‘ศาลที่เคารพ’
ตั้งแต่อดีตมา ศาล ตุลาการ และกระบวนการยุติธรรมถูกมองว่าเป็นทางออกของปัญหาหลายๆ อย่าง และเป็นกระบวนการที่คนเชื่อถือว่า จะมอบความเป็นธรรมในการตัดสินคดีต่างๆ ให้ได้อย่างเที่ยงตรง
แต่สถานการณ์การเมืองช่วงที่ผ่านมา ในการตัดสินคดีของศาล คำสั่งไม่ให้ประกันตัว คำสั่งฟ้องของอัยการ และการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลับทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกตั้งคำถามว่า มีสองมาตรฐาน มีการเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรมอย่างชื่อแล้ว
กระบวนการยุติธรรมที่เหมือนจะเอนเอียงเหล่านี้จะมีคำอธิบายได้อย่างไร มาตรฐานหลากหลายของการใช้กฎหมายจะถูกมองได้อย่างไรบ้าง The MATTER ไปพูดคุยกับ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw และทนายเยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าพวกเขามอง และพูดถึงกระบวนการยุติธรรมไทยที่ดูจะอธิบายไม่ได้กันอย่างไร
2 มาตรฐานในการตัดสิน: แกนนำคณะราษฎร – แกนนำ กปปส.
มักเป็นสิ่งที่เราเห็นในสังคมไทย เมื่อนักกิจกรรม หรือผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองถูกฟ้อง และดำเนินคดี แต่ในช่วงที่ผ่านมา กลับมา 2 กรณีของ 2 ขั้วทางการเมือง อย่างแกนนำคณะราษฎร ที่ถูกฟ้องจากการจัดชุมนุมในปี 63 และ แกนนำ กปปส. ในคดีกบฏจากการมั่วสุมทางการเมืองเมื่อปี 56-57
แต่การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของทั้งสองกรณี กลับทำให้สังคมตั้งคำถามถึงมาตรฐาน เนื่องจากแกนนำคณะราษฎรนั้น ไม่ได้รับการประกันตัวแม้ว่าจะยังไม่ถูกตัดสินโทษ ไม่ได้รับการเข้าเยี่ยมจากญาติ และยังถูกแจ้งข้อหาเพิ่มอีกหลายคดี ขณะที่ กปปส.มีญาติ พี่น้องเข้าไปเยี่ยมได้ ไม่ถูกตัดผม และยังได้รับการประกันตัวหลังถูกขังไม่กี่วัน
สำหรับประเด็นนี้ เป๋า ยิ่งชีพ อัชฌานันท์ ผู้จัดการ iLaw ให้คำตอบกับเราว่า กระบวนการที่เห็นในคดี กปปส.นั้น เขาเองไม่ได้รู้สึกแปลกใจกับผลของมัน “เรารู้อยูแล้ว เราไม่คิดว่าสุเทพ เทือกสุบรรณ, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, ถาวร เสนเนียม ฯลฯ ระดับรัฐมนตรี อดีตรองนายกฯ จะต้องอยู่ในเรือนจำ ถ้าเกิดว่าเขาติดคุกจริงๆ จังๆ หลายปี แล้วไม่ได้รับการลดหย่อยผ่อนโทษ อันนี้แปลก แต่ว่าในอดีตก็ไม่ได้ไม่มีเลย ก็เคยมีคนที่ติดคุก แต่ว่าไม่มาก และก็ไม่ใช่คดีการเมือง”
ทั้งกับการปฏิบัติที่ทั้งแกนนำ กปปส.ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการเข้าเยี่ยม การไม่ถูกตัดผม และการได้ประกันตัวนั้น ยิ่งชีพก็มองว่า นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่กับทุกๆ คดี ควรได้รับมาตรฐานเช่นนี้ “สิ่งที่เขาปฏิบัติกับ กปปส. จริงๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่าคดียังไม่ถึงที่สุดก็ต้องได้ประกันตัว การที่เข้าไปใหม่ๆ แล้วไม่ต้องถูกตัดผมก็ถูกแล้ว ไม่ต้องตัดผมเลยก็ได้ เพราะนักโทษถูกพิพากษาให้จำกัดเสรีภาพในการเดินทาง เพื่อให้อยู่ในอาณาเขตบริเวณถูกคุมขัง ได้รับบทลงโทษให้เกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจ ไม่ให้สามารถเดินทาง นี่คือหลักทางอาชญาวิทยา ไม่เกี่ยวกับตัดผม ถ้าสุขภาพอนามัยในเรือนจำมันไม่มี ไว้ผมยาวแล้วมีปัญหา ก็ไปทำสุขภาพอนามัยให้มันดี ไม่ต้องบังคับให้ทุกคนตัดผม การไม่ตัดผมคือถูกแล้ว”
