรื่องเก่าแก่โบร่ำโบราณเหลือเกิน เพราะในโลกยุคใหม่ มีทฤษฎีเกี่ยวกับความยุติธรรมเกิดขึ้นมากมาย แต่เราก็ยังมองเห็นร่องรอยของความยุติธรรมเทพบัญชานี้ได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อตุลาการของหลายประเทศจำเป็นต้องตัดสินตาม ‘ใบสั่ง’ ของสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามีอำนาจยิ่งใหญ่กว่า กระทั่งก่อให้เกิดผลลัพธ์เลวร้ายถึงขั้นกลายเป็นผู้ผดุงความอยุติธรรมไปก็มี โดยเฉพาะเมื่อมองจากมุมมองของทฤษฎีความยุติธรรมอื่นๆ
คนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เสนอทฤษฎีความยุติธรรมยุคใหม่ได้ดีที่สุด ก็คือ จอห์น รอลส์ ซึ่งมีหนังสือชื่อตรงไปตรงมาว่า Theory of Justice
จะว่าไป ทฤษฎีของรอลส์นั้น ขัดแย้งกับความยุติธรรมแบบ ‘เทพบัญชา’ อย่างมาก เพราะถ้าเราดูความยุติธรรมแบบเทพบัญชา เราจะเห็นได้เลยว่าสังคมแบบเทพบัญชานั้นวางตัวอยู่บนฐานคิดแบบเหลื่อมล้ำต่ำสูงชัดเจน นั่นคือมีเทพที่อยู่ ‘สูงสุด’ แล้วเทพพวกนั้นก็อาจจะใช้อำนาจผ่าน ‘ตัวแทน’ (ถ้าไม่ได้ใช้ด้วยตัวเอง) แล้วอำนาจเหล่านั้นก็ไหลลงมาเหมือนน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ เพื่อกระจาย ‘ความยุติธรรม’ (ในแบบเทพบัญชา) ให้ทั่วถึง
ปัญหาก็คือ ถ้ามีคนที่คิดไม่เหมือนระบบเทพบัญชาเล่า พวกเขามีสิทธิจะ ‘คิดต่าง’ ได้ไหม แล้วระบบยุติธรรมควรจะตัดสินคนเหล่านี้อย่างไร
ทฤษฎีของรอลส์บอกว่า ที่จริงแล้ว ตัว ‘ความยุติธรรม’ นี่แหละ ที่ควรจะเป็นรากฐาน หรือเป็น ‘คุณธรรมแรกสุด’ ของสถาบันทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันไหนก็ตาม
แต่ความยุติธรรมของรอลส์ไม่เหมือนความยุติธรรมเทพบัญชา เพราะก่อนจะสร้าง ‘หลักความยุติธรรม’ หรือ Principle of Justice ขึ้นมา สังคมนั้นๆ จะต้องมี ‘หลักแห่งความแฟร์’ (จะเรียกว่าหลักแห่งความเที่ยงธรรมก็ได้) หรือ Principle of Fairness ขึ้นมาเสียก่อน
ความ ‘แฟร์’ ที่ว่านี้ คือหลักการที่ต้องใช้ปฏิบัติกับ ‘ทุกคน’ อย่างเท่าเทียม โดยรอลส์พยายามนำหลักการที่ว่าด้วยเสรีภาพ (Liberty) กับความเสมอภาค (Equality) มารวมกัน เขาเสนอให้ทุกคนย้อนกลับไป ‘ปลดเปลื้อง’ ตัวเองออกจากสถานภาพที่มีอยู่ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร สูงศักดิ์หรือต่ำต้อยแค่ไหน แต่ถ้าย้อนกลับไปดู ‘สถานะดั้งเดิม’ หรือ Original Position แล้ว
ทุกคนล้วนมีสิ่งหนึ่งที่เท่าเทียมกัน
สิ่งนั้นก็คือความโง่
ความเท่าเทียมของรอลส์ไม่ได้เริ่มจากเท่าเทียมในฐานะ ในสถานภาพ หรือในความรู้ แต่มนุษย์เราล้วนเท่าเทียมกันใน ‘ความไม่รู้’ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืือ ในสถานะดั้งเดิมนั้น มนุษย์เราล้วนเท่าเทียมกันใน ‘ความโง่’ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดอยู่บนเตียงทองคำหรือซอกหลืบริมถนนที่ไหนก็ตาม
รอลส์เรียกความไม่รู้นี้ว่าเป็น ‘ผ้าคลุมแห่งอวิชชา’ (Veil of Ignorance) ซึ่งหากเราตระหนักเรื่องนี้ได้ เราก็จะหยิบสถานะทางสังคมต่างๆ ขว้างทิ้งออกไปจากตัวเองได้ เพื่อสุดท้ายจะได้มาร่วมกันสร้าง ‘หลักแห่งความแฟร์’ ที่ว่านี้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน แล้วใช้หลักการนี้เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการหลักความยุติธรรมร่วมขึ้นมา
เมื่อมองอย่างนี้ ทฤษฎีความยุติธรรมของรอลส์จึงแตกต่างสุดขั้วกับทฤษฎีความยุติธรรมแบบ ‘เทพบัญชา’ ที่เริ่มต้นด้วยสถานะดั้งเดิมว่าเทพเจ้าคือผู้ครองไว้ซึ่งความดีงามสูงส่ง จนไม่มีใครสามารถละเมิดหรือแม้กระทั่งตั้งคำถามต่อ ‘ความยุติธรรม’ ที่ได้รับประทานมาได้
สังคมไหนที่ไม่ได้เริ่มต้นความยุติธรรมอย่างที่รอลส์ว่า แถมยังไม่ได้ยึดถึงทฤษฎีความยุติธรรมสมัยใหม่อื่นๆ เช่น ความยุติธรรมตามแนวประโยชน์นิยม ฯลฯ แต่ย้อนยุคกลับไปยึดถือความยุติธรรมแบบ ‘เทพบัญชา’ ก็ถือได้ว่าสังคมนั้นล้าหลัง เก่าแก่ ย้อนยุค
และอาจถึงขั้นไร้ความสามารถในการดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตก็เป็นได้