“การที่เขาเข้าไปแล้วมี กปปส.หลายคนไปเยี่ยมได้ ทั้งที่คนอื่นเยี่ยมไม่ได้ การเยี่ยมได้คือถูกแล้ว คนที่เข้าไปเรือนจำต้องได้รับการเยี่ยมจากเพื่อน จากญาติ กติกาที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบัน มันผิดปกติ ตอนนี้คือ ถ้าเข้าไป 14 วัน คือห้ามเยี่ยม เพราะกักตัวโควิด ทั้งๆ ที่ห้องเยี่ยมมันก็เป็นกระจก และคุยผ่านโทรศัพท์ คนที่เกิน 14 วันแล้ว ตอนที่มาตรการโควิดเข้มๆ ก็ไม่ได้เยี่ยมเลย แต่ถ้าไม่มีโควิด ก็จะให้เยี่ยม แต่ว่าจะเป็นเฉพาะญาติที่ผู้ต้องขังใส่รายชื่อ 10 ชื่อ เพื่อนๆ คนอื่นๆ คนเรามันมีญาติกับเพื่อนเกิน 10 คนอยู่แล้ว ก็เยี่ยมไม่ได้ อันนี้ไม่ถูก
สิ่งที่ปฏิบัติกับแกนนำ กปปส. ตอน 2-3 วันที่พวกเขาได้เข้าเรือนจำควรจะปฏิบัติกับทุกคน แต่คดี กปปส. ก็ถือว่าพิจารณาช้า เพราะเหตุเกิดตั้งแต่ปี 56-57 แล้วนี่ก็ใช้เวลามา 7 ปี ซึ่งช้า ถือว่าไม่ถูก” ยิ่งชีพระบุ
ขณะที่เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ที่มีส่วนในการเข้าไปทำคดีของแกนนำคณะราษฎรก็มองว่า เธอเองก็มองว่า สิ่งที่ลูกความของศูนย์ฯ โดนนั้นไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม “คำสั่งที่ไม่ให้ประกันตัวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายที่เราเล่าเรียนกันมา 1) มีพฤติการณ์ร้ายแรง แต่คดีพยายามฆ่า ยังให้ประกันตัวได้ 2) เกรงว่าจะหลบหนี ถามว่าทุกคนเดินทางไปรายงานตัว มันไม่มีเหตุที่จะหลบหนีอยู่แล้ว 3) จะไปกระทำผิดซ้ำ แปลว่าคุณตัดสินไปแล้วว่าเขาผิดทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำการสืบพยาน มันก็ไปขัดกับหลักสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์”
“พี่ว่าจริงๆ คนเขาเห็นมานานแล้ว ยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน มีการเลือกปฎิบัติ เอาแค่เรื่องใหญ่ๆ คือประกันตัว ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เรื่องการตัดผมในเรือนจำ เราทำคดีเรารู้ ลูกความเราเข้าเรือนจำคืนนึง ก็ถูกตัดผมแล้ว อีกฝ่ายนึง เข้าไปอยู่ 2-3 วัน ยังไม่โดน พี่ว่าคนเขาเห็นนะว่ากระบวนการยุติธรรมเรามัน 2 มาตรฐาน มันมีการเลือกข้าง”
สำหรับเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่มีการเลือกข้าง อาจารย์สมชายเองก็มองถึงมุมนี้เช่นกัน ทั้งยังวิเคราะห์ออกมาเป็นภาพรวม ที่สะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมใน 3 ประเด็น “ผมอยากจะเรียกว่าเป็นภาวะวิปริตเชิงโครงสร้าง ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่า มี 3 เรื่องที่ผมอยากจะพูดด้วยกัน หนึ่ง ผมมองว่ามันคือความวิปริต ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ เราก็เห็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2549 แล้วผมคิดว่ามันก็ชัดเจนมากขึ้น ก่อนหน้านี้คำที่คนมักจะพูดคือ ‘2 มาตรฐาน’ หมายความว่า ใช้บรรทัดฐานแบบนึงกับคนกลุ่มนึง ซึ่งก่อนหน้านี้น่าจะเป็นเรื่องระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดง และเสื้อเหลือง
แต่ตอนนี้ผมคิดว่าสิ่งที่เห็นชัดเจนมากขึ้น เราเห็นกระบวนการยุติธรรมที่เลือกข้าง ข้างใดข้างนึงอย่างชัดเจนแล้ว พอมันเลือกข้างแล้ว มันก็จะมีมาตรฐานสำหรับข้างนั้นไว้แบบนึงเลย พอมันมาเจอกรณี กปปส. กับทางกลุ่มราษฎร ผมคิดว่าเรื่องนี้มันชัดเจนจนกระทั่งผมคิดว่า ไม่ต้องมีความรู้ทางการเมือง หรือความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย ก็สามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ยาก นี่คือผมคิดว่าเรื่องที่หนึ่งที่เป็นปัญหา”
“สอง นี่ไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคล ไม่ใช่ปัญหาว่าผู้พิพากษาบางคนเอียงข้าง หรือบางคนไม่รู้กฎหมาย หรือไม่ตระหนักสิทธิเสรีภาพ แต่ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง สัมพันธ์กับระบบ หรือโครงสร้างของตุลาการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หมายความว่าถ้าเมื่อไหร่มันเป็นคดีซึ่งถูกใช้คำว่า ละเอียดอ่อน หรือเกี่ยวกับเบื้องสูง แปลว่าโครงสร้างของฝ่ายตุลาการก็มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อเรื่องนี้ไปในทิศทางนึง”
“สาม ภาวะแบบนี้ ผมคิดว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในศาล เราเห็นตั้งแต่ขั้นตำรวจ อัยการ ศาล ไปถึงกรมราชฑัณฑ์ มันคือการทำงานที่ดูเหมือนจะสอดคล้องกันทั้งระบบ เนื่องจากที่เชียงใหม่ก็มีลูกศิษย์ของผมที่โดนคดี ผมคิดว่าการตั้งข้อกล่าวหาของตำรวจก็มีปัญหา เพิ่งมีการตั้งข้อกล่าวหา ม.116 ยุยงปลุกปั่น ทำความกระด้างกระเดื่อง ถึงขั้นล้มล้างรัฐบาล รัฐธรรมนูญ เขาตั้งข้อกล่าวหากับคนที่แค่ไปยืนในที่ชุมนุม ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก แต่ว่าตำรวจก็ทำ เพราะบอกว่ามีคนมาแจ้งความ ก็ส่งให้อัยการ อัยการก็บอกว่าตำรวจทำสำนวนมา ก็ต้องส่งเรื่องไปให้ศาล ถูกผิด ก็ไปพิสูจน์กันเอง พอไปที่ศาลก็จะเป็นปัญหาแบบที่เราเจอที่กรุงเทพฯ มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และมันแผ่กว้างไปทั้งระบบของกระบวนการยุติธรรม”
นอกจากคดี กปปส.และแกนนำราษฎรแล้ว ทั้ง 3 ยังมองเห็นตรงกันว่า มันเกิดการบังคับใช้กฎหมายโดย ทนายเยาวลักษณ์ใช้คำว่า “ชัดเจนมากว่ามีการเลือกปฏิบัติ ใช้กระบวนการยุติธรรม และกฎหมายเข้ามาปราบปรามอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ตรงข้ามรัฐบาล” ซึ่งยิ่งชีพเอง ก็มองว่าเป็น “สถานการณ์ที่เอากฎหมายมาใช้ไม่ถูกต้อง ผิดเจตนารมย์ และใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดปากคนเห็นต่าง” รวมถึงการใช้กฎหมายอย่าง พรก.ฉุกเฉิน, พรบ.ควบคุมโรค หรือ พรบ.ความสะอาดในการจับ และสลายการชุมนุมที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และยังมีการใช้ข้อหาอย่าง ‘อั้งยี่’ ที่ออกมาตั้งแต่สมัยโบราณในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วย
บิดเบี้ยวมาตั้งแต่รัฐประหาร จนถึงปัจจุบัน
“มันผิดปกติมานานต่อเนื่อง” นี่คือสิ่งที่ยิ่งชีพบอกกับเรา ซึ่งเขาบอกว่าไม่ใช่แค่กับคดี กปปส.และแกนนำคณะราษฎร แต่ในกระบวนการยุติธรรมมีเรื่องที่บิดเบี้ยว โดยเฉพาะในคดีการเมืองมายาวนานแล้ว
“บางคนที่เพิ่งสนใจการเมือง เพิ่งติดตามผลจากคดีทางการเมืองก็จะรู้สึกเซอร์ไพรส์ บางคนก็อาจจะตื่นเต้นขึ้นมาว่าทำไมกระบวนการยุติธรรมมันเป็นแบบนี้ แต่มันเป็นแบบนี้มานานแล้ว การจับกุมดำเนินคดี เช่น มาตรา 112 ก็เกิดมาตั้งแต่ปี 51 และมาหนักมากขึ้น ตอน 57-58 ดังนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลย มันมียุคที่แย่กว่านี้ด้วยซ้ำ คือยุคที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร หลังรัฐประหาร นอกจากโทษที่วางมาในแต่ละคดีจะหนัก การปฏิบัติต่างๆ เจ้าหน้าที่ในศาลทุกคนเป็นทหาร ใส่เครื่องแบบสีเขียว บางคนก็เป็นทหารเรือ ทำระบบศาลยังไม่เป็นเลย เดินเข้าไปในห้องพิจารณาคดีทุกคนตะโกนทั้งหมดแถวตรง คือมันมีอะไรที่เพี้ยนกว่านี้เยอะ”
ศูนย์ทนายฯ เองก็ก่อตั้งหลังรัฐประหาร และมีประสบการณ์การทำคดีในช่วงนั้น ซึ่งทนายเยาวลักษณ์เองก็เล่าย้อนว่า ตอนนั้นในฐานะคนทำงานกฎหมายเธอรู้สึกโกรธมาก “เราเรียกว่าระบบนิติรัฐพังทลาย เพราะมันมีการสถาปนายุติธรรมลายพรางขึ้นมา เขาใช้กระบวนการยุติธรรมทางทหาร ตำรวจส่งอัยการ อัยการส่งศาลทหาร และออกกฎคำสั่งต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามนิติรัฐ” แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็มองว่า ในตอนนี้เธอคิดว่าหนักกว่า
“ตอนนี้ที่พี่บอกว่า กระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นอิสระ อย่างชั้นตำรวจ พี่มีประสบการณ์ทำคดี 112 ตั้งแต่ปี 52-53 ยุคนั้น ตำรวจเขายังตรวจดูสำนวน ดูถ้อยคำ ถ้าไม่มีความผิดเขาก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง ถ้าไม่สมควรจะเป็นคดี แต่ว่า ณ ตอนนี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติบอกว่า ตำรวจต้องดำเนินคดี ถ้าไม่ดำเนินคดีจะถูกข้อหาละเว้น ทำให้ส่งผลมีคนมาแจ้งความจำนวนมาก พอแจ้งความเราพบข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องเลย แต่ตำรวจก็มีความเห็นสั่งฟ้อง เห็นชัดเลยเกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 มาปิดปากคนที่เห็นตรงข้ามทางการเมือง”
แม้ว่าทนายเยาวลักษณ์ และยิ่งชีพ จะเล่าถึงกระบวนการที่ผิดเพี้ยนในยุค คสช. แต่ อ.สมชายมองว่าจริงๆ แล้วสามารถย้อนไปได้ไกลกว่านั้น “กระบวนการยุติธรรมไทย ผมคิดว่ามีปัญหามาตั้งแต่ปี 49 จากการยึดอำนาจ กระบวนการแรกๆ ที่ถูกโยงมาเกี่ยวข้องในตอนนั้นคือ ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นั้นศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่ถูกจับตามอง เพราะว่าคำวินิจฉัยหลายครั้งก็จะถูกตั้งคำถาม จากหน้าที่ชี้ขาดเกี่ยวกับปัญหาในทางการเมืองในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะยุบพรรค ทำให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง
แต่ว่าในตอนหลัง 2557 มา ศาลที่เราเรียกว่าศาลยุติธรรม ได้ถูกดึงเข้ามาในส่วนนี้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าหลายๆ เรื่องมันเกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญหาข้อพิพาทระหว่างนักการเมือง หรือพรรค แต่เป็นกรณีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพเคลื่อนไหว และเจ้าหน้าที่ก็ใช้กฎหมายอาญาดำเนินการ เรื่องจึงต้องผ่านมาศาลยุติธรรม ผมคิดว่ามันก็สะท้อนให้เห็นประเด็นปัญหาที่มันซ่อนอยู่ในโครงสร้างของศาลยุติธรรมที่ผ่านมามันไม่ได้ถูกแสดงออก รวมถึงอัยการที่ถูกคาดหวังว่าจะอำนวยความยุติธรรม หมายถึงตำรวจทำสำนวนมา อัยการต้องดูว่ามีหลักฐานเพียงพอ หรือไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่พบตอนหลังคือ อัยการรับจากตำรวจมาก็ไปศาล หมายความว่ามีอะไรก็ไปพิสูจน์กันในศาล โดยไม่คิดว่ามันเป็นภาระต้นทุนของคนหลายคน
สุดท้ายผมคิดว่ากรณีของ กปปส.กับแกนนำราษฎร ยิ่งสะท้อนให้เห็นเลยว่ากระบวนการยุติธรรมบ้านเรามีปัญหาที่อยู่ข้างใต้จริงๆ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา มันไม่มีการพูดถึงปัญหานี้อย่างชัดเจน ในขณะที่ตัวของศาล หรือผู้พิพากษาก็รู้สึกว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นกลาง เป็นอิสระ แต่เนื่องด้วยไม่เคยถูกท้าทาย หรือทดสอบ จากข้อขัดแย้งที่มันเป็นจริงในสาธารณะมาก ทำให้ไม่เคยเป็นเป้า แต่ว่าตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว”
เมื่อกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว เรายังเรียกได้ไหมว่ามัน ‘ยุติธรรม’ ?
การบังคัญใช้กฎหมายกับแค่บางกลุ่ม การฝากขังโดยยังไม่ตัดสินโทษ หลายกรณีที่เกิดขึ้น ทำให้เราตั้งคำถามว่า เรายังสามารถเรียกกระบวนการยุติธรรมได้เต็มปากไหม ว่ามัน ‘ยุติธรรม’
ซึ่งทนายเยาวลักษณ์ก็ตอบเราเลยว่า “มันไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม มันเป็นการสมคบคิดของกระบวนการยุติธรรม”
“ศูนย์ทนาย เราพยายามยืนหยัด และยืนยันในระบบนิติรัฐ ฉะนั้นเราต้องเรียกร้องให้องค์กรกฎหมาย ที่คุณกำลังทำลาย ไม่รักษาระบบกฎหมายไว้ ต้องกลับมาทบทวนว่า มันสองมาตรฐานโดยตลอด ตั้งแต่คนเสื้อแดง หลังรัฐประหาร จนถึงปัจจุบัน ว่าคุณจะไปทำลายระบบกฎหมายทำไม มันต้องมีหลักกฎหมายอยู่ พี่เรียกร้องอำนาจตุลาการว่าหลักของตุลาการที่เป็น 1 ใน 3 ของ rule of law ต้องคุ้มครองสิทธิประชาชน ต้องตรวจสอบควบคุมการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องเป็นอิสระ แต่ปรากฎว่า อย่างที่เห็นกลับกลายเป็นว่า ตอนนี้มันเป็นแนวเดียวกับรัฐ”
“พี่คิดว่าเราเจอผู้พิพากษาหลายคนที่เข้าใจ และพยายามจะรักษาระบบกฎหมายนี้ไว้ เจออัยการที่ดี ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราก็เจอคนที่ดี แต่ไม่มีความเป็นอิสระ โครงสร้างตำรวจทำให้นักกฎหมาย พนักงานสอบสวนซึ่งปกติต้องเคารพวิชาชีพ กลายเป็นว่าคำสั่งนายมาเหนือวิชาชีพกฎหมาย”
แต่สำหรับยิ่งชีพ เขามองว่ายังอยากให้มองกระบวนการยุติธรรมในแง่ดีบ้าง เพราะนอกจากคดีทางการเมือง ยังมีส่วนอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ในระบบ
“90% ของการทำงานของตำรวจ ศาล และอัยการก็ทำเรื่องอื่น ยังมีคดีลักวิ่งชิงปล้น ยาเสพติด อะไรต่างๆ มากมาย มันก็เดินไปตามกระบวนการของมัน เรียกว่าเดินไปตามสายพาน เช่น คดียาเสพติด โดนจับกี่เม็ด ก็โดนโทษเท่านี้ ไม่ต้องดูเลยว่าเป็นใคร มีองค์ประกอบอะไร ให้มันเดินตามระบบ ตำรวจจับ อัยการฟ้องวันนี้ ศาลตัดสิน ถ้ารับสารภาพก็พิพากษา มันมีระบบงานยุติธรรม กระบวนการงานยุติธรรมมันเดินแบบนนี้มานานแล้ว”
ซึ่งประเด็นนี้ อ.สมชายเอง ก็เห็นด้วยกับยิ่งชีพและเสริมว่า “ถ้าเราแบ่งคดีเป็นสองประเภท คือคดีระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน และชาวบ้านกับรัฐ คดีแบบแรก ซึ่งต้องเป็นชาวบ้านที่ไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจ ตีหัวกัน เจ้าหน้าที่ก็สามารถทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าชาวบ้านที่มีเงิน เช่นคดีบอส อยู่วิทยา ก็จะเห็นอีกแบบ
ถึงอย่างนั้น ถ้าเป็นคดีระหว่างชาวบ้านกับรัฐ หรือชาวบ้านกับชาวบ้านที่คนนึงมีเงิน มีพลานุภาพอันเป็นพิเศษ ผมว่ามันจะไม่เป็นไปตามขั้นตอนปกติ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าเราคาดหวังในกระบวนการยุติธรรม เราไม่ใช่คาดหวังว่า จะให้ตำรวจมาจับคนที่ตีหัวเท่านั้น เราหวังว่าจะมีตำรวจมาจับ หรือดำเนินคดีกับคนที่มีอำนาจด้วยไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน หากใครที่เห็นต่างกับรัฐบาล กระบวนการยุติธรรมมันไม่ทำงานอย่างตรงไป
ผมคิดว่ามีคดีที่เราเห็นได้เยอะแยะ ไม่ว่าจ่านิว ถูกตีแทบตายกลางเมืองหลวง ผลปรากฎว่ากล้องวงจรปิดพร้อมใจกันเสีย ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่มันตอบอะไรไม่ได้เลย
ผมคิดว่าตอนนี้ถ้าเกิดจะพูดว่ามันคือกระบวนการยุติธรรม ผมว่ามันหมายถึงกลไก หรือกระบวนการ มันสามารถทำให้คนที่ทำความผิด ทำอะไรไม่ถูกต้อง มีกระบวนการเข้ามาตรวจสอบ ตัดสิน และลงโทษได้อย่างตรงไปตรงมา โดยที่สิ่งที่เรียกว่าความเป็นพวกพ้องมันเข้ามาเกี่ยวข้องได้น้อยมาก แต่ผมคิดว่าถ้าดูจากคำวินิจฉัย หรือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่เคยเห็นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา”
ศาลพระภูมิ เผาหนังสือกฎหมาย การเสื่อมศรัทธาที่แผ่กว้างขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม
ป้ายข้อความในเขียนวิจารณ์ศาล การทุบศาลพระภูมิ การเผาหนังสือกฎหมาย และการเอาพวงหรีดไปวางหน้าศาลอาญา ล้วนแต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการชุมนุมที่สะท้อนให้เห็นถึงการเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาพเหล่านี้พบเห็นได้บ่อย และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนอาจมองได้ว่า ภาพ ‘ศาลที่เคารพ’ ในมุมมองของประชาชนนั้นเปลี่ยนไป
“ประสบการณ์ในการเป็นทนายกว่า 30 ปี พี่คิดว่านอกจากคดีอากงแล้ว การชุมนุมเรียกร้องที่ศาลครั้งนี้ น่าจะเป็นครั้งที่บานปลาย และกว้างขวาง เพราะพุ่งเป้ามาที่ศาลโดยตรง” ทนายเยาวลักษณ์เล่า “ตอนนี้กลายเป็นว่าศาลโดนวิพากษ์วิจารณ์หนัก สมัยก่อน หากเกิดเหตุคดีอะไรก็ตาม ปลายทางเราต้องเพิ่งศาล แต่ตอนนี้ คู่กรณีของม็อบกลายเป็นศาล ซึ่งมันก็ผิดฝาผิดตัว อันนี้ต้องตั้งคำถามเลยว่า ทำไมถึงเกิดบรรยากาศแบบนี้ขึ้น”
“พี่ไม่อยากจะบอกว่าถ้าระบบกฎหมายเราไม่มั่นคง มันจะส่งผลให้เกิดความรุนแรง จากการที่เราช่วยเหลือคดีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว พี่ว่าคนไทยอดทนที่สุด ผู้ชุมนุมอดทนมาก แม้รัฐจะใช้ความรุนแรงก็ตาม แต่ถ้าคนในองค์กรกฎหมายยังไม่รักษากฎหมายไว้ มันจะส่งผลให้เกิดการบานปลาย พอคนไม่เชื่อมั่นก็ไปสร้างความรุนแรงได้”
“พอคนไม่เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มันก็ส่งผลให้เกิดคดีที่คนไปวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ ตำรวจก็รู้สึกถูกดูหมิ่น” ทำให้ทนายเยาวลักษณ์มองว่า เมื่อผู้ชุมนุม ที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และตำรวจ ที่ถูกดูหมิ่นเผชิญหน้ากัน จึงเป็นภาพปะทะกันเกิดขึ้นได้
อ.สมชาย ในฐานะอาจารย์สอนกฎหมายเอง ก็มองภาพบรรยากาศนี้ว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเช่นกัน “ที่ผ่านมาผมคิดว่ามันก็มีคำพิพากษาหลายๆ อันที่ผู้คน รวมถึงผมก็ไม่เห็นด้วย แต่โดยรวมๆ ตัวระบบมันยังจะพอวางใจได้อยู่บ้าง แต่ตอนนี้สิ่งที่ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นคือ ความเชื่อมั่น หรือความไว้วางใจของสาธารณะชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ยืนตรงข้ามกับรัฐบาล ลดลงต่ำมาก”
“ผมอยากจะเตือนแบบนี้ว่า กรณีที่เพนกวินลุกขึ้นพูดในศาล สารภาพตามตรงว่าผมไม่คิดว่าจะได้ยิน หรือได้เห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมา ศาล หรือผู้พิพากษาโดยเฉพาะระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับการเคารพอย่างสูง แต่ว่าการลุกขึ้นท้าทายแบบนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่า ความตกต่ำในแง่ของเกียรติภูมิของศาลในแง่ที่มีต่อสาธารณะมันลดลงอย่างมาก
“เพราะในสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ถ้าศาลยังพอจะทำหน้าที่พอเป็นที่วางใจได้อยู่บ้าง ก็น่าจะช่วยให้ความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในร่องในรอย อยู่ในกรอบ แต่เมื่อไหร่ที่ความขัดแย้งทางการเมืองไปสู่ศาล และศาลไม่สามารถช่วยทำให้คลี่คลายไปได้ ผมคิดว่ามันกำลังทำให้ระบบโดยรวมเป็นปัญหาแน่ๆ ถ้าเรารู้สึกว่ามีความขัดแย้ง ไปที่ศาลก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งหมดนี้กำลังจะทำให้สิ่งที่เรียกว่ากฎเกณฑ์พื้นฐานในสังคมประชาธิปไตยพังทลายลง ในเมื่อเข้าไปสู่ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบเลือกตั้งก็มีปัญหา พอจะเข้ามาสู้ในสนามทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมก็มีปัญหา กรณีแบบนี้เป็นสังคมที่มันกำลังอาจจะนำไปสู่ภาวะไร้ขื่อไร้แป”
เรื่องการสูญเสียความไว้ใจ และศรัทธา ก็เป็นประเด็นเดียวกันที่ยิ่งชีพเป็นกังวล “เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ผมอยากให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตระหนักว่าเมื่อเขาไม่ได้ใช้อำนาจโดยชอบธรรม ถูกต้องในกระบวนการยุติธรรมในคดีการเมือง คนก็จะสูญเสียศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นสถาบันตำรวจ อัยการ หรือศาลก็ตามแต่ รวมถึงสูญเสียศรัทธาในระบบกฎหมาย และระบบยุติธรรมทั้งระบบ บางทีคนที่ตามข่าวการเมืองเขาอาจจะไม่ได้ตามรายละเอียดว่า วันนี้ถูกฟ้องโดยใคร มาตราอะไร ตีความอย่างไร แต่เขารู้โดยสามัญสำนักของเขาว่า ผลมันไม่ควรจะออกมาเป็นแบบนี้ ดังนั้นโอกาสที่เขาจะสูญเสียศรัทธาเป็นไปได้สูงมาก และมันก็ค่อยๆ เกิดมาซักพักแล้ว”
“คดีการเมืองมันพังมานานแล้ว เพราะเวลาคนไปขึ้นศาลด้วยคดีเหล่านี้ ความเชื่อ ความรู้สึกว่าจะไปหาความยุติธรรมในกระบวนการ มันไม่เห็นมานานแล้ว ไม่ใช่สุดท้ายมันไม่ได้เลย คดีที่ได้ก็มี แต่ว่ามันน้อยกว่า สมมติคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ทำผิด สุดท้ายยกฟ้อง ก็รู้สึกเท่าตัว ไม่ได้รู้สึกถึงความเมตตา หรือความดีของกระบวนยุติธรรม เพราะไม่ได้ผิดแต่แรก แต่พอเขารู้สึกว่าไม่ผิด แล้วเอาเขาเข้าคุก ความรู้สึกมันส่งผลมากกว่านั้นเยอะ มันติดลบ และกู้คืนไม่ได้ ต่อให้ทำดีคืนมันก็คืนไม่ได้”
ยิ่งชีพยังมองอีกว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกในคดีอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่คดีการเมือง หากประชาชนมีอคติกับกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว “ในทางกฎหมายเราสอนกันว่า ความยุติธรรมต้องประกอบไปด้วย ‘ยุติ’ และ ‘เป็นธรรม’ ซึ่งเป็นธรรมก็ข้อนึง แต่มันต้องยุติ ต้องมีวิธีจบ แม้มันอาจจะไม่ได้ดั่งใจนัก แต่ว่าถ้าทำให้คนสูญเสียศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมไป บางทีตัดสินแล้วไม่ว่าจะเป็นธรรมหรือไม่ แต่ในใจคนรู้สึกมันไม่ยุติ มันเป็นอันตราย เพราะหากกระบวนการยุติธรรมยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อไปเรื่อยๆ ระบบนี้ก็จะพัง และกระทบส่วนอื่นๆ ด้วย”
การถ่วงดุล ความหวัง และการให้ศาลที่เคารพ กลับมาเป็น ‘ที่เคารพ’
คุยกันถึงความบิดเบี้ยว การไว้วางใจที่ลดลง และการเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมแล้ว เราก็ถามถึงวิธีการถ่วงดุลให้ศาลกลับมาเป็นศาลที่เคารพอย่างที่เรียกกัน ซึ่ง อ.สมชายก็ได้เล่าว่า ที่ผ่านมาศาลมักจะเป็นอิสระ โดยให้เป็นอิสระจากการเมือง แต่ในการตรวจสอล หรือคณะตุลาการนั้น มีความสัมพันธ์กับประชาชนเบาบางมาก
“ดังนั้น เมื่อกระบวนการยุติธรรมมันไปเชื่อมตัวเองกับสถาบันบางสถาบัน ก็ทำให้ไม่จำเป็นต้องใส่ใจ หรือให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าความเห็นของสาธารณะชน หรือตอบสนองต่อความต้องการของสาธารณะชน” ซึ่งอาจารย์ยืนยันว่านี่คือปัญหาในเชิงโครงสร้าง
ทั้งเรายังถามอาจารย์ว่า ถ้าเราพูดถึงกระบวนการที่อยากเห็นคนผิด หรือผู้มีอำนาจได้รับโทษ เราจะเห็นภาพแบบนั้นได้ไหมกับกระบวนการยุติธรรมไทย “กระบวนการยุติธรรมไทย ก็มีผู้มีอำนาจที่ถูกลงโทษ อย่างคุณทักษิณ คุณยิ่งลักษณ์ แต่ว่าตอนนี้มันเป็นแบบนี้คือ ผู้มีอำนาจในบ้านเราที่ถูกลงโทษคือคนที่อยู่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับสถาบันที่เรียกว่า ‘นายทุน ขุนศึก ศักดินา และตุลาการ’ แต่ถ้าเกิดเป็นผู้มีอำนาจที่อยู่อยู่ฝั่งเดียวกับสี่กลุ่มนี้ ผมคิดว่าโอกาสที่จะเห็นการถูกลงโทษในระยะอันใกล้ ไม่น่าจะมี”
“ผมคิดว่ามันต้องใช้เวลา บทเรียนในหลายๆ ประเทศการที่จะเอาผู้มีอำนาจซึ่งยุคนึงเคยคุกคามประชาชนมาลงโทษได้ ต้องทำให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบที่ค่อยข้างเป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่าการทำหน้าที่ของตุลาการ เราคาดหวังให้เขาทำงานอย่างตรงไปตรงมาในสังคมที่ยังคดงออยู่ ผมว่าเป็นไปได้ยาก ถ้าอยากจะเห็นคนที่มีอำนาจถูกลงโทษ คงต้องทำให้สังคมนี้ตรงไปตรงมามากขึ้น หรือทำให้สังคมมันเดินไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยมากกว่านี้
เราคงไม่อาจคาดหวังให้ศาลทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ในสังคมที่มันดูเหมือนคดงออย่างยิ่ง เราคงคาดหวังได้ยาก อาจจะมีผู้พิพากษาบางคนที่อาจจะออกมา เป็นแนวหน้า แต่ผมคิดว่าเขาก็จะอยู่ไม่ได้ในระบบแบบนั้น” ทั้งอาจารย์ยังคาดการณ์ว่า เรายังคงต้องจมปลักกับปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา ตราบเท่าที่การผลักดันให้มีการปรับแก้ในเชิงโครงสร้างให้ระบอบเป็นประชาธิปไตยมันยังไม่ประสบความสำเร็จ
ด้านยิ่งชีพเอง ก็เห็นตรงกับ อ.สมชายว่า ต้องทำให้สังคมเปลี่ยนผ่าน และทำให้คนในกระบวนการมองเห็นที่ทาง “เราต้องทำให้คนที่อยู่ในกระบวนการมองเห็นว่า เขาจะมีที่ทาง ถ้าเขากล้าหาญพอ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ กล้าหาญพอแล้ว แต่ก็ถูกพูดถึงไม่กี่วัน แต่ถ้าสังคมภายนอกเปลี่ยน บทสนทนาในสังคมเปลี่ยน คนในกระบวนการมีครอบครัวบอกให้พ่อต้องสู้ ญาติๆ เพื่อนก็บอกให้สู้ สังคมต้องเพิ่งพา ไม่แน่เขาอาจจะกล้าหาญก็ได้ แต่ตอนนี้บรรยากาศมันไม่ใช่ มันมีแต่การบอกว่าก้มหัวก่อน ประคองตัวเองก่อน ดังนั้นบทสนทนาในสังคมมันต้องเปลี่ยน ซึ่งอันนี้ทุกคนทำได้”
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าหมดหวังในกระบวนการที่จะมอบความยุติธรรมแล้ว แต่ยิ่งชีพก็ยังมองว่า ในอนาคตอันไกล เขายังเห็นความหวังอยู่ “ในอนาคตอันใกล้มองไม่เห็น แต่ในอนาคตอันไกลก็มองเห็น ยังคิดว่าวันนึงมันจะต้องเปลี่ยน เพียงแต่ว่าไม่ได้เปลี่ยนเร็ว หรือมีข้อต่อที่ตีพัง แล้วจะเปลี่ยนทั้งระบบ คิดว่าไม่มีด้วย มันก็เปลี่ยนไปโดย ผู้พิพากษา ตุลาการ ตำรวจ อัยการก็เป็นคนในสังคม ใช้ชีวิตในสังคม ถ้าหากว่าสังคมมันเปลี่ยน การใช้ชีวิตมันก็เปลี่ยน
ถ้าคนรุ่นใหม่เปลี่ยนจริง เข้าไประบบผมว่าอันนี้เป็นการบ้านที่ต้องทำ และผมคิดว่าทำได้ และทุกคนพยายามทำอยู่ การหล่อเลี้ยงความเชื่อในระยะยาว ให้ความฝันชัดเจน เป็นรูปธรรม หรือการสร้างองค์ความรู้ให้แข็งแรง ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนพยายามทำ เพียงแต่มันคงไม่สำเร็จในเร็ววัน”
เช่นเดียวกัน ทนายเยาวลักษณ์ก็มองว่า ยังมีคนที่ยึดหลักในกฎหมาย และศูนย์ทนายฯ เองก็ยังยืนหยัดในหลักนิติรัฐอยู่ รวมถึงวันนี้เธอยังเห็นภาพคนที่ออกมาพูดถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มากกว่าในสมัย คสช. “พี่คิดว่า มันยังมีคนในศาลที่ยังยืดมั่นในหลักวิชา เรายึดมั่นในระบบกฎหมาย ตรงไหนมันบิดเบี้ยว เราก็พยายามทำให้สิ่งที่ถูกต้องกลับมา พี่คิดว่าศาลก็เหมือนกัน ดังนั้นมันต้องมีคนยืนยันเพื่อรักษาองค์กรที่เป็นองค์กรอิสระ หนึ่งในอำนาจอธิปไตย ต้องกลับมาทบทวนเลยว่า ถ้าคนผิดหวังหมดหวังกับศาล แล้วเราจะไปพึ่งใคร”
“หลังรัฐประหารพี่หมดหวังมาก เราอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เราไปว่าความในศาลทหาร ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่คิดเลยว่าชีวิตนี้เราต้องว่าความในศาลทหาร ที่ตั้งอยู่ในค่ายทหาร บรรยากาศพวกนี้เราผ่านมาหมดแล้ว ตอนนั้นเราผิดหวัง เพราะไม่มีนักกฎหมายออกมาพูดเลย แต่พอช่วงนี้ คนออกมาเยอะมาก ซึ่งเราก็คิดแล้วว่าเขาจะต้องใช้กฎหมาย แต่พี่เห็นความหวังของคน
แม้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว แต่มันก็ยันกันอยู่ ฝ่ายนึงที่ทำลายระบบกฎหมาย และฝ่ายนึงที่พยายามต่อสู้ยืนยัน พี่คิดว่ายังไงมันก็มีความเปลี่ยนแปลง ปีนี้มันอาจจะมีความทุกข์ทน แต่พี่คิดว่าปีหน้า ปีถัดไป มันต้องมีความหวัง มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
พี่เชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่ หากพวกเขาเข้าไปในวงการศาล หรืออัยการ คนพวกนี้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ มันไม่เหมือนเดิม ยังไงประเทศเราไม่เหมือนเดิม”